Skip to main content
sharethis

กป.อพช. และเครือข่ายสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาเรื่ององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 67 ของรธน. ในระหว่างที่ยังอยู่ในสุญญากาศ ยันรวบรวม 10,000 รายชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.จัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เห็นด้วยคณะทำงานเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมเดิม เนื่องจากผิดเจตนารมณ์ รธน.และไม่อิสระจริง

 

วานนี้ (17 ส.ค.52) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) และเครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจัดเสวนา “องค์การอิสระสิ่งแวดล้อม: อิสระหรือขัดรัฐธรรมนูญ?” หลังจากได้ติดตามผลการดำเนินงานของภาครัฐเรื่องการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรค 2 ได้บัญญัติไว้

 
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับองค์การอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 และได้สรุปผลการพิจารณาว่า "จะให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่....) พ.ศ...... เพื่อเพิ่มเติมเนื้อหาบางมาตราให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ในกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน ขณะที่เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำเสนอข้อสรุปต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงผลสรุปของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 5 เกี่ยวกับการตีความมาตรา 67 ว่าให้ดำเนินการตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่ระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนที่ผ่านการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองนั้น หากผ่าน EIA แล้วสามารถจะลงทุนโครงการได้ทันที นอกจากนี้รัฐบาลยังเตรียมเดินหน้าในการออกระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการปฏิบัติตามมาตรา 67 ในระหว่างยังไม่มีข้อสรุปในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรานี้อีกด้วย
 
 
ไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวสรุปที่มาของแนวคิดภาครัฐว่า มติของ กรอ. ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงวิทยศาสตร์ฯ กระทรวงสาธารณสุข หาข้อยุติในแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรา 67 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่ององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยคณะทำงานที่มีตัวแทนของแต่ละกระทรวงดังกล่าว รวมถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย และมีข้อสรุปออกมาว่า ประการแรก ในมาตรา 67 ไม่ได้ระบุว่าต้องออกกฎหมายเป็นการเฉพาะ และควรมีการแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 แทนเพื่อเพิ่มเติมเรื่ององค์กรอิสระนี้เข้าไป โดยให้องค์กรที่เป็นนิติบุคคลหรือไม่ใช่นิติบุคคลที่มีอยู่แล้วมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อเป็นองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมได้ในทันที มีหน้าที่ให้ความเห็นแก่ภาครัฐ โดยให้ทำหลังจากที่การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการต่างๆ ผ่านความเห็นชอบจากคณะผู้ชำนาญการแล้ว โดยให้ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจว่าจะส่ง EIA ให้องค์การอิสระฯ แห่งใดพิจารณา และเมื่อส่งความเห็นขององค์การอิสระฯ กลับมาแล้วการตัดสินใจในการให้แก้ไขเพิ่มเติม EIA อยู่ที่ผู้ชำนาญการเช่นเดิม
 
นอกจากนี้ในการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ยังให้มีการระบุด้วยว่า หากองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมที่จัดตั้งขึ้นให้ความเห็นไม่เป็นกลาง ไม่เหมาะสม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถถอนทะเบียนองค์กรดังกล่าวได้ทันที และระหว่างที่การแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมยังไม่เสร็จสิ้น ให้ สผ.ไปศึกษาแล้วเสนอให้ออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ
 
ไพโรจน์กล่าวถึงความคิดเห็นของตนเองต่อข้อเสนอของคณะทำงานดังกล่าวว่า ในประเด็นแรกนั้นดูจากเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแล้วต้องการให้จัดตั้งเป็นองค์กรระดับชาติ และควรเป็นสถาบันทางการเมืองเพื่อยกระดับความเห็นของประชาชน เพราะหากจะให้องค์กรใดๆ ให้ความเห็นก็ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญ เพราะมีสิทธิทำได้อยู่แล้ว
 
ประเด็นเรื่ององค์กรอิสระต้องให้ความคิดเห็นที่เป็นกลางไม่เช่นนั้นจะถูกถอนทะเบียน เงื่อนไขนี้จะทำให้ขาดความเป็นอิสระและไม่มีหลักประกันการไม่แทรกแซงของฝ่ายบริหาร เพราะเป็นดุลยพินิจของ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
ไพโรจน์ยังกล่าวถึงอำนาจหน้าที่ในการให้ความคิดเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมว่า ต้องออกแบบรายละเอียดให้รัดกุมกว่านี้ กำหนดให้มีงานศึกษา การรับฟังความคิดเห็น และองค์กรนี้ต้องมีความเชี่ยวชาญและต้องทำงานอย่างต่อเนื่องด้วย
 
“ข้อเสนอของคณะทำงานภาครัฐ เป็นเหมือนการเล่นกลและเลี่ยงปัญหาที่มีอยู่ องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความขัดแย้ง แต่ถ้าเครื่องมือนี้บิดเบี้ยว ก็จะยิ่งสร้างการเผชิญหน้ามากขึ้น” ไพโรจน์กล่าว
 
 
สัญชัย สูติพันธ์วิหาร จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลหนึ่งในคณะผู้ยกร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามรัฐธรรมมูญมาตรา 67(2) ของภาคประชาชน ซึ่งกำลังอยู่ระหหว่างการรวบรวมรายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายภายในสมัยนิติบัญญัตินี้ กล่าวว่า การออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ นั้นไม่ยั่งยืนเท่ากับการออกเป็นพ.ร.บ. และร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ล้อกับมาตราดังกล่าวของรัฐธรรมนูญ โดยเน้นที่ธรรมาภิบาล และประสิทธิผลของการทำงาน นอกจากนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังมีการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนยังมาก โดยพัฒนามาจากงานศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี 2545 รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ถึง 6 ครั้งและปรับเปลี่ยนมาหลายเวอร์ชั่น
 
 
สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขาฯ สสร. กล่าวว่า หากเปรียบเทียบการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 67 วรรค 2 กับการจัดตั้งองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 61 จะเห็นว่า องค์การอิสระด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมีความคืบหน้าไปมากกว่า มีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ และกำหนดให้รัฐอุดหนุนเงินอย่างชัดเจนกว่า ขณะที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมกำหนดหน้าที่เพียงให้ความเห็นเท่านั้น นอกจากนี้ตามมาตรา 303 (1) ยังกำหนดให้จัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมภายใน 1 ปี แต่จนถึงขณะนี้ล่วงเลยมา 19 เดือนแล้ว และไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้
 
สมคิดตั้งคำถามว่า แนวคิดที่ภาคประชาชนเห็นว่าต้องจัดตั้งในระดับชาติขึ้นมาโดยเฉพาะว่า หากมีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศนั้น องค์การระดับประเทศจะต้องให้ความเห็นในระดับชุมชนยิบย่อยด้วยหรือไม่ หรือต้องสร้างเครือข่ายในระดับจังหวัด
 
 
สุทธิ อัฌชาศัย กล่าวว่า หากมีกลไกด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่ โดยอยากให้เน้นเรื่องกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เพราะปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมากในพื้นที่ นอกจากนี้เครือข่ายภาคตะวันออกได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการประกาศเขตควบคุมมลพิษในมาบตาพุดไปแล้วและอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ โดยไม่กี่วันที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้เขียนอุทธรณ์คดีโดยระบุว่าเอกสารข้อมูลของภาคประชาชนไม่ได้ผ่านความเห็นของคณะผู้ชำนาญการ สะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญกับกลไกของผู้ชำนาญการ ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้ชำนาญการบางคนก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน
 
สุทธิระบุด้วยว่า วันที่ 21 ส.ค.นี้ ในการประชุมของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีจะมาร่วมงานนั้น ทางเครือข่ายตะวันออกจะยื่นหนังสือต่อนายกฯ ว่าไม่เห็นด้วยกับการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับพิจารณาออกใบอนุญาตให้โรงงานในเขตมาบตาพุด
 
 
 
รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกันรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและกรได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม
 
การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
 
สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net