Skip to main content
sharethis

วันนี้ ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เตรียมพิจารณาร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย

 

 
 
วันนี้ (21 ส.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เตรียมพิจารณาร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ณ ห้อง 3701 อาคารรัฐสภา 3
 
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติได้รับรองสิทธิในการปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิตไว้ โดยวรรค 2 ของกฎหมายนี้ระบุให้มีการออกหลักเกณฑ์ วิธีการปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เพื่อวางหลักเกณฑ์ วิธีการในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ได้จัดกระบวนการยกร่างกฎกระทรวงตั้งแต่กลางปี 2551 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา พร้อมกับรับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และผู้แทนหน่วยงานผู้ให้บริการสาธารณสุข สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง องค์กรต่างๆ รวมถึงผู้แทนฝ่ายผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยในวาระสุดท้าย เป็นระยะๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้รอบด้าน หลังจากนั้นจึงส่งร่างกฎกระทรวงไปยังสภาวิชาชีพ ราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน คณะแพทยศาสตร์ ทุกแห่ง วิทยาลัยพยาบาล สถาบันการศึกษา หน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง นักกฎหมาย นักวิชาการ และประชาชนที่สนใจ มีความเห็นตอบกลับมา เกือบ 90 องค์กร
 
นอกจากนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมาได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างกฎกระทรวงและแนวทางปฏิบัติโดยเชิญผู้แทนสถานพยาบาล แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และประชาชนผู้สนใจ ทำความเข้าใจกับการตายในบริบททางสังคม วัฒนธรรม และสิทธิในการปฏิเสธการรักษา ทั้ง 4 ภาค มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน
 
“ในร่างกฎกระทรวงนี้ มีสาระสำคัญหลักๆ คือ วิธีการเขียนหนังสือแสดงเจตนาว่าควรมีรายละเอียดอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางอำนวยความสะดวกในการเขียนหนังสือแสดงเจตนา เพื่อเป็นแนวทางอำนวยความสะดวกในการเขียนหนังสือแสดงเจตนา หลักเกณฑ์วิธีการให้ผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาได้อย่างถูกต้องตามความประสงค์ของผู้ทำหนังสือ และให้ สช.ออกประกาศว่าด้วยแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานบริการสาธารณสุขด้วย ซึ่งในวันพรุ่งนี้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจะพิจารณาเรื่องนี้ หากผ่านความเห็นชอบแล้วจึงจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป” นพ.อำพลกล่าว
 
ด้าน นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เห็นว่า สิทธินี้เป็นพื้นฐานที่ทุกคนจะปฏิเสธการรักษาที่เกินความจำเป็นในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นสิ่งที่ยอมรับกันทั่วโลก หากมีผู้เขียนหนังสือแสดงเจตนาขึ้นมาจะมีประโยชน์มาก เพราะการปฏิบัติในปัจจุบันเมื่อถึงวาระสุดท้ายคือหัวใจจะหยุดเต้น หรือความดันตก แพทย์มักให้ยากระตุ้นหัวใจหรือนวดหัวใจ ซึ่งจริงๆ แล้วผู้ป่วยไม่สามารถเยียวยาให้ฟื้นขึ้นมาได้แล้ว ทั้งๆ ที่ตามหลักแล้วมีข้อบ่งชี้ว่าไม่ต้องทำก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติแพทย์จำเป็นต้องทำ จนกว่าญาติจะยินยอมว่าไม่ต้องปั้มหัวใจ ซึ่งในทางกฎหมายแล้วไม่น่าจะถูกที่ญาติจะมีสิทธิในชีวิตของผู้ป่วย เมื่อมีกฎหมายนี้ขึ้นมาแล้ว หากผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ จะทำให้แพทย์สามารถปฏิบัติตนได้ตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
 
นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การปฏิเสธการรักษา เพื่อยืดวาระการตาย หรือเพื่อยุติความทรมานจากความเจ็บป่วยเป็นจุดเด่นของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เน้นเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกายของคน การมีกฎกระทรวงดังกล่าวจะเป็นแนวทางทำให้บุคลากรทางการแพทย์และญาติ มีความชัดเจนขึ้นในการที่จะทำตามหนังสือแสดงเจตนา ผู้ป่วยก็จะมีความมั่นใจว่า สิทธิในชีวิตและร่างกายของตนเองได้รับการประกันโดยกฎหมายฉบับนี้ ความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วย ญาติ และหมอผู้ให้บริการก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมาและทำให้ประชาชนเข้าใจ ก็จะทำให้สิทธิของผู้ป่วยตรงนี้ชัดเจนขึ้น นี่คือส่วนหนึ่งการปฏิรูประบบสุขภาพที่สำคัญของบ้านเรา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net