“ชาวชุมชนสันติพัฒนา” เตรียมเวรยามเฝ้าระวังเข้ม หวั่น “วิธีการนอกกฎหมาย” ใช้กำลังไล่รื้อบ้าน

วันนี้ (2 ก.ย.) มีรายงานว่าชาวบ้านข่าวในพื้นที่ชุมชนสันติพัฒนา ในพื้นที่หมู่ 6 ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็น 1 ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนทั้งหมด 30 แห่ง ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศจากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือ ข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อาจถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่โดนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกำลังคนของบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีกรณีพิพาทเรื่องที่ดินกับสมาชิกชุมชน ภายในเช้าวันพรุ่งนี้ โดยขณะนี้ชาวบ้านได้วางเวรยามเฝ้าระวังอยู่

จากการสอบถามไปยังในพื้นที่ นายสุรพล สงฆ์รักษ์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรภาคใต้ ให้ข้อมูลว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำกำลังเข้ามาพื้นที่นั้น เป็นไปตามหมายศาลที่ทางบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ได้ขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวพื้นที่กรณีพิพาทระหว่างทางบริษัทกับชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งได้มีการนำมาติดไว้ในพื้นที่ก่อนหน้านี้ แม้ชาวบ้านจะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่มีคำสั่งศาลยังประโยชน์ให้แก่บริษัทฯ แต่สิ่งที่มีความกังวลมากกว่าคือทราบมาว่าวันนี้ทางบริษัทฯ ได้มีการระดมกำลังลูกจ้างกว่า 500 คน พร้อมรถแทรกเตอร์ (รถไถจาน) จำนวน 8 คัน ซึ่งคาดว่าทำเพื่อจะเข้ามาไล่รื้อบ้านชาวบ้านในพื้นที่ ดังเช่นกรณีที่เกิดกับชุมชนคลองไทร ต.ไทรงาม อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีการนำรถแทรกเตอร์เข้าไถดัน ทำลายบ้านเรือนที่พักอาศัยของสมาชิกชุมชนจนได้รับความเสียหายกว่า 60 หลังคาเรือน เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา

“เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามา ทำหน้าที่ตามกฎหมายเราไม่กังวล แต่กังวลกำลังของคนพวกนี้ พวกลูกจ้างคนงาน กลุ่มอิทธิพล นักเลงหัวไม้ ที่ย้อนรอยตำรวจเข้ามาไถทำลายบ้านชาวบ้าน” ตัวแทนสหพันธ์เกษตรภาคใต้กล่าวถึงความกังวลใจต่อวิธีการนอกกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ในพื้นที่

นอกจากนี้เขายังได้ให้ข้อสังเกตถึงเหตุการณ์การสลายชุมชนครั้งที่ผ่านมาว่า จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาในพื้นที่ แต่เมื่อกำลังตำรวจออกจากพื้นที่ก็จะมีกลุ่มบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปในพื้นที่และทำลายบ้านเรือนที่พักอาศัยของคนในชุมชน ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ามาผลักดันชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่แต่ก็มีการล่าถอยไป ซึ่งก็ไม่ทราบถึงเหตุผล แต่สำหรับสถานการณ์ล่าสุดคาดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมเจ้าหน้าที่บังคับคดีจะเดินทางเข้าพื้นที่ในช่วงเช้าของวันพรุ่งนี้

นายสุรพลกล่าวด้วยว่า ช่วงระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา การข่มขู่คุกคามที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความหวั่นวิตกเป็นอันมาก ชาวบ้านต้องจัดแบ่งเวรยามเพื่อเฝ้าระวังทั้งวันทั้งคืน ทำให้เกิดความเดือดร้อนเพราะไม่ใช่แค่ไม่มีเวลาทำมาหากิน แต่แค่เวลาพักผ่อนก็ยังยาก นอกจากแบ่งเวรยามแล้วขณะเดียวกันก็ต้องวุ่นวายกับการต่อสู้ในเรื่องคดี ต้องทำงานเลี้ยงปากท้อง และยังต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือในการแก้ปัญหา

ในส่วนเรื่องคดีความ นายสุรพลกล่าวว่า จากกรณีพิพาทระหว่างสมาชิกชุมชนสันติพัฒนากับทางบริษัทฯ ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านต้องคดีโดยการฟ้องร้องจากบริษัท จำนวน 12 ราย เป็นคดีแพ่ง 3 ราย ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินรวมกว่า 5 ล้านบาท และที่โดนคดีทั้งแพ่งและอาญา 9 ราย ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินรวมกว่า 10 ล้านบาท ทั้งนี้พื้นที่กรณีปัญหาอยู่ในที่ดิน 9 แปลงของบริษัทฯ เนื้อที่กว่า 40,000 ไร่ ซึ่งมีความหลากหลายของพื้นที่ คือมีทั้งที่ดิน ส.ป.ก., เขตป่าไม้ และ นส.3 ซึ่งชาวบ้านมีความสงสัยว่าอาจมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน โดยมีการออก นส.3 ทับพื้นที่ป่าหรือที่ ส.ป.ก. เอกสารสิทธิ์ นส.3 อาจได้มาโดยไม่ถูกต้อง ดังนั้นที่ผ่านมาจึงพยายามเรียกร้องให้มีการเพิกถอนสิทธิ์ นส.3 ในพื้นที่ดังกล่าว

นายสุรพลกล่าวต่อมาว่า กรณีความขัดแย้งในพื้นที่ได้มีการนำเสนอปัญหาให้รัฐบาลรับทราบมาโดยตลอด ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ครั้งที่ 2/2552 ร่วมกับรัฐบาล ได้มีการยกปัญหาในพื้นที่ขึ้นนี้มาพูดคุย ซึ่งในปัญหาพื้นทับซ้อนที่ประชุมได้มีมติให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมประชุมแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ซับซ้อน

อย่างไรก็ตามขณะนี่เวลาล่วงเลยมาเดือนกว่าแล้วแต่การดำเนินการยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นจึงควรเร่งให้มีการประชุมร่วมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาฟ้องร้องชาวบ้านเช่นนี้เรื่อยไป นอกจากนั้นในส่วนของทางเครือข่ายฯ ยังมีการดำเนินการเพื่อให้ทางบริษัทเปิดเผยข้อมูลที่ดินซึ่งบริษัทอ้างว่าเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ นส.3 ทั้งนี้ เมื่อปี 2550 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้เคยเข้ามาตรวจสอบพื้นที่กรณีปัญหา และให้กรมที่ดินตรวจสอบ นส.3 ภายใน 120 วัน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนกระทั่งปัจจุบัน

นายสุรพล กล่าวแสดงความเห็นถึงความนิ่งเฉยต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ว่า อาจเป็นเพราะคนใหญ่คนโตในพื้นที่ที่ทำให้แม้แต่รัฐบาลยังไม่กล้ายุ่ง รัฐมนตรีไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นปัญหาที่ทำให้การจัดทำพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนในพื้นที่ชุมชนสันติพัฒนา เกิดความล่าช้า ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ การดำเนินงานได้เดินหน้าไปตามลำดับ เพราะการจัดทำโฉนดชุมชนจะต้องมีการลงพื้นที่รังวัดให้แน่ชัดเพื่อการจัดสรรพื้นที่ในการทำประโยชน์

“แดนสนธยาที่ไม่มีใครกล้าเข้ามา” นายสุรพลกล่าวถึงสภาพพื้นที่ชุมชนสันติพัฒนา ในความคิดของเขา ณ วันนี้

ทั้งนี้ ชุมชนสันติพัฒนาก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2550 โดยกลุ่มชาวบ้านที่ประสบปัญหาไม่มีที่ดินและที่ดินไม่พอทำกิน ปัจจุบันมีสมาชิก 101 คน สำหรับการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่แบ่งเป็นพื้นที่เพื่อทำการเกษตรของสมาชิก พื้นที่แปลงรวม พื้นที่ป่าชุมชน ที่สาธารณะประโยชน์ และที่ตั้งของบ้านเรือน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท