Skip to main content
sharethis

ผศ.นพพร เหรียญทอง รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาระบบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยผ่านหนังสือพิมพ์บูมีตานี ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝึกหัดของนักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ. วิทยาเขตปัตตานีถึงความคืบหน้าการก่อสร้างหอพักนักศึกษา 9 ว่า จะหมดสัญญาในวันที่ 28 กันยายน 2552 หากไม่สามารถก่อสร้างเสร็จตามกำหนดก็จะถูกปรับตามที่ระบุไว้ในสัญญา เนื่องจากการก่อสร้างหอพัก 9 ได้ผ่านการใช้สิทธิ์ขยายระยะเวลาก่อสร้างมาแล้ว

ผศ.นพพร เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาอาคารที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในมหวิทยาลัยขณะนี้ทุกหลังมีการขยายสัญญาการก่อสร้างทั้งหมด เพราะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ขยายสัญญาการก่อสร้างได้ เพื่อช่วยเหลือผู้รับเหมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทางมหาวิทยาลัยก็พยายามคุยกับผู้รับเหมาว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องการใช้อาคารให้เร็วที่สุด เช่น ต้องการให้ก่อสร้างเสร็จก่อนเปิดเทอมใหม่ แต่ถ้าไม่เสร็จก็สามารถขยายตามมติ ครม.

ผศ.นพพร เปิดเผยว่า ในวิทยาเขตปัตตานีมีผู้รับเหมาก่อสร้างหลายบริษัท เช่น การก่อสร้างแฟลตพัก 4 หลัง รับเหมาโดยบริษัทบิลเลียนเอนจีเนียริ่ง จำกัด ขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดคงมั่นการช่าง รับเหมาก่อสร้างมากกว่าบริษัทอื่น

“บางบริษัทสามารถดำเนินการก่อสร้างมากกว่าบริษัทอื่นๆ เพราะผ่านการประมูลในระบบอิเล็กทนิกส์ หรือ อีอ๊อกชั่น โดยทุกโครงการมีผู้ซื้อไม่ต่ำกว่า 5 ราย ยกเว้นอาคารของวิทยาลัยอิสลามศึกษาที่เป็นงบประมาณของจังหวัดเปิดประมูลในวิธีพิเศษ” ผศ.นพพรกล่าว

ผศ.นพพร เปิดเผยต่อว่า ในกระบวนการประมูลงานผ่านระบบอีออพชั่น ผู้ที่จะได้งาน คือ ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด จึงทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดคงมั่นการช่าง ได้รับงานก่อสร้างในวิทยาเขตปัตตานี มากกว่าบริษัทอื่น

ผศ.นพพร เปิดเผยด้วยว่า สำหรับโครงการก่อสร้างที่ดำเนินการล่าช้ากว่าแผนการใช้งบประมาณ 272 ล้านบาท คือ การก่อสร้างหอพัก 10 ศูนย์กีฬาหรือสนามกีฬา สนามบาสเก็ตบอล สนามตระกร้อ สนามเทนนิส สนามฟุตบอลชายหาด ซึ่งบริษัทที่ประมูลได้ คือห้างหุ้นส่วนจำกัดคงมั่นการชั่ง ส่วนแฟลต 4 หลัง ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ดำเนินการโดยบริษัทบิลเลียนเอนจีเนียริ่ง จำกัด

ผศ.นพพร เปิดเผยต่อว่า ส่วนอาคารเรียนรวมข้างอาคารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้น สาเหตุที่หยุดก่อสร้าง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตัวโครงสร้างและขนาดเหล็กเส้น คณะกรรมการตรวจสอบการจ้างจึงไม่ยอมให้ผ่าน

“เมื่อไม่ยอม บริษัทก็ทิ้งงาน ทางมหาวิทยาลัยจึงต้องฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งต่อมาศาลได้นัดไกล่เกลี่ยกันเพื่อให้สามารถก่อสร้างต่อได้ โดยการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการขึ้นมาให้พิจารณาและชี้ขาดในเรื่องนี้ แต่ทางบริษัทยังทำเฉยไม่ยอมมาไกล่เกลี่ย ทั้งที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการให้ก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จ ทางมหาวิทยาลัยจึงตัดสินใจยกเลิกสัญญาเพื่อตัดปัญหา เพราะถ้ายืดเยื้อออกไปอีก อาคารเรียนรวมก็ไม่สามารถสร้างต่อได้ ทางบริษัทจึงได้เบิกเงินไปเฉพาะส่วนที่ก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น ส่วนที่ยังสร้างไม่ครบ ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ให้เบิกเงิน” ผศ.นพพรกล่าว

ผศ.นพพร เปิดเผยอีกว่า ส่วนการก่อสร้างอาคารของวิทยาลัยอิสลามศึกษานั้น ผ่านการต่อสัญญามาก่อนด้วยเช่นกัน แต่ก็ดำเนินการจนแล้วเสร็จ แต่ยังไม่รวมครุภัณฑ์ต้องของบประมาณจัดซื้อเพิ่ม

“ตึกดังกล่าว คือ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามศึกษา มีการต่อสัญญาถึง 5 ครั้ง กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญา” ผศ.นพพร กล่าว

ผศ.นพพร เปิดเผยต่อว่า ส่วนอาคารคณะวิทยาการสื่อสารซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ตรวจรับงาน ซึ่งต้องของบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์เพิ่ม แต่บางคนไม่เข้าใจ แล้วบอกว่า จะตรวจรับงานมาได้อย่างไร ในเมื่องยังไม่ก่อสร้างเสร็จ เพราะยังไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ซึ่งมันแยกส่วนกัน

รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร กล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารคณะวิทยาการสื่อสารว่า สาเหตุที่การดำเนินการล่าช้ามาจากการที่บริษัทผู้รับเหมาใช้สิทธ์ของการขยายเวลาการทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ต้องการช่วยเหลือผู้รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับในขณะนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ เลยต้องการช่วยเหลือกับผู้รับเหมา จึงทำให้ผู้รับเหมาสามารถขยายเวลาการทำงานออกไปอีกได้

ขณะนี้คาดว่าการก่อสร้างอาคารคณะวิทยาการสื่อสารจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2552 และเปิดใช้งานได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2552 หรือในภาคการศึกษาที่ 2 แต่การเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งการจัดทำระบบเครือข่ายต่างๆ ระบบการสื่อสาร ระบบสาธารณูปโภคของตึกใหม่ให้เรียบร้อยอาจล่าช้าออกไปอีก เพราะหากระบบขัดข้อง การเรียนการสอนก็จะเกิดปัญหาตามมา

 

 
มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 พฤษภาคม 2550 เรื่อง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้าง
 
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
 
1.สัญญาจ้างก่อสร้างของทางราชการที่ได้ลงนามไว้แล้วและยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ และมีเงื่อนไขการหักเงินประกันผลงานให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐพิจารณาแก้ไขสัญญาในเรื่องของการหักเงินประกันผลงาน โดยให้ใช้หนังสือค้ำประกันธนาคารแทนการหักเงินประกันผลงาน
 
2.กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐพิจารณาขยายอายุสัญญาสำหรับงานก่อสร้างที่ได้มีการลงนามในสัญญาและยังมีผลผูกพันอยู่ ซึ่งเป็นสัญญาจ้างที่อยู่ระหว่างการดำเนินการและยังไม่มีการตรวจรับงานในงวดสุดท้ายในช่วงที่เกิดอุทกภัย โดยให้ขยายอายุสัญญาออกไปอีกจำนวน 180 วัน เฉพาะในเขตจังหวัดที่มีการประกาศพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากเกณฑ์ปกติตามระเบียบของหน่วยงาน ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือต่อหน่วยงานคู่สัญญาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
 
3.เห็นควรให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ แก่ผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากความไม่สงบ ในกรณีที่สัญญาจ้างก่อสร้างกำหนดระยะเวลาการประกันความชำรุดบกพร่องของงานจ้าง 2 ปี ให้คืนหลักประกันให้แก่ผู้รับจ้างเมื่อระยะเวลาการประกันความชำรุดบกพร่องครบ 1 ปี และไม่ปรากฏความชำรุดบกพร่องแก่งานจ้าง ส่วนระยะเวลาที่เหลืออีก 1 ปี ยังคงถือว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้รับจ้างตามสัญญาโดยไม่มีหลักประกัน
 
สำหรับกรณีสัญญาจ้างก่อสร้างที่มีกำหนดระยะเวลาการประกันความชำรุดบกพร่องมากกว่า 2 ปี ให้คืนหลักประกันสัญญาเมื่อระยะเวลาการประกันความชำรุดบกพร่องของงานจ้างเหลือ 1 ปี ในทำนองเดียวกันด้วย เช่น สัญญากำหนดระยะเวลาการประกันความชำรุดบกพร่อง 3 ปี เมื่อครบกำหนด 2 ปี และไม่ปรากฏความชำรุดบกพร่องของงานจ้างก็ให้คืนหลักประกันสัญญาได้ ส่วนระยะเวลาที่เหลืออีก 1 ปี ยังคงถือว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้รับจ้างตามสัญญาโดยไม่มีหลักประกัน
 
มาตรการตามข้อ 3 ให้ใช้กับสัญญาจ้างก่อสร้าง ที่มีผลผูกพันอยู่ในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ซึ่งหมายความรวมถึงกรณีที่อยู่ในระหว่างระยะเวลาการประกันความชำรุดบกพร่องด้วย ทั้งนี้ โดยมีหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติด้วยว่า ก่อนครบกำหนดระยะเวลาการประกันความชำรุดบกพร่อง
ส่วนราชการผู้ว่าจ้างจะต้องดำเนินการตรวจสอบความเรียบร้อยของงานจ้าง เพื่อให้สามารถเรียกผู้รับจ้างมาซ่อมแซมแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (ถ้ามี) ได้ตามสิทธิของสัญญา และถ้าผู้รับจ้างไม่มาดำเนินการซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของงานจ้างตามสัญญา ให้พิจารณาดำเนินการลงโทษผู้รับจ้างดังกล่าว ให้เป็นผู้ทิ้งงานตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ
 
พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อไปด้วย
 
ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีอำนาจหน้าที่ในการตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net