Skip to main content
sharethis

หลังจากคณะทำงานสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมกรณีโรฮิงยา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ได้ผลักดันให้ระงับการส่งตัวชาวโรฮิงยากลับประเทศพม่า และได้ติดตามการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจังหวัดระนอง ขอความร่วมมือจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมไปถึงการเรียกร้องให้สอบสวนการตายของชาวโรฮิงยาที่ถูกกักขัง 2 ราย ล่าสุด (3 ก.ย.) คณะทำงานสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมกรณีโรฮิงยา กรพ. ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐหามาตรการในการป้องกันมิให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมที่อาจมีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ รวมทั้งการเยียวยารักษาของชาวโรฮิงยา และควรแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาชาวโรฮิงยา พร้อมกับกำหนดเวลาในการกุมขังที่แน่นอน นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังเห็นว่า สิ่งที่จะต้องดำเนินอย่างเร่งด่วน คือ การพิสูจน์สาเหตุการตายของชาวโรฮิงยาทั้งสองที่ถูกกุมขังที่กองตรวจคนเข้าเมือง ระนอง ให้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อดำรงความยุติธรรมกับผู้เสียชีวิตทั้งสองคน

 

แถลงการณ์ คณะทำงานสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมกรณีโรฮิงยา
3 กันยายน 2552

ตามที่คณะทำงานสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมกรณีโรฮิงยา ได้ผลักดันให้ระงับการส่งตัวชาวโรฮิงยากลับประเทศพม่า และได้ติดตามการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจังหวัดระนอง โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปเยี่ยมเยียนผู้ถูกจับกุม ทั้ง 78 คน รวมทั้งส่งทนายความไปดำเนินการเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทางกฏหมาย และพูดคุยอย่างจริงจังกับกองตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตบังคลาเทศ และขอความร่วมมือจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมไปถึงการเรียกร้องให้สอบสวนการตายของชาวโรฮิงยาที่ถูกกักขัง 2 นาย จากสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดและการดูแลที่ไม่ได้มาตรฐาน การย้ายโรฮิงยามาที่กองตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู กรุงเทพฯ แม้จะเอื้อต่อการที่พวกเขาจะได้รับการเยี่ยมเยียน และขอคำปรึกษาทางกฏหมายจากคณะทำงาน ฯได้ง่ายขึ้น แต่สภาพความแออัดยัดเยียดยังคงเหมือนเดิมหรือแย่กว่าเดิม ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงการหาสถานที่ใหม่ที่ดีกว่าเพื่อป้องกัน การเสียชีวิตจากสภาพความเป็นอยู่ และร่างกายที่ไม่แข็งแรง

เพื่อป้องกันไม่ให้คนทั้งหมดต้องเสียชีวิตมากไปกว่านี้ รัฐควรจะหามาตรการในการป้องกันมิให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมที่อาจมีผลกระทบต่อ ชีวิตและสุขภาพ รวมทั้งการเยียวยารักษาของชาวโรฮิงยา และควรแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาชาวโรฮิงยา พร้อมกับกำหนดเวลาในการกุมขังที่แน่นอน นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังเห็นว่า สิ่งที่จะต้องดำเนินอย่างเร่งด่วน คือ การพิสูจน์สาเหตุการตายของชาวโรฮิงยาทั้งสองที่ถูกกุมขังที่กองตรวจคนเข้า เมือง ระนอง ให้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อดำรงความยุติธรรมกับผู้เสียชีวิตทั้ง สองคน

ประเด็นที่คณะทำงานฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องพิจารณาในการแก้ปัญหาต่อไป ก็คือ
(1) รัฐบาลไทยควรให้ชาวโรฮิงยาทั้งหมด ซึ่งเป็นชาวโรฮิงยา 55 คน และชาวบังคลาเทศผู้รอคอยการพิสูจน์ 29 คน ได้รับข้อมูลทางกฎหมายจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน และทุกคนจะต้องมีอิสระอย่างแท้จริงในการตัดสินใจที่จะอยู่ในประเทศไทยต่อไป หรือเดินทางกลับไป จากการสอบถามของทนายความจากคณะทำงานฯ ทราบว่าผู้ถูกกักตัวนั้นยังไม่ต้องการกลับ ดังนั้นรัฐบาลไทยควรจะแสดงท่าทีประกาศให้ชัดเจนและทำเป็นนโยบายต่อกองตรวจคน เข้าเมืองเพื่อไม่ให้ส่งตัวกลับ
(2) ข้อเท็จจริงของผู้เสียชีวิตระหว่างที่ถูกควบคุมตัว 2 คน/ และควรได้รับการเยียวยา ชดใช้ และลงโทษผู้ที่เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิต
(3) ขอให้องค์กรมนุษยธรรม สภาทนายความ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่และการกักขังได้อย่างเปิดเผย
(4) ขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติกับผู้หลบหนีเข้าเมืองทางเศรษฐกิจที่มีสาเหตุจากภัยการเมืองอย่างเหมาะสม และเคารพสิทธิมนุษยชน
(5) ขอให้มีกระบวนการยุติธรรม คัดกรองผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายโดยไม่นำ พรบ.คนเข้าเมืองผิดกฎหมายมาดำเนินการพิจารณาแต่อย่างเดียว แต่ควรจะดูความเป็นมาของผู้มาทางเรือหรือทางบกด้วยว่า มีต้นสายปลายเหตุหรือมีประวัติทางการเมืองอย่างไร
(6) เมื่ออาเซียนไม่สามารถกดดันขอร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายอมรับชาวโรฮิงยาเป็น ประชากรได้อย่างสนิทใจและไม่สามารถให้หลักประกันทางความปลอดภัยได้สำเร็จ ประเทศต่างๆจำเป็นจะต้องคำนึงถึงความเป็นประชากรในภูมิภาคในมิติใหม่ด้วย เพราะในความเป็นจริงชาวโรฮิงยาคือประชากรของชุมชนอาเซียนไปแล้วอย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้
(7) รัฐบาลไทยไม่ควรกักขังใครโดยไม่มีกำหนดเวลา และไม่ควรให้อำนาจ ตม.อย่างเบ็ดเสร็จ
(8) ขอให้ดำเนินการตรวจสุขภาพเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้มีการเสียชีวิตด้วยเงื่อนไขสภาพความเป็นอยู่หรือขาดการดูแลอย่างเหมาะสม
(9) รัฐจะต้องเรียกระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจากภาคเอกชนต่างๆหาทางออกร่วมกันว่าจะจัดให้สถานะกับคนกลุ่มนี้อย่างไร และควรจะมีที่อยู่ใหม่ที่ใด หรือจะเป็นที่กักขังซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ตามที่เคยมีนโยบายหาสถานที่เพิ่ม เติมให้กับกองตรวจคนเข้าเมือง หรือจะใช้วิธีการให้ที่พักพิงชั่วคราวดังที่ประเทศอินโดนีเชียได้จัดให้ชาว โรฮิงยาที่นั่นได้พักอาศัยอยู่ แต่คณะทำงานขอคัดค้านหากจะส่งตัวคนกลุ่มนี้ (ซึ่งไม่ใช่นักโทษโดยทั่วไป) ไปกักขังที่คุกบางขวาง หรือคุกใดๆ อย่างเด็ดขาด

ข้อเรียกร้องในการตั้งรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต คือ
(10) ควรเดินหน้าผลักดันให้เกิดการพิจารณาสถานะ โดยพยายามโยงหน่วยงานที่มีหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้อง / การคัดกรองอย่างเป็นธรรม/ การนำกลไกในการแก้ไขปัญหาที่เป็นคุณมาใช้ในการแก้ไขปัญหา (การใช้ พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์/ การแยกผู้ต้องขังเด็กและผู้ใหญ่/อื่นๆ)
(11) ควรให้ข้อมูลกับชาวโรฮิงยาในพม่าถึงปัญหาที่จะเกิดเมื่อพวกเขาอพยพออกมา และไม่ควรเชื่อนายหน้าทั้งหลาย
(12) ควรขอความร่วมมือจากสมาคมอาเซียน ในการแก้ไขปัญหาในเชิงรุก เพื่อให้ยอมรับสถานะของชาวโรฮิงยาในฐานะประชาชนของประเทศพม่า (ในกรณีที่เป็นคนที่มาจากประเทศพม่า)
(13) มีมาตรการในการดำเนินการอย่างเป็นระบบในการดูแลการอพยพเข้ามาใหม่ ไม่ผลักดันให้ไปตาย
(14) จับกุมบรรดานายหน้าจากทุกประเทศ ทำลายเส้นทางการค้ามนุษย์อย่างเบ็ดเสร็จ
(15) การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับอำนาจทางกฎหมายจะต้องได้รับการลงโทษอย่างตรงไปตรงมา
(16) บรรจุวาระการประชุมอาเซียนมีประเด็นของการแก้ปัญหาโรฮิงยาเข้าไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่งและเป็นรูปธรรมมากกว่าเก่า

คณะทำงานสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมกรณีโรฮิงยา
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กรพ.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net