'อภิสิทธิ์' เตรียมขอเปิดสองสภา อภิปรายแก้ รธน.

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ รายงานว่า นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี เตรียมเสนอ  ครม. ในการประชุมวันที่ 8  กันยายนนี้เพื่อขอเปิดประชุมร่วมสองสภา อภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยันยังไงก็ต้องแก้  เลี่ยงไม่ได้  แต่การพัฒนาประชาธิปไตยไม่ใช่แค่แก้กฎหมายอย่างเดียว   ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและวัฒนธรรมการเมืองของทุกฝ่ายด้วย

นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี  ปาฐกถาเมื่อวันเสาร์  5 กันยายน 2552 ที่อิมแพ็ค  เมืองทองธานี  ในหัวข้อ  "อนาคตประชาธิปไตยไทย"  ในงานสังสรรค์คืนสู่เหย้าราตรีประดับดาว  ศิษย์เก่าสถาบันพระปกเกล้า   โดยระบุถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งว่า  ทุกครั้งที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ   ก็มีความตั้งใจดีในการแก้ปัญหาการเมืองในแต่ละช่วง  เช่น  เมื่อพรรคการเมืองอ่อนแอ   รัฐธรรมนูญหลายฉบับทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง  เมื่อพรรคการเมืองเข้มแข็ง  สภามีอำนาจมาก  จนเสียงข้างมากทำในสิ่งไม่ถูกต้อง  ก็มีการออกแบบองค์กรอิสระขึ้นมา  คือเมื่อมีปัญหาในจุดใดก็แก้ไขในจุดเหล่านั้น

นายกฯ  กล่าวต่อว่า  การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนั้นเลี่ยงได้ยาก  มันต้องแก้ไข  เพราะการแก้ไขเป็นส่วนหนึ่งในสัญลักษณ์  เพราะการรัฐประหารในไทยหลายครั้งแม้ไม่เสียเลือดเนื้อ  แต่จะทิ้งร่องรอยบาดแผลสำหรับการเมืองเสมอ  ปัจจุบันก็ยังติดยึดบาดแผลของวันที่  19  กันยายน  2549  ผู้ก่อการก็มีเหตุผลที่สะท้อนมายังนักการเมืองว่าไม่สามารถรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนได้  เช่น  การทุจริต  การแทรกแซงเกินอำนาจ  การสร้างความขัดแย้ง  ตนคิดว่าถึงวันนี้เมื่อมีความพยายามสร้างความสมานฉันท์โดยสร้างกลไกต่างๆ  ข้อเสนอหนึ่งคือการแก้รัฐธรรมนูญนั้น

"เรียนว่าปัจจุบันคณะกรรมการฯ  ที่นายชัย  ชิดชอบ  ประธานรัฐสภาแต่งตั้งได้รายงานว่าสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ    แต่กรรมการชุดนี้ยังไม่มีโอกาสรายงานและรับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา  ดังนั้นวันที่  8  กันยายน  ผมตั้งใจให้คณะรัฐมนตรีหารือเพื่อมีมติขอเรียกประชุมรัฐสภา  เพื่อขออภิปรายทั่วไปในการแก้เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อปูทางไปสู่การชำระสะสางปัญหานี้  ที่ผมขอให้เป็นครั้งสุดท้าย"  นายกฯ  กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า    ปัญหาการเมืองในวันนี้และการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตนั้น  ตนไม่ได้คิดว่าแก้ได้ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ  เพราะเราอาจแก้ไขสิ่งบกพร่องในหลายมาตราได้  แม้จะแก้ไขหรือเพิ่มเติมอย่างไรนั้น  แต่จุดท้าทายคือพฤติกรรมและวัฒนธรรมการเมืองของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ตรงนี้มันไม่ง่ายเหมือนแก้กฎหมาย  หรือเขียนอักษรบนกระดาษ  เพราะหัวใจสำคัญของการก้าวไปสู่ประชาธิปไตยที่จะมีวุฒิภาวะสูงขึ้น  คือความสามารถบริหารจัดการความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างให้ได้

ด้านนายชินวรณ์  บุณยเกียรติ  ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล  (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า   ในส่วนของนายสมเกียรติ  ศรลัมพ์ และ พล.ต.อ.ประชา  พรหมนอก  ส.ส.สัดส่วน  พรรคเพื่อแผ่นดิน  ที่มีการเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ประเด็น  ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าสามารถรวบรวมรายชื่อได้  1  ใน  5  แล้วหรือยัง  อย่างไรก็ตาม  ถือว่าเป็นสิทธิ์ของ  ส.ส.ที่จะสามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า  ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการเสนอประเด็นและทิศทางที่ชัดเจน   ซึ่งวันที่  7  กันยายน  จะมีการสรุปความคิดเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ  1.พรรคร่วมรัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ   มาแล้ว  และให้ทุกพรรคไปสอบถามมติทุกพรรค   ว่าจะให้นายกรัฐมนตรีขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา   179  เพื่อนำรายงานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ   รวมถึงเรื่องการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ  มาให้สมาชิกรัฐสภาได้พิจารณา  และให้ทุกฝ่ายได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

นายชินวรณ์กล่าวว่า   2.ให้แต่ละพรรคถามมติของพรรคว่ามีประเด็นอะไรบ้าง  เพื่อจะได้นำไปแก้ไขร่วมกัน  หากมีประเด็นที่เห็นพ้องต้องกัน  พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจะต้องร่วมลงชื่อในการเสนอญัตติเพื่อแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เห็นพ้องต้องกัน   ส่วนประเด็นใดที่ไม่เห็นพ้องกันก็จะได้มีการทำประชามติ

3.หากจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น  ก็สามารถดำเนินการได้โดยการขอเข้าชื่อเสนอญัตติเพื่อขอแก้ไขเฉพาะมาตรา  291  เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  (ส.ส.ร.)  ขึ้นมาพิจารณาเฉพาะ  6  ประเด็นดังกล่าว  และเสนอให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาต่อไป  ซึ่งคิดว่าเรื่องดังกล่าวจะได้ข้อยุติในวันจันทร์ที่   7  กันยายนนี้  เพื่อกำหนดทิศทางและกรอบเวลาในการดำเนินการต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า  หากได้ข้อสรุปเกรงหรือไม่ว่าจะมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคัดค้านเรื่องดังกล่าว ประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า  กฎหมายรัฐธรรมนูญเมื่อพิจารณาลงไปในแต่ละประเด็น  ก็พบว่ามีบางส่วนของสมาชิกรัฐสภาที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในบางประเด็น   ขณะเดียวกันนักการเมืองก็คิดแต่แก้ประเด็นที่เป็นประโยนช์ของนักการเมืองอย่างเดียว  จึงทำให้มีข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ   ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ  ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องคิดให้สุกงอม   หากว่าต้องการแก้ไขจริงก็จะต้องอาศัยเสียงของสมาชิกรัฐสภาร่วมกัน  เฉพาะลำพังพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเดียวเสียงคงไม่พอ  ดังนั้นต้องเสนอในสิ่งที่เป็นไปได้หากจะร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ  และก็ต้องยอมรับความเป็นจริง  2  เรื่องคือ

1.ว่าเมื่อไหร่มีการเปิดประเด็นแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องเปิดกว้าง  ให้ทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็น  หรือสร้างแรงกดดันในข้อเรียกร้องที่กลุ่มนั้นๆ  มีความประสงค์  ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องรับทราบ  2.หากมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ก็ควรที่จะมีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งต่อไป

ถามว่าจะมีแนวทางอย่างไรให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม  นายชินวรณ์กล่าวว่า  เราสามารถกำหนดได้แต่เฉพาะพรรคร่วม  ส่วนในประเด็นที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องแก้ไขคือ  มาตรา  190,  265,  266  ส่วนประเด็นอื่นๆ  ยังมีข้อคิดเห็นที่ต่างกัน  ทั้งในการเมืองและพรรคร่วม  เช่น  ประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง  ส.ส.แบบเขตเดียวเบอร์เดียว  ก็มีหลายฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  โดยเฉพาะฝ่ายที่เห็นด้วยก็ให้เหตุผลว่าเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีสิทธิ์เลือกเท่าเทียมกัน   ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็บอกว่าสถานการณ์ทางการเมือง  ณ  ขณะนี้ เราต้องการความสมานฉันท์  เพราะการเลือกแบบเขตใหญ่  จะทำให้ไม่เกิดการปะทะกันและทำให้การซื้อเสียงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

 

ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท