Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์*
 
 
"ประวัติศาสตร์” เป็นเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับประชาชน เป็นงานชั้นสูง เขียนได้ยาก เท่าที่ปรากฏแล้ว ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์น้อยเล่มหรือจะเรียกว่า “ไม่มี” เลยก็อาจเรียกได้ ดังจะเห็นได้ว่า ในหน้าต่างๆ เกือบทุกหน้าของ “พงศาวดาร” นั้น ประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เป็นเรื่องราวของกษัตริย์เป็นส่วนมาก และถ้าเอกสารนี้จะมีส่วนเป็นทางนำแก่ประวัติศาสตร์นครลำปางในอนาคตได้ก็จะยินดี
แสน ธรรมยศ [1] เขียนในปี 2492
 
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์คงได้จารึกไว้แล้วว่า ไม่ว่าจะมีข้ออ่อนหรือข้อผิดพลาดอย่างไรที่ปัจเจกชนคนหนึ่งทำไว้ แต่ผลงานที่เป็นด้านบวกและความมุ่งมั่นในการทำงานให้แผ่นดินแม่ของคนเชียงใหม่คนนี้เป็นหลักหมายสำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์ล้านนาในห้วงกึ่งศตวรรษ (พ.ศ. 2496-2535) ที่ผ่านมา
 
ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว แต่อยู่ที่ว่าคนรุ่นปัจจุบันจะสืบสานและพัฒนาสิ่งที่ท่านได้ทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 อย่างไรต่างหาก.
ธเนศวร์ เจริญเมือง [2] เขียนในปี 2552
 
            บทความของธเนศวร์ เจริญเมือง สร้างความประหลาดใจปนผิดหวังแก่ผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเขาเยินยอไกรศรี นิมมานเหมินท์ เสียอย่างมากมาย  ทั้งยังจงใจไม่วิพากษ์การกระทำ และไม่กระทำในประวัติศาสตร์ของไกรศรี ทั้งที่มีจุดชี้ชวนให้สงสัยจำนวนมากในผลงานอันเอกอุของไกรศรี บทความนี้จึงเขียนขึ้นมาเพื่อทบทวนบทความดังกล่าวและทำการวิพากษ์กลับ พร้อมทั้งมีข้อเสนอบางประการอีกด้วย
 
 
บุรุษ 3 อัตลักษณ์ และสถานภาพของครอบครัว
 
วันหนึ่งเมื่อคุณหลวงอนุสารฯล่องเรือลงไปค้าที่กรุงเทพฯ มีครูโรงเรียนฮั่วเองคนหนึ่งเรียกชื่อกันว่า ฉั่วชินแซ ได้อ้อนวอนให้คุณยายคำเที่ยง (ยายของ อ.ไกรศรี) ให้เอาบุตรหลานไปฝากเข้าเรียนที่โรงเรียนจีนนั้น คุณยายคำเที่ยงตกลงจึงได้พาบุตรของหลวงอนุสารฯกับภริยาอีกคนหนึ่ง ชื่อนางอโนชา และหลานคือ อ.ไกรศรี ไปฝากเข้าโรงเรียนฮั่วเองนี้ เมื่อคุณหลวงอนุสารฯ กลับขึ้นมาจากกรุงเทพฯ ทราบข่าวว่าคุณยายคำเที่ยงเอาเด็กไปฝากไว้ที่โรงเรียนฮั่วเองซึ่งสอนภาษาจีน ท่านไม่พอใจเป็นอย่างมากเพราะตั้งใจเอาไว้ว่าจะให้บุตรและหลานเข้าไปเรียนโรงเรียนอนุสารบำรุงวิทยา ที่ท่านตั้งขึ้นมา เพื่อสอนหนังสือไทยกลางซึ่งท่านเห็นความสำคัญในอนาคตว่า ต่อไปทั่วประเทศไทยจะต้องใช้ภาษาไทยกลางและเรียนภาษาไทยกลางกันทั้งหมด ซึ่งตัวคุณหลวงอนุสารฯ เองได้กล่าวว่า แม้ท่านเป็นคนมีเชื้อสายจีนแต่ท่านได้ถูกผสมผสานกลมกลืนเป็นชาวล้านนาไทยไปเสียแล้วทั้งทางด้านภาษาและวัฒนธรรม [3] (เน้นโดยผู้เขียน)
 
            เมื่อพิจารณาข้อความด้านบนเราจะเห็นได้ถึงความทรงจำของไกรศรีที่มีต่อหลวงอนุสารสุนทร ผู้เป็นตา ซึ่งมีเนื้อความที่แสดงให้เห็นความคาบเกี่ยวของอัตลักษณ์ทั้ง 3 ในครอบครัวของไกรศรี เชื่อได้ว่าสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลมาถึงไกรศรี เราอาจกล่าวอย่างรวบรัดได้ว่า ไกรศรีนับเป็นบุรุษที่มีถึง 3 อัตลักษณ์ในตนเอง นับตั้งแต่การที่เขามีเชื้อสายจีน – มีสำนึกความเป็นคนไทยอย่างเต็มเปี่ยม – ทั้งยังเป็น “คนเมืองยิ่งกว่าคนเมือง” [4] ดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป
 
ใน 3 อัตลักษณ์นี้ เขาเลือกที่จะถอยห่างจากความเป็นจีนมากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าในยุคสมัยที่เขาเติบโตขึ้นมานั้น (ไกรศรีมีชีวิตอยู่ในปี 2455-2535) ความเป็นจีนเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการเติบโตทางอาชีพการงาน นับตั้งแต่นโยบายชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 สืบเรื่อยมาจนถึงการปฏิวัติสยาม 2475 [5] แม้ว่าเขาจะปฏิเสธอัตลักษณ์แรกคือ ความเป็นจีน แต่ก็ยังมิสามารถทิ้งรากเหง้าไปได้ จึงมีคำอธิบายต่อไปว่า แม้นจะเป็นจีน แต่ก็เป็นจีนที่มีหัวนอนปลายเท้า กล่าวคือ เป็นจีนแซ่แต่ อันเป็นแซ่เดียวกับพระเจ้าตากสิน และมีความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา ลืมตาอ้าปากได้สมัยพระเจ้าตากสินครองราชย์ แต่ก็ต้องระหกระเหินเมื่อเกิดกบฏเจ้าฟ้าเหม็นในรัชกาลที่ 2 ทำให้ต้องอพยพขึ้นมาทางเหนือ ดังนั้นเชื้อสายที่ได้รับการเล่าขานหากเป็นจริงแล้ว ตระกูลนี้จึงมิใช่ตระกูลสามัญชนธรรมดาอย่างที่เข้าใจ
 
สำนึกความเป็นคนไทยนั้น อาจกล่าวได้ว่า มาจากการที่เขาได้มีประสบการณ์ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ช่วงชีวิตที่กำลังใฝ่หาความรู้ [6] ก่อนจะกลับบ้านเกิด ไกรศรียังได้รับประสบการณ์จากการทำงานในกรุงเทพฯด้วย เช่น รับราชการเป็นอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2482-2483[7] ชีวิตของเขาจึงซ้อนเหลื่อมอยู่กับสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรงแรงเป็นช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษ ได้มีโอกาสเห็นและรับรู้ทั้งการล้มลงของฝ่ายอนุรักษ์นิยม การเกิดขึ้นประชาธิปไตย การผลัดใบไปสู่รัฐชาตินิยม และพลิกขั้วกลับมาเป็นอนุรักษ์นิยมอีกครั้งในบริบทดังกล่าวเชื่อได้ว่า มีส่วนหลอมรวมเขาให้มีสำนึกความเป็นคนไทยอย่างเต็มเปี่ยม 
 
กว่าเขาจะกลับมาเชียงใหม่ก็ล่วงถึงปี 2490 เมื่อเขาอายุได้ 35 ปีแล้ว
 
สิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นสำนึกความเป็นไทยของเขา อาจแสดงให้เห็นในการกล่าวสัมมนา เรื่อง การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เขาได้เป็นวิทยากร ได้กล่าวไว้ว่า
 
สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านทุกคนลงมือให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาโดยด่วน แล้วทำให้ความช่วยเหลือและแก้ไขของท่านให้กลับกลายเป็นวัฒนธรรมซึ่งมีความคงทน ไม่สลายตัวเป็นอย่างอื่นไปได้ง่ายๆ แล้วการอนุรักษ์วัฒนธรรมนั้นไว้ให้คงอยู่และมีความศักดิ์สิทธิ์ เกิดผลดีขึ้นแก่ส่วนรวม ทำประโยชน์ให้เกิดแก่ประเทศชาติไทยทั้ง 3 สถาบัน อันมี ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้มั่นคงดำรงอยู่ต่อไป ให้พ้นภัยพิบัติประการใดๆ ตลอดชั่วนิรันดร์ ขอให้ท่านทั้งหลายจงเจริญและพ้นทุกข์ภัยพิบัติ ทั่วหน้ากัน ตลอดไปเทอญ [8]
           
กี นิมมานเหมินท์ บิดาไกรศรี ยังเป็นพ่อค้าที่มีการศึกษา และกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ มารดาของเขาที่ใฝ่รู้ ได้ส่งเสริมให้บรรดาลูกๆ ทั้งหมดก็ได้รับการศึกษาขั้นสูงเท่าที่ชนชั้นนำของไทยสมัยนั้นจะทำได้ กล่าวคือ บุตรชายจบปริญญาโท จากต่างประเทศในมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างฮาร์วาร์ด, เยล, คอร์เนล และ เพนซิลวาเนียบุตรีก็จบปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งคู่ สิ่งเหล่านี้จึงขัดแย้งกับความเป็นสามัญชนของเขาที่ธเนศวร์กล่าวอ้าง เมื่อเทียบมาตรฐานของคนทั่วไปในยุคนั้น แม้ตระกูลเศรษฐีในกรุงเทพฯ ก็คงมีไม่มากนักที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างเช่นตระกูลนี้ ยังไม่นับตระกูลนิมมานเหมินท์สายอื่นอย่าง สุกิจ นิมมานเหมินท์ (2449-2519) ที่มีบทบาททางการเมืองระดับประเทศ ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา
 
 
ปกวารสารคนเมือง ฉบับกรกฎาคม 2497 และฉบับอื่นๆที่ลงภาพความงามของสาวเหนือลงหน้าปก เป็น "ทรามวัยบนปก" ที่มา: http://www.lannacorner.net/lanna2008/article/article.php?type=A&ID=1041
 
 
“คนเมืองกระฎุมพี” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
            งานของณัฏฐพงษ์ เลี่ยววิวัฒน์อุทัย แสดงให้เห็น การขยายตัวของเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงของสังคมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นทำให้สังคมไทยขยายตัวขึ้นอย่างมากในทศวรรษ 2490 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องสำคัญให้ระบบการปกครองและเศรษฐกิจแบบเดิมไม่สามารถจะรองรับชนชั้นกลางที่ขยายตัวได้ นำไปสู่การสนับสนุนอย่างกว้างขวางในการรัฐประหารของสฤษดิ์ในปี 2500 [9] มีหลักฐานเชิงประจักษ์ระบุว่า ตระกูลนิมมานเหมินท์เป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่ของเชียงใหม่ และยังเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ที่สำคัญอีกด้วย [10] สิ่งที่แสดงให้เห็นอำนาจต่อรองทางธุรกิจได้อย่างเด่นชัดก็ไม่พ้น กรณีที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ในเชียงใหม่กล่าวคือ ในทศวรรษ 2490 บิดามารดาของไกรศรีมีความประสงค์จะมอบที่ดิน 100 ไร่เศษให้เป็นที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยในเชียงใหม่ แต่รัฐบาลไม่นำพา จนมาถึงปี 2501 มีนโยบายสร้างมหาวิทยาลัยภูมิภาคและมองมาที่เชียงใหม่ ในครั้งนี้ตระกูลนิมมานเหมินท์เป็นฝ่ายรอการเข้ามาเจรจาของ ม.ล.ปิ่นเพื่อซื้อที่ และได้ตกลงกัน “ในราคาพิเศษ” ไม่เพียงเท่านั้นในนามของบิดามารดายังได้มีการบริจาคที่ดินและสร้างถนนสายสำคัญ กล่าวคือ ที่ดินและสนามกีฬา 15 ไร่ โรงเรียนอนุสารสุนทร 6 ไร่ ที่ดินโรงงพยาบาลโรคปอด 6 ไร่ ถ.ศิริมังคลาจารย์ 8.25 ไร่ ถ.นิมมานเหมินท์ 15 ไร่ [11]
 
นี่คือ อำนาจทางเศรษฐกิจของตระกูลนิมมานเหมินท์ที่ครอบงำเชียงใหม่ในสมัยนั้น
 
ความจริงแล้วในทศวรรษ 2490 ยังมีกระแสความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาของปัญญาชนชาวเหนือ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสมาคมชาวเหนือ(2489) [12] การออกนิตยสารชาวเหนือที่ชื่อว่า โยนก [13]ในปี 2490 ที่มีแสน ธรรมยศ (2457-2495) นักคิดนักเขียนชาวลำปางเป็นบรรณาธิการ คณะทำงานส่วนใหญ่มาจากสายตระกูลนิมมานเหมินท์-ชุติมา วัตถุประสงค์ของนิตยสารนี้โดยสาระแล้วคือ เป็นการนำข่าวสารของสมาคมชาวเหนือและกิจการต่างๆ ให้ชาวเหนือทั่วประเทศได้รับทราบ แม้เป้าหมายหลักและสำนักงานจะอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่สิ่งนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นชาวเหนือที่จินตนาการถึงประเทศไทยในภาพรวมและสำนึกความเป็นคนเหนือที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆทั่วประเทศ [14]
 
ขณะที่บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2460-2516) นักเขียน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย ก็ผลิตงานเขียนกึ่งวิชาการกึ่งสารคดีอย่าง 30 ชาติในเชียงราย (2493)  เชียงใหม่และภาคเหนือ (2503) ชาวเขาในไทย (2506) ฯลฯ[15] ที่เสริมสร้างความรับรู้เกี่ยวกับภาคเหนือ ต่อโลกภายนอก นักคิดนักเขียนร่วมสมัยชาวเหนือที่ได้ร่วมสร้างตัวตนคนเหนือที่โดดเด่นอีกคนก็คือ อำพัน ไชยวรศิลป์ (2461-2533) ชาวเชียงใหม่ผู้ใช้นามปากกาว่า อสิธารา อ.ไชยวรศิลป์ นักเขียนชาวเชียงใหม่ เจ้าของผลงาน แม่สายสะอื้น ริมฝั่งแม่ระมิงค์ นิยายเมืองเหนือ  ฯลฯ เธอเป็นนักเขียนนิยายที่สร้างตัวตนผู้หญิงเหนือให้ปรากฏอยู่กับความรับรู้ของคนไทยผ่านวรรณกรรม งานเขียนของอำพันยังถูกไปผลิตซ้ำในภาพยนตร์ ละครวิทยุกระจายไปทั่วประเทศ [16] อำพันยังมีงานเขียนด้านสารคดีเกี่ยวกับภาคเหนือ เช่น เล่าเรื่องเมืองเหนือว่าสถานที่สำคัญต่างๆ  เล่าเรื่องเมืองเหนือว่าด้วยประวัติบุคคลสำคัญ สารนิยายใต้ฟ้าลานนา [17]หรือจะเป็นงานเขียนในเชิงวัฒนธรรมของประเพณีของ สงวน โชติสุขรัตน์ (2464-2528) อันได้แก่ ตำนานเมืองเหนือ (2499) สารคดีจากลานทอง ประวัติศาสตร์ลานนาไทย (2503) เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นปริมาณงานเขียนที่เพิ่มขึ้น
 
ความเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องไปกับการขยายตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ทศวรรษ 2490 ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ตัวอย่างหนังสือพิมพ์ได้แก่ ชาวเหนือ (2490-เชียงใหม่) ไทยลานนา (2492-ลำปาง) คนเมือง (2496-เชียงใหม่)  บางแสน (2498-ชลบุรี?) สระบุรีสาร (2498-สระบุรี) ก้าวหน้า (2500-ราชบุรี) เป็นต้น น่าสังเกตว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมักจะวางแผงพร้อมกับการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล [18]
 
นอกจากนั้นยังมีการขยายตัวทางสื่อมวลชนแขนงอื่นเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร และความบันเทิงในสังคมไทยเพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น  วิทยุที่เริ่มกระจายสถานีวิทยุไปยังจุดต่างๆ  และการเริ่มออกอากาศโทรทัศน์ในปี 2498 สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของเมืองในสังคมไทยที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่เริ่มแผ่กระจายไปทั่วประเทศพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการขยายตัวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่างานเขียนต่างๆ ของชาวเหนือนั้นมิได้เกิดมาลอยๆ ด้วยสำนึกความเป็นคนเหนือเพียงอย่างเดียว แต่ว่ามีตลาดของผู้อ่านและผู้บริโภคที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆกับสังคมไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วต่างหาก [19]
 
ไกรศรีและครอบครัวนับได้ว่ามีโลกทัศน์ที่เปิดกว้างจากประสบการณ์ที่หลากหลายในการไปศึกษาต่างประเทศ การทำธุรกิจที่ต้องใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ครุ่นคิดคำนวณและต่อรอง เห็นประโยชน์ภายหน้าและมีการวางแผนที่ชัดเจน ขณะที่มีรากฐานมาจากความเป็นคนท้องถิ่นภาคเหนือ (ความเป็น “คนเมือง”) ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ไกรศรีและครอบครัวเป็นตัวแทนของ “คนเมืองกระฏุมพี” ที่เติบโตมาพร้อมกับสถานภาพทางเศรษฐกิจและชนชั้นอันได้เปรียบในสังคมภาคเหนือในยุคนั้น
 
 
 “คนเมืองกระฎุมพี” ที่เป็น “คนเมืองยิ่งกว่าคนเมือง”
            นอกจากการไขว่คว้าไปตามความทันสมัยและวิทยาการที่ก้าวหน้าของตะวันตกแล้ว ไกรศรียังมีความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะเข้าใจอดีตและตัวตน ความเป็นคนเมือง ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากกระแสความตื่นตัวภายในท้องถิ่นและกระแสคนเมืองในระดับประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เขาได้พบปะสัมพันธ์กับคนต่างชาติดังปรากฏหลักฐานที่ระบุความคิดของเขาไว้ดังนี้
 
ขอบอกมาให้ทราบอีกครั้งว่า ฝรั่งเขาวัดความเป็นผู้ดีของคน โดยความรอบรู้ในด้านวิชาที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ฉะนั้น จึงขอเตือนมาให้พยายามเอาใจใส่ และขอให้สังเกตว่า ในวงสังคมชั้นสูงของเขา ปัญหาที่นำมาพูดกันส่วนใหญ่ก็คือ เรื่องเกี่ยวกับ ศิลปะต่างๆ เช่น ภาพเขียน รูปแกะสลัก เครื่องถ้วยชาม การฟ้อนรำ การดนตรี เป็นต้น ขนบธรรมเนียมประเพณีและปัญหาเกี่ยวกับการเมืองต่างประเทศ ถ้าเราไม่สร้างพื้นความรู้ของเราในด้านเหล่านี้ไว้เสียเลยการเข้าสังคมก็จะจืดชืด[20] (เน้นโดยผู้เขียน)
 
            ข้อความนี้ นำมาจากจดหมายที่เขาเขียนถึงลูก ทำให้เราเห็นว่าไกรศรีพยายามขัดเกลาตนเองและครอบครัวให้มีความรอบรู้ทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อเข้าสังคมผู้ดีซึ่งได้ยึดเอาโลกทัศน์แบบตะวันตกเป็นแบบแผนในการเข้าสู่ความเป็นชนชั้นนำ ซึ่งในมุมมองแบบนี้เป็นสายตาเดียวกันกับที่เจ้าอาณานิคมหันกลับไปค้นหาอารยธรรมที่เก่าแก่และความแปลกตาในประเทศอาณานิคม
 
ไกรศรีได้เลือกที่จะใช้อัตลักษณ์ความเป็นคนเมืองในการวางตำแหน่งแห่งที่ของตนที่ที่เชียงใหม่และความเป็นคนเหนือ แต่ก็มิได้เป็นเพียงแค่นั้นเขายังผูกโยงตนเองและยกระดับไปสู่ตำแหน่งแห่งที่ในสังคมชั้นสูงระดับประเทศอีกด้วย ดังเห็นได้จากการที่เขารื้อฟื้นศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นขึ้นมา โดยมีหน้าที่รับใช้ชนชั้นกลาง-ชนชั้นนำของสังคมไทย และเป็นสำนึกประวัติศาสตร์ที่ถูกผนวกรวมกับแก่นของฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทย เช่น การค้นพบเครื่องปั้นดินเผาสันกำแพง ที่เป็นเพียงศิลปวัตถุที่แสดงความเก่าแก่ของเชียงใหม่และเมืองเหนือ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และเป็นผลพวงมาจากอารยธรรมอันรุ่งเรืองและไกลโพ้นโดยมิได้เชื่อมโยงกับสังคมท้องถิ่น การค้นพบมลาบรี (ผีตองเหลือง) ในฐานะชาติพันธุ์ที่แปลกประหลาด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์ที่สร้างพลังให้กับท้องถิ่นที่เพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชนดังที่แสน ธรรมยศ เคยกล่าวไว้
 
สิ่งที่แสดงออกได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ การประยุกต์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับกิจกรรมของชนชั้นสูงโดยการแปลงวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า ได้มีการนำ “ขันโตก-หม้อฮ่อม-สาวงาม” มาแปรความหมายใหม่ บนพื้นที่นี้นี่เองที่ไกรศรีได้จัดความสัมพันธ์กับชนชั้นนำได้อย่างแนบเนียนโดยการจัดพื้นที่ในบ้านให้กลายเป็นที่พบปะกันของชนชั้นสูงที่อยู่บนปลายปิระมิดของอำนาจ ที่สถาปนาขึ้นท่ามกลางกลิ่นไอของความเป็นคนเมือง และเมืองเหนือในอุดมคติ
 
ไกรศรีจัดงานเลี้ยงขันโตกขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2496 เพื่อทำการเลี้ยงส่งสัญญา ธรรมศักดิ์  ข้าหลวงยุติธรรม ภาค 4 เชียงใหม่ ที่จะย้ายกลับลงไปรับตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ณ เมืองหลวง ส่วน จอช วิดนี่ เป็นกงสุลอเมริกันคนที่สองที่ประจำอยู่ที่เชียงใหม่ มีกำหนดการจะย้ายกลับไปสหรัฐอเมริกา โดยการจัดเลี้ยงแนวใหม่ด้วยการประยุกต์ใช้ขันโตกที่เดิมใช้ในงานประเพณีเลี้ยงพระ เมนูอาหารประกอบด้วย “อาหารเมือง” อย่างหมูปิ้ง แคบหมู ไส้อั่ว น้ำพริกอ่อง แกงฮังเล แกงอ่อม ลาบ และไข่คว่ำ ขณะเดียวกันก็มีนำเสนอการแต่งกายแบบคนเมืองด้วยการแนะนำแขกแต่งชุดพื้นเมือง โดยให้ผู้หญิงสวมเสื้อแขนกระบอกนุ่งผ้าซิ่น ฝ่ายชายให้สวมเสื้อและกางเกงหม้อห้อม ไม่เพียงเท่านั้นเพื่อความสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่าเชียงใหม่-เมืองเหนือเป็นเมืองแห่งผู้หญิงงาม เจ้าภาพยังได้เชิญเอานางงามที่ได้รับคัดเลือกในงานฤดูหนาวเชียงใหม่ และนางงามแห่งประเทศไทย เช่น นวลสวาท ลังกาพินธุ์ สมบูรณ์ ศรีบุรี ตลอดจนรองนางงามและผู้ที่ได้รับรางวัลชมเชยมานั่งเป็นเกียรติให้แก่แขกเหรื่อ นั่งอยู่ประจำขันโตกละหนึ่งนางงาม
 
ส่วนการจัดเลี้ยงขันโตกในครั้งที่ 2 กระทรวงการคลังรับเป็นเจ้าภาพงานจัดเลี้ยงรับรองเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของธนาคารโลกที่เข้ามาพิจารณาคำขอกู้เงินโดยรัฐบาลไทย ครั้งที่ 3 งานดังกล่าวก็ได้รองรับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ขององค์การทุนระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย งานที่มีแขกเข้าร่วมเป็นจำนวนมากก็คือ ในปี 2499 มีจำนวนกว่า 200 คน ครั้งนี้เป็นงานเลี้ยงรับรองคณะสมาชิกและสหายของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ไกรศรีเป็นสมาชิกตลอดชีพ และเคยเป็นกรรมการสมาคม  แขกที่มาล้วนเป็นชนชั้นสูง อันได้แก่ เจ้านาย ปราชญ์จากต่างประเทศและประเทศไทย ทูตต่างประเทศ บุคคลชั้นนำของประเทศ การสร้างความรับรู้เช่นนี้แก่ชนชั้นนำของประเทศล้วนตอกย้ำความเป็น “คนเมือง” และผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญของไกรศรี ซึ่งได้เพิ่มอำนาจและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้แก่เขาไม่น้อยในการณ์ต่อมา
 
 
หนังสือพิมพ์คนเมือง ฉบับวันที่ 20 สิงหาคม 2505 มีคำบรรยายว่า "ผีตองเหลือง ผลงานภาพชิ้นโบว์แดงของคุณบุญเสริม ในหนังสือพิมพ์คนเมืองขวาสุดของภาพคือ อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ปราชญ์ล้านนาผู้นำการสำรวจในครั้งนั้น" ที่มา : http://www.geocities.com/naijen2001/history_reward.htm
 
เรือนคำเที่ยงที่นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ยกให้สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2506 มีที่ตั้งอยู่บริเวณ ถ.สุขุมวิท 21 กรุงเทพฯ ที่มา : http://pics.manager.co.th/images/551000005767201.jpeg
 
 
ความสัมพันธ์กับปัญญาชนเมืองหลวงและเจ้านาย
            การกลับมาเชียงใหม่นั้นอาจทำให้ไกรศรีมีช่องทางติดต่อสื่อสารกับชนชั้นนำไม่ถนัดนัก ประกอบกับนิสัยส่วนตัวและบริบทของความคึกของการแสวงหาตัวตนท้องถิ่นที่พุ่งสูงขึ้น ได้ทำให้เขาเริ่มที่จะแสวงหาตัวตนท้องถิ่น ในอีกด้านหนึ่งก็คือ การริเริ่มเส้นทางสายวิชาการไม่ว่าจะเป็นด้านโบราณคดี-ศิลปวัตถุ มานุษยวิทยา ก็ตาม ไกรศรีเริ่มตั้งแต่การออกสำรวจและขุดค้นพบเตาเผาและเครื่องถ้วยสมัยพญาติโลกราช ในปี 2495 ที่ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีการพบซากเตาเผาถึง 83 เตา และเครื่องถ้วยจำนวนหนึ่ง ได้เรียกเครื่องถ้วยชุดนี้ว่า “เครื่องถ้วยสันกำแพง” ไกรศรีได้เขียนภาพรายละเอียดเกี่ยวกับการพบและข้อสันนิษฐานไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในหนังสือชื่อ เครื่องถ้วยสันกำแพง (2503) [21] ไม่เพียงเท่านั้นเขายังมีบทความทางวิชาการเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติอย่าง วารสาร สยามสมาคม ด้วย อันได้แก่ “ “ผีตองเหลือง” หรือ “คนป่า” ” (2505 – ภาษาอังกฤษ เขียนร่วมกับ J. Hartland-Swann ) “ภาษามราบรี หรือ คนป่า” (2506 - ภาษาอังกฤษ)
 
สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขามีความสัมพันธ์กับ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ อย่างแน่นแฟ้นก็คือ นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ (แม่ของไกรศรี) ได้บริจาคเรือนโบราณ ที่มีชื่อเรือนว่า “เรือนคำเที่ยง” มอบให้แก่สมาคมในปี 2506 การย้ายเรือนดังกล่าวจากเชียงใหม่ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก มูลนิธิเอเชีย และมูลนิธิจอห์น ดี. รอคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งต่อมาอาคารดังกล่าวได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องมือหาปลา อุปกรณ์ทำนา และงานไม้แกะสลัก ในปี 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เสด็จเปิดพิพิธภัณฑ์หลังนั้นด้วย [22]
 
ดังนั้นด้วยสถานภาพทางการเงิน สถานภาพทางสังคม และความน่าเชื่อถือทางวิชาการ ที่แสดงออกถึงความเป็นผู้รู้ทางศิลปวัฒนธรรมของเมืองเหนือยังไกรศรีเชื่อมโยงกับพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย  การเสด็จพระราชดำเนินมายังภาคเหนือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในปี 2501 นั้นได้ก่อให้เกิดเครือข่าย ทั้งในสายเจ้านายทางเหนือรวมไปถึงคนเมืองกระฎุมพีอย่างไกรศรีและตระกูลนิมมานเหมินท์-ชุติมาอีกด้วย กล่าวได้ว่า ดินแดนภาคเหนือเริ่มกลายเป็นที่รองรับพระราชอาคันตุกะจากที่ต่างๆ หลังจากที่มีการสร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ (วางศิลาฤกษ์ปี 2504 รับผิดชอบการก่อสร้างโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) เหตุผลในการสร้างพระตำหนักที่เชียงใหม่นั้นก็เพราะว่า
 
มีอากาศเย็นสบาย ตัวเมืองก็มีขนาดใหญ่ ไม่ขาดแคลนข้าวปลาอาหาร ทั้งชาวไทยภาคเหนือยังดำรงรักษาจารีตประเพณีอันดีงามไว้ ซึ่งดูเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่จะสร้างพระตำหนักขึ้นสำหรับต้อนรับแขกต่างประเทศ และเพื่อประทับพักผ่อนเป็นการส่วนพระองค์เป็นครั้งคราว [23]
 
ดังนั้นทศวรรษ 2500 จึงเป็นจุดเริ่มต้นอย่างจริงจังของการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกับเมืองเหนืออย่างเชียงใหม่ จากตารางด้านล่างจะเห็นได้ว่าเชียงใหม่และภูพิงคราชนิเวศน์ ได้เป็นพื้นที่สำคัญในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในระดับชนชั้นสูงของประเทศต่างๆ ความสามารถในการรับรองและการต้อนรับที่แสดงอัตลักษณ์ของความเป็นชาวเหนืออันโดดเด่นก็เป็นใครไปไม่ได้นอกจากไกรศรีและครอบครัว
 
 
ตารางแสดงการเสด็จพระราชดำเนินทรงรับรองพระราชอาคันตุกะ
ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ดอยบวกห้า จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2505-2510
ปีพ.ศ.
รายละเอียด
 
ช่วงเวลา
พระราชอาคันตุกะ
2505
17-22 มกราคม
สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 9 และพระราชินีอินกริด แห่งเดนมาร์ก
 
24-26 พฤศจิกายน
ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและภริยา
2506
19-22 ตุลาคม
สมเด็จพระราชินีนาถจูเลียนา เจ้าชายเบอร์นอาร์ด และเจ้าหญิงเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์
2507
7-10 กุมภาพันธ์
สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งประเทศเบลเยี่ยม
 
27-? กุมภาพันธ์
สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย
 
17 เมษายน
เจ้าหญิงแชมส์ ปาห์ลาวี แห่งอิหร่านกับพระสวามี พร้อมด้วยโอรส
 
18 ธันวาคม
เจ้าฟ้ามกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นและพระชายา
2508
18-23 มกราคม
สมเด็จพระเจ้ากรุงนอร์เวย์
 
2 กุมภาพันธ์
เจ้าชายเบอรทิลแห่งสวีเดน
2510
8 มกราคม
เจ้าหญิงเบเนดิกเต แห่งเดนมาร์ก
 
21 -24 มกราคม
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย
 
6-8 มีนาคม
ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน
 
ที่มา: สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้า... เล่ม1 ปี พุทธศักราช 2498-2502,  2539.
สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้า... เล่ม2 ปี พุทธศักราช 2403-2507,
2539.
สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้า... เล่ม3 ปี พุทธศักราช 2508-2512,
2539.
 
            ไกรศรี และภริยา มีโอกาสถวายงานรับรอง พระราชอาคันตุกะอยู่เสมอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ มักจะเสด็จมาที่บ้านของไกรศรี ที่ถนนฟ้าฮ่าม และเสวยพระกระยาหารกลางวัน หรือ พระกระยาหารว่าง ไม่เพียงเท่านั้น ไกรศรียังบันทึกว่า ได้มีโอกาสถวายงานรับรองพระราชาธิบดีและพระราชินีแห่งประเทศเบลเยี่ยม เสด็จมาทอดพระเนตรโบราณวัตถุ, พระราชินีเดนมาร์ก พระองค์เดิมและพระองค์ใหม่ พระราชินีฮอลันดาพระองค์ใหม่, สมเด็จพระราชินีอังกฤษ และพระราชินีแห่งมาเลเซีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับสั่งให้เขาไปต้อนรับที่พุทธสถานเชียงใหม่
 
            ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับราชสำนัก ทำให้ไกรศรีสะท้อนความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณด้วยจดหมายที่เขียนถึงลูกว่า
           
            ที่ฟ้าฮ่ามพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินียังเสด็จไปชมการทอผ้าของแม่ และทรงซื้อผ้าหลายชิ้น
ก่อนเสด็จไปพระตำหนัก แม่เกิดกระสับกระส่ายเกรงป๋าจะลืม กราบบังคมทูลขอพระราชทานบ้านที่ถวายไปนั้นคืน แม่คอยสะกิดเตือนป๋าอยู่ตลอดเวลา พระเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตเห็นตอนนั้นจึงทรงพระสรวลแล้วทรงสัพยอกเล่นว่า “ไม่ให้คืนละ บ้านสวยๆ อยู่สบายๆ อย่างนี้ไม่อยู่กัน พากันไปอยู่กรุงเทพฯเสีย...[24]
 
            ความผูกพันกับชนชั้นสูงของไกรศรี จึงแยกไม่ออกไปกับงานเขียนและการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นคนเมืองที่ผูกอยู่กับอำนาจรัฐศูนย์กลางและสถาบันหลักของชาติอย่างแจ่มชัด
 
 
มรดกและการผลิตซ้ำวัฒนธรรมคนเมืองกระฎุมพี
วัฒนธรรมคนเมืองกระฎุมพีนั้นถูกจริตกับชนชั้นกลางในเมืองอย่างยิ่ง สอดคล้องกับความที่เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่รองรับคนจากทุกทั่วสารทิศที่เห็นเชียงใหม่เป็นจุดหมาย ดังนั้นอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการท่องเที่ยวและอัตลักษณ์ความเป็นคนเมืองจึงได้รับการผลิตซ้ำอย่างมีพลัง หมุดหมายสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ผลงานเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร (2494-2544) ศิลปินชาวเชียงใหม่ คนเมืองกระฎุมพีรุ่นต่อมา งานเพลงของเขานั้นเป็นบทเพลงเพื่อชนชั้นกลางโดยแท้ [25] การหยิบยืมทำนองดนตรีตะวันตกที่คุ้นหูกับชนชั้นกลางเข้ามาผสมผสานกับเนื้อเพลงที่เลือกสรรคำเมืองที่เป็นคำเมืองปนภาษาไทยกลาง ก็ยิ่งทำให้ดนตรีติดหูและเป็นที่นิยมได้ง่าย รวมไปถึงการแต่งกายและองค์ประกอบต่างๆที่แสดงความเป็นคนเมือง-เมืองเหนือออกมาอย่างน่าประทับใจ สิ่งเหล่านี้กล่าวได้ว่าถูกจริตและขายได้จึงได้มีการผลิตซ้ำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในขณะเดียวกัน สุ้มเสียงและวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนอีกชนชั้นกลับถูกเบียดขับออกไปไม่ว่าจะเป็น จ๊อย-ซอคำเมือง-เพลงชาวบ้าน [26]  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นวัฒนธรรมอีกแบบ เป็นวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่อยู่ในมิติชีวิตประจำวันที่เป็นการ “กิน-เมา-ม่วน” อันเป็นพฤติกรรม และวิถีชีวิตปกติธรรมดาของคนอีกประเภทที่ไม่สวยงาม ไม่เข้ากรอบอธิบายแบบ “คนเมืองกระฎุมพี” ซึ่งไม่อาจจะนำเสนอขายต่อตลาดท่องเที่ยวได้ จึงไม่ถูกผลิตซ้ำ หรือมิหนำซ้ำยังถูกดูถูกหรือต่อต้านอีกต่างหาก
 
 
ท้องถิ่นนิยมที่ไร้อำนาจท้องถิ่น
            ธเนศวร์กล่าวถึงบทบาทที่เฉไฉของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ราวกับว่า ไกรศรีไม่มีส่วนหรือบทบาทที่ทำให้เกิดผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ธเนศวร์ยังหยิบคำพูดของไกรศรีมาย้ำว่า “ผมไม่เห็นด้วยที่มองปัญหาประเทศไทยด้วยสายตาของคนกรุงเทพฯ” มาเป็นตัวแทนความคิดของความเป็นท้องถิ่นนิยมในตัวไกรศรี แต่คงลืมไปกระมังว่า ไกรศรี และตระกูลนิมมานเหมินท์มีบทบาทเพียงใดในสังคมเมืองเชียงใหม่ในช่วงที่ผ่านมา
 
และหากจะตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วการมองปัญหาเชียงใหม่ด้วยสายตาของชนชั้นนำอย่างไกรศรีนั้น จะต่างกับสายตาของคนกรุงเทพฯเพียงใด ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจ และมันจะสอดคล้องกับการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรของตระกูลนิมมานเหมินท์-ชุตินันท์เพียงใด แล้วจะสอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนของปัญหาในเมืองเชียงใหม่หรือไม่
 
            ในประวัติของไกรศรีพบว่าเขาเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัดในปี 2501-2504 แต่ไม่พบว่าเขาได้มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนักในทางการเมืองท้องถิ่น แต่เขากลับได้อำนาจที่มาสูงกว่านั้นจากการได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิกในปี 2518-2519  รวมไปถึงเป็นกรรมการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มีส่วนร่างโครงการจัดตั้งคณะสังคมศาสตร์และรักษาการคณบดี, เป็นกรรมการในคณะกรรมการประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวกับเอกสารภาษาจีน สำนักนายกรัฐมนตรี [27] ที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นอำนาจที่มีบทบาทโดดเด่นในแวดวงวิชาการเป็นหลัก อาจกล่าวได้ว่าเขาขึ้นครองอำนาจทางวิชาการ ผ่านระบบอุปถัมภ์และเครือข่ายชนชั้นสูง การมีตำแหน่งเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องลงไปเป็นนักการเมืองที่แปดเปื้อนแต่อย่างใด
 
ผู้เขียนกลับมองว่าสิ่งเหล่านี้มิได้เป็นคุณูปการแก่ท้องถิ่น การผลักดันให้ท้องถิ่นเติบโตจึงมิควรที่จะเป็น การเชิดชูและเฝ้าฝันถึงบุคลาธิษฐานโดยไม่มองถึงโครงสร้างทางการเมืองเชิงสถาบัน ผู้เขียนได้แต่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วบทบาทเหล่านี้ล่ะหรือ ที่จะเป็นพลังของท้องถิ่นที่จะต่อสู้กับอำนาจอำมาตยาธิปไตยที่ไม่เป็นธรรม และนำไปสู่การสร้างการพัฒนาที่เท่าเทียมและเสมอภาคได้จริง
 
 
คนเมืองกับเพื่อนมนุษย์รอบตัวเรา
“สวรรค์มิได้สร้างมนุษย์คนหนึ่งให้ดีกว่าหรือเลวกว่ามนุษย์อีกคนหนึ่ง”
 
นี่เป็นประโยคเปิดอันมีชื่อเสียงของหนังสือ มุ่งสู่วิทยาการ (1872/2415-1880/2423) [28] ของฟูคูซาว่า ยูคิจิ ปัญญาชนชั้นนำของญี่ปุ่นในสมัยเมจิ คนที่ธเนศวร์กล่าวอ้างไว้
 
ผู้เขียนต้องการจะชี้ว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะก้มหน้าก้มตาสืบสานภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของ “คนเมืองกระฏุมพี” ที่ไกรศรีได้วางรากฐานมาในปี 2496 แต่อย่างเดียว สิ่งที่ควรจะสำนึกและสำเหนียกกันให้มากก็คือ การจงใจผลิตซ้ำวัฒนธรรมคนเมืองกระฎุมพีอย่างที่ผ่านมานั้นเพียงพอแล้วหรือไม่ที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียม เสมอภาคขึ้นในสังคมท้องถิ่นในภาคเหนือ  
 
เพราะอันที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ หรือจังหวัดอื่นๆในดินแดนนี้ไม่ได้มีเพียงแต่คนเหนือ คนไทยชนชั้นกลางด้วยกันเท่านั้น หากแต่เรายังต้องมองให้เห็นรอบไปถึงชนชั้นอื่นๆที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผู้เสียโอกาสทางสัญชาติ ผู้ที่มีรสนิยมทางเพศที่ไม่ต้องกันกับเรา ผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ตนทางกฎหมาย หรือแม้แต่ผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกับเรา และช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้พวกเราได้มีที่ยืนอยู่บนสังคมมนุษย์ได้อย่างเสรี เท่าเทียม และฉันญาติมิตรบนสังคมนี้ต่างหาก
 
 
 
 
เอกสารอ้างอิง
ไกรศรี นิมมานเหมินท์. เครื่องถ้วยสันกำแพง, เชียงใหม่ : คนเมืองการพิมพ์, 2503.
คะซุโอะ คะสะฮาระ, มารศรี มิยาโมโต และคณะ, แปล. การ์ตูนประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น, กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2551.
ณัฏฐพงษ์ เลี่ยววิวัฒน์ อุทัย. “การ “ปรับตัว” ของ “นายทุนจีน”ภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในทศวรรษ 2490” ใน ศิลปวัฒนธรรม 29 : 10 (สิงหาคม 2551) 
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. สามสิบชาติในเชียงราย, กรุงเทพฯ : ศยาม, 2547.
ปลายอ้อ ชนะนนท์. นายทุนพ่อค้ากับการก่อและขยายตัวของระบบทุนนิยมในภาคเหนือของไทย พ.ศ. 2464-2523, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2530.
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. การผลิตความหมาย พื้นที่ประเทศไทย” ในยุคพัฒนา (พ.ศ.2500-2509) วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2552.
แมริอุส บี. แจนเสน, วุฒิชัย มูลศิลป์, บรรณาธิการแปล. โลกทัศน์ญี่ปุ่น, กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2526.โยนก (ธันวาคม 2491)
ลายคราม จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองอายุครบ 6 รอบ นายไกรศรี นิมมานเหมินท์, 2527.
สรัสวดี อ๋องสกุล. “ความก้าวหน้าของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในรอบร้อยปี (พ.ศ.2450-2550)” ใน วารสารสมาคมประวัติศาสตร์ฯ  30, 2551.
แสน ธรรมยศ. ประวัตินครลำปาง โดยย่อ พิมพ์เป็นบรรณาการ ในงานหล่อพระพุทธรูปประจำหอพระธรรมและเทศน์มหาชาติชาดก ณ วัดเมืองสาสน์ นครลำปาง 1-4 ธันวาคม 2492.
            อนุสรณ์ในงานรับพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ป.ช., ป.ม., ท.จ.ว. วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510, พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2510.   
อัน นิมมานเหมินท์, หนังสือในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์อัน นิมมานเหมินท์, 30 สิงหาคม 2540.
Kasian Tejapira. Commodifying marxism : The formation of modern Thai radical culture, 1927-1958, Kyoto : Kyoto University Press, 2001.
 
 
แหล่งอ้างอิงอิเลกทรอนิกส์
เครือข่ายกาญจนาภิเศก."ปราชญ์ชาวบ้านนายไกรศรี นิมมานเหมินท์". [ระบบอ้างอิงออนไลน์].แหล่งที่มา. http://kanchanapisek.or.th/kp8/cem/cem207.html (11 กันยายน 2552)
ธเนศวร์ เจริญเมือง. นักรบท้องถิ่นในรัฐรวมศูนย์ : ไกรศรี นิมมานเหมินท์ (พ.ศ. 2455-2535) [แหล่งอ้างอิงออนไลน์]. ที่มา. http://www.prachatai.com/journal/2009/09/25729 (7 กันยายน 2552 )
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). “พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง สยามสมาคมในพระบรม
           ราชูปถัมภ์” [ระบบอ้างอิงออนไลน์]. แหล่งที่มา.  
 
 
 
หมายเหตุ
* บทความนี้แสดงการวิพากษ์ต่อบทความ ธเนศวร์ เจริญเมือง. นักรบท้องถิ่นในรัฐรวมศูนย์ : ไกรศรี นิมมานเหมินท์ (พ.ศ. 2455-2535) [แหล่งอ้างอิงออนไลน์]. ที่มา. http://www.prachatai.com/journal/2009/09/25729 (7 กันยายน 2552 ) บทความนี้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมาก จากรายงานระดับปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง “ไกรศรี นิมมานเหมินท์ กับการสร้าง “อัตลักษณ์ความเป็นล้านนา” “ โดย อรพิน สร้อยญาณะ ผู้กำลังทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง การสร้าง"พื้นที่ที่สาม"ของผู้หญิงชนบทใหม่ภาคเหนือ ผ่านเพลงซอสตริง จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
 
อ้างอิง
[1]แสน ธรรมยศ. ประวัตินครลำปางโดยย่อ พิมพ์เป็นบรรณาการ ในงานหล่อพระพุทธรูปประจำหอพระธรรมและเทศน์มหาชาติชาดก ณ วัดเมืองสาสน์ นครลำปาง 1-4 ธันวาคม 2492, คำนำ ตัวบทนี้เคยมีการอ้างถึงก่อนแล้วใน สรัสวดี อ๋องสกุล. “ความก้าวหน้าของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในรอบร้อยปี (พ.ศ.2450-2550)” ใน วารสารสมาคมประวัติศาสตร์ฯ 30, 2551 : 111 แต่สรัสวดีได้อ้างถึงหลักฐานในปี 2523
[2] ธเนศวร์ เจริญเมือง. เรื่องเดียวกัน
[3] จากคำสัมภาษณ์ ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ใน ลายคราม จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองอายุครบ 6 รอบ นายไกรศรี นิมมานเหมินท์, 2527, น.11
[4] คำว่า “คนเมือง” นี้ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ได้นิยามว่า “คนเมือง” หมายถึง ผู้ถึงแล้วซึ่งความเจริญไม่ใช่คนเถื่อน ดูใน บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. สามสิบชาติในเชียงราย (กรุงเทพฯ : ศยาม), 2547, น.12 งานเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2493 ส่วนการใช้คำว่า คนลานนา หรือคนล้านนา ยังไม่ถือว่าเป็นประเด็นมากนักในช่วงทศวรรษ 2490 แต่มาเข้มข้นมากขึ้นในทศวรรษ 2520-2530 ที่ได้มีการถกเถียงโต้แย้งกันในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง ซึ่งได้ข้อสรุปในปี 2530 ว่าคำที่ “ถูกต้อง” คือ “ล้านนา”
[5] ดูตัวอย่างได้จากผู้มีชื่อเสียงร่วมสมัยที่ปฏิเสธความเป็นจีนในตัวเอง ได้แก่ ปรีดี พนมยงค์ (2443-2526) หลวงวิจิตรวาทการ (2441-2505 มีชื่อจีนว่า กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ไกรศรี นิมมานเหมินท์ (2455-2535)
[6] มีข้อมูลระบุว่า เขาเริ่มเดินทางออกจากบ้านเกิดตั้งแต่ปี 2471 เพื่อศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ (2471-2474) ระดับปริญญาตรี B.S.in Econ. จาก University of Pennsylvania, U.S.A. (2479-ปีที่จบ?)และระดับปริญญาโท M.B.A. จาก Harvard University,U.S.A. (2481-ปีที่จบ?) ดูใน โลกล้านนา. “ไกรศรี นิมมานเหมินทร์”[ระบบอ้างอิงออนไลน์]. แหล่งที่มา.  http://www.lannaworld.com/person/kaisree.htm (11 กันยายน 2552 )
 
[7] โลกล้านนา. ไกรศรี นิมมานเหมินทร์”[ระบบอ้างอิงออนไลน์]. แหล่งที่มา.  http://www.lannaworld.com/person/kaisree.htm (11 กันยายน 2552 )
[8] ลายคราม, หน้า 368
[9] ณัฏฐพงษ์ เลี่ยววิวัฒน์อุทัย. “การ “ปรับตัว” ของ “นายทุนจีน”ภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในทศวรรษ 2490” ใน ศิลปวัฒนธรรม 29 : 10 (สิงหาคม 2551) 
[10] ปลายอ้อ ชนะนนท์. นายทุนพ่อค้ากับการก่อและขยายตัวของระบบทุนนิยมในภาคเหนือของไทย พ.ศ. 2464-2523 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์), 2530, น.100 โดยเฉพาะในทศวรรษ 2500 ตระกูลนิมมานเหมินท์-ชุติมาได้สยายปีกจดทะเบียนกิจการต่างๆขึ้นอย่างมาก เช่น บริษัท คนเมืองการพิมพ์จำกัด (2499-โรงพิมพ์), บริษัท อนุสาร จำกัด (2500-ค้าขาย), บริษัท ป่าไม้พิงคพนา จำกัด (2501-ป่าไม้), บริษัท สารภีกสิกรรม จำกัด (2503-ซื้อขายพืชผล), บริษัท สุเทพ จำกัด (2503-ตลาดและอาคารพาณิชย์ให้เช่า), บริษัท เชียงใหม่เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (2508-ค้าขายเครื่องใช้ไฟฟ้า), บริษัท โรงแรมรินคำ จำกัด (2511-บริการ), บริษัทเชียงใหม่พาณิชย์ จำกัด (2511-ตลาดวโรรส), บริษัท เชียงใหม่โบว์ลิ่งธุรกิจ จำกัด (2511-บริการ) ฯลฯ
[11] อัน นิมมานเหมินท์, หนังสือในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์อัน นิมมานเหมินท์, 30 สิงหาคม 2540, น.88-89
[12] นิตยสาร โยนก (ธันวาคม 2491) มีการบันทึกในโอกาสที่ครบรอบ 1 ปีนิตยสาร โยนก ระบุว่า การก่อตั้งสมาคมชาวเหนือในพระนคร มีผู้คิดมาหลายครั้งแต่ไม่สามารถตั้งได้สำเร็จ จนวันที่ 17 พฤศจิกายน 2489 ได้มีการชุมนุมกันของชาวเหนือกลุ่มหนึ่งจำนวน 33 คน มีตัวแทนมาจากทุกจังหวัดทางภาคเหนือมีมติก่อตั้งสมาคม และให้มีการประชุมใหญ่ครั้งแรก ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์วันที่ 8 ธันวาคม 2489 ซึ่งมีคนมาร่วมถึง 500 คน มีการยกร่างข้อบังคับและเลือกตั้งให้นายเมธ รัตนประสิทธิ์ (หลวงวิลาศวันวิท) เป็นนายกสมาคม
[13] อย่างไรก็ดีนิตยสารนี้จัดทำและรองรับคนเหนือที่อยู่ต่างถิ่น หรือพูดให้ชัดก็คือเป็นตัวแทนชาวเหนือที่กรุงเทพฯนั่นเอง (มีสำนักงานที่ บ้านอัมพวัน ถ.พิษณุโลก พระนคร) จากนิตยสาร โยนก (ธันวาคม 2491) ระบุว่า ที่ปรึกษาสมาคมได้แก่ สุกิจ นิมมานเหมินท์, ชิน ทิวารี, พิสุทธิ นิมมานเหมินท์ (น้องชายของไกรศรี), ไชยณรงค์ ณ เชียงใหม่, บุญศรี อดุลยรัตน์, ส.ธรรมยศ และ พูนสวัสดิ์ บุลยเลิศ กองบรรณาธิการประกอบด้วย แจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์ (น้องสาวของไกรศรี), ไชยณรงค์ ณ เชียงใหม่, นรงค์ วิทยะ, สุธรรม สายศร, ชัชวาล ชุติมา, สิงห์โต เมธา, ศรียนตร์ ศรีสมุทร, สงัด บรรจงศิลป์, สำราญ พร้อมภูล, สมพงษ์ โลหะพจน์พิลาศ, สมบูรณ์ อารียะ, ประสงค์ วิทยะ และสมนึก ผูกพันธ์
[14] สรัสวดี อ๋องสกุล. เรื่องเดียวกัน : 110
[15] สรัสวดี อ๋องสกุล. เรื่องเดียวกัน : 111
[16] ความเข้าใจตรงนี้เกิดจากการได้อ่านผลงานและแลกเปลี่ยนจากคุณอรพิน สร้อยญาณะ
[17] สรัสวดี อ๋องสกุล. เรื่องเดียวกัน : 112
[18] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. การผลิตความหมาย “พื้นที่ประเทศไทย” ในยุคพัฒนา (พ.ศ.2500-2509) วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2552, น.57
[19] ผู้เขียนหยิบยืมมุมมองมาจาก Kasian Tejapira. Commodifying marxism : The formation of modern Thai radical culture, 1927-1958 (Kyoto : Kyoto University Press), 2001.
[20]จดหมายถึงลูก” ใน ลายคราม, น.172
[21] ไกรศรี นิมมานเหมินท์. เครื่องถ้วยสันกำแพง (เชียงใหม่ : คนเมืองการพิมพ์), 2503
[22] ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). “พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์” [ระบบอ้างอิงออนไลน์]. แหล่งที่มา. http://www4.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=01-079 (16 พฤษภาคม 2550)
[23] สำนักราชเลขาธิการได้ขอให้ พระธรรมวราภรณ์ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร คิดขึ้นในหลายนาม แต่ปรากฏหลักฐานเพียง 2 ชื่อ คือ “พิงคัมพร” และ “ภูพิงคราชนิเวศน์”  อนุสรณ์ในงานรับพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ป.ช., ป.ม., ท.จ.ว. วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์), 2510, น.53-54
[24] ลายคราม, น.192
[25] ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว แต่ผู้เขียนพยายามจะย้ำให้เห็นถึงการสืบทอดมรดกคนเมืองกระฎุมพีจากไกรศรี
[26] ในประเด็นเพลงลูกทุ่งคำเมืองซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างจากกระฎุมพีคนเมืองโดยสิ้นเชิง อาจหาอ่านได้จากงาน เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช. “เพลงลูกทุ่งคำเมืองกับอัตลักษณ์พันทางของคน “ชนบทใหม่” ของเชียงใหม่” จากการประชุมทางวิชาการการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 8 “ผู้คน-ดนตรี-ชีวิต” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ วันที่ 25 - 27 มีนาคม 2552 หรือในบทความของเขาที่ชื่อว่า “Constructing the Third Space Through Modern Northern Country Song (Pleng Luktung Kam Mueang): A Social History of Modernity in Rural Chiang Mai” Journal of Population and Social Studies, 19:1 (2008)
 
[27] เครือข่ายกาญจนาภิเศก."ปราชญ์ชาวบ้านนายไกรศรี นิมมานเหมินท์". [ระบบอ้างอิงออนไลน์].แหล่งที่มา. http://kanchanapisek.or.th/kp8/cem/cem207.html (11 กันยายน 2552)
[28]แมริอุส บี. แจนเสน, วุฒิชัย มูลศิลป์, บรรณาธิการแปล. โลกทัศน์ญี่ปุ่น (กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย), 2526, น. 73 บางแหล่งแปลว่า ฟ้าไม่ได้สร้างคนให้อยู่เหนือคนหรือใต้คน จาก คะซุโอะ คะสะฮาระ, มารศรี มิยาโมโต และคณะ, แปล. การ์ตูนประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2551, น.228 กล่าวกันว่าหนังสือ มุ่งสู่วิทยาการ นี้ขายได้เรือนล้านเล่มในสมัยเมจิ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net