ประภาส ปิ่นตบแต่ง: บ้วนปากด้วยนโยบายปฏิรูปที่ดิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา สื่อต่างๆ รายงานข่าวนายกฯ อภิสิทธิ์แจกสัญญาเช่าที่ดินทำกินให้เกษตรกร 1,182 ราย ที่ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี พร้อมทั้งลงไปเกี่ยวข้าวโดยมีผ้าขาวม้าคาดพุง คุณอภิสิทธิ์และรัฐบาลของเขาต้องการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลของเขามีนโยบายปฏิรูปที่ดิน และกำลังดำเนินการหาที่ดินของรัฐคือ ที่ราชพัสดุ มาแจกให้แก่เกษตรกรผู้ยากจนและไร้ที่ดินทำกิน

แต่ขอโทษเถอะ ข่าวเหล่านี้น่าจะถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของข่าวลวงโลก เพราะนั่นไม่ใช่การเอาที่ดินไปแจกชาวนา แต่เป็นการไปปล้นกรรมสิทธิ์ที่ดินที่พวกเขาพึงมีพึงได้ นั่นคือ การได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองผ่านสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินที่ดำเนินเดินการสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2513

เรื่องราวของที่ดินทำกินของชาวนาที่หนองเสือและธัญญบุรีมีความเป็นมาที่ยาวนาน พวกเขาถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษของเขาบุกเบิก จับจองกันมายายนาน ไม่ใช่เกษตรกรรายใหม่ที่รัฐหาที่ดินได้แล้วจึงเข้าไปเช่าทำกิน ดังที่รัฐบาลอ้างบุญคุณ 

การขุดคลองรังสิตได้ทำให้ที่ดินซึ่งชาวนาเคยบุกเบิก จับจองที่นากันมาก่อนต้องกลายเป็นผู้เช่านาของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้แสดงกรรมสิทธิ์โดยการออกโฉนดที่นา (ใครสนใจเรื่องเหล่านี้สามารถดูได้จากงานของ อาจารย์สุนทรีย์ อาสะไวย เรื่อง “ประวัติคลองรังสิต: การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม”)

อย่างไรก็ดี มีความขัดแย้งปรากฏอยู่บ้าง ดังในงานของ เดวิด บรูซ จอห์นสตัน ที่มีบันทึกว่า บริษัทขุดคูคลองสยามต้องตั้งปืนกลเพื่อป้องกันโจรชาวนาที่เข้ามาบุกปล้นที่ทำการระหว่างดำเนินการขุดคลอง  

ปัญหาที่ดินทำกินเป็นสิ่งซึ่งได้รับความสนใจที่จะแก้ไขกันมาโดยตลอดไม่ว่าในยุคสมัยไหน ดังที่ทราบกันดีอยู่ว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในเค้าโครงเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หมวดที่ 1 ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดิน ต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ จนกลายเป็นประเด็นให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตี

ในปี 2513 นี่เอง รัฐบาลโดยกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติได้จัดตั้งโครงการกองทุนเพื่อจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกร ในรูปแบบของนิคมสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน และในปี 2514 ได้มีการประกาศใช้ระเบียบเงินทุนหมุนเวียนกองทุนเพื่อจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกร พ.ศ.2514

ที่ดินเช่าของชาวนาที่หนองเสือและธัญญบุรี เข้ามาเกี่ยวข้องกับกองทุนที่ดินฯ และการจัดตั้งสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน เพราะที่ดินทั้งสองแห่งนี้ผู้เป็นเจ้าของรายใหญ่ก็คือ ที่ดินกองมรดกของม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)

เจ้าของทั้งสองรายนี้ต้องการขายที่ดิน ชาวนาผู้เช่าที่ดินจึงได้ร้องขอให้รัฐบาลนำเงินกองทุนหมุนเวียนฯ มาซื้อและจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน ซึ่งก็พบว่า สหกรณ์ทั้งสองแห่งได้มีการดำเนินการเช่าซื้อที่ดินจนชาวบ้านได้กรรมสิทธิ์ไปแล้วส่วนหนึ่ง และปัจจุบันชาวบ้านยังเรียกว่า “นากองทุนฯ”

การซื้อที่ดินและมาดำเนินการเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายแห่ง ดังเช่น ที่ดินคลองโยงจำนวน 1,800 ไร่ ซึ่งเป็นมรดกของเจ้านายราชวงศ์ดิสกุล ดังปรากฎมีการออกโฉนดแสดงกรรมสิทธิ์แก่เจ้าจอมมารดาชุ่ม ตั้งแต่ปี 2460 ซึ่งต่อมาได้ตกเป็นมรดกของเจ้านายวังดิศกุล

ที่ดินของคุณหญิงน้อย พิชัยภูเบนทร์ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งต้องขายให้แก่บริษัทไร่อ้อยรายหนึ่งแต่ชาวนาผู้เช่าได้ยืมเงินกองทุนฯ มาซื้อและจัดตั้งเป็นนิคมสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน แต่การดำเนินการคาราคาซัง ไม่แล้วเสร็จเหมือนกรณีที่ดินคลองโยง หนองเสือ ธัญญบุรี และในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายแปลง

ที่ดินซึ่งชาวบ้าน ต.ถนนขาด อ.เมือง จ.นครปฐม ที่ยืมเงินกองทุนมาเช่าซื้อก็เคยเป็นที่ดินของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริ และทายาทผู้รับมรดกได้มอบให้แก่สภากาชาดไทยเมื่อปี 2485 ต่อมาสภากาชาดจะขายที่ดินให้แก่เอกชนรายหนึ่ง ชาวนาผู้เช่าจึงได้ขอยืมเงินกองทุนฯ มาซื้อที่ดิน จัดตั้งเป็นสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินนครปฐม และได้ดำเนินการจนชาวบ้านได้กรรมสิทธิ์ที่ดินไปหมดแล้ว ฯลฯ

ที่ดินในโครงการกองทุนเพื่อจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกรเหล่านี้ดำเนินการภายใต้กรมส่งเสริมสหกรณ์ และส่วนใหญ่ได้นำไปสู่กรรมสิทธิ์ของสมาชิก จนกระทั่งมีมติ ครม. 25 ธันวาคม 2544 ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ราชพัสดุให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ จึงมีการโอนที่กลับไปยังกรมธนารักษ์ ซึ่งชาวนาที่เขาอยู่กันมานานต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิ์อันพึงมีพึงได้ที่ไม่ใช่สัญญาเช่า

ที่เป็นเช่นนี้เพราะการซื้อที่ดินตามโครงการดังกล่าวนี้ต้องเป็นที่ดินของรัฐก่อน ชาวบ้านต้องดำเนินการผ่อนส่งเงินกองทุนหมุนเวียนฯ ให้ครบเสียก่อนจึงจะได้กรรมสิทธิ์ เมื่อเป็นดังนี้ที่ดินจึงต้องขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุ

มติ ครม.2544 ที่ออกมาโดยรัฐบาลคุณทักษิณ จึงเป็นการปล้นที่ดินไปจากชาวนาที่ต้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินที่ตนเองผ่านโครงการกองทุนที่ดินฯ แต่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์กลับรับซื้อของโจรเอาไปดำเนินการต่ออีก

บทเรียนที่ได้จากปฏิบัติการลวงโลกของคุณอภิสิทธิ์ (ซึ่งคาดว่าท่านคงทำตามสคริปของนักสร้างภาพแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว) ก็คือ หากที่ดินเหล่านี้ไม่สามารถเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวนาแล้ว จะมีที่ดินที่ไหนอีกเล่าที่จะนำมาสู่การกระจายการถือครองที่ดินให้ชาวนาได้กรรมสิทธิ์อย่างมั่นคง

นี่อาจสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลเองไม่ได้คิดอะไรจริงจังกับนโยบายนี้ คำถามต่อมาคือ รัฐบาลมีความเข้าใจเรื่องโฉนดชุมชนอยู่แค่ไหน อย่างไร ขณะที่พูดถึงโฉนดชุมชนแต่กลับไปแจกสัญญาเช่าแบบรายบุคคล พูดถึงการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมแต่เอากฎหมายที่ราชพัสดุมาเป็นกรอบดำเนินการ และยังมีมติ ครม.เมื่อ 28 สิงหาคม 2552 ให้กระทรวงการคลังมาแจกที่ดินแทนกระทรวงเกษตรฯ

นอกจากนี้ กฎหมายที่ราชพัสดุและการดำเนินการเช่าโดยธนารักษ์มีปัญหามาก เพราะวิธีคิดแบบหากำไรจากค่าเช่า และอนุญาตให้ใครก็ได้เป็นผู้เช่า เรื่องเช่นนี้เคยมีบทเรียนขบวนการค้าที่ดินที่คลองโยง ซึ่งชาวบ้านเคยเรียนแก่ท่านนายกฯ แล้วแต่ไม่ฟัง เหตุการณ์ที่หนองเสือและธัญญบุรีก็คงเกิดขึ้นไม่แพ้กัน

ดังที่ชาวบ้านเล่าลือกันว่า “ง่ายมากครับ เขาเปลี่ยนกันง่ายๆ ซื้อกันง่ายๆ ขายกันง่ายๆ คนกรุงเทพฯ เข้าไปมีที่ดินกันเยอะแยะ ฯลฯ” คำถามเหล่านี้ตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ยากหรอก เพราะความจริงปรากฏอยู่แล้ว เพียงแค่ดูว่าสมาชิกเดิมที่เคยเช่าซื้อสืบเนื่องกันมาเป็นใครบ้าง คนใหม่ที่เข้ามาเช่าเป็นใครบ้าง มาจากไหน ฯลฯ

เรื่องทั้งหมดนี้ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย ชาวบ้านที่ต้องการขายที่ก็ขายได้ จะรอกรรมสิทธิ์ก็ไม่รู้จะได้หรือไม่ เมื่อมีผู้คนช่วยดำเนินการเอาคนมาซื้อ เอาชื่อเข้ามาแทน ทุกฝ่ายล้วนมีความสุข รัฐบาลได้หน้าไปแล้วเมื่อมีภาพข่าวการลงไปแจกที่ดินและเกี่ยวข้าวโชว์ผู้คนในสังคมว่าได้หาที่ดินให้ชาวนาที่ยากจนแล้ว

แต่เรื่องแบบนี้มีต้นทุนแน่ๆ เร็ววันนี้เรื่องราวคงจะถูกเปิดเผยออกมา รัฐบาลหาวิธีตอบคำถามเรื่องเอาที่ไปให้นายทุนให้ดีก็แล้วกัน รับมือไม่ดีอาจจะกลายเป็น ส.ป.ก.4-01 ภาคสอง เพราะการดำเนินการเช่นนี้สวนทางกับการรักษาที่ดินเอาไว้ให้เกษตรกรและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหวังว่าจะเป็นบทเรียนให้รัฐบาลได้ตระหนักว่า จะต้องคิดอย่างจริงจังกับโฉนดชุมชน และมาตรการที่จะนำมาสู่การกระจายการถือครองที่ดินซึ่งชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยพยายามเสนอตลอดมาในช่วงที่มีการเจรจากับรัฐบาล

รัฐบาลกำลังพูดถึงการจัดการโดยชุมชน การส่งเสริมนิคมการเกษตร แต่สิ่งที่ได้ดำเนินการลงไปกลับทำลายสหกรณ์ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของการจัดการที่ดินร่วมกันที่พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านทรงริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่การจัดตั้งนิคมสหกรณ์หุบกะพง

บทเรียนในการจัดการที่ดินร่วมกันในรูปแบบนิคมสหกรณ์ที่เชื่อมโยงกับโครงการกองทุนเพื่อจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกรที่เคยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2513 และพัฒนามาสู่กองทุนที่ดินหลายรูปแบบภายหลัง กลับไม่ได้ถูกหยิบมาพัฒนาและผนวกเข้าไปในร่างระเบียบสำนักนายกฯ เรื่องโฉนดชุมชนทั้งๆ ที่มีกฎหมาย หน่วยงาน และที่สำคัญคือประสบการณ์ บทเรียนซึ่งรองรับอยู่แล้ว

ในการเจรจากับรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2552 ตัวแทนชาวบ้านคลองโยงได้มอบพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้กล่าวแก่ท่านนายกฯ ว่า ก่อนตัดสินใจทำอะไรขอให้อ่านหลายๆ รอบหน่อย จึงขออัญเชิญมาให้ท่านนายกฯ อ่านอีกครั้ง

"... มีความเดือดร้อนอย่างยิ่งว่าประชาชนในเมืองไทยจะไร้ที่ดิน และถ้าไร้ที่ดินแล้วก็จะทำงานเป็นทาสเขา ซึ่งเราไม่ปรารถนาที่จะให้ประชาชนเป็นทาสคนอื่น แต่ถ้าเราสามารถที่จะขจัดปัญหานี้ โดยเอาที่ดินจำแนกจัดสรรอย่างยุติธรรม อย่างมีการจัดตั้งจะเรียกว่า นิคม หรือจะเรียกว่า หมู่ หรือกลุ่ม หรือสหกรณ์ก็ตาม ก็จะทำให้คนที่มีชีวิตแร้นแค้น สามารถที่จะพัฒนาตัวเอง ขึ้นมาได้..."

(พระราชดำรัส ทรงพระราชทาน ณ นิคมสหกรณ์ หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี ปี 2513)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท