Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่  5 กันยายน 2552 ชมรมคนเพชรบุรีรักประชาธิปไตยมองเห็นความขัดแย้งที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย จึงได้จัดเวทีสัมมนาทางการเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนสนทนา จาก 2 แนวคิดแนวทาง

การเสวนาครั้งนี้มีวิทยากรสองท่านคือ พันตำรวจตรีเสงี่ยม สำราญรัตน์ (แกนนำเสื้อแดง) กับ อาจารย์ชิน ขำเพชร (แกนนำเสื้อเหลือง) มาแสดงความเห็นร่วมกันต่อปัญหาวิกฤตที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่  โดยผู้จัดหวังว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของกระบวนการสมานฉันท์ในสังคมไทย
 
 
ชิน ขำเพชร (แกนนำเสื้อเหลือง)
“ปัญหาเรื่องระบบราชการหรือระบบอำมาตย์ ซึ่งเป็นพรรคราชการที่มีอำนาจมาก และพร้อมที่จะร่วมมือกับนักการเมืองบางกลุ่มแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากประเทศชาติ  ระบบราชการสร้างความไม่ยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย นับได้ว่าระบบราชการเป็นต้นตอของความไม่ยุติธรรม...”  
 
แสดงความเห็นต่อปัญหาที่เป็นวิกฤตของประเทศไว้ใน 4 ประเด็นหลักคือ
1. ปัญหาความไม่สงบสุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเกิดจากความไม่เป็นธรรมจากทางราชการ และความเป็นชาตินิยมของคนเชื้อชาติมาเลย์ที่ต้องการจะเป็นเอกราชจากไทยซึ่งมีมาตลอดในประวัติศาสตร์  โดยปัญหานี้สะสมมาเป็นระยะเวลานานจนเกิดเป็นความรุนแรง ส่งผลให้กองทัพต้องเข้ามามีบทบาท รวมไปถึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าการค้าสงครามขึ้นและระบบราชการก็ได้รับประโยชน์นี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องการหาคนที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง
 
2.ปัญหาเรื่องเขาพระวิหาร โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อน 4.5 ตารางกิโลเมตรควรจะใช้การเจรจาเป็นทางออกสำหรับปัญหา
 
3.ปัญหาเรื่องระบบการศึกษา ในปัจจุบันมีการทำให้แหล่งแสวงหาความรู้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจมากจนเกินไป มีสถาบันการศึกษาและหลักสูตรต่างๆเกิดขึ้นมากมาย มีการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากแต่การจัดการเรียนการสอนกลับมีคุณภาพลดลง
 
4.ปัญหาเรื่องระบบราชการหรือระบบอำมาตย์ ซึ่งเป็นพรรคราชการที่มีอำนาจมาก และพร้อมที่จะร่วมมือกับนักการเมืองบางกลุ่มแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากประเทศชาติ  ระบบราชการสร้างความไม่ยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย นับได้ว่าระบบราชการเป็นต้นตอของความไม่ยุติธรรม  ระบบราชการต้องสร้างบทบาทตัวเองให้มีความเป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ เช่นเดียวกับระบบตุลาการที่จะต้องมีความโปร่งใสมากกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนระบบรัฐสภาที่เป็นตัวแทนอำนาจของประชาชนก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้สมบูรณ์
 
สรุปได้ว่า สังคมไทยขาดการเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง การเกิดเสื้อเหลือง-เสื้อแดงนับเป็นตัวอย่างที่ดีและนำไปสู่การเมืองภาคประชาชนที่มีบทบาทมากขึ้นในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
 
ในประเด็นวิกฤตทางการเมืองเห็นว่า อำนาจทางการเมืองของไทย เดิมอยู่ในมือขุนศึกขุนนาง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็พยายามจะยึดอำนาจนี้ไว้ในรูปของระบบราชการ ที่ไม่ปล่อยอำนาจไปอยู่ในมือของตัวแทนประชาชนหรือนักการเมือง   จึงเกิดสภาวะการยื้อแย่งระหว่างนักการเมืองกับขุนนางและขุนศึก อำนาจทางการเมืองในสังคมไทยเปลี่ยนมือไปมาอย่างนี้ มาตั้งแต่ปี 2475 ทั้งนี้ก็เพราะประชาชนขาดความเข้มแข็ง อำนาจทางการเมืองจึงอยู่ในมือคน 2 กลุ่ม ปี 2540 - 2549 อำนาจทางการเมืองเริ่มอยู่ในมือนักการเมืองมากขึ้น
 
จนกระทั่งยุคพ.ต.ท.ทักษิณ อำนาจของนักการเมืองยังฉ้อฉลและไม่มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองเท่าใดนัก  การเมืองการปกครองมาจากการเลือกตั้งก็จริง พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจฉ้อฉล เช่นเดียวกับระบบราชการที่แม้ในทุกวันนี้ก็ยังมีความพยายามของขุนศึกที่จะมีอำนาจทางการเมืองอยู่  ในขณะที่การเมืองภาคประชาชนก็ยังไม่เข้มแข็งพอ  รัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ตามที่คนใช้แย่ก็แย่ไปหมด รัฐธรรมนูญ 2540 ที่คนว่าดีแต่ก็ถูกใช้ในทางฉ้อฉลมากมาย องค์กรอิสระ ก็ไม่อิสระจริง ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 มีข้อติมาก แต่ถ้าคนที่ครองอำนาจฉ้อฉลมากก็อาจแก้ปัญหาไม่ได้ ท้ายสุดปัญหาสำคัญอีกประการก็คือ คนไทยไม่ได้เห็นว่าการคอรัปชั่นเป็นเรื่องที่เลวร้าย จึงนำไปสู่ปัญหาอื่นๆมากมาย
 
 
พันตำรวจตรีเสงี่ยม สำราญรัตน์ (แกนนำเสื้อแดง)  
 
“การเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำจังหวัดเพชรบุรีให้เป็นตัวอย่างนำร่องในการแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงด้วยเหตุด้วยผล เพราะจริงๆ แล้วคนเสื้อเหลือง-แดงน่าสงสาร เพราะเปรียบเสมือนจิ้งหรีดที่มีคนปั่นหัวให้กัดกัน คนเสื้อเหลือง-แดงไม่ผิด แต่มีคนที่ต้องการอำนาจเอาข้อมูลมาให้...”
 
ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มีที่มาจากความไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเกิดจากวิกฤตทางการเมือง โดยในระบอบประชาธิปไตยยึดถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หากมีคนถามว่าขณะนี้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า   ส่วนใหญ่คงตอบว่าไม่ใช่ เพราะมีอำนาจนอกระบบมาแทรกแซง ซึ่งถือว่าเป็น “อำนาจเชิงซ้อน” มีอิทธิพลเหนือการเมืองไทย  เมื่อเป็นเช่นนี้ระบบรัฐสภาจึงรวน  ระบบตุลาการก็เปลี่ยนไปกลายเป็นตุลาการภิวัตน์ และมีผู้มีบารมีนอกระบบเป็นคนสั่งการ ใครจะบริหารอย่างไรต้องขอความคิดเห็น  สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “อำมาตย์”
 
ภาวะปัจจุบันที่ประเทศไทยเป็นเช่นนี้  เพราะคนจำนวนมากไม่กล้าพูด คนจำนวนมากไม่กล้าฟัง แต่เราควรฟังในฐานะที่เราเป็นเจ้าของประเทศ เราต้องกล้า อย่างตรงไปตรงมา แต่อย่าเชื่อคนง่าย  เราต้องเอาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์คำพูดนักการเมือง ท่านทักษิณมีปัญหาเพราะอำมาตย์ ท่านบริหารประเทศแบบที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยกินได้” นโยบายต่างๆชัดเจนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประเทศไทย  ด้วยความที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย   คนที่มายึดอำนาจซึ่งก็คือ ค.ม.ช. จึงเปรียบเสมือนคนร้าย เกิดขบวนการทำลายประชาธิปไตย โดยอ้างรัฐประหารที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งที่จริงแล้วนั้นไม่สามารถทำได้เพราะถือว่าเป็นการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นอกจากนั้นยังเป็นการทำตัวให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท โดยการแอบอ้างพระองค์ท่านต่อท้ายการยึดอำนาจ
 
ดังนั้นจึงเกิดวิกฤตที่หนึ่งคือวิกฤตการเมือง หลังยึดอำนาจก็เกิดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้น ซึ่งสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ มีเจตนารมณ์หลักคือต้องการทำลายระบบพรรคการเมือง ต้องการทำลายผู้อื่นซึ่งไม่ใช่พวกเดียวกันกับคณะรัฐประหาร โดยอาศัยกระบวนการตุลาการ ก่อให้เกิดองค์กรตามรัฐธรรมนูญเกิดองค์กรอิสระต่างๆได้แก่ ค.ต.ส. , ส.ต.ง. , ป.ป.ช . ตุลาการรัฐธรรมนูญ ต่อมาก็มีหลายคนได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550  ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน  และหลังจากรัฐธรรมนูญปี 2550 มีผลบังคับใช้คนเหล่านี้ต่างเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์คณะในองค์กรต่างๆ ซึ่งที่อื่นๆในโลกที่เป็นอารยะเขาไม่กระทำกัน
 
วิกฤตต่อมาคือวิกฤตเศรษฐกิจ  ในโลกยุคปัจจุบันเราไม่สามารถปิดประเทศได้อีก จึงต้องมีการติดต่อกับนานาอารยะประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นกฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ต่างประเทศจึงจะมีความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จึงจะกล้าเข้ามาลงทุนค้าขาย แต่ปัจจุบันนี้เกิดวิกฤตการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ จนลามกลายเป็นวิกฤตสังคม  เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมสีต่างๆเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จริงๆแล้วน่าสงสารคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เพราะเป็นพี่น้องกัน เกิดขัดแย้งกันเพราะการบริโภคสื่อ การฟังความข้างเดียว หรือฟังความไม่รอบด้าน  ขณะที่เรากำลังประสบวิกฤตเหล่านี้ สื่อก็ประโคมข่าว ทำให้คนไทยแตกแยกยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นสถานการณ์ตอนนี้จึงเป็นสงครามทางการเมืองเกิดการแย่งชิงอำนาจการปกครองเต็มรูปแบบ ถ้าจัดการแก้ปัญหาไม่ได้ ก็มีแนวโน้มจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง ที่ไม่มีใครคาดการณ์ผลลัพธ์ได้  
 
กล่าวสรุปว่า การเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำจังหวัดเพชรบุรีให้เป็นตัวอย่างนำร่องในการแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงด้วยเหตุด้วยผล เพราะจริงๆ แล้วคนเสื้อเหลือง-แดงน่าสงสาร เพราะเปรียบเสมือนจิ้งหรีดที่มีคนปั่นหัวให้กัดกัน คนเสื้อเหลือง-แดงไม่ผิด แต่มีคนที่ต้องการอำนาจเอาข้อมูลมาให้โดยเฉพาะเสื้อเหลือง เราจึงต้องโทษสื่อโดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก ไม่มีความเป็นกลาง มีการกุข่าวต่างๆที่ไม่จริงเพื่อสร้างความเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นต้องทำให้คนไทยที่หลงกระแสสื่อจนเกิดความเชื่อผิดๆ ได้ปรับความคิดใหม่คือ
 
1.คนเสื้อเหลือง-แดงไม่ใช่ศัตรูกัน หากแต่เป็นพี่น้องกัน แต่มีกระบวนการที่ต้องการอำนาจแทรกแซง เราจึงต้องคิดก่อนตัดสินใจเชื่อ
 
2.รัฐบาลต้องจริงใจในการแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง ที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายทำร้ายผู้บริสุทธิ์ โดยตำรวจเป็นผู้บังคับใช้ และตุลาการ เป็นผู้ตั้งธงเอาคนผิด และมีการใช้อำนาจเชิงซ้อนผ่านองค์มนตรี ดังนั้นรัฐบาลต้องจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 309  รัฐบาลทำอะไรก็ไม่ผิด จึงแก้ปัญหาเรื่องความสมานฉันท์ไม่ได้แน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้บ้านเมืองจึงไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าให้ความรู้ผิดๆ สังคมก็จะแตกแยก นอกจากนี้รัฐบาลปัจจุบันไม่มีหลักการและธรรมาภิบาล ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องถอยคนละก้าวแล้วหันมาพูดกันดีๆ
 
 
 
……………………………………………..
ที่มา :
เว็บไซต์สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (www.idsthailand.org)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net