Skip to main content
sharethis

ปธน.เวเนซุเอลา หนึ่งในหัวเรือใหญ่ต้าน “จักรวรรดินิยมอเมริกา” ตระเวนหลายประเทศทั่วโลก เพื่อเจริญสัมพันธ์-หาความร่วมมือด้านการเงินและเทคโนโลยี-ทำสัญญาการทหาร รวมถึงไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ที่เวนิส

 

11 ก.ย. กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ของสเปน จับมือกับชาเวซ
(Getty Image/Daylife.com)
 

10 ก.ย. ชาเวซแถลงข่าวร่วมกับ ประธานาธิบดีเมดเยเดฟ ของรัสเซีย
(Getty Image/Daylife.com)
 
1 ก.ย. ชาเวซ กล่าวติดตลกกับนักข่าวผ่านกระจกกันกระสุน
ขณะเข้าร่วมชมขบวนพาเหรดฉลองครบรอบการปฏิวัติ 40 ปี ที่ลิเบีย
(AP Photo/Daylife.com)
 
ฮูโก ชาเวซ พูดคุยกับคนงานขณะไปเยือนโรงงานยานยนต์ MAZ ที่กรุงมิงส์ค ประเทศเบลารุส วันที่ 8 ก.ย.
(AP Photo/Daylife.com)
 
 
เวเนซุเอลา – รัสเซีย
ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเวเนซุเอลาในสมัยของชาเวซก็เป็นไปได้ด้วยดีเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้มักจะเป็นเรื่องของการค้าขายอาวุธ การเยือนรัสเซียในครั้งนี้ก็มีเรื่องของการซื้อขายอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเช่นกัน โดยทางผู้นำเวเนซุเอลาเปิดเผยว่าต้องการใช้อาวุธเหล่านี้ในการป้องกันประเทศจากการถูกโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้น
 
 
รัสเซียปฏิเสธค้าอาวุธกับเวเนซุเอลา
ผู้ให้คำแนะนำด้านการต่างประเทศของรัสเซียเปิดเผยว่า ในช่วงที่ฮูโก ชาเวซไปเยือนกรุงมอสโคว์ รัสเซียในวันที่ 9 ก.ย. เวเนซุเอลาได้เซ็นสัญญาข้อตกลงหลายอย่างโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการทหาร แต่ไม่มีเรื่องการค้าอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้อง
 
"พวกเราตระเตรียมข้อตกลงในหลายๆ ด้าน มี 10 ข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน การทหารและความร่วมมือทางเทคนิค รวมถึงประเด็นด้านการเงิน" เซอร์กี ปริโกดโก เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเครมลินกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม ปริโกดโกไม่ได้บอกว่ามีการ "ขัดขวาง" การที่เวเนซุเอลาจะได้รับเครดิตในการซื้ออาวุธจากรัสเซีย แต่เพียงแค่ยืนยันว่าไม่มีการตกลงเกี่ยวข้องกับทางด้านอาวุธขณะที่ชาเวซมาเยือน
 
 
รัสเซียบอกพร้อมที่จะขายรถถังให้เวเนซุเอลา
ประธานาธิบดีรัสเซีย ดิมิทรี เมดเยเดฟ กล่าวในวันที่ 10 ก.ย. ว่าเขาจะขายรถถังและอาวุธอื่นๆ ให้กับเวเนซุเอลา
 
"รัสเซียจะจัดหาอาวุธประเทศต่าง ๆ ตามที่เวเนซุเอลาเรียกร้องมา พวกเราจะจัดส่งรถถังให้ พวกเรามีรถถังที่ดี" เมดเยเดฟ กล่าวหลังจากการพูดคุยกับประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ
 
 
ชาเวซ และเมดเยเดฟ เซ็นสัญญาความร่วมมือทางการทหารและทรัพยากรน้ำมัน
ประธานาธิบดี ดิมิทรี่ เมดเยเดฟ ของรัสเซีย และฮูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลา ได้ร่วมลงนามข้อตกลงนับสิบรายการทั้งประเด็นเกี่ยวกับการทหาร, พลังงาน และ ความร่วมมือด้านอวกาศ รวมถึงแผนการพัฒนาแหล่งน้ำมันที่โอริโนโค
 
เมดเยเดฟสัญญาว่าจะจัดหาอาวุธและเครื่องมือทางการทหารให้กับเวเนซุเอลา นอกจากนี้ประธานาธิบดีรัสเซียก็บอกอีกว่าการให้ความร่วมมือทางเทคนิคด้านการทหารก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และพวกเขาก็จะไม่ซ่อนเรื่องเหล่านี้ไว้
 
 
ชาเวซเรียกร้องให้ปูติน เร่งสร้าง "โลกใหม่"
ชาเวซเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีวลาดิเมียร์ ปูติน ขณะไปเยือนที่บ้านพักว่าขอให้เขา "ช่วยเร่งมือสร้างโลกใหม่" โดยชาเวซได้เตือนให้นึกถึงตอนที่เขามาเยือนรัสเซียครั้งแรกในปี 2001 ที่เขาได้เจอกับปูติน ว่าในตอนนั้นเขาแค่กำลัง "หาหนทางก้าวเดินตาม" เท่านั้น
 
"ผมโชคดีที่ได้พบคุณและขอบคุณพระเจ้าที่เราเจอกันเร็ว ทุกวันนี้เราถึงอยู่ในโลกที่เปลี่ยนไป" ชาเวซกล่าว
 
 
สหรัฐฯ กังวลเรื่องเวเนซุเอลาซื้ออาวุธจากรัสเซีย
เอียน เคลลี่ โฆษกการต่างประเทศของสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เขารู้สึกเป็นห่วงเรื่องที่เวเนซุเอลาซื้ออาวุธ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเวเนซุเอลากับอิหร่านด้วย
 
"พวกเราก็กังวลตั้งแต่ต้นเรื่องที่เวเนซุเอลายืนยันว่าต้องการเพิ่มกำลังอาวุธแล้ว ซึ่งเราเห็นว่ามันเป็นการท้าทายอย่างมากต่อความมั่นคงของโลกในภูมิภาคตะวันตก" เคลลี่ กล่าวในการแถลงข่าว
 
ซึ่งในวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา ฮูโก ชาเวซก็ออกมาบอกว่าทางรัสเซียอนุมัติให้เครดิตแก่เวเนซุเอลาในการซื้ออาวุธเป็นจำนวนเงิน 2 พัน 2 ร้อยล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ
 
ชาเวซกล่าวผ่านรายการ "สวัสดีประธานาธิบดี" ในวันที่ 13 ก.ย. ว่า อาวุธที่ทางเวเนซุเอลาซื้อมานั้นจะช่วยเพิ่มความสามารถในการป้องกันตนเองและเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับทหาร โดยยังได้กล่าวอีกว่าทางเวเนซุเอลาไม่มีแผนการที่จะโจมตีประเทศใด
 
"ความเป็นจริงสอนเราว่าพวกเราต้องระวังเรื่องความเสี่ยงและภยันตรายจากจรวดมิสไซล์ ยกตัวอย่างเช่น มันจะทำให้เครื่องบินมาทิ้งระเบิดพวกเรายากขึ้น" ชาเวซกล่าว โดยเวเนซุเอลาได้สั่งซื้อ Antey 2500, Buk M2 และ Pechora ซึ่งเป็นเครื่องยิงจรวดระยะไกลที่ใช้ต่อต้านอากาศยาน รวมทั้งจรวดมิสไซล์ S-300 รถถัง T-72 92 คัน
 
โดยในช่วงปี 2005-2007 รัสเซียและเวเนซุเอลาได้เซ็นสัญญา 12 ฉบับ เกี่ยวกับการซื้อขายอาวุธโดยมีมูลค่ารวมแล้วกว่า 4 พัน 4 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเวเนซุเอลาได้สั่งซื้อเครื่องบินรบ Sukoi-30 24 ลำ เฮลิคอปเตอร์และอาวุธปืนอาก้าจากรัสเซีย
 
"เราขอให้เวเนซุเอลาซื้ออาวุธอย่างโปร่งใส และเปิดเผยวัตถุประสงค์ของการซื้ออาวุธในครั้งนี้" เคลลี่กล่าวในการแถลงข่าว "และพวกเราก็รู้สึกเป็นห่วงอย่างมากว่าพวกเขาจะมีการดำเนินการและการคุ้มกันอย่างโปร่งใสรัดกุมพอที่อาวุธพวกนี้จะไม่ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มกบฏหรือองค์กรนอกกฎหมายอื่นๆ"
 
 
เวเนซุเอลา – สเปน
ตอนที่มีการประชุมอิเบอโร-อเมริกัน ซัมมิท (การประชุมประจำปีของกลุ่มประเทศอดีตอาณานิคมโปรตุเกสหรือสเปน ร่วมกับทั้งสองประเทศที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคม) ครั้งที่ 17 ในปี 2007 ฮูโก ชาเวซ ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย ได้ลุกขึ้นมาพูดแทรกนายกรัฐมนตรี โฮเซ่ หลุยส์ รอดริจซ์ ซาปาเตโร่ ขณะที่เขากำลังวิพากษ์วิจารณ์ชาเวซเนื่องจาก ชาเวซไปเรียกอดีตนายกรัฐมนตรีสเปน โฮเซ่ มาเรีย อัซนาร์ ว่าเป็น ฟาสซิสท์ จนกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ที่หนึ่ง ของสเปน ลุกขึ้นมาบอกชาเวซว่า “ทำไมไม่หุบปาก”
 
จนคำๆ นี้กลายเป็นสโลแกนของคนต้านชาเวซ มีการนำไปล้อเลียน และถึงขั้นมีบล็อกเกอร์ใช้ประโยคดังกล่าวแต่งออกมาเป็นกลอนล้อภาษาสเปน แต่ขณะเดียวกันก็มีบล็อกเกอร์ที่ต่อต้านกษัตริย์สเปน บอกว่ามันเป็นความย้อนแย้งทางมาตรฐานของผู้ที่ต่อต้านชาเวซ ที่พยายามทำให้ชาเวซดูป่าเถื่อนไร้มารยาทขณะที่ ฮวน คาร์ลอส กลับสามารถทำสิ่งที่ไร้มารยาทอย่างการสั่งให้ “หุบปาก” ได้โดยไม่มีใครว่าอะไร
 
เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อสองปีที่แล้วอาจทำให้ทั้งสองประเทศมัวหมองไปบ้าง แต่ในการพบปะกันครั้งล่าสุดก็ดูเหมือนจะเป็นไปอย่างราบรื่น แม้จะมีประชาชนบางกลุ่มออกมาแสดงการต่อต้านเขา
 

วิดีโอเหตุการณ์ในการประชุมอิเบโร-อเมริกัน เมื่อปี 2007 ฉากที่ชาเวซถูกสั่งให้ “หุบปาก”
(ที่มา: Toklaw/Youtube)

 
 
ชาเวซแสดง "ความเท่าเทียม" ทางสถานะกับ "เพื่อน" กษัตริย์สเปนและซาปาเตโร่
ในวันที่ 11 ก.ย. ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ บอกว่าเขาอยากแสดงความห่วงใยในความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสเปน รวมถึง "เพื่อน" ของเขาคือ กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส และนายกรัฐมนตรี โฮเซ่ หลุยส์ รอดริจซ์ ซาปาเตโร่ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ "บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน"
 
โดยหลังจากที่ชาเวซเดินทางไปยังตะวันออกกลาง, อเมริกาเหนือ และยุโรป เขาก็แวะเยือนกรุงมาดริดของสเปนเสียเล็กน้อย ซึ่งทำให้เขาได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีของสเปนก่อนที่จะได้พบปะกับกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ที่พระราชวัง ซาร์ซูล่า
 
"มันเป็นการไปหยุดแวะเยี่ยมเยียนด้วยความเป็นมิตร พวกเราแวะไปที่นั่นเพื่อรวบรวมเพื่อนฝูง พวกเราเป็นเพื่อนกับนายกรัฐมนตรีซาปาเตโร่และกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส เราต้องการพูดคุยกันเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ" ชาเวซกล่าว
 
 
สเปนบอกจะช่วยเหลือเรื่องการพูดคุยกันระหว่างโคลัมเบียกับเวเนซุเอลา
นายกรัฐมนตรีสเปน โฮเซ่ หลุยส์ รอดริจซ์ ซาปาเตโร่ กล่าวในวันที่ 11 ก.ย. กับชาเวซซึ่งแวะเยือนสเปนว่า ทางสเปนจะให้ความร่วมมือในการ "เปิดเจรจาระหว่างโคลัมเบียกับเวเนซุเอลาอีกครั้ง"
 
ผู้นำทั้งสองประเทศอยากกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์อีกครั้งหลังจากที่ได้พูดคุยกันในประเด็นเช่น การประชุม อิเบโร-อเมริกัน ที่จะมีขึ้นในโปรตุเกสช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงการประชุมกันของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป, ละตินอเมริกา และประเทศแถวคาบสมุทรแคริบเบียน (EU-LAC) ซึ่งจะมีขึ้นในปีหน้า
 
โดยนายกรัฐมนตรีสเปนบอกกับชาเวซว่า "เขามีความมั่นใจในการสนับสนุนของเวเนซุเอลา" ในการพบปะกันระหว่างสองภูมิภาค
 
 
ประชาชนสิบกว่าคนออกมาท้าทายชาเวซในย่านกลางเมืองกรุงมาดริด
ในวันที่ 11 ก.ย. มีกลุ่มคนออกมาด่าชาเวซขณะที่เขาไปเยือนร้านขายหนังสือที่ย่านใจกลางเมืองกรุงมาดริด หลังจากเสร็จสิ้นการไปเยือนประเทศต่างๆ แล้ว
 
มีประชาชนนับสิบคนมารวมตัวกันหน้าคาซา เดล ลิโบร และตะโกนใสชาเวซว่า "ชาเวซออกไป", "น่าไม่อาย" และ "เพื่อนของอาห์มาดิเนจาด (ประธานาธิบดีของอิหร่าน)" ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนอีกกลุ่มที่มาให้กำลังใจและโต้แย้งกลุ่มที่มาด่าชาเวซโดยตะโกนว่า "คิวบาจงเจริญ"
 
ชาเวซมาปรากฏตัวที่ร้านหนังสือโดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น โดยเขามาที่นี่เพื่อให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังจากที่ได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีและกษัตริย์ของสเปนแล้ว
 
 
ชาเวซและดินแดนต่างๆ
 
ชาเวซเดินบนพรมแดงในงานภาพยนตร์หวังฟื้นฟูภาพลักษณ์
หลังจากไปร่วมงานครบรอบ 40 ปี ปฏิวัติลิเบีย ชาเวซก็เดินทางไปอิตาลีเพื่อเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์กรุงเวนิสในวันที่ 7 ก.ย. ในงานนี้เขาไม่ได้มาเพื่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม แต่เขามาเพื่อเดินบนพรมแดง
 
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไฟแฟลชจากกล้องฉายให้เห็นภาพของชาเวซร่วมกับผู้นำอย่างมุมมาร์ กัดดาฟี และอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี จึงเป็นที่น่าแปลกใจที่ในครั้งนี้กลับได้มาเห็นภาพของประธานาธิบดีจากเวเนซุเอลายืนยิ้มอยู่ข้าง ๆ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกัน
 
หลังจากที่ชาเวซไปเยือนทั้ง ลิเบีย, ซิเรีย และอิหร่าน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและด้านการค้า อันเป็นความต้องการที่จะสร้างโลกหลายขั้วแล้ว เขามีจุดประสงค์ใดกันถึงได้ไปเยือนเมืองที่มีชื่อเสียงในการโดยสารเรือกอนโดล่าตามคลองต่างๆ ในเมืองแห่งนี้
 
มาเรีย เทเรซ่า โรมิโอ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศมองว่า ชาเวซพยายามจะฟื้นฟูภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลกที่สูญเสียไปในสายตาของคนในประเทศประชาธิปไตย เธอกล่าวโดยสรุปว่าการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ของชาเวซในครั้งนี้ ทำให้เขาสามารถสร้างสัมพันธ์กับ "รัฐบาลนักถอนรากถอนโคน" ส่วนใหญ่ของโลกได้ ขณะที่การมาเยือนเทศกาลภาพยนตร์กรุงเวนิสเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ในสายตาชาวตะวันตก
 
 
ชาเวซบอกอยากช่วยโอบามา
ในวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมาประธานาธิบดีเวเนซุเอลาบอกว่า เขาอยากให้ความช่วยเหลือบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะเขาคิดว่าโอบามา "มีเจตนาดี"
 
ชาเวซพูดถึงเรื่องนี้ขณะที่เขาเข้ามาถึงโรงแรม เดส เบนส์ ในกรุงเวนิส เพื่อเข้าร่วมชมภาพยนตร์เรื่อง "เซาท์ ออฟ เดอะ บอเดอร์" (South of the Border) ภาพยนตร์สารคดีของ โอลิเวอร์ สโตน ผู้กำกับสหรัฐฯ ซึ่งได้เข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์เวนิส
 
"ผมคิดว่าโอบามาเป็นคนมีเจตนาดี และผมก็อยากช่วยเหลือเขา" ชาเวซกล่าว ทั้งยังได้เสริมอีกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันนี้ "น่าคุยด้วย" ไม่เหมือนกับคนก่อนหน้านี้คือจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช
 
 
ชาเวซหมายส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและการค้ากับเบลารุส
ชาเวซได้เดินทางต่อไปที่กรุงมิงส์ค ในวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อต้องการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและด้านการค้ากับเบลารุส ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญในยุโรป โดยเขาได้เข้าพบกับผู้นำเบลารุสคือ อเล็กซานเดอร์ ลุกาเชงโก้ ซึ่งกลายเป็นสหายคนสนิทของชาเวซเมื่อไม่นานมานี้ 
 
 
ลุกาเชงโก กล่าวขอบคุณชาเวซที่อนุญาตให้เข้าไปในเขตบ่อน้ำมัน
8 ก.ย. ประธานาธิบดีเบลารุส อเล็กซานเดอร์ ลุกาเชงโก้ แสดงการขอบคุณฮูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลา ที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินและออกสิทธิ์อนุญาตให้เข้าไปในเขตบ่อน้ำมันของเวเนซุล่าได้
 
"ผมอยากแสดงความขอบคุณความช่วยเหลือที่มอบให้แก่ประเทศเรา ซึ่งมีความช่วยเหลือด้านการเงิน และทำให้บริษัทน้ำมันหลาย ๆ บริษัทของพวกเราเปิดดำเนินการเพื่อสร้างผลกำไรได้" ลุกาเชงโก กล่าวกับชาเวซช่วงเริ่มต้นการเข้าพบ
 
ลุกาเชงโก ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำเบลารุสมาตั้งแต่ปี 1994 สิ่งที่เขากล่าวมาข้างต้นคือการพูดถึงการที่รัฐบาลเวเนซุเอลาให้เงินกู้กับเบลารุสในการเผชิญกับวิกฤติทางการเงิน และการให้ขุดเจาะน้ำมันโดยบริษัท เบโล-เวเนซุเอลลัน ปิโตรเลี่ยม (Belo-Venezuelan Petroleum Company, PBV) ที่โอริโนโคเบลท์ แหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก
 
 
ชาเวซเสนอแผน "สหภาพสาธารณรัฐ" แก่ประธานาธิบดีเบลารุส
ในวันที่ 9 ก.ย. ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ได้นำเสนอแผนการรวมตัวกันของสองประเทศเป็น "สหภาพสาธารณรัฐใหม่" เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีมากระหว่างสองประเทศ
 
"เราต้องการสร้างสหภาพสาธารณรัฐแห่งใหม่ขึ้นมา" ชาเวซกล่าวหลังการเข้าพบกับลุกาเชงโก "จะไม่มีสหภาพสังคมนิยม (เช่นเดียวกับ สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต หรือ USSR) แต่มันจะเป็นสหธารณรัฐอิสระที่รวมตัวกันเป็นสหภาพ"
 
โดยเบลารุสก่อนแยกตัวเป็นประเทศอิสระ ได้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน ซึ่งทางด้านลุกาเชงโกเองบอกว่าเขาก็มีแผนการเดินทางไปเยือนเวเนซุเอลาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มีการพัฒนาด้านความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น
 
 
ชาเวซประณามการสังหารหมู่ของอิสราเอล
ในวันที่ 9 ก.ย. ประธานาธิบดีชาเวซ ของเวเนซุเอลา ได้กล่าวประณามอิสราเอลในกรณีสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ และให้ความเห็นกับหนังสือพิมพ์รายวันของฝรั่งเศสว่า การจู่โจมฉนวนกาซ่าที่จบสิ้นไปเมื่อปลายปีที่แล้วนั้น เป็นการโจมตีโดยที่ไม่ได้มีเหตุกระตุ้นจากฝ่ายตรงข้ามเลย
 
"ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าอิสราเอลต้องการกำจัดชาวปาเลสไตน์หรือไม่ แต่อยู่ที่พวกเขาทำเกินกว่าเหตุ" ชาเวซกลาวในการให้สัมภาษณ์กับ เลอ ฟิกาโร (Le Figaro) ซึ่งตีพิมพ์ในวันที่ 9 ก.ย.
 
ชาเวซผู้ซึ่งเพิ่งจะผ่านการเยือนประเทศต่างๆ ในฝั่งตะวันออกกลางและประเทศอาหรับบางประเทศ กล่าวโต้แย้งการให้เหตุผลของรัฐบาลอิสราเอลที่เคยอ้างว่าอิสราเอลโจมตีฉนวนกาซ่า เพื่อโต้ตอบการโจมตีจากกลุ่มกบฏฮามาสที่ควบคุมพื้นที่แถบชายฝั่งอยู่
 
แผนที่แสดงดินแดนออสเซเทียใต้ และอับกาเซีย ดินแดนที่เวเนซุเอลายอมรับฐานะเป็นประเทศ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของรัสเซียด้านทะเลดำ ซึ่งแยกออกมาจากจอร์เจีย (ที่มา: e-politik.de)
 
เวเนซุเอลาประกาศยอมรับประเทศออสเซเชียใต้ และอับกาเซีย
ฮูโก ชาเวซ ประกาศขณะเยือนกรุงมอสโคว์ว่าประเทศของเขาตัดสินใจยอมรับว่าประเทศออสเซเทียใต้และอับกาเซียที่แบ่งแยกดินแดนจากจอร์เจียเป็นรัฐอิสระ
 
"ตั้งแต่วันนี้ไปเวเนซุเอลาก็ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ที่ยอมรับว่าสาธารณรัฐทั้งสองแห่งเป็นรัฐอิสระ" ชาเวซกล่าว
 
ทำให้เวเนซุเอลล่าเป็นประเทศที่สามถัดจากรัสเซียและนิคารากัวที่ยอมรับการเป็นรัฐอิสระของทั้งสองพื้นที่ซึ่งแยกตัวเองออกจากการปกครองของจอร์เจียเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีการแทรกแซงทางการทหารโดยรัสเซีย
 
 
จอร์เจียบอกการตัดสินใจของเวเนซุเอลา ไม่มีนัยสำคัญทางการเมือง
จอร์เจียกล่าวถึงการตัดสินใจของฮูโก ชาเวซ กรณีที่เขายอมรับการประกาศเอกราชของสองพื้นที่ที่แบ่งแยกดินแดนออกจากจอร์เจียคือ ออสเซเทียใต้และอับกาเซีย โดยคิดว่าการตัดสินใจในครั้งนี้ "ไม่ได้มีนัยทางการเมืองที่สำคัญอะไร"
 
"เมื่อนักการเมืองตัวเล็กๆ อย่างชาเวซและ ออร์เตก้า (แดเนียล ออร์เตก้า ประธานาธิบดีนิคารากัว) ตัดสินใจในเรื่องแบบที่ว่า ทำให้เห็นว่าการตัดสินใจนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดทางการเมือง" เตมัว ยาโคบาชวิลลี รองนายกรัฐมนตรีจอร์เจียกล่าว "ผมไม่คิดว่าการตัดสินใจเช่นนี้จะมีผลสำคัญต่อเนื่องใดๆ ทางการเมือง"
 
ล่าสุดในวันที่ 14 ก.ย. รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งเวเนซุเอลา และ อับกาเซีย ได้มาสนทนาแลกเปลี่ยนเพื่อจัดตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเวเนซุเอลาและอับกาเซีย
 
แม็กซิม กวินด์ซียา รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศของอับกาเซียเปิดเผยว่าทางฝ่ายเวเนซุเอลานำเสนอเอกสารที่ระบุถึงการที่เวเนซุเอลายอมรับอับกาเซียในฐานะรัฐอิสระ และการพบปะกันก็ดำเนินไปในบรรยากาศของความเป็นมิตร โดยการลงนามความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศจะเกิดขึ้นต่อในอีกไม่กี่วันถัดไป
 
รักษาการ รมว. ต่างประเทศของอับกาเซียให้ความเห็นอีกว่า การที่เวเนซุเอลาตัดสินใจยอมรับอับกาเซียเป็นรัฐอิสระนั้น เป็นการช่วยให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งยุโรปและสหรัฐฯ พยายามทำมานานแล้วแต่ไม่เป็นผล
 
ฟิลิปส์ ครอวลี่ย์ โฆษกการต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกมาให้ความเห็นเรื่องการที่เวเนซุเอลาแสดงการยอมรับอับคาเซียและออสเซเชียใต้เป็นรัฐอิสระว่า เป็นเพียงจุดยืนที่ "โดดเดี่ยว"
 
"รัสเซียแค่ได้อีกประเทศหนึ่งเพิ่มนอกจากนิคารากัวในการยอมรับความเป็นรัฐอิสระของออสเตเชียและอับคาเซียนั้น ย้ำให้เห็นว่ามุมมองนี้ในเรื่องนี้ 'โดดเดี่ยว' เพียงใด" ครอวลี่ย์กล่าว
 
 
ที่มา – แปลและเรียบเรียงจาก
 
 
ข้อมูลประกอบ
Wikipedia : Foreign relations of Venezuela เข้าดูเมื่อ 15-09-2009

 

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 19 ก.ย. 52 เวลา 5.38 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net