รายงานเสวนา: เมื่อคนงานบริหารโรงงานเองในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

 

  

 

 
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 52 ที่ผ่านมา มูลธินิศักยภาพชุมชน, โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย และศูนย์รณรงค์เพื่อสิทธิแรงงาน จัดการเสวนาเรื่อง "เมื่อคนงานบริหารโรงงานเองในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ" ที่หน้าโรงงานสมานฉันท์ ถ.เอกชัย เขตบางบอน ดำเนินรายการโดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากมูลนิธิศักยภาพชุมชน
มานพ แก้วผกา ตัวแทนคนงานโรงงานสมานฉันท์ เล่าว่า "โรงงานสมานฉันท์" เกิดจากการรวมตัวกันของอดีตคนงานบริษัทเบดแอนด์บาธ ซึ่งถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย โดยภายหลังการเรียกร้องจากรัฐบาลซึ่งไม่เป็นที่น่าพอใจ คนงานจึงคิดตั้งโรงงานกันขึ้นเอง (2546) โดยในครั้งแรกมีคนงานสนใจถึง 140 คน แต่เนื่องจากไม่สามารถดูแลทั้งหมดได้ จึงขอคนที่สนใจจริงๆ รวมตัวกันได้ 40 คน โดยเงินตั้งต้นกู้จากธนาคารออมสินจำนวน 700,000 บาท และจากที่อื่นอีก 800,000 บาท เริ่มจากรับงานซับคอนแทรก โหลละ 70-80 บาท
มานพ เล่าว่า ทำไปได้สักระยะก็เริ่มมีเพื่อนที่รู้สึกท้อและถอนตัวไป บางคนก็มีพ่อแม่มารับกลับไปทำงานที่อื่น เพื่อให้มีเงินพอส่งกลับไปที่บ้านได้ ปัจจุบันนี้มีคนงานเหลือ 14 คน โดยเปลี่ยนมารับงานเองโดยตรง จากสหภาพแรงงาน และเอ็นจีโอต่างๆ ทำเองทุกกระบวนการตั้งแต่รับงาน ผลิตและส่ง แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้ ทำให้งานที่ได้รับลดลง เพราะด้านคนสั่งเองก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเช่นกัน ขณะที่ตลอด 6 ปีมานี้ทำหนังสือถึงหน่วยงานรัฐเพื่อเข้าไปเสนองาน แต่ก็ไม่เคยมียอดสั่งซื้อแม้แต่ตัวเดียว
ตัวแทนคนงานโรงงานสมานฉันท์ กล่าวว่า การบริโภคสินค้าควรมองให้ลึกถึงเบื้องหลังการผลิต ไม่ใช่บริโภคเพียงความสวยงามเบื้องหน้าเท่านั้น อยากฝากให้ทุกคนก้มลงมองเสื้อที่ใส่อยู่ และถามตัวเองว่าเสื้อเหล่านี้มาจากไหน ผลิตที่ไหน ผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตอยู่กันอย่างไร อยู่กันอย่างมีความสุขหรือไม่ แล้วเราจะรู้ว่าการบริโภคเสื้อผ้าจากโรงงานสมานฉันท์มีคุณค่าแค่ไหน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักวิชาการอิสระ เล่าว่าลักษณะการบริหารจัดการภายในโรงงานโดยคนงานเอง มี 2 แบบ คือ หนึ่ง แบบที่รัฐสนับสนุนให้คนงานทำ ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นน้อย พบในรัฐที่มีแนวคิดสังคมนิยม เช่น ยูโกสลาเวีย สมัยนายพลตีโต หรือ ชิลี สมัยประธานธิบดีอัลเยเด้ กับแบบที่สอง คือ แรงงานบริหารเอง ซึ่งมีเยอะมาก ล่าสุด มีกรณีของอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นการยึดโรงงานมาบริหารเองเนื่องจากโรงงานล้มละลาย โดยทุกคนได้ค่าแรงเท่ากัน ทำงานร่วมกัน ตัดสินใจโดยการลงมติ
ภัควดี กล่าวว่า โรงงานที่คนงานเข้าไปจัดการเองจะมีประสิทธิภาพดีกว่าโรงงานในระบบ โดยในอาร์เจนตินา สามารถลดอุบัติเหตุในการทำงานได้แทบจะเท่ากับศูนย์ เพราะคนงานรู้จังหวะในการทำงานและควบคุมจังหวะในการทำงานได้เอง ซึ่งตรงข้ามกับที่มักมีคนพูดกันว่า ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายการตลาดมาดูแล โรงงานจึงจะอยู่รอด นอกจากนี้ยังมีการหมุนเวียนตำแหน่งหน้าที่ อาทิ ฝ่ายการตลาดต้องทำการผลิตด้วย ทำให้สามารถรักษาประชาธิปไตยในโรงงานไว้ได้
เธอกล่าวว่า ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน แม้การยึดโรงงานจะชอบธรรม แต่ไม่ถูกกฎหมาย เมื่อพวกเขายึดโรงงานแล้วได้ อธิบายสาเหตุให้สังคมเข้าใจ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนในด้านวัฒนธรรม ทำให้เมื่อมีตำรวจจะมาจับคนงาน คนในชุมชนออกมาประท้วง ปกป้องคนงานเหล่านี้ ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้ว ความเป็นชุมชนในย่านอุตสาหกรรมของไทยแทบไม่มี รวมถึงไม่มีความเข้าใจเรื่องของแรงงานด้วย
ภัควดี เสนอว่า ควรรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน ว่าไม่ใช่แค่สิทธิขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่คือสิทธิในการมีงานทำ ต้องทำให้เห็นว่า การตกงานไม่ใช่เรื่องธรรมชาติอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มเคยกล่าว เพราะนั่นจะทำให้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ นอกจากนี้ ยังต้องหารูปแบบของกิจการ อาทิ แบบสหกรณ์ หรือบางประเทศมีการโอนให้เป็นกิจการของชาติ ของชุมชน สังคม ซึ่งการมีรูปแบบจะสร้างหลักประกันของสิทธิในการทำงาน
ทั้งนี้ ปัญหาของแรงงานที่บริหารเองเจอ ประกอบด้วยการที่รัฐส่วนใหญ่ไม่ชอบให้แรงงานมีอำนาจในการต่อรอง ไม่เฉพาะรัฐทุนนิยมเท่านั้น ไม่ว่ารัฐเผด็จการหรือรัฐสังคมนิยมก็ไม่สนับสนุนเช่นกัน เห็นได้จากในรัสเซีย สมัยเลนินก็มีการทำลายโรงงานของคนงานไปหมด สอง สหภาพแรงงานเองก็ไม่สนใจ เพราะสหภาพแรงงานมีลักษณะของระบบราชการสูง การตัดสินใจเป็นแบบสั่งการจากบนลงล่าง จึงไม่สนใจแรงงานที่มีอำนาจจัดการเอง สาม ปัญญาชนฝ่ายซ้ายไม่สนับสนุนการที่คนงานบริหารเอง คนเหล่านี้มีแนวคิดมาร์กซิสม์ เชื่อเรื่องหัวขบวนปฏิวัติ ขณะที่กลุ่มคนที่มีแนวคิดอนาธิปไตยจะสนใจเรื่องนี้ แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีบทบาทในวงวิชาการ ทำให้แนวคิดแรงงานจัดการด้วยตัวเองไม่แพร่หลาย
จรรยา ยิ้มประเสริฐ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา จะเห็นว่า ทุนขนาดใหญ่อยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ลื่นไหลอย่างตัดเย็บเสื้อผ้า ดังนั้นจะเห็นการปิดตัวของโรงงานที่มีการจ้างงานขนาดใหญ่เยอะมาก และเปลี่ยนมาเป็นกระจายงานไปสู่ห้องแถว
กรณีที่มักมีการเรียกคนงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงงานว่า แรงงานนอกระบบนั้น จรรยากลับเห็นว่า จริงๆ แล้วไม่มีคำว่า "แรงงานนอกระบบ" และว่า กระบวนการจ้างงานในปัจจุบัน พยายามทำให้เกิดการจ้างงานที่คนงานเข้าไม่ถึงกลไกการคุ้มครองของรัฐ และไม่สามารถสร้างมาตรการต่อรองอย่างเข้มแข็งและเป็นระบบได้ "แรงงานนอกระบบ" กลายเป็นวาทกรรมภาษาที่รัฐบาลทุกประเทศในโลกถูกทำให้เชื่อ
ทั้งนี้ เธอกล่าวด้วยว่า คนงานในประเทศไทย 75% ถูกจัดเป็นคนงานนอกระบบ ซึ่งเอาเข้าจริง พวกเขานับว่าอยู่ในระบบมากกว่า
จรรยา เสนอว่า การแก้ปัญหาแรงงานในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลจะต้องตรวจสอบนายจ้างที่ใช้ข้ออ้างเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในการปิดกิจการ เพราะที่ผ่านมา รัฐเข้าไปอุ้มนายจ้างตลอดโดยไม่มีการตรวจสอบ นอกจากนี้ รัฐต้องมีมาตรการจัดการสร้างทางเลือกให้คนงาน เพราะกรณีโรงงานสมานฉันท์ ต้องค้ำประกันเงินกู้กันเอง ขณะที่รัฐช่วยเหลือน้อยมาก รวมถึงรัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เรื่องสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง เพื่อให้คนงานมีอำนาจการต่อรอง
ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอให้โรงงานฯ ปรับตัวด้านการบริหารจัดการ โดยวางระบบในด้านต่างๆ ให้ครบวงจร หาตลาดของตัวเองและออกแบบอาร์ทเวิร์ค นอกจากนี้ ยังต้องผลักดันให้ภาครัฐเข้ามาดูแลแรงงานนอกระบบเหมือนที่ดูแลแรงงานในระบบ เช่น ระบบประกันสังคม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท