สัมภาษณ์ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย 3 ปีรัฐประหาร ถึงเวลาทบทวนหลักนิติรัฐไทย

นิติรัฐแท้ จะต้องเป็นนิติรัฐในเชิงเนื้อหา หมายความว่า การกระทำใดๆ ของรัฐ นอกจากจะกระทำไปตามตัวบทกฎหมายที่ได้ให้อำนาจเอาไว้ ยังต้องรวมถึงเนื้อหาที่ต้องเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยประกอบเข้ากันด้วย

  
....นิติรัฐแท้ จะต้องเป็นนิติรัฐในเชิงเนื้อหา หมายความว่า การกระทำใดๆ ของรัฐ นอกจากจะกระทำไปตามตัวบทกฎหมายที่ได้ให้อำนาจเอาไว้ ยังต้องรวมถึงเนื้อหาที่ต้องเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยประกอบเข้ากันด้วย...
 
นี่คือทัศนะของ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งจบปริญญาเอกด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญหมาดๆ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ที่ตั้งคำถามถึง หลักนิติรัฐของประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองร้อนระอุ มีข้อกังขาเรื่อง การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม และการไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้
 
อาจารย์พรสันต์ ยังชี้ให้เห็นถึงปัจจัยต่างๆ บางประการ อันทำให้ประเทศเราอยู่ในนิติรัฐในเชิงรูปแบบ ไม่ใช่ในเชิงเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายแม่บทอย่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายต่างๆ ที่มีการนำมาใช้จัดการทางการเมืองในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้ง หรือวาทกรรมต่างๆ ที่ผลิตออกมา นับตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนรัฐประหาร 49 จนถึง ณ ปัจจุบัน
 
ในโอกาส ครบรอบ 3 ปี รัฐประหาร อาจารย์หนุ่มวัย 30 ได้ร่วมกับ “มติชน” สนทนาหลักการสำคัญของบ้านเมืองที่ดูแกว่งไปแกว่งมา พร้อมคำถามที่ว่า ถึงเวลาทบทวนหลักนิติรัฐไทยได้แล้วหรือไม่    
 
การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยช่วงก่อนรัฐประหารที่เริ่มเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จนถึงวันนี้ที่ครบรอบ 3 ปี รัฐประหาร ต่างฝ่ายต่างอ้างถึงหลักนิติรัฐกันมาก แต่มีข้อกังขาในเรื่อง การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้     
 
ช่วงเวลาที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมือง มีปัจจัยมาจากหลายส่วน อาทิ ความเป็นจริงเรื่องประชาธิปไตย อย่างที่อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ หรือเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศ เคยอธิบายไว้ แต่ที่ผมจะพูดด้วยคือเรื่อง นิติรัฐ ซึ่งมี คำถามสำคัญว่า ประเทศเราถือว่า มีการปกครองเป็นไปตามหลักนิติรัฐหรือไม่ ซึ่งคงต้องมาเถียงกันเรื่องคำๆนี้อีก ซึ่งผมขอนิยามตามที่นักนิติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสคนสำคัญอย่าง การ์เร่ เดอ มาลแบร์ ว่า นิติรัฐ หมายถึง รัฐที่ยอมตนเองอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายอันส่งผลให้รัฐนั้นปกครองโดยถือเอากฎหมายเป็นใหญ่ ซึ่งกฎหมายนั้นจะมีการบัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขสำหรับรัฐในการที่จะกระทำการใดๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายของกฎหมาย
               
นิยามข้างต้น หากนำเอามาวิเคราะห์กับประเทศไทย แม้จะมีการบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากมาพิจารณาถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ดีแล้ว จะพบว่า มันไม่ใช่ เพราะกฎหมายต้องมีเนื้อหาที่มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสอดคล้องกับหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วย ไม่ใช่ว่าจะมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะกลายเป็นการปกครองที่หยิบยืมเอาตัวบทกฎหมายเป็นเครื่องมือในการทั้ง “จำกัดและกำจัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน” อันเป็นการขัดกับหลักการเสรีประชาธิปไตยด้วยและนำพาประเทศไปเผชิญกับผู้นำแบบทรราชย์ได้ ตัวอย่างคือ เยอรมันในสมัยที่ฮิตเลอร์ ที่ออกกฎหมายมาเพื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกคนยิว ซึ่งของบ้านเรามีหลายฉบับที่เราไม่ดูเนื้อหา  
 
เป็นการปกครองที่ใช้กฎหมายเพียงเป็นเครื่องมือ หรือ rule by laws ไม่ใช่ rule of laws
 
ใช่ครับ คือตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้ว ผมมองว่า บ้านเรายังปกครองประเทศไปตามแนวคิด “นิติรัฐเทียม” อันหมายถึงนิติรัฐในเชิงรูปแบบเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ “นิติรัฐแท้” ที่จะต้องเป็นนิติรัฐในเชิงเนื้อหา หมายความว่า การกระทำใดๆ ของรัฐ นอกจากจะกระทำไปตามตัวบทกฎหมายที่ได้ให้อำนาจเอาไว้ ยังต้องรวมถึงเนื้อหาที่ต้องเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยประกอบเข้ากันด้วย แต่สำหรับบ้านเราไม่เคยไปตรวจสอบเนื้อหาว่า เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยหรือไม่ จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินไปหรือไม่ เพราะถ้าจำกัดมากเกินไป ก็เท่ากับขัดหลักการประชาธิปไตยด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว
 
ถ้ามองแค่เพียงภายนอกเข้าไปแล้วพบว่า ประเทศนี้ปกครองประเทศไปตามตัวบทกฎหมายที่ตราออกมาให้อำนาจเขาไว้ อ่อ...ก็ถือเป็นนิติรัฐแล้ว ผมก็จะเปรียบเทียบว่า บางประเทศ ตัวรัฐธรรมนูญเขาบัญญัติว่า ระบอบการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตย แต่ในตัวบทกฎหมายกำหนดให้มีพรรคการเมืองพรรคเดียว มีกฎหมายห้ามทำการประชามติเพื่อขอความเห็นประชาชน ทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาล ฯลฯ อย่างนี้เราจะถือว่า มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าเรียกก็คงจะต้องเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบ อันนี้ก็เหมือนกัน เพราะคนอื่นเขาไม่ทราบว่า ภายในของคุณมันเป็นอย่างไร ดูแค่รัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่า มีอย่างที่ประเทศอื่นเข้ามีกัน  แต่ถ้าเข้าไปตรวจดูข้อเท็จจริง ก็จะพบว่า ไม่ใช่ เป็นต้น  
 
ข้อเท็จจริงที่เห็นในบ้านเราคือ ไม่ว่าใครหรือกลุ่มใด เมื่อถืออำนาจรัฐแล้ว ก็ใช้ไปอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างนั้นหรือ
 
ยกตัวอย่างชัดๆ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง และพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไปและตามอำเภอใจ โดยที่ไม่มีองค์กรในการตรวจสอบได้เลย อาทิ ประเด็นระยะเวลาบังคับใช้ ให้เป็นอำนาจของ ครม. ที่จะมอบให้ กอ.รมน. ดำเนินการใดๆ โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำ หรือใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ให้เป็นดุลพินิจของนายกฯ ว่า ควรประกาศใช้กฎหมายนี้โดยกำหนดระยะเวลาไว้ต้องไม่เกิน 30 วัน ถ้าหากนายกฯ เห็นว่า ต้องขยายเวลาในการใช้กฎหมายนี้ต่อไป ก็ต้องไปขอความเห็นชอบจาก ครม.
 
จุดนี้อยากให้ลองดูในเชิงหลักการ สมมติว่า มีการออกมาชุมนุมคัดค้านรัฐบาล ถ้ารัฐต้องการทำหมันการชุมนุมก็อาจจะประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงโดยกล่าวอ้างว่า ต้องป้องปราบไม่ให้เกิดภัยต่อความมั่นคงของประเทศซึ่งเป็นคำที่มันกำกวมอยู่แล้วในตัว หรือกรณีที่การชุมนุมดำเนินการไป ก็อาจจะประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการชุมนุม ถ้าเขาจะชุมนุมยาวนาน ผมก็ไปขอต่อเวลาพ.ร.ก.นี้ต่อจาก ครม. เรื่อยๆ เพื่อควบคุม ถามว่า การที่กฎหมายออกแบบให้การยืดระยะเวลาในการใช้กฎหมายนี้ต้องไปขออนุญาตจาก ครม. มันโอเคไหม ผมว่ามันไม่นะ ลองคิดดูว่า ครม. จะปฏิเสธไม่ให้ประกาศใช้ต่อเป็นไปได้เหรอ แล้วระยะเวลาสิ้นสุดมันอยู่ตรงไหนครับ หรือในกรณีของกฎหมายความมั่นคงเองที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการควบคุมสถานการณ์โดยกอ.รมน. แบบเนี้ยะ ขณะที่กฎหมายจำพวกนี้ของต่างประเทศ เขาคำนึงถึงเป็นอย่างมาก อย่างในประเทศฝรั่งเศสหากต้องการขยายระยะเวลาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเขาต้องไปขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเลยนะ เพราะเขาคิดว่า การที่จะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมันต้องผ่านความเห็นชอบของตัวแทนประชาชนอันเป็นหลักการของหลักนิติรัฐด้วย
 
นี่ยังไม่รวมถึงที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯของบ้านเรา ในมาตรา 16 ไปตัดเขตอำนาจของศาลปกครองในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำการใดๆ ไปตามกฎหมายฉบับนี้ ถามว่า ใครจะมาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวว่า เขากระทำการไปถูกต้องหรือไม่อย่างไร เป็นต้น
 
รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่บทก็มีปัญหาความลักลั่นเรื่องหลักนิติรัฐในตัวมันเอง  
               
ใช่ เราไม่ค่อยใส่ใจในเนื้อหาของตัวบทกฎหมายต่างๆ ขนาดรัฐธรรมนูญเอง ก็มีปัญหา คือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถ้าจะบอกว่าไม่มีหลักการของหลักนิติรัฐอยู่เลยหรือ ผมก็บอกว่า ไม่ถึงขนาดนั้น เช่น ก่อนที่จะมาเป็นรัฐธรรมนูญ 50รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ทำให้หลักนิติรัฐนั้นชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเป็นอย่างมากด้วยการบัญญัติไว้ในมาตราต่างๆ เช่น หลักพอสมควรแก่เหตุอันถือเป็นหลักการย่อยของหลักนิติรัฐที่ได้มีการบัญญัติไว้เพื่อมิรัฐได้เข้าไปก้าวล่วงในสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร เป็นต้น แต่ผมไม่ได้บอกว่า รัฐธรรมนูญ 40 ดีกว่าต้องมาใช้แทนฉบับปัจจุบันคือปี 50 นะ เพราะฉบับ 40 ก็ประจักษ์ว่า ออกแบบให้รัฐบาลเข้มแข็งมาก ส่วนหนึ่งเพราะกำหนดกลไกในการตรวจสอบรัฐบาลให้ทำได้ยาก ฉะนั้น หากฝ่ายบริหารกระทำการใดๆ อันไม่เป็นไปตามหลักของกฎหมายที่ต้องอยู่บนพื้นฐานนิติรัฐด้วยนะ ฝ่ายนิติบัญญัติจะตรวจสอบและคานอำนาจได้อย่างไร ตรงนี้เองก็เป็นอีกจุดที่ทำให้หลักนิติรัฐเสื่อมลงไป 
 
ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แม้ยังคงยึดหลักการหลักๆ ของฉบับ 40 ไว้ และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งบางบทบัญญัติก็ขยายสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนมากขึ้น แต่บางบทบัญญัติก็ขัดต่อหลักนิติรัฐโดยประจักษ์ เช่น มาตรา 239 ที่บัญญัติให้กกต.มีอำนาจในการแจกใบเหลืองใบแดงก่อนการประกาศการรับรองผลการเลือกตั้ง มาตรานี้ให้อำนาจกับ กกต. อย่างเบ็ดเสร็จว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง กกต. มีสิทธิขาดที่จะให้ใบเหลืองใบแดงกับผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีใครสามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้เลยแม้กระทั่งศาล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเอง ยังมีคำวินิจฉัยยืนยันหลักการนี้ผ่านคำวินิจฉัยในคดียุบ 3 พรรค ว่าไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ กกต. ได้เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เป็นที่สุด มันจึงลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอันเป็นหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของประเทศเสรีประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน บัญญัติรับรองไว้
 
ถ้าเป็นอย่างประเทศที่มีหลักนิติรัฐเข้มแข็งเช่น ฝรั่งเศส อเมริกา หรือ เยอรมัน ศาลเขาจะหยิบยกหลักนิติรัฐ หรือนิติธรรมขึ้นมาเพื่อทบทวนคำวินิจฉัยของ กกต. ได้แม้ว่าจะมีการระบุให้คำวินิจฉัยของ กกต ถือเป็นที่สุดก็ตาม เพราะนี่คือหลักกฎหมายมหาชนทั่วไปที่จะเข้ามารับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยศาลเป็นองค์กรหลักในการที่จะเข้ามาตรวจสอบการดังกล่าว
 
บ้านเราชอบอ้างว่า ต้องใช้หลักนิติศาสตร์และหลักรัฐศาสตร์พิจารณาเรื่องทางมหาชนควบคู่กันไปด้วย น่าจะเป็นอีกปัจจัย
ผมล่ะงงจริงๆ กับคำนี้ ที่นักการเมือง หรือแม้แต่นักวิชาการนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ พูดแบบนี้ สงสัยว่า ท่านเอาหลักการนี้มาจากไหน ประเทศไหนยึดหลักการนี้ ผมว่าถึงเวลาที่จะเลิกประโยคทำนองนี้ได้แล้วมันไม่มีในโลกนี้หรอก นี่ก็เป็นตัวบั่นทอนหลักนิติรัฐ
 
ไม่รู้ว่า คนที่ชอบพูด กำลังจะหมายถึงว่า หากใช้หลักรัฐศาสตร์แล้วก็จะยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายไปโดยปริยาย โดยการกล่าวอ้างว่า การณ์นี้จะใช้หลักการบังคับใช้กฎหมายของนิติศาสตร์ เฮ้ย ไม่ได้นะ มันไม่ใช่ เพราะไม่ว่าจะเป็นหลักการของวิชานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ต่างก็ยอมรับว่าการปกครองประเทศต้องเป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรม เพราะมิฉะนั้นแล้วประเทศจะเกิดปัญหาแน่ๆ
 
อริสโตเติ้ล บิดาแห่งรัฐศาสตร์ยังพูดถึงเรื่อง rule of laws หรือ หลักนิติธรรมเลยว่าประเทศต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย หรือแม้กระทั่งศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ที่ดังมากในสหรัฐอเมริกาอย่าง ด็อกเตอร์บรีสซินสกี้ (Brzezinski) และศาสตราจารย์เวอร์บ้า (Sidney Verba) ก็ยังพูดถึงหลักนิติธรรมว่าจะช่วยในประเทศเป็นประชาธิปไตยและสร้างสรรค์สังคมให้แข็งแกร่ง
 
จริงๆ แล้วหลักนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์เดียวกันนะครับ ซึ่งในประเทศฝรั่งเศสเขาเรียนคู่กันไม่มีการแยกโดยเขาเห็นว่า เป็นศาสตร์ทางด้านการเมืองการปกครอง แต่ในประเทศอื่นๆ อาจจะมีการแบ่งแยกออกมาเป็นนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสองวิชานี้สามารถอยู่ได้อย่างเป็นเอกเทศ แต่ที่แยกออกมาก็เพื่อการต้องการที่จะให้ศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนละศาสตร์กัน เพราะทั้งหมดนี้ก็ถือว่าอยู่ในสายวิชาสังคมศาสตร์เหมือนกันหมด ฉะนั้น เราต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า ไม่ว่าจะตามหลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ก็ถือกฎหมายเป็นใหญ่ทั้งสิ้น ซึ่งผมเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่ ไม่เช่นนั้นสังคมจะสับสนกันไปหมด
 
บ้านเราร่างกฎหมายมุ่งแต่ผลสัมฤทธิ์ คือให้จัดการเด็ดขาดเพื่อขู่ แต่ละเลยเนื้อหาสาระแห่งหลักการ ?
 
ส่วนหนึ่งมาจากแนวความคิดแบบนักกฎหมายปฏิฐานนิยม หรือ positivist มากจนเกินไปที่มีความเชื่อว่า เมื่อมีการบัญญัติไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว พฤติกรรมของคนในสังคมก็จะเปลี่ยนไปตามที่ออกแบบไว้ หากไม่กระทำตามก็จะมีสภาพบังคับ หรือบทลงโทษ แต่แนวความคิดแบบนี้ก็สามารถใช้ได้กับเฉพาะบางครั้งบางสถานการณ์เท่านั้น แม้กระทั่งกฎหมายอาญาเองที่มีโทษชัดเจนก็ยังประสบปัญหาในสังคมปัจจุบัน กล่าวคือ การกำหนดการกระทำต่างๆ ให้ถือว่าเป็นฐานความผิดให้ต้องรับผิดทางอาญานั้น แต่ถามว่า ปัจจุบันคนมีความเกรงกลัวต่อตัวบทกฎหมายหรือไม่ ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ คำตอบคือไม่เลย ความคิดทำนองนี้กลับเป็นการบ่มเพาะให้เขามีความรู้สึกชินชา ตายด้านกับตัวบทกฎหมาย เพราะเอะอะอะไรก็เอามาบัญญัติไว้ในกฎหมาย การบังคับใช้ก็ไม่เคร่งครัด นี่ยังไม่รวมถึงการพิจารณาถึงสภาพความหนักเบาของบทลงโทษในทางกฎหมายด้วย กฎหมายตามแนวคิดนี้ไม่เหมาะกับสภาพสังคมไทยที่มีลักษณะของการผลัดวันประกันพรุ่ง อะลุ้มอล่วยตลอดเวลา
 
ลองดูประเทศที่ในรัฐธรรมนูญของเขาบัญญัติหลักนิติรัฐไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ประเทศจอร์เจีย อาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนีย มาซิโดเนีย เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ก็มิได้มีการปกครองอันเป็นไปตามหลักนิติรัฐ แม้ว่าจะเขียนไว้ น่าสนใจไหมครับ แต่หากไปดูสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เหล่านี้ไม่มีการบัญญัติหลักนิติรัฐไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเลย แต่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่า เป็นประเทศที่มีการปกครองเป็นไปตามหลักนิติรัฐอย่างเข้มแข็งมาก
 
หมายความถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของคนในสังคม ที่จะเป็นตัวชี้วัดที่แท้จริง ?
 
ใช่ครับ ขอยกที่ศาตราจารย์คาลาเบรสซิ (Steven Calabresi) ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ด้วยว่า “หลักนิติธรรมนั้นเป็นหลักการที่มาจากจารีตประเพณีของประชาชนที่ประพฤติปฏิบัติกันมา นอกจากที่จะมองว่าเป็นการที่รัฐยอมตนเองอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายแล้ว หลักการนี้ก็เป็นหลักการที่เกิดขึ้นมาจากการที่ผู้คนในสังคมได้ร่วมกันจัดระบบระเบียบของพฤติกรรมของประชาชนด้วยกันเองและของรัฐด้วย”   
 
หรือจากงานวิจัยและงานของนักวิชาการชื่อดังไม่ว่าจะในเมืองไทยและต่างประเทศต่างก็เห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า จริงๆ แล้ว จารีตประเพณีมีอิทธิพลมากกว่าตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรเสียอีก ไม่ว่าจะเป็น บทความเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) หรือจะเป็น invisible constitution ของศาตราจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญชื่อดังอย่างศาสตราจารย์ลอเรนซ์ ไทรป (Laurance Tribe) ที่พูดถึงว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่เรามองไม่เห็นซึ่งก็หมายถึงจารีตประเพณีนั้นเป็นตัวบอกเลยว่า อะไรจะถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่เรามองเห็น ซึ่งก็หมายถึงรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร และถึงแม้จะมีการโต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่มองไม่เห็นนั้นเราอาจจะคิดไปได้ต่างๆ นาๆ ว่า มันพูดว่าอะไรบ้าง แต่ท้ายที่สุดมันก็ไม่สามารถแยกความแตกต่างออกจากรัฐธรรมนูญฉบับที่เรามองเห็นได้เลยไม่ว่าจะเป็นความหมาย หรือบทบัญญัติต่างๆ
 
หรือจะเป็นแนวความคิดอย่าง metaconstitution หรือรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการแต่ก็ใช้บังคับกันในทางปฏิบัติโดยไม่จำต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเลยซึ่งพัฒนาต่อไปเป็นบทบัญญัติว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในปัจจุบัน ที่นักวิชาการหลายท่านยอมรับว่า metaconstitution เป็นแนวคิดที่ต่อยอดไปเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ บทความของอ.ยุกติ (มุกดาวิจิตร) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแก้ไขเพิ่มเติมโดยคนเสื้อแดง
               
ปัจจัยอีกอย่าง คือ ฐานคติคนไทยที่เรียกหา “คนดี” แต่การสร้างระบบที่ดี เพื่อที่จะตรวจสอบ “คนดี” ได้ น่าจะสำคัญกว่า เป็น “คนดี” แล้วไม่ต้องตรวจสอบ 
 
ผมคิดว่า ประเทศไทยยังคงยึดติดอยู่กับตัวบุคคลมากกว่าตัวระบบ ชอบคิดว่า ตัวบุคคลที่ดี มีคุณธรรมจะนำเอาหลักนิติรัฐมาให้ แต่ไม่เคยไปดูระบบเลยว่า โครงสร้างซึ่งปรากฏอยู่ในเนื้อหาของกฎหมายนั้น จะสามารถนำพาเอาหลักนิติรัฐมาสู่สังคมไทยได้หรือไม่ คือ เราชอบคิดกันว่า แม้ระบบไม่ดีแต่ได้คนดีมาก็ไม่มีปัญหา แต่มันอันตรายมากนะครับความคิดแบบนี้ เพราะเมื่อเราไม่ได้คนดี ซึ่งยังต้องมานั่งพิจารณาอีกว่า นิยามคำว่า “คนดี” คือใคร แล้วถ้าวันใด คนดีแบบหนึ่ง เข้าไปแล้วใช้ระบบโครงสร้างต่างๆ ที่ไม่เคยมาพิจารณาเลยว่าดีหรือไม่ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและกระทำการอันมิชอบต่างๆ จะทำอย่างไร
 
การแก้รัฐธรรมนูญที่เขาจะทำๆกันอยู่ พอจะพึ่งหวังได้หรือไม่ เพราะไม่เห็นว่า มีการพูดถึงหลักการ แต่กลับพูดแต่เรื่องผลสัมฤทธิ์ที่เป็นความได้เปรียบทางการเมือง
 
ผมมีความรู้สึกว่า ที่นักการเมืองในสภา ถกเถียงกันอยู่ว่า จะต้องแก้รัฐธรรมนูญในมาตราโน้นมาตรานี้ ส่วนมากจะไปพูดกันในเรื่องเทคนิคเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้งที่ว่าจะใช้แบบปี 40 หรือ 50 แต่เรามองข้ามหลักการหลักๆ ไปหรือไม่ นั่นคือ ทำไมเราไม่พิจารณาที่ระบบในองค์รวมเสียก่อนที่จะเข้าไปในรายละเอียด เช่น ควรจะต้องมานั่งทบทวนว่า จะใช้ระบบใดระหว่างระบบเสียงข้างมาก หรือระบบสัดส่วน โอเค ถ้าเราเลือกระบบเสียงข้างมาก ก็ต้องถามต่อไปว่า จะใช้ระบบเสียงข้างมากแบบรอบเดียว อย่างที่อเมริกา หรืออังกฤษ หรือเสียงข้างมากสองรอบที่ฝรั่งเศสเขาใช้ ระบบใดจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของประชาชนมากกว่ากัน ระบบการเลือกตั้งนั้นมีความสำคัญมากนะครับ เพราะการเลือกตั้งนั้นมีความสัมพันธ์กับระบบพรรคการเมือง เช่น หากเราเลือกระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากก็จะเป็นระบบที่ส่งเสริมพรรคการเมืองใหญ่ แต่ถ้าใช้ระบบสัดส่วนก็จะเอื้อให้มีพรรคการเมืองเล็กๆ น้อยๆ เยอะมากกว่าระบบแรก และส่งผลต่อไปถึงเสถียรภาพรัฐบาล
 
นอกจากนี้ เรื่องจัดสรรโครงสร้างเชิงอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นโจทย์สำคัญ เนื่องจาก รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบให้ฝ่ายบริหารนั้นค่อนข้างอ่อนแอจึงส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ ฉะนั้น จะออกแบบโครงสร้างอย่างไรให้ฝ่ายบริหารสามารถปกครองประเทศไปได้อย่างไม่กระท่อนกระแท่นมากนักแต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ละเลยซึ่งระบบการตรวจสอบต่างๆ อันอยู่บนหลักการของหลักนิติรัฐด้วยครับ  
 
การให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ “ปฏิบัติได้จริง” น่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตีคู่กันมาด้วย
 
ใช่ครับ ตอนนี้ที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ก็แต่เพียงที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญอันเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ เพื่อที่จะได้ให้ประชาชนไม่ออกมาเรียกร้องหรือคัดค้านการจัดโครงสร้างอำนาจทางการเมืองเพื่อเอื้อต่อกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง
 
ผมตั้งคำถามอย่างนี้ดีกว่าว่า ทั้งๆ ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นฉบับ 40 หรือ 50 ประกาศอยู่เสมอว่า มีการร่างบทบัญญัติหลายอย่างให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน ซึ่งก็เป็นความจริงนะ แต่ปัญหาคือ ทำไมจึงมีการออกมาเรียกร้องจากประชาชนอยู่เสมอว่า พวกเขาไม่ได้รับการปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองและให้สิทธิเสรีภาพแก่เขา เรื่องนี้เราต้องยอมรับนะครับว่า การที่บุคคลต่างๆ ออกมาเรียกร้อง มันสะท้อนให้เห็นถึงการที่เขาไม่มีพื้นที่ทางการเมืองให้แสดงออก จึงต้องออกมาเดินขบวนเรียกร้อง เอาล่ะ บางคนอาจจะบอกว่า ถูกจ้างมาบ้าง อะไรบ้าง แต่ไม่ใช่ทุกคนหรอก พูดเหมากันง่ายๆ แบบนั้นไม่ได้ บางส่วนเขาออกมาเพราะเขาเดือดร้อนจริงๆ และรัฐมิได้ให้ความช่วยเหลือเขา ฉะนั้นประเด็นการทำให้การเมืองเป็นการเมืองภาคประชาชนจริงๆ นั้นสำคัญมาก เราต้องไม่ลืมว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนก็สะท้อนระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยกับนิติรัฐเป็นเรื่องคู่กันที่แยกกันไม่ออกครับ
 
เพราะรัฐไม่เคยลดอำนาจตัวเองหรือเปล่า ภาคประชาชนจึงเติบโตยาก   
 
ใช่เลยครับ คือ ในขณะที่คุณเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน แต่คุณก็ยังเพิ่มอำนาจให้กับรัฐอยู่ หรือไม่เคยที่จำกัดอำนาจของรัฐลงเลย แล้วประชาชนจะมีโอกาสได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตนได้อย่างไร ยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดๆ นะเช่น เรามีกฎหมายข้อมูลข่าวสารที่เปิดโอกาสให้สามารถเรียกดูข้อมูลของทางราชการได้ หากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวไม่ได้กระทบกับความมั่นคงของประเทศ แต่ปรากฏว่า กลับมีการกำหนดขั้นตอนเสียเยอะแยะจนกระทั่งการจะขอข้อมูลมานั้นยาก หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ตรงนี้เป็นสิทธิของประชาชนที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญต้องการอย่างนั้นหรือ ซึ่งเท่าที่ดูอ่านข่าว ก็เห็นเถียงกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยซะเป็นส่วนใหญ่ มันก็คือ ชนชั้นนำ มาคุยและตกลงจัดสรรอำนาจทางการเมืองของตนเองล่ะมั้ง แต่ในส่วนของภาคประชาชนนั้น ผมยังไม่เห็นใครมาพูดถึงหรือให้ความสนใจเลย
 
ในส่วนองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจ และการจะช่วยเข้ามาประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน ต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร  
 
ผมห่วงเรื่อง การนำเอาศาลมาเป็นองค์ประกอบในการสรรหาบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ที่จะเข้ามาทำงานในองค์กรที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐ ตรงนี้ น่ากลัว เนื่องจากหากองค์กรศาลไม่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนแล้ว ประเทศคงจะอยู่ต่อไปมิได้ เนื่องจากว่าไม่มีองค์กรกลางที่จะมาทำการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมาได้โดยที่ทุกฝ่ายจะยอมรับได้โดยไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเราก็เห็นๆ อยู่ว่าตอนนี้ศาลเริ่มถูกตั้งคำถามในการตัดสินคดีความต่างๆ ซึ่งเมื่อก่อนนั้นไม่เคยปรากฏเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน เราต้องไม่ลืมนะครับว่าศาลก็ถือเป็นองค์กรหลักที่สำคัญมากในการตรวจสอบการกระทำของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารนะ เรื่องต่างๆ เหล่านี้หากสามารถที่จะวางโครงสร้างให้มันได้ดุลยภาพแล้ว มันก็จะเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยให้สังคมไทยนั้นเป็นนิติรัฐได้ในระดับหนึ่งด้วย เนื่องจากทั้งสามองค์กรหลักไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐสภาและศาลนั้นมีการตรวจสอบและคานอำนาจซึ่งกันและกันพร้อมทั้งประชาชนก็ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของตนเอง ตรงนี้ก็จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เคยประสบอย่างที่ผ่านๆ มา ผมเชื่ออย่างนั้นนะ     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท