สัมภาษณ์ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ: โจทย์ของจะนะกับแนวรบสร้างสุขภาพ

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ คนหาดใหญ่ ที่ไปจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมาทำงานในบ้านเกิด ที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย 4 ปี และที่โรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 11 ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนภาคประชาสังคมในจังหวัดสงขลา ได้ให้ความคิดความเห็นเกี่ยวกับการสร้างสุขภาวะที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

ทำไมคุณหมอถึงมาทำเรื่องสุขภาพนอกโรงพยาบาล ?

คำถามนี้น่าสนใจมาก เพราะสะท้อนให้เห็นครับว่า สังคมไทยส่วนใหญ่ยังเห็นว่า สุขภาพเป็นเรื่องของมดหมอหยูกยา คือ จะคิดถึงสุขภาพก็ยามป่วย แล้วก็เลยคิดถึงหมอ พอคิดถึงหมอ ก็เลยคิดถึงโรงพยาบาล ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนความคิดของผู้คนในสังคมว่า สุขภาพไม่ใช่เรื่องของหมอ ของโรงพยาบาล สุขภาพเป็นเรื่องของเราทุกคน ซึ่งอันนี้หากพูดใช้ศัพท์ฝรั่งก็คือว่า ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือ Paradigm

คำว่า กระบวนทัศน์ หรือ Paradigm นั้น เป็นคำใหม่ในสังคมไทย ซึ่งหมายความถึงกรอบการมอง การให้ความสำคัญ หรือการคิด ซึ่งแต่ละคนที่เกิดมาในบริบทที่ต่างกัน สภาพแวดล้อมของการเลี้ยงดู การได้รับการศึกษาและมีการให้คุณค่าที่แตกต่างกัน ดังนั้นในปรากฏการณ์เดียวกัน จึงทำให้มีกรอบการมอง การให้คุณค่าและการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป

สำหรับโจทย์ทางด้านสุขภาพแล้ว กระบวนทัศน์หรือ Paradigm ในช่วงเวลาที่ผ่านมาของการพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัยตลอด 40 ปี ได้เน้นหนักไปที่การต่อสู้กับความเจ็บป่วย และโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน ดังจะเห็นได้จากการทุ่มเททรัพยากร ทั้งกำลังคน กำลังเงิน เครื่องมือเครื่องไม้ไปที่โรงพยาบาลทั้งเล็กและใหญ่ ในด้านที่เกี่ยวข้องกับด้านการรักษาพยาบาล ผลิตแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจำนวนมาก เพื่อดูแลโรคมากกว่าดูแลคนทั้งคน

สำหรับสถานีอนามัยนั้น ก็ได้รับการพัฒนาเน้นทางด้านการรักษาเช่นกัน เดินในกรอบการมองที่เน้นไปที่การซ่อมสุขภาพ เน้นการดูแลรักษาผู้ที่เจ็บป่วยให้ดีที่สุด
แต่กระบวนทัศน์สุขภาพแนวใหม่นั้น จะเน้นเรื่องการสร้างสุขภาพ การสร้างสังคมที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเช่นนี้แล้ว “สุขภาพจะเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของหมอของโรงพยาบาลเท่านั้นอีกต่อไป”

สังคมไทยในวันนี้ ปัญหาสุขภาพมีมากมาย เราควรจะตั้งรับและรุกสู่การมีสุขภาพที่ดีกว่าได้อย่างไร ?

เริ่มต้นเราคงต้องมาทำความเข้าใจกับปัญหาสุขภาพในสังคมไทยกันก่อน เราต้องหันมาทำความเข้าใจกับบริบทของสังคมไทยกันใหม่ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้สอดคล้องเท่าทันกับความเป็นจริง เราจะพบว่าสังคมไทยโดยเฉพาะในชนบทนั้นได้รับผลกระทบอันใหญ่หลวง จากคลื่นที่โหมกระหน่ำทุกส่วนของโลกทั้ง 3 ลูกพร้อมๆ กันในขณะนี้

คลื่นลูกที่หนึ่ง คือ คลื่นแห่งการปฏิวัติเกษตรกรรมมาสู่การเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยว คลื่นลูกนี้ได้ผ่านเข้ามาในสังคมไทยกว่าร้อยปีแล้ว

สำหรับปัญหาสุขภาพจากคลื่นลูกนี้ ก็คือ ปัญหาของโรคติดเชื้อ การไม่เพียงพอของบริการสุขภาพ และการใช้สารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น

คลื่นลูกที่สองที่มากระทบ คือ คลื่นแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเข้ามาในสังคมไทยเพียง 40 ปี นับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ในปี 2504 คลื่นลูกนี้ทำให้เกิดมลพิษจากอุตสาหกรรม โรคจากการทำงาน ชุมชนสลัม ความเครียดในสังคม เป็นต้น

ไม่ทันที่คลื่นสองลูกจะผ่านไป คลื่นลูกที่สามก็มากระทบอย่างรวดเร็ว นั่นคือ คลื่นแห่งยุคข้อมูลข่าวสารและโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้เกิดปัญหาของพฤติกรรมสุขภาพ เช่น วัฒนธรรมการบริโภคนิยมที่ทำลายสุขภาพ ปัญหาที่ตามมาจากค่านิยมที่เห็นเงินคือพระเจ้า มองผู้คนเป็นเพียงวัตถุ เช่น ปัญหาโสเภณี ยาเสพติด การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การสูญเสียจิตวิญญาณของการดำรงความดี สงครามเพื่อการค้าอาวุธ หรือแม้แต่ปัญหาที่ยังไม่มีความชัดเจนของผลกระทบ เช่น การตัดต่อพันธุกรรม (GMO) แก่พืชและสัตว์ เป็นต้น

เพราะคลื่นทั้งสามลูกได้ถั่งโถมลงบนสังคมไทยทั้งในชนบทและเมืองพร้อมๆ กัน ความสับสนวุ่นวายในสังคมจึงหนักหน่วง ส่งผลกระทบมากมายต่อสุขภาพครบทั้งทางด้านกาย จิต  สังคม และจิตวิญญาณ แต่การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่ได้ส่งผลลบมากมายต่อสุขภาพ กลับไม่มีแววที่จะตามทันความแปรเปลี่ยน แล้วกระบวนทัศน์ทางสุขภาพที่ควรจะเป็นสำหรับสังคมไทย ในการรับมือเผชิญหน้ากับคลื่นทั้ง 3 ลูกนี้ควรจะเป็นอย่างไร นี่คือ โจทย์ใหญ่มากที่เราทุกคนต้องช่วยกันหาคำตอบ

คำถามนั้น คุณหมอมีคำตอบไหม ?

อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมดนะครับ แต่เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ ที่จะต้องเข้ามาแทนที่กระบวนทัศน์เก่า โดยกรอบความคิดใหม่ที่สำคัญก็เช่น  ต้องทำให้สังคมให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาพนำการซ่อมสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การให้ความรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง เป็นต้น

ซึ่งนั่นแปลว่า ทุกองคาพยพในสังคม ต้องสนับสนุนกระบวนทัศน์นี้ เท่าที่ทำได้ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคี แทนวิธีคิดแบบแบบสังคมสงเคราะห์ และรัฐเป็นฝ่ายจัดบริการโดยไม่สนใจการมีส่วนร่วมของชุมชน

สำหรับปัญหาที่ทำให้เกิดสุขภาพที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน ที่ได้ขยายตัวกว้างไกลกว่าสาเหตุจากเชื้อโรค ทำให้กระบวนทัศน์การแก้ปัญหาด้วยตนเองของภาครัฐล้มเหลว การมีส่วนร่วมของชุมชนในการร่วมแก้ปัญหา ร่วมกำหนดความต้องการของชุมชน และร่วมจัดบริการนั้น เป็นทางออกที่สำคัญยิ่งในการเผชิญหน้ากับปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านั้น เช่น ปัญหายาเสพติด มลพิษจากโรงงาน หรือปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้

สุดท้าย ต้องให้ความสำคัญกับการมองระบบทั้งหมดอย่างเชื่อมโยง แทนการมองอย่างแยกส่วน เพราะสัจธรรมที่ว่า สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์ ดังนั้น การแก้ปัญหาใดๆ อย่างแยกส่วน มักจะไม่ประสบความสำเร็จ การมองให้เห็นทั้งระบบ และแก้ปัญหาอย่างเชื่อมโยงเท่านั้น จึงจะสำเร็จได้

ทั้งหมดนี้ ต้องการกลไกการสื่อสารในสังคมที่มีประสิทธิภาพ จึงจะเคลื่อนสังคมทั้งสังคมไปพร้อมๆ กันได้


เราจะขับเคลื่อนด้วยการสื่อสารอย่างไร จึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ?

เราต้องใจเย็น อดทน ไม่โลภมาก คือ ทำน้อยแต่หวังผลสูง การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ต้องใช้เวลาไม่ใช่การปักป้ายถ่ายรูปส่งผลงาน ดังนั้น เราจึงเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือกรอบการมองเพื่อการไปสู่สุขภาวะของสังคมไทย ด้วยการใช้กลไกการสื่อสารในการเชื่อมร้อยภาคี เป็นเครือข่ายสื่อสารสร้างสุขให้ได้ อาจเป็นกลุ่มเยาวชน หรือผู้นำธรรมชาติในชุมชน

เราต้องเปิดพื้นที่การสื่อสารทั้งด้านวิทยุชุมชน สื่อ website และสื่อสิ่งพิมพ์จากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนในสังคม ให้หันมามุ่งเน้นการมี “สุขภาวะ” เป็นอุดมการณ์ของสังคม และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ในประเด็นที่มีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบในสังคม

ผมอยากให้มีการมองปัญหาในสังคมอย่างเชื่อมต่อถึงกัน และอยากจะให้ความสำคัญกับการนำเสนอประเด็นสาธารณะ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย หรือการขยายผล โดยใช้กลไกและศักยภาพของสื่อ ในการนำเสนอประเด็นสาธารณะด้วย ทั้งในส่วนที่เป็นตัวอย่างที่ดีต่อสุขภาพในเชิงบวก เพื่อการขยายผล และประเด็นสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเชิงลบ เพื่อการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย เช่นวันนี้

โจทย์ของจะนะได้เริ่มมีการตั้งคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรม เพราะว่าโรงไฟฟ้าได้สร้างเสร็จแล้ว และได้ดำเนินการแล้ว 1 โรง กำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าโรงที่ 2 โรงแยกก๊าซกำลังจะขยายอีกเท่าตัว ทั้งๆ ที่เรื่องกลิ่นเหม็นยังแก้ไม่ตก แล้วยังมีท่าเรือน้ำลึกขนาดประมาณแหลมฉบังกำลังจะมา เชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล ต่อด้วย Landbridge จากอำเภอละงู จังหวัดสตูลมาที่จะนะ เชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยด้วยถนนขนาดใหญ่

ภาพของจะนะและจังหวัดสงขลาจะเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ชาวบ้านมีคำถามมากมายเช่นเดิม แต่พลังของการตั้งคำถามในวันนี้ยังน้อย อิทธิพลของเงินยังสูง  ผมก็ได้แต่ฝันว่า  หากกลไกการสื่อสารสามารถทำหน้าที่ของสื่อได้อย่างเต็มที่แล้ว การรับรู้ของผู้คนกว้างมากขึ้น ความฉ้อฉลจะน้อยลงไปเอง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท