สัมผัส ‘บัณฑิตหมู่บ้าน’ อีกหนึ่งกลไกงานพัฒนาชุมชนชายแดนใต้

อารียะ สาและ

 
ผ่านการทำงานไปได้ระยะหนึ่ง สำหรับบัณฑิตอาสาสมัครพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืน หรือโครงการบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิรุ่นแรกของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน หรือที่เรียกกันติดปากว่า “บัณฑิตหมู่บ้าน”
 
โดย ศอ.บต.จ้างงานเยาวชนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หมู่บ้านและชุมชนของเทศบาลๆ ละ 1 คน ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา รวม 2,341 คน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2552 อัตราค่าจ้างเดือนละ 5,000 บาท
 
โดยให้คณะกรรมการหมู่บ้านหรือชุมชนคัดเลือกเอง สำหรับผู้ที่สอบผ่านการวัดความรู้ขั้นพื้นฐาน โดยเน้นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือฐานะยากจน เป็นผู้มีจิตอาสาช่วยเหลือสังคมอย่างสม่ำเสมอ
 
“นางสาวอารียะ สาและ” คือหนึ่งในนั้น โดยเธอเป็นบัณฑิตอาสาประจำหมู่บ้านกูแบปาแย หมู่ที่ 3 ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กรุงเทพมหานคร
 
ซึ่งเธอได้รับการต่อสัญญาให้เป็นบัณฑิตอาสาต่อไปอีกครั้ง เช่นเดียวกับบัณฑิตอาสาส่วนใหญ่ประมาณ 70% นอกจากนั้นเป็นคนใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามา
 
เธอบอกว่า เมื่อเรียนจบกลับมาบ้าน ก็สมัครเป็นบัณฑิตอาสาช่วยงานของ ศอ.บต.โดยทำงานในหมู่บ้านของตัวเอง งานที่ทำมีหลายอย่าง เช่น เก็บข้อมูลทั่วไปของหมู่บ้าน ถามประวัติหมู่บ้านจากคนเฒ่าคนแก่ ช่วยประสานงานระหว่างชาวบ้านกับทางราชการ เวลาทางราชการจะมีโครงการลงไปทำที่หมู่บ้าน เช่น ช่วยในการจัดทำเวทีประชาคมหมู่บ้าน
 
“ที่สำคัญคือการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน เพราะทำให้ชาวบ้านรู้ว่า หมู่บ้านเราต้องการอะไร กี่อย่าง ต้องพัฒนาในด้านไหนบ้างและจะทำได้เมื่อไหร่ หรือจะพัฒนาในเรื่องอะไรก่อน อะไรที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุด เช่น ในปีนี้เราจะทำโครงการอะไร ปีหน้าจะทำโครงการอะไร และจะหางบประมาณสนับสนุนจากที่ไหนบ้าง โดยทำแผนร่วมกับทางราชการ ซึ่งทุกครั้งที่จะทำโครงการก็ต้องมีการจัดทำเวทีประชาคมหมู่บ้านก่อน เพื่อให้ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นกัน”
 
โดยในช่วงที่เธอเป็นบัณฑิตอาสา มีโครงการหลักที่เข้าไปในหมู่บ้านคือ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับหมู่บ้าน หรือ โครงการ พนม. ของ ศอ.บต. ซึ่งลงทุกหมู่บ้านโดยศอ.บต.สนับสนุนงบประมาณและช่วยเหลือในด้านต่างๆ ในหมู่บ้าน
 
โดยการดำเนินโครงการในหมู่บ้านมีคณะกรรมการโครงการทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย ปลัดตำบล เป็นหัวหน้าโครงการ เจ้าหน้าที่ปกครอง พัฒนากร ครูสังกัดสำนักงานพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และตัวแทนชาวบ้าน ทำงานร่วมกัน
 
สำหรับหมู่บ้านกูแบปาแยมีโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น การก่อสร้างกำแพงโรงเรียนตาดีกา การต่อยอดกลุ่มสตรีปักจักรผ้าคลุมศีรษะสตรีมุสลิม การซื้อรถไถและเครื่องตัดหญ้าประจำหมู่บ้าน จากที่มีอยู่ในแผนพัฒนาหมู่บ้านกว่า 40 โครงการ
 
แต่ยังมีอีกโครงการที่เธอต้องช่วยงาน คือโครงการพัฒนาชีวิตชุมชนสันติสุขตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือโครงการ พนพ. ซึ่งศอ.บต.ให้งบประมาณสนับสนุนตำบลละ 1 หมู่บ้าน ที่ไม่เกิน 70 ครัวเรือน จำนวน 50,000 บาท เพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงปลา เป็นต้น
 
โดยในตำบลเปาะเส้ง มีการดำเนินโครงการ พนพ.ที่หมู่ที่ 4 ตำบลเปาะเส้ง แต่เธอต้องไปช่วยประสานทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ในฐานะที่เป็นหมู่บ้านตัวแทนระดับตำบล
 
เธอเล่าต่อว่า เธอต้องทำหน้าที่ชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจถึงโครงการที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้านด้วย ส่วนเราเก็บข้อมูลต่างๆ ทำให้เธอเองได้รับรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านไปด้วย
 
“เมื่อก่อนเราไม่รู้เรื่องของหมู่บ้านเลย เพราะไปเรียนอยู่ที่อื่น แล้วก็เลยไม่รู้ด้วยว่า ทางราชการเข้ามาทำอะไรหรือมีดครงการอะไรในหมู่บ้านเราบ้าง เพราะเคยเข้าไปยุ่งเลย พอมาเป็นบัณฑิตอาสาก็ทำให้เรารู้เรื่องของหมู่บ้านของเรา รวมทั้งปัญหาที่มีอยู่ด้วย รู้ว่าการทำโครงการต้องทำอย่างไรบ้าง จากเมื่อก่อนก็ไม่เข้าใจเลย”
 
ที่สำคัญ เธอบอกว่า “หลังจากเราได้ทำงานให้กับหมู่บ้าน ก็ทำให้เรามองเห็นแนวทางว่า เราจะพัฒนาหมู่บ้านของเราอย่างไร”
 
เธอเล่าต่อว่า ชาวบ้านหมู่บ้านกูแบปาแย มีอาชีพหลักคือการทำสวนยางพารา รองลงมาคือทำนาและสวนผลไม้ ปัญหาหลักๆ คือ ยาเสพติด เพราะในหมู่บ้านมีวัยรุ่นที่ว่างงานกันเยอะ และส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ
 
เพราะฉะนั้นงานที่เธอต้องทำด้วยร่วมกับผู้นำหมู่บ้านที่กับทางราชการ คือ การช่วยแก้ปัญหายาเสพติดและการว่างงานของคนในหมู่บ้าน เช่น จัดทำโครงการเพาะเห็ด โครงการแปรรูปและแกะสลักไม้เชิงชาย
 
โดยเฉพาะการแกะสลักไม้เชิงชายนั้น เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วในหมู่บ้าน โดยให้นำเยาวชนที่ว่างงานมาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติกับผู้รู้ในหมู่บ้าน ซึ่งตอมแผนพัฒนาหมู่บ้าน จะดำเนินโครงการนี้ได้ในปีนี้
 
เธอบอกว่า หลังจากเข้ามาทำงานในหมู่บ้านรู้สึกว่าหมู่บ้านมีการพัฒนาดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความเข้าใจต่อราชการ จากเมื่อก่อนไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเห็นว่าอยู่ดีๆ ก็มีโครงการมาลงโดยที่ชาวบ้านไม่รู้มาก่อน ทำให้เกิดความสงสัยว่ามีการทุจริตหาประโยชน์กันหรือไม่ หรือบางทีชาวบ้านไม่เห็นทำอะไรทั้งที่มีโครงการอยู่ จึงคิดว่าทางราชการไม่สนใจหมู่บ้าน แต่มารู้ทีหลังว่าทีจริงมีโครงการ แต่ไม่ได้ดำเนินการ ก็ยิ่งทำให้สงสัยว่า ทางราชการไม่ต้องการพัฒนาหมู่บ้าน
 
แต่การทำงานของบัณฑิตอาสา คือการแจ้งให้ชาวบ้านรู้ว่า จะมีโครงการอะไรลงมาในหมู่บ้านบ้าง เมื่อประสานงานกันก่อน นอกจากชาวบ้านไม่เกิดความสงสัยแล้ว ยังให้ความร่วมมือดีด้วย
 
“ผลที่ตามมาคือ ทำให้ชาวบ้านมีการตื่นตัวให้ความสนใจกับการพัฒนาหมู่บ้านของตัวเองมากขึ้น พยายามแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะให้ทำโครงการใหม่ๆในหมู่บ้าน หรืออยากทำโครงการขึ้นมาเอง ซึ่งเราก็ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องติดต่อที่ไหน ซึ่งก็แนะนำได้เท่าที่รู้หรือไม่ก็แนะนำให้ไปถามใครได้บ้าง ส่วนตัวเราเองก็มีความรู้มากขึ้นด้วย จากเมื่อก่อนไม่เลยว่าการทำโครงการต้องทำอย่างไร”
 
แต่ปัญหาก็ต้องมีบ้าง ซึ่งเธอยกตัวอย่างด้วยว่า ชาวบ้านบางคนไม่ยอมให้ความร่วมมือเลย เช่น เวลาถามอะไรก็ไม่ยอมตอบ เพราะสงสัยว่าจะเอาข้อมูลไปทำอะไร
 
“เราพยายามอธิบายให้เขาเข้าใจ ซึ่งตอนหลังๆ ก็ดีขึ้น เพราะชาวบ้านเห็นผลงานจากโครงการต่างๆที่ลงไปในหมู่บ้าน ตอนหลังๆ ก็ให้ความร่วมมือดีขึ้น”
 
ส่วนปัญหาเรื่องความปลอดภัย ไม่มี เพราะหมู่บ้านกูแบปาแย เป็นหมู่บ้านสีเขียว ซึ่งเธอบอกว่า “เราก็เป็นชาวบ้านที่นี่ คนในหมู่บ้านก็มองว่าเราเป็นลูกเป็นหลาน สิ่งที่เราทำก็เพื่อหมู่บ้านของเราเอง”
 
พร้อมเสริมว่า ตอนนี้การทำงานของเธอกลายเป็นแรงจูงใจให้เยาวชน รวมทั้งชาวบ้านด้วยส่วนหนึ่ง เราบางคนตั้งใจแล้วว่าส่งลูกหลานเรียนหนังสือให้มากขึ้น เพราะสามารถช่วยพัฒนาหมู่บ้านของตัวเองได้ดีกว่าให้คนอื่นมาทำให้
 
“ดังนั้นคิดว่าโครงการอย่างนี้น่าจะต้องมีต่อไป เพราะดูเหมือนว่าตอนนี้ ทุกอย่างกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความร่วมมือต่างๆ ก็ดีขึ้น ทัศนคติก็ดีขึ้น เหมือนต้นไม้ที่กำลังงอกขึ้น ถ้าหยุดก็จบลงแค่นั้น” นั่นคือคำทิ้งท้ายของเธอ
 
บางทีแม้งานพัฒนาอาจไม่ส่งผลโดยตรงต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบ แต่หากมองลึกลงไปในหมู่บ้านก็อาจพบตัวชี้วัดบางอย่างได้ถึงความรู้สึกนึกคิดของคนส่วนหนึ่งในชายแดนใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท