Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิฯไทย ส่งจดหมายเปิดผนึก วอนนายกฯ เลิกโทษประหารชีวิต เนื่องในโอกาสวันรณรงค์สากลเพื่อยุติโทษประหารขีวิตวันที่ 10 ตุลาคม 2552 ใน วันยุติโทษประหารฯสากล

10 ต.ค. 52 - เนื่องในโอกาสวันรณรงค์สากลเพื่อยุติโทษประหารขีวิตวันที่ 10 ตุลาคม 2552 ใน วันยุติโทษประหารฯสากล สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่วมกับองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงประชาชน ร่วมกันขานรับเจตนาดีในครั้งนี้รวมถึงประสานการรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยนำการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตมาใช้แทน และยกเลิกการตีตรวน โดยได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

 

จดหมายเปิดผนึกถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

10 ตุลาคม 2552

เรื่อง  การคัดค้านโทษประหารชีวิต
เรียน  ฯพณฯ  นายกรัฐมนตรี

ในนามขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีความพยายามที่จะละเว้นโทษประหารนี้ไปตั้งแต่ปี 2546 แต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายบัณฑิต เจริญวานิชและนายจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ ผู้ต้องโทษที่รอการประหารกลับถูกประหารชีวิตโดยไม่มีการบอกกล่าวแก่ตัวผู้ต้องขังและครอบครัวให้ทราบล่วงหน้า

ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน เราขอประณามการกระทำของรัฐบาลในการกระทำดังกล่าว ซึ่ง  ในช่วงระยะเวลาหกปีที่สังคมไทยได้มีความพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิต และขอคัดค้านการใช้โทษประหารชีวิต เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ปัจจุบันนานาอารยประเทศมีความตระหนักเพิ่มมากขึ้นว่าสิทธิในการมีชีวิตอยู่เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานขั้นต่ำสุด ซึ่งที่ผ่านมาประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก (ปัจจุบัน134ประเทศ)ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว โดยยึดถือหลักการที่ว่า ไม่มีผู้ใดสามารถทำลายชีวิตของใครได้ หรือ ไม่มีผู้ใดมีอำนาจที่จะทำลายชีวิตของผู้ใดได้

เราจึงขอถามท่านว่าเหตุใดประเทศไทยจึงยังคงประหารชีวิตประชาชนของตนเอง การที่รัฐบาลของท่านเคยแสดงเจตจำนงที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักประกันหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยแต่เหตุใดในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้ามกับเจตจำนงดังกล่าว เหตุใดหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาซึ่งหล่อหลอมวัฒนธรรมไทยไม่ได้นำไปสู่การเคารพชีวิตทุกชีวิตและไม่นำมาสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตได้เลย  ความจริงความเข้าใจของศาสนาพุทธไม่ต่างจากศาสนาอิสลามซึ่งพระอัลเลาะห์ผู้สง่างามและมีเมตตากรุณา ได้แสดงเจตนาในหลักการที่สอดคล้องกันกับพุทธ คือหากสามารถที่จะให้อภัยผู้กระทำผิดและสร้างความปรองดองกันได้ ก็ควรจะทำ(อัลกุรอาน 42: 40-43)

ความปรารถนาให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตของผู้คนทั่วโลกปรากฏเป็นที่ประจักษ์จากผลการลงมติในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2550 และอีกครั้งในปี 2551 โดยมีมติให้ทุกประเทศทั่วโลกงดเว้นโทษประหารชีวิตเพื่อเป็นหนทางนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด ถึงแม้มติดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อบังคับแต่กลับส่งผลเชิงศีลธรรมอย่างมหาศาล (มติที่ 620149 ว่าด้วยการยกเลิกโทษประหารชีวิต)
 
2. การประหารชีวิตผู้ต้องขังคดียาเสพติดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมาส่งผลต่อเนื่องกับผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายอื่นๆ ตามรายงานกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของสหประชาชาติระบุว่า ความผิดข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ถือเป็นความผิดให้ต้องโทษประหารชีวิต รัฐบาลไทยในฐานะภาคีของกติกาดังกล่าวไม่สามารถเพิกเฉยได้ เนื่องจากคำสั่งให้ประหารชีวิตผู้ต้องขังทั้งสองรายนี้จำเป็นต้องผ่านกระทรวงยุติธรรม และปลัดกระทรวงยุติธรรมคนปัจจุบันได้เข้าร่วมในที่ประชุมรายงานดังกล่าว ณ กรุงเจนีวาด้วย (CCPR/CO/84/THA)

3. การประหารชีวิตผู้ต้องขังทั้งสองรายโดยแจ้งให้ทราบเพียงหนึ่งชั่วโมงล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจและไร้มนุษยธรรมอย่างสิ้นเชิง ผู้ต้องขังถูกปฏิเสธที่จะมีโอกาสเตรียมตัวก่อนถูกประหาร มิได้พบครอบครัวและญาติพี่น้อง ทำธุระส่วนตัวและอบรมสั่งเสียบุตร ความไร้มนุษยธรรมยังขยายไปถึงครอบครัวที่ไม่มีโอกาสได้พบหน้าและเอ่ยคำร่ำลาเป็นครั้งสุดท้าย

4. ความอยุติธรรมดังกล่าวยังส่งผลถึงผู้ต้องขังรายอื่นๆ ที่ต้องอยู่อย่างหวาดผวานับจากนี้ไป โดยที่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าชั่วโมงสุดท้ายของชีวิตจะมาถึงเมื่อใด

5. นอกจากนั้นคำสั่งประหารชีวิตที่ไม่โปร่งใส จากเบาะแสข่าวว่า เป็นเพราะผู้ต้องขังทั้งสอยังคงพัวพันกับการค้ายาเสพติดขณะอยู่ในเรือนจำ หาก เบาะแสดังกล่าวมีมูลความเป็นจริง พวกเขาควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้มีการพิสูจน์ความผิดต่อไป ทั้งนี้ผู้ต้องขังที่ต้องโทษประหารชีวิตทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษาว่ากระทำผิดจริง และไม่มีใครสามารถถูกทำให้จบชีวิตได้โดยเหตุจากเบาะแสที่ไม่มีข้อพิสูจน์ได้

กล่าวโดยสรุป การประหารชีวิตนั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดที่ไม่สมควรเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในสังคมใดๆ และพวกเราในฐานะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนร้องขอให้ประเทศไทยได้ไตร่ตรองถึงพันธะสัญญาแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนที่พัฒนามาอย่างยาวนาน และการประกาศจุดยืนร่วมกับนานาอารยะประเทศ ในการปฏิบัติตามมาตรฐานที่ว่าโทษประหารชีวิตเป็นมาตรการอันป่าเถื่อน ถือเป็นการกระทำฆาตกรรม ที่ระบบยุติธรรมของประเทศที่พัฒนาแล้วโดยทั่วไป มิอาจสามารถยอมรับได้

     
 
ลงชื่อ     ประธานกรรมการ
(ดร. แดนทอง บรีน)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)

ลงชื่อ     เลขาธิการ
( นายเมธา   มาสขาว  )
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)

ลงชื่อ     ผู้อำนวยการ
(นายบุญแทน  ตันสุเทพวีรวงศ์)
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม

ลงชื่อ     ประธานมูลนิธิ
( นายสมชาย   หอมลออ )
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ลงชื่อ     ผู้อำนวยการ
(นางสาวจันทร์จิรา  จันทร์แผ่ว )
เครือข่ายนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน

ลงชื่อ     ประธาน
(นายโคทม  อารียา)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net