Skip to main content
sharethis
ไม่ใช่เพียง “บรรยากาศดี ดนตรีไพเราะ อาหารอร่อย” และ “กุ๊ย” เท่านั้นที่กลายเป็นชนักติดหลังนักการทูตไทยรายหนึ่งกระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยในเวลาไม่นานให้หลัง
แต่เรื่อง “พูดไม่ทันคิด” หรือ “คิดไม่ทัน(คำ)พูด” ก็กลายมาเป็นประเด็นร้อนๆ กระหนาบหลังนักการทูตเมืองผู้ดีในเวลานี้เมื่อสำนักข่าวบีบีซี หยิบเอาจดหมายอำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการของบรรดา ‘ท่านทูต’ มาเปิดเผย และพบถ้อยคำที่เกินความคาดหมายหลายกรณี
หนึ่งในนั้นคือเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2508-2510 ซึ่งระบุว่า “คนไทยไม่มีวรรณกรรม ไม่มีภาพวาด ที่จะมีก็คือดนตรีท่วงทำนองแปลกๆ ประติมากรรม เครื่องปั้นดินเผา และนาฏศิลป์ที่หยิบยืมมาจากที่อื่น ส่วนสถาปัตยกรรมก็มีรูปแบบเดียว และการตกแต่งภายในก็น่าเกลียด”
เรื่องที่พูดไม่ได้และไม่ได้พูดระหว่างดำรงตำแหน่ง
แอนดรูว์ ไบรสัน แห่งเรดิโอ โฟร์ บีบีซี รายงาน ความเพลี่ยงพล้ำของนักการทูตอังกฤษ ในจดหมายอำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการ  ระบุว่าทูตอังกฤษที่กำลังจะทำการอำลาตำแหน่งมีอิสระอย่างเต็มที่ที่กล่าวถึงสิ่งตนต้องการจะกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมา รัฐบาลหรือแม้แต่เรื่องทางการทูตก็ตาม ทว่า มีทูตหลายคนที่กลายเป็นอัศวินตกม้าตายตอนจบด้วยการพูดถึงประเทศที่ตัวเองดำรงตำแหน่งแบบเสียหาย
ข้อมูลซึ่งเป็นเสมือนรอยด่างแห่งวงการทูตอังกฤษนี้ เผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุช่อง 4 บีบีซี ในวันที่ 20 ต.ค. เวลา 9.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่รายงานดังกล่าวเผยแพร่จดหมายอำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศต่างๆ ซึ่งดำรงตำแหน่งทางการทูตในช่วงปี 2508-2549 แต่จดหมายบางฉบับของตัวแทนทางการทูตของอังกฤษกลับแสดงทัศนคติด้านลบต่อประเทศที่เคยไปประจำการ และบรรดาประเทศที่ถูกโจมตีในจดหมาย ก็มีประเทศไทยอยู่ด้วย
สุนทรพจน์ในจดหมายอำลาตำแหน่งของ "เซอร์แอนโทนี รัมโบลด์" อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ช่วงปี 2508-2510 วิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยว่า
“ผู้ที่กล่าวว่าคนไทยไม่มีอะไรให้นำเสนอคงเป็นคนที่ขาดความละเอียดอ่อนหรือไม่ก็คงเป็นคนเคร่งเครียดจริงจัง แต่มันเป็นเรื่องจริงที่คนไทยไม่มีวรรณกรรม ไม่มีภาพวาด ที่จะมีก็คือดนตรีท่วงทำนองแปลกๆ ประติมากรรม เครื่องปั้นดินเผา และนาฏศิลป์ที่หยิบยืมมาจากที่อื่น ส่วนสถาปัตยกรรมก็มีรูปแบบเดียว และการตกแต่งภายในก็น่าเกลียด
“แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าการพนันและการตีกอล์ฟถือเป็นความสุขอย่างยิ่งสำหรับคนรวย และกิเลสตัณหาถือเป็นความสุขอันดับต้นๆ ของพวกเขาทั้งหมด”
ส่วนสุนทรพจน์อื่นๆ ของอดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษ ซึ่งแสดงความเห็นโจมตีประเทศที่ตนเคยไปดำรงตำแหน่ง ได้แก่ นายโรเจอร์ พินเซนต์ อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำนิคารากัว ระบุในจดหมายอำลาเมื่อปี 2528 ว่านิคารากัวเป็นประเทศที่มีแต่คนไม่ซื่อสัตย์ ป่าเถื่อน และขี้เหล้าเมายามากที่สุดในทวีปละตินอเมริกา
ด้านลอร์ด มอแรน อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงออตาวา เมืองหลวงของแคนาดา เขียนจดหมายเมื่อปี 2527 ระบุว่าคนแคนาดาไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ “ใครก็ตามที่มีความสามารถพอประมาณในด้านวรรณกรรม การแสดง สกี หรืออะไรก็ตาม ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคนสำคัญของชาติได้”
การทูตที่ดีถูกลืมไปแล้ว
อย่างไรก็ดี สุนทรพจน์อำลาตำแหน่งที่ปรากฏในจดหมายของอดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษมิได้มีแต่การแสดงทัศนคติเชิงลบต่อประเทศอื่นๆ เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางการทูตของอังกฤษอย่างไม่ไว้หน้าเช่นกัน
เซอร์ไอวอร์ โรเบิร์ต อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอิตาลีเมื่อปี 2549ระบุว่า “การทูตที่ดีถูกลืมไปหมดแล้ว เพราะนโยบายต่างประเทศของอังกฤษถูกแทรกแซงโดยตลาดหุ้น กลุ่มทุน และบรรดาที่ปรึกษาของฝ่ายบริหาร”
เดมกลินน์-อีวานส์ อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำโปรตุเกส ระบุเมื่อปี 2547ว่ารัฐบาลอังกฤษไม่ควรทำตามความต้องการของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยการเข้าร่วมสงคราม เพราะอังกฤษควรยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้องแม้จะสุ่มเสี่ยงกับการถูกอเมริกาเกลียดชังก็ตาม
การส่งจดหมายอำลาตำแหน่งทางการทูต (Valedictory)เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษซึ่งดำเนินมายาวนานเกือบ 50 ปี รายงานดังกล่าวระบุว่า ทูตทั้งหลายมีโอกาสที่จะพลาดพลั้งในการเขียนจดหมายอำลาตำแหน่ง เนื่องเพราะปราศจากความกังวลว่าจะถูกตอบโต้ หรือลงโทษ และหลายๆ คนก็ใช้โอกาสในการทำพลาดพลั้งนั้นด้วยน้ำมือของตัวเอง
“พวกเขารู้ตัวดีในสิ่งที่ตัวเองเลือกจะพูด ไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำด้านนโยบายต่างประเทศ หรือจะเป็นเกร็ดตลกๆ หรือแม้แต่การกล่าวประณาม” ตามธรรมเนียมแล้ว จดหมายอำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการจะถูกเผยแพร่ไปกว้างขวาง โดยจะถูกทำสำเนาเป็นร้อยๆ ฉบับแจกจ่ายให้อ่านกันในรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมการส่งจดหมายอำลาตำแหน่งทางการทูตเพิ่งถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2549 เนื่องจากสุนทรพจน์ในจดหมายของเซอร์ไอวอร์ โรเบิร์ตหลุดออกสู่สาธารณชนผ่านทางอินเตอร์เน็ต สื่อมวลชนจึงพากันเสนอข่าวโจมตีอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการทูตที่เกี่ยวข้องกับการแสดงทัศนคติด้านลบทั้งหมด
สำนักข่าวบีบีซีได้ร้องขออำนาจศาลเพื่อเรียกดูจดหมายทั้งหมดโดยอ้างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลและนำข้อความบงตอนมาเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ข่าวของบีบีซี เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศอื่นๆ รวมถึงบล็อกเกอร์ทั่วโลกได้นำข่าวดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อทางอินเตอร์เน็ตจนกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างหนักในเว็บบอร์ด
สำหรับทัศนคติด้านลบต่อประเทศไทยที่อดีตทูตอังกฤษได้แสดงไว้ในจดหมายอำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการนั้นควินตัน เควลย์ เอกอัครราชทูตอังกฤษคนปัจจุบันระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับความเห็นส่วนตัวของอดีตทูตอังกฤษเมื่อปี 2510 โดยกล่าวว่า
"ผมเคยมาทำงานที่สถานทูตอังกฤษเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมยังคงหวังที่จะกลับมาเป็นทูตที่ประเทศไทย
เพราะรู้สึกประทับใจในประวัติศาสตร์อันยาวนาน และวัฒนธรรมไทยซึ่งมีคุณค่ามาก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของศิลปกรรม, ปฏิมากรรม , สถาปัตยกรรม, ดนตรี และการฟ้อนรำ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก ทูตทุกคนที่ประจำในประเทศไทยต่างรู้สึกดีใจเมื่อเห็นความสวยงามของประเทศไทย เสน่ห์และอัธยาศัยไมตรีอันดีงามของคนไทยทุกคน"
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net