Skip to main content
sharethis

วันที่ 20 ต.ค. ทางองค์กรผู้สือข่าวไร้พรมแดน (Reporter Without Border หรือ RSF) ทำการจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกประจำปี ครั้งที่ 8 โดยทาง RSF ได้ทำการสำรวจจัดอันดับจากการทำแบบสอบถามของนักข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อหลายร้อยคนทั่วโลก โดยในปีนี้ (2009) ได้จัดสำรวจตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2008 ถึง 31 ส.ค. 2009

ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 130 จากทั้งหมด 175 อันดับ เป็นรองประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์และกัมพูชาไม่มากนัก โดยอยู่ในอันดับที่ 122 และ 117 ตามลำดับ ขณะที่ พม่า, เวียตนาม, ลาว, จีน, เกาหลีเหนือ อยู่ท้ายตาราง

เป็นที่สังเกตได้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นพื้นที่ขาดแึคลนเสรีภาพสื่อ ขณะที่ประเทศไทยนั้นเคยถูกจัดอันดับไว้ค่อนข้างสูงกว่าเพื่อนบ้าน แต่ก็ร่วงลงอย่างหนักและต่อเนื่องนับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กระทั่งปีล่าสุดเสรีภาพสื่อไทยถูกจัดอันดับไว้ต่ำกว่าประเทศอินโดนีเซีย

กราฟแสดงเสรีภาพสื่อไทย เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน จะพบว่าอันดับของไทยร่วงกราวรูดต่อเนื่องภายในเวลา 5 ปี จาก จากเดิมเคยอยู่อันดับที่ 59 ในปี 2004

โดยในรายงาน "ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน : เผด็จการอำนาจนิยมยับยั้งความก้าวหน้าด้านเสรีภาพสื่อในเอเชีย" ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าวถึงการจัดอันดับไว้ดังนี้ (สามารถเข้าไปดูอันดับทั้งหมดได้ที่ http://www.rsf.org/en-classement1003-2009.html)

อำนาจทางการเมืองทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อเสรีภาพสื่ออีกแล้วในปีนี้ การรัฐประหารทำให้อันดับเสรีภาพสื่อของประเทศฟิจิ ตกไปอยู่อันดับที่ 152 (ตกไป 73 อันดับ) ทหารเข้าไปอยู่ในสำนักงานข่าวหลายสัปดาห์และเซนเซอร์ข่าวก่อนที่จะตีพิมพ์ นักข่าวต่างประเทศถูกส่งออกนอกประเทศ ส่วนในประเทศไทยการปะทะกันไม่จบไม่สิ้นระหว่าง "เสื้อเหลือง" กับ "เสื้อแดง" ส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากกับการทำงานของสื่อ ทำให้ราชอาณาจักรไทยอยู่ในอันดับที่ 130 แล้วตอนนี้

รัฐบาลอำนาจนิยมเช่นในศรีลังกา (อันดับที่ 162) และมาเลเซีย (อันดับที่ 131) ก็ทำให้ผู้สื่อข่าวไม่สามารถทำข่าวในเรื่องที่อ่อนไหวอย่างการคอรัปชั่นหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ รัฐบาลศรีลังกาทำการลงโทษจำคุกนักข่าวเป็นเวลา 20 ปี และบังคับให้อีกหลายสิบรายออกจากประเทศ ในมาเลเซีย รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยก็ออกมาตรการเซนเซอร์สื่อ หรือทำให้สื่อต้องเซนเซอร์ตัวเองโดยการขู่สื่อว่าจะยืดใบอนุญาต หรือขู่นักข่าวว่าจะจำคุกพวกเขา

สงครามและการก่อการร้ายก็ทำให้เกิดความเสียหาย และทำให้นักข่าวตกอยู่ในอันตราย ประเทศอัฟกานิสถาน (อันดับที่ 149) ไม่เพียงต้องเผชิญกับความรุนแรงของกลุ่มตอลิบานและการขู่เอาชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่อย่างไม่มีเหตุผลด้วย และสำหรับปากีสถาน (อันดับที่ 159) นั้น แม้สื่อจะมีพลวัติแต่ก็ยังมีการสังหารนักข่าวและความรุนแรงจากทั้งกลุ่มตอลิบานและกลุ่มทหาร ทำให้เป็นประเทศที่ติดอันดับประเทศที่มีการสังหารนักข่าวมากที่สุดในโลก (ร่วมกับโซมาเลีย)

กลุ่มประเทศในเอเชียที่มีการเคารพในเสรีภาพสื่อน้อยที่สุด เป็นที่รู้กันว่าหนึ่งใน "สามหน่อนรก" (infernal trio) อย่างเกาหลีเหนือต้องติดอยู่ท้ายตารางร่วมกับ พม่าและลาว แน่ ๆ โดยพม่ายังคงมีการเซนเซอร์และการจับขัง ขณะที่ลาวก็ยังไม่อนุญาตให้มีสื่อเอกชน

สื่อของสาธารณรัฐประชาชนจีน (อันดับที่ 168) ก็ดูมีพัฒนาการขึ้นมากรวมถึงเรื่องอื่น ๆ นอกจากเรื่องสื่อด้วย แต่ก็ยังคงอยู่ในอันดับต่ำมากเนื่องจากยังคงมีการสั่งจำคุกอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในทิเบตแล้ว ก็ยังมีการเซนเซอร์อินเตอร์เน็ตและการเล่นพรรคเล่นพวกของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค ใกล้เคียงกับเวียตนาม (อันดับที่ 166) ที่พรรคคอมมิวนิสท์ยังมุ่งเป้าไปที่นักข่าว , บล็อกเกอร์ และนักกิจกรรมด้านเสรีภาพสื่อ ในเรื่องที่พวกเขาเขียนเกี่ยวกับการที่ประเทศอ่อนข้อต่อจีน

มามองทางส่วนที่เป็นข่าวดี ประเทศมัลดีฟ (อันดับที่ 51) ไต่ขึ้นมาถึง 53 อันดับ จากที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นประเทศประชาธิปไตย ขณะที่ ภูฏาน (อันดับที่ 70) ขึ้นมาสี่อันดับจากการที่พวกเขามีความหลากหลายของสื่อ

ประเทศประชาธิปไตยที่มีอยู่ไม่กี่ประเทศในเอเชีย อยู่ในอันดับที่ดี อย่าง นิวซีแลนด์ (อันดับที่ 13), ออสเตรเลีย (อันดับที่ 16), และญี่ปุ่น (อันดับที่ 17), ติดในระดับ 20 อันดับแรกทั้งนั้น การที่ทั้งสามประเทศนี้ได้อันดับสูง ๆ มาจากการที่พวกเขาเคารพในเสรีภาพสื่อและไม่ค่อยปรากฏการใช้ความรุนแรงต่อนักข่าว

 เกาหลีใต้ (อันดับที่ 69) และ ไต้หวัน (อันดับที่ 59) ตกมาหลายอันดับในปีนี้ โดยเกาหลีใต้ตกมา 22 อันดับ เนื่องจากมีการจับกุมนักข่าวและบล็อกเกอร์หลายราย และรัฐบาลอนุรักษ์นิยมก็พยายามควบคุมสื่อที่แสดงการวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่พรรคการเมืองในปัจจุบันของไต้หวันก็พยายามแทรกแซงสื่อของรัฐและเอกชน และ ความรุนแรงจากนักกิจกรรมก็เป็นการบ่อนทำลายเสรีภาพสื่อ

มีประเทศเอเชียสองประเทศถูกรวมจัดอันดับด้วยเป็นครั้งแรกคือ ปาปัวนิวกินี (อันดับที่ 56) ซึ่งเป็นอันดับที่น่านับถือมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนา  และประเทศที่ปกครองโดยสุลต่านอย่างบรูไน (อันดับที่ 155) ซึ่งติดในระดับท้ายตารางเนื่องจากการที่พวกเขาไม่มีสื่ออิสระ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net