Skip to main content
sharethis

(22 ต.ค.) ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ยุติการละเมิดสิทธิแรงงานและเร่งปฏิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างโปร่งใส จากกรณีรถไฟตกรางที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 7 รายและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก นำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทย กับคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จนกระทั่งล่าสุด นำมาสู่การประท้วงของสหภาพแรงงานรถไฟฯ ด้วยการหยุดการเดินรถในสายใต้ ซึ่งนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนถึงมาตรการแก้ไขปัญหาด้วยการให้นักเรียนวิศวการรถไฟและอดีตพนักงานขับรถเข้ามาทำหน้าที่แทนพนักงานขับรถที่หยุดการเดินรถ ให้พนักงานขับรถที่หยุดงานเกิน 15 วันพ้นสภาพพนักงานทันที พร้อมทั้งจะให้มีการสอบสวนเอาผิดแก่พนักงานที่แจ้งลาป่วย – ลากิจในช่วงระยะนี้ด้วย

ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย มีข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลหยุดท่าทีที่เป็นการคุกคามสหภาพแรงงาน เพราะการชุมนุมของสหภาพแรงงานเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลไทยต้องแก้ไขสถานการณ์ครั้งนี้โดยยึดถือมาตรฐานตามอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ประเทศไทยในเวลานี้จะยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาดังกล่าวรวมถึงหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลที่มีอยู่ทั้งหมด

2.ให้รัฐบาลมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการปฏิรูประบบการขนส่งทางรถไฟของประเทศไทย โดยให้มีผู้แทนจากภาคประชาชนส่วนต่างๆ ทั้งสหภาพแรงงานรถไฟฯ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเช่นเด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ และเปิดการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง 3.ฝ่ายการเมือง หยุดฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของการรถไฟฯ ที่ย่ำแย่ เรียกร้องการปฏิรูปการรถไฟฯ และเพื่อดำเนินการให้มีความโปร่งใส หากมีการปฏิรูปรถไฟอย่างแท้จริง จะต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและไม่แปรรูปการรถไฟในลักษณะให้เอกชนเข้ามายึดครองประโยชน์ ทั้งนี้ ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตยจะร่วมกับขบวนการภาคประชาสังคมในการติดตามการปฏิรูปครั้งนี้อย่างถึงที่สุดเพื่อตีแผ่ให้ประชาชนในสังคมรับทราบข้อเท็จจริง

4.ให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ทบทวนบทบาทและพิจารณาตนเองว่า มีความพร้อมในการปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่หรือไม่ หากคิดว่าตนไม่มีความสามารถพอที่จะสร้างการปฏิรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ขอให้เสียสละลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานแทน และ 5.เรียกร้องให้ นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ถูกมองว่าไม่มีความรู้ความสามารถในการบริหารงานเลยแม้แต่น้อย และการทำงานที่ผ่านมาทำให้องค์กรมีแต่ภาพลักษณ์ที่เสียหายมาตลอด ทบทวนบทบาทตนเอง เพื่อเปิดทางให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารงาน ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมเข้ามาทำหน้าที่แทน

 
แถลงการณ์ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)
เรื่อง ขอให้ยุติการละเมิดสิทธิแรงงานและเร่งปฏิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างโปร่งใส
 
จากกรณีรถไฟตกรางที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนมีผู้เสียชีวิต จำนวน 7 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ซึ่งได้นำมาสู่ความระหองระแหงอย่างรุนแรงระหว่างสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทย กับคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จนกระทั่งล่าสุด นำมาสู่การประท้วงของสหภาพแรงงานรถไฟฯ ด้วยการหยุดการเดินรถในสายใต้ ซึ่งนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนถึงมาตรการแก้ไขปัญหาด้วยการให้นักเรียนวิศวการรถไฟและอดีตพนักงานขับรถเข้ามาทำหน้าที่แทนพนักงานขับรถที่หยุดการเดินรถ การให้พนักงานขับรถที่หยุดงานเกิน 15 วันพ้นสภาพพนักงานทันที พร้อมทั้งจะให้มีการสอบสวนเอาผิดแก่พนักงานที่แจ้งลาป่วย – ลากิจในช่วงระยะนี้ด้วย
 
ในการนี้ ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) ในฐานะองค์กรเยาวชนคนหนุ่มสาวที่สนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน โดยได้ร่วมเป็นองค์กรสมาชิกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเป็นองค์กรสมาชิกของ Young Progressive South East Asia(YPSEA) ซึ่งสนับสนุนขบวนการภาคประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอดังต่อไปนี้
 
1.             ขอให้รัฐบาลหยุดท่าทีที่เป็นการคุกคามสหภาพแรงงาน การชุมนุมของสหภาพแรงงาน เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และแม้ว่าประเทศไทยในเวลานี้จะยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 แต่หากประเทศไทยต้องการเข้าสู่เวทีประชาคมนานาชาติอย่างอาเซียนและสหประชาชาติอย่างภาคภูมิ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์ครั้งนี้โดยยึดถือมาตรฐานตามอนุสัญญาดังกล่าวรวมถึงหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลที่มีอยู่ทั้งหมด และในอนาคตต้องเตรียมมาตรการการให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาดังกล่าว แก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ทั้งหมดที่เป็นการละเมิดสิทธิการรวมตัวและการต่อรองของคนงาน
 
2.             รถไฟถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนามาตรฐานทางด้านการขนส่งหรือ Logistic ของประเทศ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นขอให้รัฐบาลได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการปฏิรูประบบการขนส่งทางรถไฟของประเทศไทย โดยให้มีผู้แทนจากภาคประชาชนส่วนต่างๆ ทั้งสหภาพแรงงานรถไฟฯ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเช่นเด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ และเปิดการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง
 
3.             ขณะนี้ ฝ่ายการเมือง พยายามทำให้ภาพลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ย่ำแย่มาโดยตลอดอยู่แล้ว ให้ดูตกต่ำอย่างถึงที่สุด เพื่อเป็นเหตุในการฉกฉวยโอกาสจากกระแสการเรียกร้องการปฏิรูปการรถไฟฯ โดยเตรียมวางแผนให้พวกพ้องของตนได้เข้ามาฉวยโอกาสทางธุรกิจ เอาเปรียบสังคม ซึ่งศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD) ขอเรียกร้องให้หยุดฉวยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อดำเนินการให้มีความโปร่งใส และหากมีการปฏิรูปรถไฟอย่างแท้จริง จะต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและไม่แปรรูปการรถไฟในลักษณะให้เอกชนเข้ามายึดครองประโยชน์ แต่รัฐสามารถดำเนินการปฏิรูปได้เองโดยจัดการบริหารระบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพทางการบริหารและการบริการ ไม่ว่าจะเป็นการทำรถไฟรางคู่ การปรับคุณภาพรถไฟและการบริหาร การใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเข้ามาปรับปรุงให้มีความทันสมัย เพื่อสนับสนุการเดินทางและการท่องเที่ยวด้วยรถไฟอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD) จะร่วมกับขบวนการภาคประชาสังคมในการติดตามการปฏิรูปครั้งนี้อย่างถึงที่สุดเพื่อตีแผ่ให้ประชาชนในสังคมรับทราบข้อเท็จจริง
 
4.             ขอให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ทบทวนบทบาทและพิจารณาตนเองว่า มีความพร้อมในการปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่หรือไม่ หากคิดว่าตนไม่มีความสามารถพอที่จะสร้างการปฏิรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ขอให้ท่านเสียสละลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานแทน
 
5.             เนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดนี้ กระทรวงการคมนาคมภายใต้การนำของ นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ถูกมองว่าไม่มีความรู้ความสามารถในการบริหารงานเลยแม้แต่น้อย และการทำงานที่ผ่านมาทำให้องค์กรมีแต่ภาพลักษณ์ที่เสียหายมาตลอด ทั้งกรณีนโยบายการใช้ท่าอากาศยาน โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ที่มีแต่ภาพความไม่โปร่งใสตั้งแต่ยังไม่ทันได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มาจนถึงกรณีของการรถไฟแห่งประเทศไทย ดังนั้น เราขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทบทวนบทบาทตนเอง เพื่อเปิดทางให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารงาน ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมเข้ามาทำหน้าที่แทน
 
ด้วยความเคารพในสิทธิแรงงานและสิทธิผู้บริโภค
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)
22 ตุลาคม 2552
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net