การใช้มาตรการด้านการค้ากับเรื่องโลกร้อน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภายหลังจากที่ร่างกฎหมาย Clean Energy and Security Act 2009 ของสหรัฐได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนของสหรัฐเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วยคะแนนเสียง 219-212 ได้ก่อให้เกิดความกังวลมากขึ้นต่อปัญหาการกีดกันทางการค้าแบบใหม่โดยอ้างเหตุผลเรื่องการแก้ไขปัญหาโลกร้อน นอกเหนือจากกฎหมายของสหรัฐ ประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรปก็กำลังจัดเตรียมกฎหมายที่จะใช้มาตรการทางการค้าโดยอ้างเหตุผลเรื่องโลกร้อนเช่นกัน

ในการเยือนอินเดียของนางคลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ผู้นำของอินเดียได้ยกประเด็นเรื่องนี้มาหารือ ส่วนทางจีนได้ให้ทางรัฐมนตรีการค้าออกมาส่งเสียงวิจารณ์มาตรการกีดกันทางการค้าที่อยู่ในกฎหมายของสหรัฐ

สำหรับในเวทีการเจรจาจัดทำ Post 2012 Regime เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางกลุ่ม G77 และจีนได้กล่าวถ้อยแถลงเตือนไม่ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้มาตรการกีดกันทางการค้าโดยอ้างเรื่องการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยทางอินเดียได้มีข้อเสนอให้เพิ่มเติมเนื้อหาร่างความตกลงที่กำลังเจรจาด้วยว่า “ไม่ให้ใช้มาตรการฝ่ายเดียวที่รวมถึงมาตรการต่อต้านการนำเข้าสินค้าหรือบริการจากประเทศกำลังพัฒนา โดยใช้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาโลกร้อน” ข้อเสนอของอินเดียได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ รวมทั้งประเทศจีน อาร์เจนตินา บราซิล สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ซาอุดิอาระเบีย และกลุ่ม G77 +จีน

ผู้แทนการค้าของประเทศกำลังพัฒนาในเวทีการประชุมขององค์การการค้าโลก ก็มีความเป็นห่วงมากขึ้นต่อประเด็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศสหรัฐและประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ โดยใช้เหตุผลเรื่องโลกร้อน ทั้งนี้ ฝ่ายประเทศที่พัฒนาแล้วก็กำลังจัดเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอให้เห็นว่าการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อเหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรม และการนำมาตรการด้านการค้ามาใช้กับเรื่องโลกร้อนเป็นสิ่งที่ทำได้ภายใต้ข้อยกเว้นทั่วไปของ GATT จากเหตุผลเรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (ข้อ 20)

ในฝ่ายประเทศกำลังพัฒนาโต้แย้งว่า การใช้มาตรการด้านการค้าเชื่อมโยงกับปัญหาโลกร้อนเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนายังมีระดับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีต่ำ แตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำมาใช้ได้ และเรียกร้องให้มีการแก้ไขความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นอุปสรรคของการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อจะได้ร่วมช่วยกันแก้ปัญหาโลกร้อน ในขณะที่ตามร่างกฎหมายเรื่องโลกร้อนของสหรัฐ ได้มีเนื้อหาป้องกันมิให้คณะเจรจาของสหรัฐยอมผ่อนปรนเงื่อนไขด้านการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

Martin Khor ผู้อำนวยการของ South Center ได้เรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วทบทวนการใช้มาตรการกีดกันทางค้าโดยใช้เหตุผลเรื่องโลกร้อน มิฉะนั้นจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการกีดกันทางการค้าแบบใหม่ Martin Khor ได้เสนอว่าสิ่งที่ควรทำคือ ทำกติกาให้เป็นธรรม

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายของสหรัฐกำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภาในเดือนนี้ ในฝ่ายวุฒิสมาชิกมีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน คาดว่าการผ่านกฎหมายในชั้นวุฒิสภาจะยากกว่าในชั้นสภาผู้แทนราษฎรอย่างมาก ตอนนี้ นอกจะมีเสียงคัดค้านมาจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว กลุ่มเกษตรกรได้เริ่มออกมาคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ เช่น กรณีสภาผู้ผลิตหมูแห่งชาติ ซึ่งเป็นห่วงว่าการบังคับใช้กฎหมายจะมีผลต่อการเพิ่มต้นทุนการผลิตหมูของสหรัฐ และจะเสียเปรียบจีนและอินเดียหากไม่มีการควบคุมโดยใช้ระบบเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายของวุฒิสภาจากฝ่ายเดโมแครตได้เสนอให้เพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซมากขึ้นจากเดิมที่ร่างสภาผู้แทนกำหนดไว้ 17% ภายในปี 2020 เพิ่มเป็น 20% เนื่องจากเห็นว่าการปล่อยก๊าซของสหรัฐในขณะนี้ต่ำกว่าระดับในปี 2005 อยู่แล้ว 6% เพราะเศรษฐกิจหดตัว การบรรลุเป้าหมายจึงทำได้ไม่ยาก

นับตั้งแต่มีการจัดตั้งองค์การการค้าโลกในปี 1995 มีการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental-related Trade Measures) น้อยลงเนื่องจากประเทศสมาชิก WTO ระมัดระวังถึงความขัดแย้งกับกรอบกติกาของ WTO ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทาง นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11–14 ตุลาคม 2552

ที่มา: เว็บไซต์ MEAs Watch

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท