สังคมไทยกับความทรงจำร่วมที่ถูกลดทอน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สังคมทุกสังคมย่อมมี "ความทรงจำร่วม" บางอย่าง และจากความทรงจำร่วมนั้นเองจึงนำไปสู่การกำหนดความหมาย คุณค่า หรือกำหนดจริง เท็จ ถูก ผิด รวมทั้งสร้าง "อุดมการณ์ร่วม" ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง

เช่น สังคมไทยอาศัยความทรงจำร่วมเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในบางด้าน จากความทรงจำร่วมนั้นจึงนำไปสู่การกำหนดความหมายของสิ่งที่เรียกว่า "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" และจากความหมายนั้นจึงนำไปสู่การสร้างอุดมการณ์ความเป็นหนึ่งเดียวของ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ที่ปลูกฝังสืบทอดต่อๆ กันมาว่า "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" เป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกขาดจากกันได้

อย่างไรก็ตาม การสร้างความทรงจำร่วมอาจไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น หรือแม้แต่จะอ้างอิงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นข้อเท็จจริงบริสุทธิ์ที่ปราศจากการตีความ หรือตัดทอน ดัดแปลง โดยชนชั้นนำที่มีอำนาจในการกำหนดความทรงจำร่วม และการปลูกฝังอุดมการณ์ร่วมทางสังคมการเมือง

ดังที่เราได้ยินกันอยู่เสมอว่า "ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์" ดังนั้น ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ชนะหรือชนชั้นนำให้เป็นความทรงจำร่วมของสังคมก็ใช่ว่าจะเป็นความทรงจำที่ตรงกับข้อเท็จจริงที่แท้จริงเสมอไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ ลักษณะอย่างหนึ่งของความทรงจำร่วมก็คือมันอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็ได้ เพราะความทรงจำร่วมเป็น "วาทกรรมการเมือง" คือมันมีความเป็นการเมืองในการสร้างวาทกรรม หรือมีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในการกำหนดนิยามความหมาย การเผยแพร่ ปลูกฝังอบรมให้สังคมรับรู้ เห็นคุณค่า และ/หรือมีความทรงจำร่วมกัน

ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจสิทธิขาดอยู่ที่ผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียว การศึกษา และการสื่อสารยังไม่ก้าวหน้า การสร้างความทรงจำร่วมของสังคมอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะเป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจสูงสุดกำหนด

แต่ในยุคปัจจุบันที่ประชาชนตื่นตัวในความเป็นประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ การศึกษา และการสื่อสารกระจายตัวเป็นอิสระจากการควบคุมกำกับของอำนาจที่เป็นศูนย์กลางมากขึ้นเรื่อยๆ การสร้างความทรงจำร่วมย่อมมีความซับซ้อนมากขึ้น ชนชั้นนำไม่อาจยัดเยียดความทรงจำร่วมให้กับสังคมได้ง่ายๆ อีกต่อไป

เช่น มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของ "ความเป็นไทย" ที่ถูกกำหนดโดยกรอบความคิดเรื่องอุดมการณ์ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" กันมากขึ้นว่า ความหมายของความเป็นไทยที่ชนชั้นนำในอดีตกำหนดขึ้นดังกล่าวนี้ ครอบคลุมความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ อุดมการณ์ วิถีชีวิต ฯลฯ ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินเดียวกันนี้หรือไม่

ในขณะที่การอ้างชาติ อ้างผลประโยชน์ของชาติในการสร้างนโยบายการพัฒนาด้านต่างๆ ก็ถูกตั้งคำถามจากจุดยืนของสิทธิชุมชน ประชาธิปไตยชุมชน คุณค่าของวิถีชีวิตชุมชน ฯลฯ กันมากขึ้น

แต่ถึงแม้ว่าการสร้างความทรงจำร่วมแบบยัดเยียดโดยชนชั้นนำ จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายอีกต่อไป ก็ดูเหมือนว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยุคปัจจุบันจะเต็มไปด้วยเกมช่วงชิงการสร้างความทรงจำร่วมที่มีลักษณะยัดเยียดและลดทอนความจริง

เช่น ฝ่ายที่พยายามตอกย้ำให้สังคมมีความทรงจำร่วมกันว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่จบสิ้นเป็นเพราะ "ทักษิณ" คนเดียว ย่อมเป็นการลดทอนข้อเท็จจริงที่เป็นสาเหตุของปัญหาอีกด้าน เช่น การแทรกแซงกองทัพและฝ่ายการเมืองโดย "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" การทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และมวลชนที่สนับสนุนรัฐประหาร

ส่วนอีกฝ่ายที่พยายามตอกย้ำให้สังคมมีความทรงจำร่วมกันว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นอยู่มีต้นเหตุมาจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เท่านั้น ย่อมเป็นการลดทอนข้อเท็จจริงอีกด้าน เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น การแทรกแซงวุฒิสภา องค์กรตรวจสอบ การฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพในสงครามยาเสพติด การวิสามัญฆาตกรรมในกรณีสะบ้าย้อย ตากใบ กรือเซะ ฯลฯ

การทอนความขัดแย้งลงให้เป็นเรื่องของตัวบุคคล และเรียกร้องให้บุคคลเหล่านั้นมาเจรจาสมานฉันท์กัน เช่น เห็นเป็นเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับสนธิ ลิ้มทองกุล หรือเป็นเรื่องของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือเป็นเรื่องทิฐิดื้อดึงของแกนนำคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ย่อมเป็นการละเลยวัฒนธรรมอำนาจแบบอำมาตยาธิปไตยที่ทำให้เกิดระบบ "อำนาจซ้อนอำนาจ" หรือ "รัฐซ้อนรัฐ" อันเป็นอุปสรรคสำคัญของประชาธิปไตยตลอดมา ละเลยธุรกิจการเมืองซื้ออำนาจรัฐเพื่อสร้างระบบบริหารบ้านเมืองแบบผลประโยชน์ทับซ้อน และมองไม่เห็นปัญหาของสื่อสร้างการเลือกข้างที่อ้างวาทกรรม "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" มาเป็นเกณฑ์แบ่งแยกคนในสังคมให้เป็นฝักฝ่าย

และยิ่งกว่านั้น ความพยายามที่จะสร้างความทรงจำร่วมว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นมาเป็นเรื่องของคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เท่านั้น เท่ากับเป็นการลดทอนข้อเท็จจริงอื่นๆ เช่น ความอยุติธรรมด้านการบังคับใช้กฎหมาย การศึกษา โอกาสทางสังคม ปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน ที่คนรวยจำนวนน้อยรวยจนล้นฟ้า แต่คนส่วนใหญ่ปากกัดตีนถีบ หาเช้ากินค่ำ

ที่สำคัญคือ ละเลยโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่รองรับการเอาเปรียบของ "ทุนเก่า" และ "ทุนใหม่" อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนชั้นนำที่สังกัดในกลุ่มทุนทั้งสองนั้นสร้างตำนานการแย่งชิงอำนาจกันไม่สิ้นสุด ละเลยการเมืองภาคนักการเมืองที่ด้อยคุณภาพความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อนักการเมืองอาชีพ นักธุรกิจการเมือง

ขณะที่คนชั้นกลางในเมืองรับไม่ได้กันมากขึ้นกับการทุจริตคอร์รัปชั่น คนต่างจังหวัดหรือคนชนบทเปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจเป็นคนชั้นกลางระดับล่างที่เข้าถึงการศึกษามากขึ้น เข้าถึงสื่อมากขึ้น รับรู้และตื่นตัวในการปกป้องสิทธิทางการเมืองมากขึ้น การเมืองภาคพลเมืองเข้มแข็งมากขึ้น พัฒนาการของการเมืองแบบมวลชนก้าวไกลทิ้งห่างการเมืองในสภามากขึ้น ฯลฯ

น่าสังเกตว่า ความทรงจำร่วมที่ถูกลดทอนดังกล่าว จะแปรเปลี่ยนพลิกผันไปตามสถานการณ์แห่งสงครามการสร้างความทรงจำร่วมของสังคม ครั้งหนึ่งฝ่ายเสื้อเหลืองจับมือกับอำมาตยาธิปไตยประสบผลสำเร็จอย่างสูงในการสร้างความทรงจำร่วมของสังคมว่า ทักษิณคือ "ปีศาจ" ผู้ทำลายประชาธิปไตย เป็นศัตรูของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่เพียงชั่วเวลาไม่นานฝ่ายเสื้อแดงกลับทำท่าว่าจะประสบผลสำเร็จยิ่งกว่าในการสร้างความทรงจำร่วมว่า ทักษิณคือสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย คือวีรบุรุษของคนรากหญ้า เป็นความหวังในการกู้วิกฤตเศรษฐกิจของชาติ

แต่ที่น่าเศร้าคือ ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ หรือมีอำนาจกำหนดความทรงจำร่วมของสังคม ความทรงจำร่วมนั้นย่อมเป็นความทรงจำที่ลดทอนข้อเท็จจริง ความถูก ความผิดตามที่มีที่เป็นจริงๆ

สังคมที่อยู่กับความทรงจำร่วมที่ถูกลดทอนเช่นนี้ ย่อมเป็นสังคมที่หลอกตัวเอง ยอมถูกหลอก และไม่มีวันที่จะหลุดพ้นไปจากวังวนของเกมชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำเพียงไม่กี่กลุ่ม ซึ่งต่างก็เป็น "ศรีธนญชัย" พอๆ กัน!

 
 
หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนรายวัน,25 ตุลาคม พ.ศ. 2552,หน้า 5
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท