Skip to main content
sharethis

 

 

งานมหกรรรมหนังสือระดับชาติ ซึ่งจัดโดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งงานหนังสือที่รวบรวมสำนักพิมพ์และสายส่ง เข้ามาเปิดบูธกันอย่างเอิกเกริก ซึ่งเป็นงานที่จัดคู่ขนานกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในช่วงต้นปี จนกลายเป็นว่าปีหนึ่งคนไทยจะมีโอกาสได้พบกับ “งานลดราคาหนังสือ” ใหญ่ๆ ถึงสองงาน

ผู้คนที่เดินทางกันเข้ามาในงานมีทั้งวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ที่อาจหอบลูกจูงหลาน บ้างก็พาคุณปู่คุณย่าที่บ้านมาในสถานที่ที่คราคร่ำผู้คนเช่นนี้ด้วย บรรยากาศของงานนอกจากจะเต็มไปด้วยผู้คนที่แทบจะเดินชนไหล่กันทุกวินาทีแล้ว ยังมีการประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการให้คนสวมชุดมาสคอทเดินเร่ทั่วงาน สวมชุดคอสตูมแปลกตาที่อาจจะไม่แหวกแนวเท่าคอสเพลย์งานการ์ตูน การเสวนาเปิดตัวหนังสือบนเวทีตั้งแต่หนังสือปรัชญาธรรมะ ไปจนถึงหนังสือดารายอดนิยมที่เป็นปรากฏการณ์อย่าง “บร๊ะเจ้าโจ๊ก” หรือวิธีง่ายทั่วไปอย่างการตะโกนอยู่ตามบูธต่างๆ

ภาพรวมทั้งหมดของงานไม่ต่างอะไรมากกับงานรูปแบบเดียวกันในหลายปีที่ผ่านมา จะเปลี่ยนก็แค่กระแสหนังสือจากผู้เขียนแนวใหม่เท่านั้น

ขณะที่คนทั่วไปอาจเห็นว่างานสัปดาห์หนังสือหรืองานมหกรรมหนังสือเป็นโอกาสดีสำหรับการลดราคาหนังสือ มีโอกาสพบเจอกับนักเขียนที่ชื่นชอบในงาน แต่ก็มีคนอีกบางส่วนเห็นว่างานลดราคาหนังสือเช่นนี้เป็นการทำลายระบบหนังสือ รวมถึงบางส่วนถึงขั้นตั้งคำถามว่ามันช่วยส่งเสริมการอ่านหรือทำให้วัฒนธรรมการอ่านสึกกร่อนลงกันแน่

 

000


งานหนังสือ: ผลกระทบและการดิ้นรนของผู้ประกอบการตัวเล็กๆ

ประชาไทมีโอกาสได้พูดคุยเรื่องนี้กับบรรณาธิการผู้หนึ่งที่มาออกบูธในชื่อ Alternative Writer คือ นิวัต พุทธประสาท บก.สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม อดีตผู้ดูแลกระดานข่าว www.thaiwriter.net ปัจจุบันทำหน้าที่คัดสรรเรื่องสั้นไทยไรเตอร์ และเป็น บก. นิตยสาร Write ซึ่งมีให้อ่านเฉพาะในเว็บไซต์

นิวัต แจงว่างานสัปดาห์หนังสือฯ ต้นปี จะดูกว้างกว่างานมหกรรมหนังสือช่วงเดือนตุลาคม เพราะงานช่วงต้นปีเป็นงานที่มีหน่วยงานของรัฐบาลคือกระทรวงศึกษาธิการร่วมเป็นเจ้าภาพ

ในเรื่องที่ว่างานหนังสือใหญ่ๆ เช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อระบบหนังสือหรือไม่ บก.เม่นวรรณกรรมบอกว่า ถ้ากับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ก็จะกระทบไม่มาก แต่ผลกระทบจะเกิดกับสำนักพิมพ์เล็กๆ และร้านหนังสือมากกว่า เนื่องจากสำนักพิมพ์เล็กๆ จะมีพื้นที่วางในร้านหนังสือได้จำกัด หรือหากได้วางแล้วขายไม่ดีก็จะถูกนำลงจากชั้นภายในเวลาไม่นานนัก

“ทุกคนรู้หมดแล้วว่าผลกระทบมันมีแน่ๆ เพราะสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เขาเป็นสำนักพิมพ์เอง เขาเป็นสายส่งเอง เป็นร้านหนังสือเอง ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ แต่ผลกระทบกับสำนักพิมพ์เล็กๆ มีแน่นอน เพราะว่ายังต้องอาศัยสายส่ง ร้านหนังสือ และมีพื้นที่ให้วางหนังสือในร้านจำกัดมาก” นิวัตกล่าว

นอกจากนี้ เรายังได้มีโอกาสพูดคุยกับเวียง-วชิระ บัวสนธ์ เจ้าของสำนักพิมพ์สามัญชน ผู้ที่ไปเปิดร้านหนังสือ “สามัญชน” ไว้ไกลถึงอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และ เรืองกิตต์ รักกาญจนันท์ เลขาธิการเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย และ บก. สำนักพิมพ์ผจญภัย

“มันเป็นเรื่องที่พูดกันมานาน” เวียง-วชิระ เอ่ยขึ้นเมื่อพูดถึงเรื่องที่งานลดราคาหนังสือจะทำให้ระบบหนังสือเสียไป

“แต่มันไม่ได้แค่ทำลายระบบสายส่ง ร้านหนังสือ แต่เป็นการทำลายวัฒนธรรมการอ่านด้วย”

เวียง-วชิระ บอกว่า เดิมทีประเทศไทยไม่ได้มีเรื่องวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งอยู่ก่อนหน้านี้ และการจัดงานหนังสือเป็นการขัดแย้งกับสิ่งที่ต้องการรณรงค์คือเรื่อง ‘การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ’ ซึ่งในเรื่องนี้ถือว่าคณะกรรมการผู้จัดงานมหกรรมหนังสือไม่เท่าทันสภาพความเป็นจริง

“ถ้าให้พูดกันอย่างตรงไปตรงมาคงต้องเรียกว่าเป็นงานลดราคาหนังสือ” บก. สามัญชนกล่าว ทั้งยังบอกอีกว่าการลดราคาหนังสือก็ไม่ได้หมายความว่าสำนักพิมพ์จะได้มากหรือน้อยว่าเดิมในแง่ของรายได้

“จริงๆ สำนักพิมพ์ก็ไม่ได้ลดอะไรลงไปมากเพราะสำนักพิมพ์ก็ได้จากสายส่ง 60 เปอร์เซ็นต์ ของราคาปก ถ้าคุณเอามาขายในงาน คุณอาจจะลดให้ลูกค้า 20 เปอร์เซ็นต์ คุณได้ 80 เปอร์เซ็นต์ส่วนหนึ่งก็เอาไปจ่ายค่าเช่า”

อย่างไรก็ตาม เวียง-วชิระ มองว่า การผลิตหนังสือออกมาจำนวนมากเพื่อขายในงาน ก็จะทำให้คนที่มางาน ‘เว้นวรรค’ การเข้าร้านหนังสือ ซึ่งจุดนี้ บก.สามัญชน ให้ความเห็นว่าวัฒนธรรมการอ่านควรมาร่วมกับวัฒนธรรมการเข้าร้านหนังสือ “แต่คนเข้าร้านหนังสือในทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าเป็นคนอ่านหนังสือ แต่เป็นผู้ที่เข้าร้านเวลาไม่รู้ว่าจะไปไหน และมักจะเป็นคนเสพย์หนังสือในกระแสมากกว่า”

ขณะเดียวกัน เวียง-วชิระ ก็กล่าวถึงปัญหาการขาดพื้นที่วางหนังสือในร้านไว้เช่นกัน โดยบอกว่าเดือนๆ หนึ่ง จะมีหนังสือออกใหม่เดือนละ 1,000 รายการ และเมื่อถึงช่วงเดือนที่มีงานหนังสือ ก็จะมีรายการหนังสือใหม่เพิ่มขึ้นเท่าตัว และทำให้ร้านหนังสือไม่สามารถมีพื้นที่วางหนังสือได้ทุกรายการ

“เวลาร้านหนังสือจะเลือกหนังสือเพื่อลงร้าน วิธีเลือกหนังสือของเขาก็จะเหลืออยู่วิธีเดียวคือแตะๆ ดมๆ ว่ามันมีรังสีบางอย่าง ว่ามันจะขายได้ โดยไม่เกี่ยวเลยว่าหนังสือนั้นมันจะดีหรือไม่ดี” บก.สามัญชน กล่าวและว่า “รังสีจากหนังสือที่ว่านั้นมาจาก หนึ่งคือข้อมูลข่าวสารการโฆษณา สองคือมาจากวุฒิภาวะหรือสติปัญญาของคนที่คัดเลือกหนังสือ”

ด้านเวียง-วชิระ บอกว่าในความคิดของผู้บริหารร้านหนังสือโดยส่วนใหญ่ก็จะเน้นแต่เรื่องการขาย เพราะมีระบบกินเปอร์เซ็นต์จากการขาย แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้แบ่งพื้นที่ไว้สักส่วนหนึ่งสำหรับหนังสือที่มีคุณค่า “ถ้าคุณมีสัก 100 สาขา คุณแบ่งพื้นที่ในร้านของคุณทุกสาขาสัก 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อวางหนังสือที่เป็นเรื่องเป็นราว หนังสือที่เป็นหนังสือจริงๆ ไม่ใช่สินค้าที่มาถูกเรียกว่าหนังสือ”

เวียง-วชิระ ยกตัวอย่างว่าในบางประเทศเช่นสหรัฐฯ จะเห็นมีหนังสือวรรณกรรมสร้างสรรค์เช่น พี่น้องคารามาซอฟวางอยู่ตลอด ผิดกับในบ้านเรา

ส่วนเรืองกิตต์ จากเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าการจัดงานหนังสือทำให้คนซื้อหนังสือในร้านน้อยลงและมีคนที่ไม่ยอมซื้อหนังสือในร้าน แต่รอเพื่อจะซื้อหนังสือแบบลดราคาในงาน ซึ่งเวียง-วชิระ เสริมในจุดนี้ว่าการลดราคาหนังสือในงานมีผลทำให้ลูกค้าบางคนเวลาจะซื้อหนังสือในร้านยังถามว่าลดกี่เปอร์เซ็นต์ “คือคิดว่าทุกเล่มต้องลดราคา เป็นเสียอย่างนั้นแล้ว”

เรืองกิตต์ ให้ข้อมูลว่าส่วนใหญ่แล้วร้านหนังสือเล็กๆ จะลดราคาไม่ได้ เนื่องจากอาจได้ส่วนแบ่งจากสายส่งเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ของราคาหนังสือจากปก


เวียนว่ายในวงจรที่ไร้ทางเลือก

แม้งานลดราคาหนังสือจะส่งผลกระทบกับสำนักพิมพ์เล็กๆ และร้านหนังสือ แต่ขณะเดียวกัน นิวัต พุทธประสาท ก็ยอมรับว่ามันก็เป็นโอกาสที่สำนักพิมพ์เล็กๆ จะได้ขายหนังสือเพื่อมีทุนรอนในการทำงานสำนักพิมพ์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการขาดพื้นที่ในร้านหนังสือใหญ่ๆ ทำให้ต้องอาศัยยอดขายจากงานหนังสือไปเป็นค่าเรื่องนักเขียนและหล่อเลี้ยงสำนักพิมพ์

“ในการขายตามร้านกว่าเราจะเข้าถึงยอดขายที่แท้จริงก็สองถึงสามปี หนังสือบางปกเราเช็คไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามันขายไปแล้วเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับสำนักพิมพ์เล็กๆ” นิวัตกล่าวและว่า “แต่ในงานหนังสือมันช่วยให้เราหมุนเงินได้ดีกว่า มาจ่ายค่าเรื่องนักเขียน มาจ่ายค่าโรงพิมพ์”

นิวัตยอมรับว่าไม่ได้มีความสุขนักกับสภาพแบบนี้ แต่ด้วยสภาพของธุรกิจสิ่งพิมพ์ในเมืองไทยที่ไม่เอื้ออำนวย จึงต้องจำยอม โดยเขาคิดว่าหนังสือควรจะขายได้ที่ร้านหนังสือ มันจะทำให้เศรษฐกิจกระจายได้มากกว่า แต่ในเมื่อทางที่จะเผยแพร่หนังสือมันอุดตันตั้งแต่ที่ร้านหนังสือแล้ว เราจึงต้องยินยอมกับระบบ “จริงๆ แล้วมันไม่ดี แต่เราก็ไม่มีทางเลือก”

“ระบบนี้มันไม่ดีตรงที่ หนังสือแต่ละเล่มควรจะมีพื้นที่ได้วางในร้านหนังสือมากกว่า” นิวัตกล่าวและบอกว่า “จริงๆ ระบบมันก็เสียมานานแล้ว แต่เราก็ยอมรับกับสภาพแบบนี้”

บก. เม่นวรรณกรรม กล่าวยกตัวอย่างงานหนังสือในต่างประเทศบางประเทศ ว่าไม่ได้เป็นงานขายหนังสือเช่นในเมืองไทย แต่เป็นงานโชว์หนังสือออกใหม่ มีการติดต่อทางธุรกิจ แต่จะไม่ขายให้กับลูกค้าในงาน ถ้าลูกค้าอยากได้ต้องสั่งซื้อจากร้านหนังสือ “เช่นที่เยอรมนี จะเป็นการคุยทางธุรกิจอย่างเดียว เหมือนให้สำนักพิมพ์มาเจอกัน ส่วนประเทศไต้หวันจะคล้ายๆ ของไทยคือมีการขายหนังสือด้วย”

ขณะที่ บก. สามัญชน ยอมรับว่าการต้องมาออกร้านหนังสือในงาน ก็ถือว่าเป็นภาวะจำยอม เพราะจากระบบร้านหนังสือที่กล่าวมา ทำให้ผู้อ่านจะมีโอกาสได้เห็นหนังสือบางเล่มที่ไม่มีพื้นที่ในร้านได้ที่งานหนังสือเท่านั้น


No Exit ?

“มีคนพยายามแก้ปัญหานี้อยู่ตลอดเวลา” นิวัตกล่าว เมื่อถามว่ามีวิธีไหมที่จะหลุดออกจากวงจรแบบนี้ เขาบอกว่า ความต้องการให้มีพื้นที่ของหนังสือจากสำนักพิมพ์เล็กๆ ในระบบธุรกิจหนังสือเช่นปัจจุบันนี้เป็นเรื่องอุดมคติมาก

“มันต้องอาศัยความร่วมมืออย่างดีกับร้านหนังสือ กับสายส่ง ซึ่งตรงนี้เราไม่มีอำนาจต่อรอง”

นิวัต ให้ความเห็นว่า ธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจที่มีความเติบโตสูงมาก คนที่เข้ามาทำธุรกิจนี้ มองที่กำไร มองที่หนังสือเป็นสินค้า

“อาจต้องเปลี่ยนทัศนคติในระดับของผู้บริหารของสำนักพิมพ์ใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็คิดว่ามันเป็นไปได้ยากมาก” นิวัตกล่าว

ขณะที่เวียง-วชิระ บอกว่าเคยคุยกับคณะกรรมการฯ ว่าอยากให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือ จับมือกันกับนักเขียนและสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมหนังสือ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องกับร้านหนังสือที่มีอยู่หลายสาขาทั่วประเทศ จัดพื้นที่ให้กับหนังสือที่เป็นเรื่องเป็นราว

“ไม่จำเป็นต้องเป็นวรรณกรรมก็ได้ คือผมก็ไม่คิดว่าหนังสือวรรณกรรมทุกเล่มมันจะวิเศษวิโสไปหมด ให้มีหนังสือวิชาการ เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศิลปะ วัฒนธรรม ซึ่งก็มีสาระของมันอยู่”

นอกจากนี้ เวียง-วชิระ ได้กล่าวถึงทัศนะเรื่อง ‘การอ่าน’ ไว้ว่า “เวลาเราพูดถึงการอ่าน จะให้หมายความแค่การอ่านออกเขียนได้ การอ่านมันควรจะเป็นการพัฒนาสติปัญญา ทำให้คนอ่านหนังสือได้เติบโต ได้เรียนรู้ มีความเข้าอกเข้าใจชีวิต ให้เท่าทันด้านเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง”

ทางด้านเรืองกิตต์ กล่าวถึงอุดมคติของเขาคืออยากให้มีร้านหนังสือประจำหมู่บ้านที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากแม้ในปัจจุบันจะมีห้องสมุดประจำหมู่บ้าน แต่กลุ่มคนที่ดูแลรักษาห้องสมุดประจำหมู่บ้านไม่ได้มีความรักหนังสือ ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์มากเท่าใด ซึ่งนอกจากร้านหนังสือประจำหมู่บ้านจะคอยตอบสนองนักอ่านในหมู่บ้านนั้นๆ พร้อมกับเรื่องของการขายหนังสือแล้ว ก็อาจใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมให้เด็กๆ หรือเยาวชนที่สนใจการอ่านได้

โดยเรืองกิตต์ยังได้เสนอเรื่องตู้หนังสือประจำบ้านไว้ด้วย “ทุกบ้านจะมีตู้ยาสามัญประจำบ้าน แต่น่าจะมีการคัดสรรเรื่องที่น่าอ่าน ควรจะมีไว้เป็นตู้หนังสือสามัญประจำบ้าน”

อย่างไรก็ตามเลขาฯ เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย คิดว่าการเปลี่ยนแปลงหรือส่งเสริมในระดับนโยบายเป็นเรื่องยาก

000

 

นอกจากเรื่องงานหนังสือแล้ว ประชาไทยังได้มีโอกาสพูดคุยในเรื่องวงการวรรณกรรมในบ้านเราในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงเรื่องกระแสงานเขียนในอินเทอร์เน็ต ตามบล็อก หรือเว็บไซต์ ซึ่งทำให้ได้ย้อนกลับมามองเรื่องการปรับตัวของนักเขียนวรรณกรรมท่ามกลางตลาดหนังสือที่กลายเป็นพื้นที่เชิงธุรกิจไปส่วนหนึ่ง จนถึงเรื่องของวัฒนธรรมการวิจารณ์ในพื้นที่อินเทอร์เน็ต ที่ถูกมองว่ายังขาดความจริงจัง


วงการวรรณกรรมปัจจุบัน และการพยายามปรับตัว

บก. สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมมองว่า วงการวรรณกรรมสร้างสรรค์ในบ้านเราขึ้นๆ ลงๆ แต่หากพูดถึงเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เห็นว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์มีแนวโน้มเติบโตขึ้น เช่นเรื่องรูปแบบการนำเสนอที่อาศัยการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น “เรื่องหน้าปก เรื่องรูปแบบก็ควรจะทำให้เข้ายุคเข้าสมัยมากขึ้น”

“แม้คนทำวรรณกรรมสร้างสรรค์จะมีเพียงหยิบมือ แต่ก็เห็นว่ามีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามา” นิวัตกล่าว

นิวัต บอกว่านักเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ในปัจจุบันมีทั้งกลุ่มที่ทำงานอื่นไปด้วยและกลุ่มที่ทำงานเขียนหนังสือเต็มตัว และบอกว่ามีนักเขียนที่สามารถเขียนแต่วรรณกรรมสร้างสรรค์อย่างเดียวแล้วอยู่ได้แต่จะลำบากและอาจต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติบางอย่าง บางครั้งก็ต้องมีการปรับตัวไม่ให้สุดโต่งเกินไป หรือถ้าจะสุดโต่งก็ต้องพยายามจับใจผู้อ่านบ้าง

เวียง-วชิระ มองว่า วรรณกรรมไทยในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น “มันมีน้ำเสียงใหม่ๆ มีวิธีการเล่าเรื่องใหม่ๆ ถึงแม้ว่าจะขาดทักษะชั้นเชิงความเข้าใจทางวรรณกรรม แต่มันก็มีความหลากหลายมากขึ้น มีสถานการณ์ร่วมสมัย”

บก. สามัญชน บอกอีกว่า เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์พิเศษ และแม้งานจะมีความหลากหลายมากขึ้นแต่ก็ไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้คนมองไม่เห็น เว้นแต่จะสามารถเข้าถึงได้อย่างใน บล็อก ในเว็บไซต์ต่างๆ


วัฒนธรรมการอ่านในยุคอินเทอร์เน็ต

เรืองกิตต์มองว่าการอ่านในอินเทอร์เน็ตยังมีความฉาบฉวยอยู่ เนื่องจากต้องการความรวดเร็ว ทำให้อ่านอะไรได้ผิวเผิน “วัฒนธรรมของอินเทอร์เน็ตมันเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว มันต้องการความไว พอมีความไว ปริมาณก็มาก่อน ไม่มีใครแช่ในเว็บใดเว็บหนึ่ง ต้องไปคลิกเว็บนู้นคลิกเว็บนี้ เลยกลายเป็นไม่ได้อ่านอะไรจริงจัง”

นอกจากนี้เลขาธิการเครือข่ายนักเขียนฯ ยังบอกอีกว่า อินเทอร์เน็ตมีระยะห่างทางตัวตนของนักอ่านกับนักเขียน และการวัดคุณค่าโดยใช้จำนวนที่คลิกเข้ามาอ่านงาน อาจทำให้ผู้เขียนยิ่งรีบเขียนงานให้อ่านจนขาดการขัดเกลา “พอคนคลิกเข้ามาอ่านเยอะ บางทีก็ทำให้อยากเขียนตอนต่อๆ ไป แต่ก็ไม่รู้ว่าผ่านการขัดเกลาหรือเปล่า ยิ่งรู้ว่ามีคนอ่านเยอะก็ยิ่งโพสท์เข้าไปเรื่อยๆ จนอาจไม่ได้ขัดเกลา”

เวียง-วชิระ บอกว่า ข้อดีของของงานเขียนทางอินเทอร์เน็ตคือความอิสระ แต่ข้อเสียคือยังขาดมาตรฐานเนื่องจากไม่มีบรรณาธิการ อย่างงานเขียนบางคนจากที่เคยเขียนได้ดี ก็แย่ลงเรื่อยๆ โดยเขามองว่าวัฒนธรรมการแสดงความเห็นทางอินเทอร์เน็ต ไม่ได้มีการแสดงความเห็นกันอย่างจริงจัง

“เราไม่ได้ฝึกเรื่องวัฒนธรรมการวิจารณ์ด้วยซ้ำ อย่างพออ่านจบก็มีการคอมเมนท์ว่า ‘เรารู้สึก...ชอบ-ไม่ชอบ’ แต่ถามว่าชอบ-ไม่ชอบอย่างไร ไม่มีเหตุผลกำกับ” เวียง-วชิระ กล่าว “การมีเหตุผลกำกับเป็นเรื่องการแสดงออกทางวัฒนธรรมการวิจารณ์”

ขณะเดียวกัน บก. สามัญชน ก็บอกว่าพอเวลามีการวิจารณ์อย่างจริงจังเกิดขึ้นก็กลับทำให้เกิดเป็นอริกัน

ด้านนิวัตบอกว่า เราต้องยอมรับว่างานในอินเทอร์เน็ตยังเป็นมือสมัครเล่นอยู่ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการกล้ามาเขียนงานจริงจังเข้มข้นมากขึ้น มันก็เป็นการดีที่มีคนเขียนหนังสือเยอะขึ้น แม้ในบางครั้งคนเขียนงานในอินเทอร์เน็ตอาจจะดังได้เพราะมีกระแสของคนอ่านจำนวนมหาศาล แต่กาลเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์คุณค่าของผลงาน

“นักเขียนจะเกิดที่ไหนไม่สำคัญ จะเกิดในอินเทอร์เน็ต จะเกิดในช่อการะเกด จะเกิดที่สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ จะเกิดที่มติชน หรือจะเกิดจากรางวัลนายอินทร์ แต่ว่าความเข้มข้นของนักเขียนระยะเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ผลงานของเขาเอง”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net