Skip to main content
sharethis

(28 ต.ค.) เครือข่ายองค์กรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อม 30 องค์กรออกแถลงการณ์สนับสนุนข้อเรียกร้องและการต่อสู้ของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนิคมโรงงานอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทั้งยังเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างมาตรฐานการแก้ไขปัญหามลพิษของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา

นอกจากนี้ เครือข่ายดังกล่าวยังเรียกร้องต่อประธานวุฒิสภา ให้เร่งตรวจสอบการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว โดยเร่งด่วน โดยเร่งรัดให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 คณะเร่งศึกษาและสรุปผลการทำงานทั้ง 4 ประเด็น เพื่อสร้างมาตรฐานที่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

"เราขอยืนยันว่า การต่อสู้ของพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบที่ชุมชนสามารถกำหนดขึ้นได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องให้รัฐเป็นผู้กำหนด เพื่อรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตและสุขภาพที่ปลอดภัยของชุมชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ" แถลงการณ์ระบุ

 

0000


แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อม 30 องค์กร
เรื่อง ขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เหยื่อจากอุตสาหกรรมมาบตาพุด

นับจากเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษ อันเกิดจากนิคมโรงงานอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ได้เดินขบวน "ธรรมยาตรา เดินตามรอยเท้าพ่อ ถามหาความพอเพียง" โดยการเดินทางด้วยเท้าเปล่าจากจังหวัดระยอง มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 อย่างเคร่งครัด โดยให้รัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมาย ยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และเกิดความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการให้ความสำคัญกับคนซึ่งถือว่าคนคือศูนย์กลางของการพัฒนา "ประชาชนต้องมาก่อน" เพื่อทบทวนนโยบายการพัฒนาของรัฐที่เลือกข้างอยู่กับกลุ่มทุนที่กอบโกย ทรัพยากรธรรมชาติและทำลายสิ่งแวดล้อม ให้หยุดอ้างเหตุผลเพื่อเศรษฐกิจของชาติ แต่กลับแสวงหาประโยชน์เพื่อตน โดยไม่รับผิดชอบกับมลพิษที่ก่อขึ้น พวกเราในนามเครือข่ายองค์กรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อม 30 องค์กร ตามที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอแถลงท่าทีและข้อเรียกร้องต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

1. เราขอสนับสนุนข้อเรียกร้องและการเดินขบวน "ธรรมยาตราเดินตามรอยเท้าพ่อ ถามหาความพอเพียง" ของพี่น้องเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษนิคมโรงงาน อุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และขอเป็นกำลังใจให้กับการเดินขบวน "ธรรมยาตรา เดินตามรอยเท้าพ่อ ถามหาความพอเพียง" ให้ประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ของประชาชนในการพิทักษ์รักษาทรัพยากร ธรรมชาติ อันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของชุมชนอย่างแท้จริง

2. เราขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ยืนยันในหลักการ "ประชาชนต้องมาก่อนผลกำไร" ด้วยการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างมาตรฐานการแก้ไขปัญหามลพิษของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่รัฐต้องเยียวยาและฟื้นฟูชีวิตของประชาชนผู้เป็นเหยื่ออย่างเป็นธรรม นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้อย่างเหมาะสมไม่หวังแต่เพียงผลกำไรและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ว่า

"4.3.10 เร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่อย่างจริงจัง ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ และการกำกับดูแลการพัฒนาและการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และมีการแข่งขันที่เป็นธรรม"

3. เราขอเรียกร้องต่อประธานวุฒิสภา ให้เร่งตรวจสอบการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวโดยเร่งด่วน โดยเร่งรัดให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทั้ง 5 คณะที่ศึกษาผลกระทบต่อกรณีดังกล่าว อันประกอบด้วย กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค, กมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล, กมธ.สาธารณสุขและ กมธ.เศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม ได้เร่งศึกษาและสรุปผลการทำงานทั้ง 4 ประเด็น เพื่อสร้างมาตรฐานที่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ โดยเรามีความเห็นต่อประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

3.1 กรณีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ว่า มาตรา 67 วรรคสองที่บัญญัติว่า

"การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ ประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร ธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว"

เราขอยืนยันว่ามาตรา 67 วรรคสองนี้ ย่อมมีผลบังคับนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้อย่างเคร่งครัด

3.2 เราเห็นว่า กรณีคำสั่งของศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวที่ชะลอการออกใบอนุญาตย่อมมีขอบเขตผลบังคับครอบคลุม และเป็นคำสั่งมีผลใช้บังคับกับทุกโครงการทั้งก่อนและหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 เพราะโดยหลักการแล้ว การออกกฎหมายใหม่ ก็ย่อมไปยกเลิกกฎหมายเก่าโดยปริยาย

3.3 เราเห็นว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง ย่อมมีผูกพันในทุกโครงการในทุกเรื่องที่มีการขออนุญาต ทั้งนี้ย่อมมีผลเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 27 บัญญัติว่า

"สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลรวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง"

3.4 กรณีไม่มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งแม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 303 จะบัญญัติให้ออกกฎหมายลูกมารองรับ หลังรัฐบาลแถลงนโยบาย ภายใน 1 ปี แต่ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี ก็ยังไม่มีการออกกฎหมายลูกแต่อย่างใด เราขอเสนอทางออกเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม และภาคเศรษฐกิจว่า รัฐบาลควรเร่งรัดให้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม หรือจะอาศัยพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ออกเป็นประกาศหรือระเบียบสำนักนายกฯ ถึงหลักเกณฑ์ขั้นตอนการดำเนินการไปพลางก่อนก็ได้ เพื่อเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วน

4. เราขอยืนยันว่า การต่อสู้ของพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบที่ชุมชนสามารถกำหนดขึ้นได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องให้รัฐเป็นผู้กำหนด เพื่อรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตและสุขภาพที่ปลอดภัยของชุมชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

พวกเราขอประกาศสนับสนุนข้อเรียกร้องและการต่อสู้ของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนิคมโรงงานอุตสาหกรรมมาบตาพุด จนกว่าจะได้รับชัยชนะจนถึงที่สุด

ด้วยจิตสมานฉันท์และศรัทธาในพลังประชาชน

แถลงโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อม 30 องค์กร
แถลงเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2552


รายชื่อเครือข่ายองค์กรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อม 30 องค์กร

1.กลุ่มเพื่อนประชาชน
2.กลุ่มเพื่อนประชาชนบนพื้นที่สูง
3.กลุ่มลูกน้ำปิง ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างประตูระบายน้ำแม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
4.เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
5.ชุมชนคนรักป่า
6.กลุ่มเพื่อนพม่า
7.คนรุ่นใหม่ภาคเหนือ
8.โรงเรียนแม่น้ำโขง
9.มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
10.สำนักข่าวประชาธรรม
11.ภาคีฮักเจียงใหม่
12.สถาบันเพื่อสิทธิชุมชน
13.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
14.โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
15.สถาบันการจัดการทางสังคม
16.มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน
17.มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์
18.สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน
19.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
20.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน จ.ลำปาง
21.เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
22.เครือข่ายสื่อภาคประชาชน ภาคเหนือ
23.โครงการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อการพัฒนา(YT.)
24.ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง
25.สมาคมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ
26.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ)
27.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
28.ดร.สุธี ประศาสนเศรษฐ กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง อิสระ
29.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ สมัชชานักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อม
30.ดร.นิรันดร โพธิกานนท์ ชมรมจักรยานวันอาทิตย์เชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net