Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.52 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการการเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำไม้จากป่าปลูก และการปรับปรุงพันธุ์พืช” เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อนำข้อมูลที่ได้สรุปจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การสัมมนาหัวข้อย่อย “การทำไม้จากป่าปลูก: ศักยภาพการพัฒนาและผลกระทบที่อาจเกิดจากการเปิดเสรี”

กรมป่าไม้แจงพร้อมปฏิบัติตามข้อตกลง แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
นายวีรพล สุทธิพรพลางกูร ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการปลูกป่า ในฐานะผู้แทนจากกรมป่าไม้ กล่าวถึงกรณีเปิดเสรีป่าไม้จากป่าปลูกว่า กรมป่าไม้จะทำตามอำนาจหน้าที่ แล้วแต่ส่วนนโยบายที่สั่งการมา อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยหยุดการทำไม้จากป่าไม้ธรรมชาติ แต่ความต้องการใช้ไม้ยังมีอยู่ โดยต้องนำเข้าไม้ปีราว 18,000 ล้านบาทต่อปี อีกช่องทางการนำไม้มาใช้คือการปลูกป่าภายในประเทศ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ส่งเสริมการปลูกป่าในที่ดินของเอกชน โดยมีโครงการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจ ด้วยการอุดหนุน 3,000 บาทต่อไร่ นอกเหนือจากการปลูกป่าของ ออป.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ

ส่วนความต้องการใช้ไม้ในประเทศรวม 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ในกลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษมีความต้องการมากที่สุด คือร้อยละ 47.8 โดยใช้ไม้ยูลิปตัส 10 ล้านลูกบาศก์เมตร รองลงมาได้แกอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ยางพารากว่า 5.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และในอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่ส่วนใหญใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ยางนา ไม้สัก ไม้สน ที่แปรรูปจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ความต้องการใช้ไม้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษหากต้องการเต็มประสิทธิภาพของโรงงาน จะต้องการพื้นที่ปลูกไม้ประมาณ 15 ล้านไร่

ผู้แทนจากกรมป่าไม้ กล่าวต่อมาว่า การส่งเสริมการปลูกป่าในพื้นที่ของเอกชนมีปัญหาในเรื่องข้อจำกัดของพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งหากจะทำสวนป่าพื้นที่ต้องไม่ต่ำกว่า 200 ไร่ จึงจะคุ้มค่ากับการลงทุน และการปลูกไม้เป็นการลงทุนระยะยาว ไม่มีเงินหมุนเวียนในการปลูก อีกทั้งยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายและระเบียบต่างๆ ทั้งนี้ หากเปิดเสรีการทำไม้จากป่าปลูกในทางปฏิบัติแล้วจะติดข้อกฎหมายหลายเรื่อง เช่น เอกชนต้องมีกรรมสิทธิ์ที่ดิน หากไม่มีกรรมสิทธิ์ต่างชาติการไม่สามารถทำได้ ตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ ก็ต้องเป็นคนไทยเท่านั้น การใช้พื้นที่ป่าสงวนผู้ขอเช่าก็ต้องเป็นสัญชาติไทย หรือหากเป็นนิติบุคคลก็ต้องมีหุ้นไทยเกินครึ่งหนึ่ง เมื่อจะทำไม้ก็ต้องตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ก็จะติด พ.ร.บ.สงวนอาชีพ

“อย่างไรก็ตามกรมป่าไม้มีความพร้อมในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง” นายวีรพลกล่าว

ทั้งนี้ หลังการปฏิรูประบบราชการ ในปี 2545 ได้มีการแบ่งหน้าที่ของกรมป่าไม้ ออกเป็นกรมป่าไม้กับกรมอุทยานชัดเจนมากขึ้น โดยกรมป่าไม้ มีกฎหมายในความรับผิดชอบ 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งใช้ดูแลควบคุมการแปรรูปไม้ พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมดูแลการปลูกไม้เศรษฐกิจ และ พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 ซึ่งก็เป็นกฎหมายควบคุมการทำไม้

ภาคประชาชนตั้งคำถามถึงสิทธินักลงทุนต่างชาติ กับการป้องกันผลกระทบภายใต้กฎหมายไทย
กรณีที่มีการชี้แจงว่ากฎหมายในประเทศจะมารองรับการเปิดเสรีการลงทุนไม่ให้มีผลกระทบ นายมะลิ ทองคำปลิว เครือข่ายทรัพยากรภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก กล่าวว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้รู้สึกไม่เชื่อกฎหมาย ดังนั้น ถ้าบอกว่ามีกฎหมายรองรับการเปิดเสรี จึงไม่เป็นจริง และเราต้องสร้างภูมิต้านทานตัวเองให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังแสดงความเห็นด้วยว่าในอนาคตนโยบายพัฒนาประเทศควรพัฒนาใน 3 ด้าน คือ 1.ต้องพูดถึงความมั่นคงด้านอาหาร 2.ต้องส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรมที่หลากหลาย และ 3.การรักษาฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าขณะนี้เป็นห่วงเรื่องการเปิดเสรีเรื่องการปลูกป่า แต่กรมป่าไม้และบีโอไอบอกไม่น่าเป็นห่วง เพราะ พ.ร.บ.สวนป่าอนุญาตเฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทย ทำให้เข้าใจว่าขณะนี้หากจะใช้ข้อสงวนตามข้อ 9 ข้อย่อย 2 ว่ารัฐสมาชิกต้องยื่นข้อสงวนของตนภายใน 6 เดือน ทำให้เข้าใจว่า พ.ร.บ.สวนป่าได้เข้าไปอยู่ในข้อสงวน แต่ก็แปลกใจว่าผู้เจรจาอีก 9 ประเทศเขาจะไม่เข้าใจกฎหมายไทยหรือ มันน่าจะมีช่องทางมากกว่านี้

จากการคิดต่อไปว่า นิยามนักลงทุนตามความหมายนี้ หมายถึงบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลธรรมดาในรัฐสมาชิกซึ่งได้ทำการลงทุน หมายความว่า นักลงทุนที่ไม่จำเป็นต้องถือหุ้น 49% ก็ถือว่าเป็นนักลงทุน ดังนั้น เขามาลงทุนร่วมกับไทย ให้นักลงทุนไทยยื่น และได้สิทธิการคุ้มครองนักลงทุนตามข้อตกลงการเปิดเสรี และมาขอทำคาร์บอนเครดิต และหากไทยไม่ให้ เขาอาจจะอ้างว่ากระทบการลงทุนตามสิทธิ์ของเขา

นอกจากนี้ ในข้อ 9 (3) บอกว่าให้ดูข้อ 10 ว่าการปรับเปลี่ยนข้อสงวนต้องไม่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน ดังนั้นหมายความว่าการยื่นข้อสงวนเพิ่มเติมและข้อสงวนนั้นส่งผลกระทบจะทำไม่ได้

ชี้ส่งเสริมเปิดเสรีป่าปลูก ยิ่งกระตุ้นการทำลายป่าธรรมชาติ
ส่วนนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ รักษาการสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดการไม้ขอประเทศไทยกว่า 100 ปีที่ผ่านมาถือว่าประสบผลตำมาก เพราะไม่สามารถป้องกันการทำลายป่าไม้ได้ รักษาป่าไว้ไม่ได้ และไม่สามารถจัดการป่าเพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ อย่างพอเพียงและยั่งยืนได้ อีกทั้งในทางสังคมก็ยังไม่สามารถจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนในเขตป่ากับรัฐได้ นี่ถือเป็นความล้มเหลวในทางแนวคิด เนื่องจากการนำเอาหลักการจัดการป่าของประเทศตะวันตกมาใช้ โดยมองแต่เนื้อไม้ แต่ไม่มองเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตท้องถิ่น

ในมุมมองของเขาปัญหากิจการป่าไม้ของประเทศไทย ไม่ได้เป็นปัญหาของการขาดการลงทุน หรือการขาดเทคโนโลยี ดังนั้นการเปิดเสรีจะไม่ช่วยในด้านการเพิ่มเสริมประสิทธิภาพของการจัดการป่าไม้ทางเศรษฐกิจ อีกทั้งในเรื่องการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจไม่ใช่สิ่งใหม่ใหม่ แต่ทำกันมาตั้งแต่ราวปี 2520 มาแล้ว และทำให้เกิดสวนป่าอยู่เต็มไปหมด ซึ่งจากการศึกษามาเป็นเวลานับสิบปี พบว่าการส่งเสริมไม้ป่าปลูก ได้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และเป็นตัวเร่งการทำลายป่าธรรมชาติ

นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากมีการส่งเสริมป่าปลูกด้วยการเปิดเสรี จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการทำลายป่าธรรมชาติ โดยจะเกิดสวนป่าทดแทนป่าธรรมชาติในเขตป่าตะวันตก ป่าภาคเหนือตอนล่างภาคกลางอย่างมหาศาล ต้องตอบให้ได้ก่อนว่าจะป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร นอกจากนี้การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่าธรรมชาติให้เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ก็เป็นคนละชนิดกับป่าเพื่อไม้เศรษฐกิจที่มี องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ดำเนินการอยู่ ดังนั้นพื้นที่ที่ต้องการฟื้นฟู ก็ต้องฟื้นฟูให้เป็นป่าธรรมชาติ ไม่ใช่ทำให้เป็นสวนป่า

ในส่วนวิกฤติของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม มีงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่าการทำไม้ในหรือปลูกไม้ชนิดเดียวเป็นผืนใหญ่ๆ ติดต่อกันจะส่งผลต่อระบบนิเวศ ตอนนี้ในหลายประเทศเริ่มมีการกำหนดในเรื่องดังกล่าว โดยประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นก็ไม่ให้มีการปลูกไม้ชนิดเดียวเกินกว่า 5 เฮคตาร์ หรือต้องปลูกไม้ท้องถิ่นเท่านั้น

นอกจากนั้น ในทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น การเปิดเสรีการลงทุนอาจทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินจากเกษตรกรรายย่อยเพื่อทำสวนป่าขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นแล้วที่ จ.ฉะเชิงเทรา สวนป่าจำนวนมากเกิดการจากส่งเสริมของบีโอไอ ที่ดินเปลี่ยนมือเป็นของนายทุน เกษตรกรในไร่นาเป็นเพียงลูกจ้าง นี่เป็นตัวเร่งการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย ทำลายเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ อีกทั้ง อาจกระทบกับการลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น ในเรื่องการแย่งชิงวัตถุดิบ การแข่งขันด้านราคา และทำให้การใช้ไม้ การแปรรูปไม้ การตลาดของไม้ไม่ได้เป็นไปตามหลักการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

“เขาทุ่มทุนเข้ามามาก กิจการรายย่อยของคนไทยก็จะหมดไป อย่างที่เรารู้ชาติใดมาลงทุนผลก็ตกอยู่กับชาตินั้น แล้วคนไทยจะกลายเป็นลูกจ้าง หรืออย่างดีก็เป็นหัวหน้าคนงานเท่านั้น” นายเพิ่มศักดิ์กล่าว

รักษาการสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังย้ำให้รัฐบาลศึกษาในเรื่องผลกระทบ ให้มีความรู้ที่ชัดเจนก่อนจะตัดสินใจ เพราะเรื่องป่าไม้เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก หรือแทนที่จะเปิดเสรีการลงทุนโดยไม่มีความพร้อม ในเรื่องทรัพยากรดิน น้ำ ป่า น่าจะมีการสร้างความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งจะเพิ่มทุนได้โดยไม่ต้องเปิดเสรี

จี้รัฐวิเคราะห์ความขัดแย้งทางสังคมปัจจุบันให้ชัด ว่าจะเพิ่มความขัดแย้งในสังคมอีกหรือไม่
ด้านนายวีรวัธน์ ธีระประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ตั้งคำถามถึงความต้องการของประเทศไทย ที่ต้องเลือกระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในฐานะที่อยู่ในแวดวงป่าไม้มายาวนาน ประเทศไทยได้ผ่านยุคทองของการทำไม้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2532 ที่มีการปิดป่าสัมปทาน ทำให้เรามองป่าไม้อีกแบบหนึ่ง การมองต้นไม้หรือพื้นที่ป่าสักต้นถ้ายังมองเรื่องเนื้อไม้ ถือว่าล้าสมัยแล้ว

ถ้าดูเรื่องสวนป่าซึ่งเป็นพื้นที่ป่าปลูก เดิมทีเป็นเรื่องควบคู่กับการสัมปทานทำไม้ ตามเงื่อนไขสัมปทานแต่เดิมที่มีการทำไม้ การปลูกป่าเป็นการคืนความสมบูรณ์ให้ธรรมชาติ แต่หลังจากการปิดสัมปทานทำไม้ได้มีแรงดันจากพ่อค้าไม้ให้มีการเปิดให้ทำไม้ในพื้นที่ป่าที่ปลูก และผลักดันให้มี พ.ร.บ.สวนป่าปี 2535 ซึ่งจะเห็นว่ามีการให้สิทธิกับเอกชนในการหาประโยชน์จากพื้นที่สวนป่าค่อนข้างมาก ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เนื่องจากพื้นที่ที่จะขึ้นทะเบียนสวนป่าได้มีหลายประเภท พื้นที่หนึ่งคือ ป่าสงวนเสื่อมโทรม ที่เอกชนอยากได้มาก เพราะราคาเช่าแค่ 10 บาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งคิดว่าการเปิดเสรีลงทุนป่าปลูกคงจะใช้พื้นที่ตรงนี้ แต่พื้นที่เหล่านี้มีราษฎรอยู่ทั้งสิ้น ดังนั้นอาจจะเกิดปัญหาการผลักดันราษฎรออกจากพื้นที่เพื่อปลูกสวนป่าได้ ซึ่งจากการติดตามความขัดแย้งช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปัญหาขัดแย้งที่มากที่สุด คือ ปัญหาป่าไม้ ดังนั้นจึงเกรงว่าความขัดแย้งที่มีมานานจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
   
ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวต่อมาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการปลูกสวนป่ามี 3 ปัญหาหลัก คือ 1.ทำลายธรรมชาติมากขึ้น เพราะต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อให้คุ้มทุน หมายถึงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรมขนาดใหญ่ ซึ่งมีประชาชนอาศัย กลายเป็นเรื่องทำให้เสื่อมโทรม เพื่อให้เข้าเงื่อนไขการเช่า 2.การแย่งชิงพื้นที่ระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้มีโอกาสเกิดอีก 3.ปัญหาที่ตามมาต่อระบบนิเวศน์ เช่น การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน การสูญเสียน้ำ การบุกพื้นที่ต้นน้ำมากขึ้นหากมีประชาชนที่ไร้ที่ทำกินมากขึ้น สิ่งเหล่านี้มีบทเรียนอยู่แล้ว นอกจากนี้หากมีการปลูกไม้โตเร็วมากขึ้น จะมีการขยายอุตสาหกรรมผลิตกระดาษมากขึ้นเพราะมีวัตถุดิบ ทำให้เกิดปัญหามลภาวะตามมา

ในส่วนข้อเสนอ นายวีรวัธน์ กล่าวถึง 5 ประเด็นที่ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบครอบ และตอบคำถามให้ชัดเจน คือ 1.ฐานข้อมูลของไทยพร้อมแค่ไหน เช่น พื้นที่ป่า และสวนป่ามีจำนวนเท่าไหร่ สามารถดำเนินการได้จริงเท่าไหร่ 2.กระแสโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร ยา การพัฒนาที่ยั่งยืน ความหลากหลายทางชีวภาพ 3.รัฐควรวิเคราะห์ความขัดแย้งทางสังคมในสถานการณ์ปัจจุบันให้ชัดเจนว่าจะเพิ่มความขัดแย้งในสังคมอีกหรือไม่ 4.ผลประโยชน์ตกกับใคร 5.การเปิดเสรีครั้งนี้หมายถึงการนำเอาวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาด้วยหรือไม่ เช่น ยูคาจากลาว เพื่อเอามาเป็นวัตถุดิบเสริมของไทย และจะทำให้เกิดการขยายโรงงานมากขึ้นหรือไม่

“การตัดสินใจในลักษณะที่เสี่ยงมากจะต้องตระหนัก และต้องให้มีการมีส่วนร่วม ร่วมคิดให้รอบคอบ เพื่อนำพาความสงบสุขของประเทศด้วย” นายวีรวัธน์แสดงความเห็น

เขากล่าวด้วยว่าดูเหมือนกรณีกรณีเปิดเสรีป่าไม้จากป่าปลูกจะไม่มีปัญหาในหมู่หน่วยงานรัฐ แต่จะมีปัญหาระหว่างภาครัฐกับประชาชน ซึ่ง 20 ปีที่ผ่านมาที่เกิดความขัดแย้งก็เกิดจากกฎหมาย และก็ยังใช้กฎหมายฉบับเดิมนี้ นอกจากนั้น เมื่อหันไปดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 มีเขียนเรื่องการพัฒนาจากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ แต่แปลกใจว่าไม่มีการพูดถึง ทั้งนี้ ต่อไปการปลูกป่าจะเป็นผลประโยชน์มหาศาล ไม่เฉพาะเรื่องตัวไม้ แต่จะมีเรื่องคาร์บอนเครดิต เรื่องนี้รัฐบาลต้องเท่าทันสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

ระดมทุกภาคส่วน ร่วมมือกันต่อต้านและคัดค้านเปิดเสรีการลงทุน
ด้านนายมะลิ ทองคำปลิว เครือข่ายทรัพยากรภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก กล่าวว่าปัจจุบันที่ยังไม่มีการเปิดเสรี แค่นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนก็มีผลทำลายป่ามหาศาล กรมป่าไม้ไม่สามารถรักษาป่าไม้ได้ ที่ผ่านมา นโยบายการส่งเสริมการปลูกยางพาราของรัฐบาลชุดที่แล้วทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินและทำลายป่า เกษตรกรตอนนี้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง เพราะถูกกว้านซื้อโดยนายหน้าซึ่งก็เป็นทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรที่ขายที่ดินไปปัจจุบันต้องกลับมาเช่าที่ดินตัวเองทำกิน

ดังนั้น อยากให้ทบทวนว่าการส่งเสริมการเปิดเสรีการลงทุนทำให้พี่น้องกินดีอยู่ดีขึ้นจริงหรือไม่ ใครได้ประโยชน์ ขนาดยังไม่เปิด ตอนนี้ที่ดินก็ไม่เหลือแล้ว ถ้าเปิด อะไรจะเกิดขึ้น ดังนั้น วิธีที่เราจะปกป้องได้ คือ ทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่เฉพาะราชการอย่างเดียว เพราะทุกคนต่างต้องอาศัยธรรมชาติ การเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ถือเป็นนโยบายที่ทำลายวิถีชีวิต วัฒนธรรม และพันธุกรรม

“โครงการนี้ไม่ควรให้ผ่านไปได้ เราควรร่วมมือกันต่อต้านและคัดค้าน” นายมะลิกล่าว 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net