ภาคเอกชนเชียงใหม่ผลักรถไฟรางคู่กรุงเทพฯ - เชียงใหม่

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) เชียงใหม่ จัดสัมมนาเพื่อผลักดันนโยบายรถไฟรางคู่ “กรุงเทพฯ – เชียงใหม่” เผยแผนแม่บทก่อสร้างรถไฟร่างคู่ มีตั้งแต่ปี 2545 ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีรถไฟรางคู่ และทางสามรวมระยะทาง 340 กม. หรือร้อยละ 8.4% ของโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศ

 
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดเชียงใหม่ และองค์กรร่วมจัดได้จัด “โครงการสัมมนาทิศทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทย : ก้าวไกลหรือไกลก้าว กรณีรถไฟทางคู่กรุงเทพ – เชียงใหม่” ที่ห้องประชุมสัมมนาธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ถ.โชตนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อนำไปสู่การผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางกรุงเทพ โดยมีผู้เข้าร่วมจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้แทนภาคประชาสังคมท้องถิ่นจากจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมไปถึงหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม สมาคมธุรกิจ ผู้ประกอบการ และผู้แทนสถาบันการศึกษา
 
งานสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนได้รับทราบทิศทาง นโยบายและแผนงานดำเนินงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อโครงการรถไฟทางคู่ โดยจะมีการระดมความเห็นความต้องการการพัฒนาโครงการดังกล่าวจากภาคส่วนต่าง ๆ และศึกษาทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ที่ศึกษาไว้ในเมื่อปี พ.ศ.2545 – เชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบ Logistics ของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพต่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคของประเทศ
 
ทั้งนี้ภาคส่วนต่าง ๆ ของจังหวัดในภาคเหนือ ได้มีการพิจารณาเห็นพ้องต้องกันว่า การผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งรถไฟทางคู่ มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการผลักดันในทุกระดับ เนื่องจากจะเป็นการพัฒนาสมรรถนะและขีดความสามารถการแข่งขันในระดับประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงด้านสังคม การเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในด้านโครงสร้างของภาคการผลิต และจะต้องเป็นรถไฟที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด
 
สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางรางดังกล่าว ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการก่อสร้างทางคู่ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536 โดยอนุมัติหลักการเส้นทางสายประธานหลัก รวมระยะทาง 2,744 กิโลเมตร วงเงิน 76,826 ล้านบาท ในชั้นต้นได้ดำเนินการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟชานเมืองสายต่างๆ โดยรอบกรุงเทพมหานครเป็นระยะทาง 294 กิโลเมตร วงเงิน 27,401.29 ล้านบาท รวม 4 สายได้แก่ สายเหนือ รวม 104 กิโลเมตร ได้แก่สายรังสิต-ภาชี 61 กิโลเมตร และ ภาชี-นครปฐม 43 กิโลเมตร สายใต้ รวม 56 กิโลเมตร ได้แก่สายบางซื่อ-ตลิ่งชัน 14 กิโลเมตร และตลิ่งชัน-นครปฐม 42 กิโลเมตร สายตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 44 กิโลเมตร ได้แก่สายภาชี-มาบกะเบา 44 กิโลเมตร สายตะวันออก รวม 90 กิโลเมตร ได้แก่สายหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา 90 กิโลเมตร
 
และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ได้กล่าวถึงการปรับโครงสร้างจากการใช้ถนนให้หันมาใช้ทางน้ำและทางรถไฟมากขึ้น เพื่อกำหนดแนวนโยบายที่จะประหยัดน้ำมันและลดต้นทุนการขนส่ง จึงกำหนดให้การขนส่งในประเทศมุ่งการใช้ทางน้ำและทางรถไฟมากขึ้น แทนการขนส่งทางถนน ดังนั้น จึงได้ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ และโครงการพัฒนากิจการรถไฟ ซึ่งมีวงเงินลงทุนประมาณ 2,400 ล้านบาท และ 10,000 ล้านบาท ตามลำดับ แต่การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวยังไม่เกิดผลตามเป้าหมาย
 
ด้าน ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง เลขาธิการมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง (เชียงใหม่) ได้ให้ความเห็นว่านอกจากการมีเส้นทางรถไฟทางคู่แล้วควรที่จะต้องมีรถด่วนที่เดินทางได้อย่างรวดเร็วเพื่อลดเวลาที่ใช้ในการเดินทางระหว่างเชียงใหม่และกรุงเทพ เพื่อทำให้คนลดการใช้เครื่องบินในการเดินทาง ซึ่งจะลดมลพิษปริมาณมากที่เกิดขึ้นจากเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องบินได้
 
 

โครงข่ายเส้นทางรถไฟทางคู่และทางสาม
 
ปัจจุบันมีโครงข่ายเส้นทางรถไฟในประเทศไทยที่เป็นทางคู่และทางสาม เป็นระยะทางประมาณ 340 กม. หรือคิดเป็นเพียง 8.4% ของโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศ ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ได้มีแผนพัฒนาระบบรถไฟรางคู่มาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
 
ในปี พ.ศ. 2544 – 2545 การรถไฟฯ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ทำการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ และได้ขยายขอบเขตงานให้ครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย การก่อสร้างทางคู่ การก่อสร้างสถานีและทางหลีก การปรับปรุงทางเดิม / ปรับแก้แนวทาง และการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม การศึกษานี้แล้วเสร็จและเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545
 
โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบให้บรรจุโครงการก่อสร้างทางคู่เป็นช่วงตามความจำเป็น ระยะทาง 832 กม. ตามผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟเมื่อปี พ.ศ. 2545 ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานและแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบการจัดการขนส่งสินค้าและบริการ (Logistics) โดยเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธการพัฒนาระบบเครือข่ายเชื่อมโยงศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าภายในประเทศ ซึ่งส่งเสริมระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Modal Shift)
 
ในปี 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 เห็นชอบในหลักการโครงการนำร่องการพัฒนาระบบการจัดการขนส่งสินค้าและบริการ ซึ่งมีโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นโครงการเพื่อสนับสนุนโครงการนำร่องฯ ดังกล่าว คือ สายเหนือ ช่วงลพบุรี – นครสวรรค์ ระยะทางประมาณ 113 กม. สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา – ปากช่อง – นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 130 กม. โครงการดังกล่าวเป็นเพียงแนวดำริในแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่ง ซึ่งยังไม่มีการศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม
 
ในปี 2551 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชน ครั้งที่ 2/2551 และมอบหมายให้การรถไฟฯ เร่งดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางที่มีความถี่ในการเดินรถไฟสูงและต้องรอการสับหลีกเป็นระยะเวลานาน
 
ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชน ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาและก่อสร้างระบบรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ระยะทางรวม 2,344 กิโลเมตร วงเงิน 367,312 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ในภูมิภาคอินโดจีนโดยมีทั้งหมด 5 เส้นทาง ได้แก่ เชียงของ-เด่นชัย ระยะทาง 326 กิโลเมตร เด่นชัย-ชุมทางบ้านภาชี ระยะทาง 470 กิโลเมตร, หนองคาย-นครราชสีมา-ชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบ้านภาชี-ชุมทางหนองปลาดุก-กาญจนบุรี ระยะทาง 990 กิโลเมตร, ชุมทางแก่งคอย-ชุมทางฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ระยะทาง 247 กิโลเมตร และชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 331 กิโลเมตร และเห็นว่าการลงทุนโครงการดังกล่าวควรเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาก่อสร้างทั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบเดินรถ โดยจ่ายค่าสัมปทานให้กับ ร.ฟ.ท. เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณนอกจากนี้ยังเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาและก่อสร้างรถไฟด่วน ความเร็วประมาณ 160 กม.ต่อชั่วโมงขึ้นไป เพื่อเชื่อมหัวเมืองหลักของประเทศ เพื่อให้บริการประชาชนและส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการใน 4 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ ระยะทาง 231 กม., กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 266 กม., กรุงเทพฯ-จันทบุรี ระยะทาง 300 กม. และกรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 200 กม. ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร.ฟ.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวงเงินที่จะใช้ในการก่อสร้าง
 
ในช่วงวันที่ 24-27 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน และได้พบกับ ประธานบริษัท China Railway Engineering Corporation ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างทางรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยจีนยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับไทยแต่จะต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมร่วมถึงความคุ้มค่าทางธุรกิจด้วย หลังจากนั้นนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม นายสุรชัย ธารสิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมและสำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.) ได้เดินทางไปประเทศจีนในช่วงปลายเดือน กรกฎาคม 2552 เพื่อหารือกับผู้แทนรัฐบาลจีนและบริษัท China Railway Engineering Corporation ถึงรายละเอียดและความสนใจที่เข้าจะมาลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ในประเทศไทย โดยจะนำข้อมูลที่ได้รับมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมอบหมายให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท