Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


บทบรรณาธิการบางกอกโพสต์
1 พฤศจิกายน 2552


ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้ถือว่าการข่มขืนภรรยาเป็นอาชญากรรม การข่มขืนยังถูกนิยามว่าเป็นอาชญากรรมก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น ดังนั้น เด็กผู้ชาย สาวประเภทสอง และผู้ชายที่ถูกผู้ชายด้วยกันข่มขืน จึงอยู่นอกเหนือการคุ้มครองของกฎหมาย

ขอบคุณการต่อสู้ทางกฎหมายและการรณรงค์ให้สาธารณชนเข้าใจขององค์กรผู้หญิงและองค์กรสิทธิต่างๆ ในช่วงหลายปีมานี้ จนทำให้ในที่สุด เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กฎหมายข่มขืนได้รับการแก้ไขให้สามารถเอาผิดและลงโทษสามีที่ข่มขืนภรรยา และขยายการคุ้มครองไปยังกลุ่มคนรักร่วมเพศ ด้วยการนิยามคำว่ากระทำชำเราที่นิยามกันอย่างแคบๆ ในอดีตก็ได้รับการขยายความครอบคลุมไปถึงการล่วงประเวณีทางทวารหนัก และการสอดสิ่งอื่นใดเข้าในช่องคลอดและทวารหนักของเหยื่อด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ชัยชนะที่ได้มาอย่างลำบากยากเย็นอาจจะอยู่ได้อีกไม่นาน จากความพยายามร่วมกันในปัจจุบันของหน่วยงานรัฐหัวเก่าที่พยายามจะย้อนกลับไปสู่ความเคยชินเดิมๆ หัวหอกของงานนี้ก็คือสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยอ้างถึงการร้องเรียนจากตำรวจ, แพทย์ และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมว่า คำนิยามใหม่ของคำว่ากระทำชำเรานั้นกว้างเกินไป ทำให้การฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกระทำได้ยาก ดังนั้น ร่างแก้ไขกฎหมายข่มขืนต้องการที่จะนำเอาคำนิยามเดิมกลับคืนมา โดยจำกัดคำนิยามให้แคบลง ให้ครอบคลุมเฉพาะการล่วงประเวณีทางช่องคลอดที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงโดยใช้กำลังบังคับเท่านั้น การล่วงประเวณีทางปากและทางทวารหนักโดยใช้กำลังบังคับ การใช้สิ่งแปลกปลอมสอดใส่ในช่องคลอด และการข่มขืนระหว่างผู้ชายด้วยกันจะถือว่าเป็นเพียงการกระทำอนาจารทางเพศ รวมทั้งโทษทางอาญาสำหรับสามีที่ข่มขืนภรรยาก็จะถูกยกเลิกไป

น่าขันที่ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้แสร้งทำเป็นพยายามที่จะคุ้มครองกลุ่มเสี่ยงโดยการเพิ่มโทษในคดีข่มขืนเด็กผู้หญิงที่เป็นผู้เยาว์, ผู้พิการ, ผู้สูงอายุ และหญิงมีครรภ์ ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะสยบเสียงประท้วงจากสาวประเภทสอง และเหยื่อโรคจิตที่ชอบร่วมเพศกับเด็กโดยการกำหนดโทษจำคุกและค่าปรับในคดีอนาจารทางเพศเทียบเท่ากับโทษและค่าปรับในคดีข่มขืนกระทำชำเรา

ในขณะที่ ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวกล่าวถึงโทษจำคุกในคดีที่สามีข่มขืนภรรยาว่าไม่จำเป็นอีกต่อไป เนื่องจากการข่มขืนภรรยาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาครอบครัวซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ศาลก็ไม่จำเป็นต้องพิพากษาให้หย่าขาดจากกันด้วย แต่ถ้าหากภรรยาต้องการหย่า ก็สามารถฟ้องหย่าได้ด้วยตัวเอง ส่วนในระยะสั้น ก็ปล่อยให้ภรรยาแบกรับปัญหาอันหนักอึ้งนี้ไปแต่เพียงผู้เดียว

ในขณะนี้ องค์กรผู้หญิงและองค์กรสิทธิอื่นๆ กำลังร้องโวยวายอย่างไม่พอใจ ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้น การกล่าวโทษว่าการนิยามคำว่ากระทำชำเราแบบกว้างๆ เป็นสาเหตุให้เกิดความสับสนในข้อกฎหมาย และเป็นสาเหตุของปัญหาซึ่งเกิดขึ้นตามมาในการรวบรวมพยานหลักฐานนั้น เป็นเพียงการอำพรางโครงสร้างสังคมที่ชายเป็นใหญ่ไว้เท่านั้น ร่างแก้ไขที่เสนอไปนั้นไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่า การนิยามให้ผู้หญิงเท่านั้นที่เหยื่อของการข่มขืน และการลดระดับให้การข่มขืนกระทำชำเราสาวประเภทสองและเด็กผู้ชายเป็นเพียงการกระทำอนาจารทางเพศนั้น จะช่วยให้เจ้าพนักงานรวบรวมพยานหลักฐานและฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ง่ายขึ้นอย่างไร ธาตุแท้ที่ชอบแบ่งแยกทางเพศได้เผยตัวตนออกมาด้วยการพยายามที่จะปกป้องสามีที่ชอบใช้กำลงข่มขืนภรรยาตนเอง ซึ่งเป็นความพยายามอย่างสิ้นหวังที่จะรักษาครอบครัวให้คงอยู่เพื่อเอาไว้เป็นป้อมปราการของระบอบชายเป็นใหญ่ อันที่จริงแล้ว การตรวจเพื่อพิสูจน์ถึงการข่มขืนนั้นก็ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เนื่องจากสังคมมีแน้วโน้มที่จะประณามเหยื่ออยู่แล้ว และผู้กระทำผิดก็พยายามที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นการสมยอมกันทั้งสองฝ่ายอยู่เสมอ นอกจากนี้ เหยื่อจำนวนมากก็มักจะถอนตัวเสียกลางคัน เนื่องจากไม่สามารถอดทนต่อคำถามของทนายจำเลยที่มักจะหยาบคายและทำให้เหยื่อได้รับความอับอาย

ถ้าหากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุต้องการที่จะทำหน้าที่ตามชื่อของหน่วยงาน ก็ควรจะให้การช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนกระทำชำเรา ทั้งหญิงและชาย โดยการทำให้การต่อสู้ในทางกฎหมายของพวกเขาได้รับความเป็นธรรม โดยได้รับความเจ็บปวดน้อยที่สุด ไม่ใช่เพิ่มความยากลำบากให้แก่เหยื่อมากยิ่งขึ้นเช่นนี้

ในแง่ดีแล้ว ร่างแก้ไขกฎหมายข่มขืนฉบับนี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความล้าหลังของระบบราชการไทย และความพยายามอย่างยิ่งที่จะทวนกระแสความเปลี่ยนแปลง มันยังสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมชายเป็นใหญ่ และอคติต่อพฤติกรรมรักร่วมเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย การดำเนินการที่เหมาะสมเพียงอย่างเดียวที่ทำได้ก็คือ ทำให้ร่างแก้ไขฉบับนี้ตกไปซะ
 

ที่มา: http://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/26532/altering-rape-law-is-wrong

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net