บทส่งท้ายเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนคร “เชียงใหม่” : จากสูงสุดคืนสู่สามัญ

และแล้ว “สีเสื้อ” ก็สำ ‘แดง’ พลัง

เมื่อการนับคะแนนที่แต่ละหน่วยเลือกตั้งได้นำมานับรวมกันที่สนามกีฬาเทศบาลฯ สิ้นสุด ผลลัพธ์ที่ออกมามิใช่เรื่องที่น่าตื่นตะลึงอะไรนัก หลังจากที่ทั่วทุกมุมเมืองของเชียงใหม่ถูกปกคลุมด้วยป้ายหาเสียงสารพัดรูปแบบมาเกือบ 1 เดือนเต็มๆ ว่ากันว่าในเลือกตั้งครั้งนี้มีเงินหมุนเวียนในแวดวงธุรกิจสื่อโฆษณามากเป็นสิบล้านบาทเลยทีเดียว (กกต. กำหนดให้ผู้สมัครฯ ใช้จ่ายงบประมาณในการหาเสียงได้คนละไม่เกิน 8 แสนบาท)

การเลือกตั้งวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ใช้สิทธิ 64,871 ราย จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 106,366 คน คิดเป็นร้อยละ 60.99 ซึ่งตัวเลขเกินกว่า 60 % นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงเป็นต้นมา ขณะที่มีบัตรเสีย 1,534 ใบ (2.36%) กับไม่ประสงค์ลงคะแนน 4,444 ใบ (6.85%)

 

ผลนับคะแนนเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
 
อันดับ
ชื่อ
ประสบการณ์
หมายเลข
คะแนน
1
นายทัศนัย บูรณุปกรณ์
อดีตรองนายก อบจ.เชียงใหม่
2
24,384
2
นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ 
อดีตเลขานุการนายก อบจ.เชียงใหม่
7
13,197
3
ร.อ.หญิงเดือนเต็มดวง 
ณ เชียงใหม่
อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
1
6,958
4
นายพรชัย จิตรนวเสถียร 
อดีตรองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
6
5,524
5
นายวัลลภ แซ่เตี๋ยว 
อดีตรองนายก อบจ.เชียงใหม่
4
5,465
6
น.พ.เพทาย เตโชฬาร
อดีต ส.ท.นครเชียงใหม่
3
1,747
7
นายวิชัย วงศ์ไชย 
อดีต ส.ส.เชียงใหม่
5
1,354
8
นายเทพโยธินฐ์ ไชยรัตน์ 
ทนายความ / ธุรกิจ
10
149
9
นางอารีย์ อุดมศิริธำรง [1]
ธุรกิจ
8
61
10
นายบารมี พจนามธุรส
-
9
54
 

ส่วนเรื่องร้องคัดค้าน (หลังการเลือกตั้ง) ก็กลับไม่มีเลย ผิดคาด ทั้งๆ ที่ก่อนจะมีการเลือกตั้งนั้นมีกระแสการซื้อเสียงและการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งออกมาหนาหูมาก คงมีแต่การร้องเรียน (ก่อนเลือกตั้ง) เพียงแค่ไม่กี่เรื่อง เช่นเรื่องแจกเงินและการปราศรัยใส่ร้ายกัน ซึ่งทาง กกต.เชียงใหม่ ไม่สามารถสอบสวนได้ทันตามกรอบเวลา 30 วัน ดังที่ถูกระบุไว้ในกฎหมาย “เผด็จการ” ฉบับหนึ่ง [2]

แต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 52 กกต.กลาง จึงประกาศรับรองผลเลือกตั้งส่งผลให้ นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ ผู้ชนะเลือกตั้งที่กลุ่ม “เสื้อแดง” กลุ่มใหญ่ที่สุดของเชียงใหม่ให้การสนับสนุนได้เป็น นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ อย่างเป็นทางการ (นับแต่มีประกาศของ กกต.) ขณะที่เสียงข้างมากในสภาเทศบาลขณะนี้ 18 คน (จากทั้งหมด 24 คน) เป็นของกลุ่ม “ช้างงาน” ซึ่งประกาศชัดเจนต่อสาธารณะว่าได้ให้การสนับสนุน เจ๊ปุ๊ย หรือนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ ที่มีคะแนนตามมาห่างๆ ถึงกว่า 1 หมื่นคะแนน

อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปหาก กกต.เชียงใหม่ สืบสวนสอบสวนต่อและพบพยานหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับคำร้องเรียนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ก็ยังสามารถจะเอาผิดเพื่อแจกใบแดงย้อนหลังให้แก่เขาได้ ทว่าในกรณีนี้องค์กรที่จะมาชี้ขาดสุดท้ายจะเป็น “ศาลอุทธรณ์” มิใช่ กกต. [3]


เรื่องของ...นักปีนเขา

“แป้งเกิดที่เชียงใหม่ เพราะตระกูล ณ เชียงใหม่ ก็อยู่ที่นั่นมาตลอด คุณปู่คือเจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่ ซึ่งสิ้นไปแล้ว แต่ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านให้ความสนใจการเมืองท้องถิ่นมาก เพราะเชียงใหม่คือบ้านของท่าน ตอนนั้นท่านช่วยใครลงสมัครนายกเทศมนตรีหรือส่งสมาชิกสภาเทศบาลก็ชนะ แต่คุณปู่ไม่เคยรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองเลยนะคะ ส่วนคุณพ่อ (ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่) เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทย จากนั้นก็ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการอีกหลายกระทรวง แต่สุดท้ายก็ไปลงการเมืองท้องถิ่น ส่วนคุณแม่ (กิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่) ท่านมาลงเลือกตั้งทีหลัง” [4]

เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่

สำหรับคนจังหวัดอื่นที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งครานี้ผ่านสื่อกระแสหลักอาจเข้าใจว่านี่เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีระหว่างสอง “ตระกูล” ใหญ่ของเชียงใหม่ คือ “ณ เชียงใหม่” ซึ่งสืบทอดเชื้อสายราชสกุลเก่าแก่มาจากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จากรุ่นสู่รุ่น (ส่วนหนึ่งของเจ้านายฝ่ายเหนือ) กับ “บูรณุปกรณ์” ครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลที่ก้าวขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ทั้งด้านธุรกิจ และการเมืองท้องถิ่น (ในห้วงหลัง) ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วเป็นสมรภูมิ “สีเสื้อ” ระหว่าง “สีแดง” กับสีอื่นๆ (สีเหลือง, สีน้ำเงิน) มากกว่า

ผู้สมัครบางคนที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าอาจจะขึ้นมาสอดแทรก กลับกลายเป็นว่าได้ไปแค่คนละ 5 พันกว่าคะแนนเท่านั้น ส่วนหนึ่งเชื่อว่าน่าเป็นผลพวงจากการออกอาการ “แทงกั๊ก” ในช่วงโค้งสุดท้าย ด้วยการชูประเด็นหาเสียง “ไม่แบ่งเหลือง-แบ่งแดง” เพื่อหวังดึงคะแนนจากกลุ่มนักศึกษาและชนชั้นกลางที่ถือเป็น “พลังเงียบ” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพวก “สีขาว” ที่มักขออยู่ “ตรงกลาง” (No Vote) ไว้ก่อน ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ แล้วนั่นเท่ากับเป็นการลดเสียงสนับสนุนตัวเองในหมู่คนเสื้อแดงหลายกลุ่มลงมา

แน่นอน ความพ่ายแพ้ของคนในตระกูล “ณ เชียงใหม่” ต่อคนในตระกูล “บูรณุปกรณ์” อย่างขาดลอยเกือบ 2 หมื่นคะแนน ไม่ได้หมายถึงว่าคนเชียงใหม่ชื่นชอบตระกูลหลังมากกว่าตระกูลแรก หากแต่แปลความว่าเพราะตระกูลหลังเลือกยืนอยู่ข้างเดียวกับเสียงข้างมากของคนเชียงใหม่ต่างหาก

นายทัศนัย จึงถือเป็นคนที่ใช้นามสกุล “บูรณุปกรณ์” คนที่ 3 ที่เข้ามานั่งตำแหน่งสำคัญในการเมืองระดับท้องถิ่นของเชียงใหม่เวลานี้ ถัดจากพี่สาว นางสาวทัศนีย์ (นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก) และ นายบุญเลิศ (นายก อบจ.เชียงใหม่) คุณอาของเขา

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถใช้สะท้อนกระแสการเมืองระดับชาติในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และย่อมเป็นสัญญาณส่งถึงตระกูลการเมืองเก่าแก่ในหลายๆ จังหวัด โดยเฉพาะกับภาคเหนือและอีสานว่าปัจจัยสำคัญที่สุดของการเลือกตั้งสมัยนี้ได้แก่ “พรรคที่สังกัด” มากกว่าอย่างอื่น [5] ครั้งนี้ “นโยบาย” ก็ยังคงไม่ใช่ตัวตัดสินแต่อย่างใด

ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งนักการเมืองอย่าง “เจ้าหนุ่ย” (คุณพ่อของ ร.อ.หญิงเดือนเต็มดวง) อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 5 สมัย อาจเป็นชื่นชอบของผู้ลงคะแนนส่วนใหญ่ ในสายตาของชาวบ้านตอนนั้น เขาคือ “ผู้เสียสละ” ภาพหลังคาศาลาริมทาง, รถบริการในงานศพงานบุญต่างๆ, แก้วน้ำ จาน ชาม โต๊ะ เก้าอี้ ตลอดจนถึงเต้นท์ที่มีชื่อของเขาปรากฏอยู่ด้วยยังติดตาผมมาจนถึงตอนนี้ วันที่การเมืองไทย (กำลัง) เปลี่ยนไปแล้ว คงจะไม่เกินเลยนักหากจะสรุปว่าการเลือกตั้งครั้งสำคัญๆ ของเชียงใหม่ในรอบ 10 ปีมานี้ ปัจจัยด้าน “ตัวบุคคล” แทบจะหมดความหมายลงโดยสิ้นเชิง (ดูภาคผนวกท้ายบทความ)

ยิ่งเสียกว่านั้น วิทยุชุมชนแห่งหนึ่งถึงขนาดเชียร์ให้เหล่าผู้ฟังของตนเลือกผู้สมัครตัวเต็งบางราย โดยพยายามโน้มน้าวว่ามันอาจจะช่วยทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับบ้านเร็วขึ้น และหลายคนก็เชื่อเช่นนั้นจริงๆ

เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “คนที่ไม่เคยปีนเขาอาจคิดว่าการขึ้นถึงยอดเขาเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด แต่นักปีนเขาทุกคนรู้ดีว่าสิ่งสำคัญกว่านั้นคือการลงจากยอดเขา... โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้เวลาอันควรได้มาถึงแล้ว นักปีนเขามากประสบการณ์บางคนยอมตัดใจไม่ขึ้นสู่ยอดเขา แม้จะเป็นความใฝ่ฝันอันท้าทายมาตลอดชีวิต ด้วยเพราะตระหนักดีว่าพลังงานและเวลาที่เหลืออยู่ อาจไม่เพียงพอที่จะนำพาตัวเองลงจากยอดเขาได้อย่างปลอดภัย... นักการเมืองก็ควรเรียนรู้ความข้อนี้ เพราะถ้าผู้มาก่อนไม่ยอมเดินลงมาดีๆ หลายกรณีในประวัติศาสตร์ เขามักถูกผู้มาทีหลังถีบตกบัลลังก์เสมอ” [6]

 

ภาคผนวก
กรณีศึกษา : ตระกูลณ เชียงใหม่
 
นายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ หรือ เจ้าหนุ่ย
 
ปี พ.ศ.
ตำแหน่ง
สังกัด
2529
สอบตก (ส.ส.)
พรรครวมไทย
2531
ส.ส.
พรรคกิจสังคม
2535/1
ส.ส.
พรรคความหวังใหม่
2535/2
ส.ส.
พรรคความหวังใหม่
2538
ส.ส.
พรรคความหวังใหม่
2539
ส.ส.
พรรคความหวังใหม่
2544
สอบตก (ส.ส.)
พรรคความหวังใหม่
2547
นายก อบจ.
พรรคไทยรักไทย
2551
สอบตก (นายก อบจ.)
กลุ่มฅนเจียงใหม่
 
นางกิ่งกาญน์ ณ เชียงใหม่ หรือ เจ๊แดง
 
ปี พ.ศ.
ตำแหน่ง
สังกัด
2538
ส.ส.
พรรคความหวังใหม่
2539
ส.ส.
พรรคความหวังใหม่
2544
สอบตก (ส.ส.)
พรรคความหวังใหม่
2548
สอบตก (ส.ส.)
พรรคประชาธิปัตย์
2550
สอบตก (ส.ส.)
พรรคเพื่อแผ่นดิน
 
ร้อยเอกหญิง ดร.เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ หรือ ดร.แป้ง
 
ปี พ.ศ.
ตำแหน่ง
สังกัด
2548
สอบตก (ส.ส.)
พรรคประชาธิปัตย์
2550
นายกเทศมนตรี
- อิสระ -
2552
สอบตก (นายกเทศมนตรี)
- อิสระ -
 

...........................................................................

[1] พี่สาวของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ (นายก อบจ.เชียงใหม่) และนายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ (อดีต ส.ส.เชียงใหม่) มีศักดิ์เป็นป้าของนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครฯ หมายเลข 2 เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเปรียบเสมือนตัวแทนของนายทัศนัยในกรณีที่เขาโดนใบแดง ‘ก่อน’ ที่จะมีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาของ กกต. จะสั่งให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยเปิดโอกาสให้เฉพาะแต่ผู้สมัครรายเดิมเท่านั้นที่มีโอกาสลงเลือกตั้งได้

 [2] นั่นคือ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 32 เรื่อง อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดให้ทาง กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดตาม พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 239 ระบุว่าในกรณีที่ กกต.วินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ‘ก่อน’ การประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดๆ ก็ตาม ให้คำวินิจฉัยของ กกต.เป็นที่สุด แต่ในกรณี ‘หลัง’ จากที่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้วนั้น ถ้า กกต.เห็นว่าควรให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแก่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัย เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งยกคำร้อง ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใดหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใด ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลง และให้คำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด

[4] “เปิดหัวใจหญิงแกร่ง ร้อยเอกหญิง ดร.เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ชีวิตคือการเรียนรู้,” HELLO! ปีที่ 4 ฉบับที่ 20 วันที่ 1 ตุลาคม 2552, หน้า 49.

[5] รายละเอียดเพิ่มเติมอยู่ใน ณัฐกร วิทิตานนท์, “พฤติกรรมการเลือกตั้งของ "คนเมือง" ภายใต้ระบบที่ "อภิชน" เป็นคนกำหนด,’’ http://www.prachatai.com/journal/2008/01/15396

[6] ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, ผู้นำ อำนาจ ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่, (กรุงเทพฯ: Openbooks, 2551), หน้า 18-19.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท