สัมภาษณ์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: “ตอนนี้เป็นคนไทยกี่ฝ่ายที่ต่อสู้กัน ขณะที่กัมพูชาเหลืออยู่ฝ่ายเดียว”

วันนี้ (8 พ.ย. 52) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้บุกเบิกโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันที่มุ่งสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านของไทยในภูมิภาคอุษาคเนย์ ให้สัมภาษณ์ประชาไทถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งชาญวิทย์แสดงความวิตกกังวลว่า จะบานปลาย ขณะเดียวกันมีแนวโน้มว่าความรุนแรงจากความขัดแย้งจะขยายวงเป็นความรุนแรงในประเทศไทย เพราะขณะนี้ ไทยแตกเป็นหลายฝ่าย ขณะที่กัมพูชาไม่มีฝักฝ่ายทางการเมืองผนวกกับการเมืองระหว่างประเทศคงไม่สนับสนุนความขัดแย้งในภูมิภาคอาเซียน

000

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ.

 

จากกรณีความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ไทยใช้มาตรการรุนแรงเกินไปหรือไม่ และจะเกิดผลกระทบอย่างไร 
ในเบื้องต้นผมคิดว่าการเรียกทูตกลับนั้นรุนแรงเกินไป เพราะมีมาตรการอื่นๆ ทางการทูตที่ยังทำได้ก่อนขั้นตอนเรียกทูตกลับ ดังนั้นในเบื้องต้น เรื่องนี้ถูกทำให้เป็นการเมืองภายใน ที่เริ่มต้นจากการเมืองภายในประเทศไทยเอง คือระหว่างคุณอภิสิทธิ์ กับคุณทักษิณ ซึ่งขยายไปเป็นการเมืองระหว่างประเทศ แล้วก็เป็นมาตรการซึ่งมองแต่ทางด้านของการเมือง โดยไม่เอาเรื่องเศรษฐกิจมาพิจารณา และไม่เอาเรื่องภูมิภาคมาพิจารณาด้วย คือ อาเซียน ดังนั้น ผมก็มองว่าทุกอย่างถูกทำให้เป็นการเมืองไปหมด

เราไม่ได้มองถึงผลเสียหายระยะยาวที่ตามมา ผมคิดว่าในกรณีนี้เป็นการนำชาตินิยมแบบเก่ามาใช้ในบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ในขณะนี้ขนาดของการลงทุนในกัมพูชามีมากมายมหาศาลเป็นจำนวนเงินกว่าพันล้านบาท และมีการลงทุนขนาดใหญ่มากๆ ตั้งแต่บริษัทใหญ่ๆ เช่น ปูนซีเมนต์ ธนาคารไทยพาณิชย์ โรงแรมขนาดใหญ่ก็ดี ไล่ลงมาถึงระดับกลาง ประเภทโรงงานอุตสาหกรรม หรือธุรกิจการค้า จนกระทั่งระดับเล็กน้อยที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยคนระดับเล็กๆ

ผมว่านี่เป็นสถานการณ์ใหม่ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในอดีต ความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารใน พ.ศ. 2505 ไม่มีบริบทพวกนี้เลย แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก

อาจารย์มองบทบาทของสื่อไทยต่อกรณีนี้อย่างไร
สื่อตกอยู่ในวาทกรรมชาตินิยมเดิม เป็นชาตินิยมเก่า ผมว่าการมองเรื่องนี้เป็นเรื่องเกียรติภูมิศักดิ์ศรีของประเทศนั้นเป็นวิธีการมองแบบเก่า เป็นการมองแบบการเมือง แต่ไม่ได้มองมิติทางเศรษฐกิจ หรือความร่วมมือในภูมิภาค

ผลการประชุมที่ประเทศญี่ปุ่น พบว่าทั้งญี่ปุ่นและสิงคโปร์ แม้แต่เลขาธิการอาเซียน คุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ ก็แสดงความวิตกกังวลและเป็นห่วงเป็นใย ซึ่งความขัดแย้งครั้งนี้จะกระทบต่ออาเซียน ทำให้องค์กรอาเซียนกลายเป็นตัวตลกไป เพราะนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเมื่อประชาคมอาเซียนมีกฎบัตรอาเซียนได้ไม่นาน ภาพของไทยต่อโลกในฐานะเป็นประเทศใหญ่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงก็จะตกต่ำในวงการระหว่างประเทศ

เมื่อมองในแง่นี้ ในเบื้องต้นผมคิดว่าประชาธิปัตย์ได้แต้มในตอนแรก ในแว่บแรกดูเหมือนเป็นมาตรการที่คนทั่วไปพอใจ แต่ระยะยาวเมื่อมีผลกระทบรุนแรง ผมไม่แน่ใจ มันอาจจะพิสูจน์ได้เมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้ง และผลสำรวจความคิดเห็น หรือโพลล์ก็จะเปลี่ยนในเวลาอีกไม่นาน ผมดูจากคอลัมน์ต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ภายในเวลาสองวันเสียงติติงก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว

ฝ่ายไทยจะลดระดับความขัดแย้งนี้ลงได้หรือไม่ อย่างไร
ต้องพยายามไม่ให้เรื่องบานปลาย แล้วไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่บานปลายไปถึงเรื่องของความมั่นคง แต่จากการสังเกตผมคิดว่า ทหารของทั้งสองประเทศยังไม่เล่นด้วย ผู้นำทหารทั้งสองฝ่ายยังไม่ลงมาเล่นในเกมนี้ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของกองทัพบกฝ่ายไทย หรือกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาก็ดี แต่นี่ก็เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจมากว่าในการเมืองระหว่างเหลืองแดง สีเขียวยืนอยู่ตรงไหน

กลับมาประเด็นที่ว่าในที่สุดแล้ว ถ้าเราประเมินจริงๆ ถามว่านี่เป็นมาตรการที่รุนแรงเกินไปหรือไม่ และจะบานปลายหรือไม่ ผมเห็นว่าเป็นอย่างนั้น

แต่ในขณะนี้ทางนายกรัฐมนตรีไทยยังมีท่าทีแข็งกร้าว และยืนยันว่าเป็นปัญหาที่ทางกัมพูชาสร้างขึ้นกัมพูชาก็ต้องแก้ไข
เขาก็ต้องพูดอย่างนั้น ผมคิดว่าคุณทักษิณและคุณชวลิตเล่นแรง และคุณอภิสิทธิ์ก็เล่นแรงตอบ ก็ต้องแปลว่าเกมนี้เข้าทางประชาธิปัตย์หรือเข้าทางทักษิณ ผมคิดว่าเบื้องต้นประชาธิปัตย์อาจจะได้คะแนน แต่เราสามารถฟังธงได้ไหมว่าชาตินิยมเก่าที่ใช้กันมาประมาณ 100 ปีจะได้ผล ถึงจุดนี้ชาตินิยมแบบที่เรารู้จักอยู่กับที่หรือกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนใหม่ ชาติคืออะไรและเป็นของใครกันแน่

ผมเชื่อว่าปัญหามันใหญ่โตและรุนแรงมาก ฝ่ายคุณอภิสิทธิ์จะแรง และคุณทักษิณและคุณชวลิตก็แรง ก็จะนำไปสู่การขัดแย้ง การนองเลือดหรือจลาจลในที่สุด ความเสียหายจะมีมาก

อาจารย์มองว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นในประเทศไทยมากกว่าจะเป็นความรุนแรงระหว่างประเทศอย่างนั้นหรือ
ตอนนี้เป็นคนไทยกี่ฝ่ายที่ต่อสู้กันขณะที่กัมพูชาเหลืออยู่ฝ่ายเดียว การ์ตูนเกาเหลาชามเล็ก (หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 6 พ.ย. 2552 ) พูดได้ชัดเจนมากว่าคนไทยคงลืมไปแล้วว่าเมื่อตอนที่เขมรแตกเป็นหลายฝ่ายนั้น คนไทยสนับสนุนเขมรแดงอย่างลับๆ อยู่หลายปี ตอนนี้เราก็ต้องเผชิญกับเขมรที่สนับสนุนไทยแดง

สำหรับความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น เนื่องจากกรณีความขัดแย้งครั้งนี้มีตัวแปรมาก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน ซึ่งยังคงให้การสนับสนุนความร่วมมือการลงทุนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ล่าสุดหลังการประชุมที่ญี่ปุ่นก็อนุมัติความช่วยเหลือการลงทุนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกว่าสองแสนล้านบาท นี่ยังพอทำให้อุ่นใจว่า การเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิภาคอาเซียนก็ดี จีน ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกาก็ดี คงจะไม่ให้ความร่วมมือด้วย ปัญหาก็ไม่น่าจะบานปลาย สิ่งที่ผมคิดว่าน่าวิตกก็คือการใช้กำลังทางทหาร แม้ว่าโดยอาวุธยุทโธปกรณ์ของไทยอาจจะเหนือกว่ากัมพูชา แต่เราไม่พร้อมที่จะรบในระยะยาว และไม่พร้อมหากจะต้องรบแบบสงครามกองโจร

สิ่งที่รัฐบาลไทยทำจะไม่มีผลบีบบังคับกัมพูชาเลยหรือ
สิ่งที่ฮุน เซน ทำเหมือนกับเป็นการวางแผนอย่างยืดยาวทีเดียว เพราะฉะนั้นแปลว่า ก็คงไปบีบกัมพูชายากมาก เอาเข้าจริงแล้ว คนที่รู้ประวัติศาสตร์สักหน่อยก็จะรู้ว่าปกติไทยมักจะเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในกัมพูชา แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กัมพูชาเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของไทย โดยมีลาวและเวียดนามเป็นพันธมิตร นี่เป็นครั้งแรกในมิติประวัติศาสตร์ เพราะจากประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่า ‘อันนัมสยามยุทธ์’ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะเห็นศึกระหว่างเวียดนามกับไทยที่พยายามเข้าไปแทรกแซงการเมืองกัมพูชา โดยต่างฝ่ายต่างต้องการให้คนของตัวได้เป็นจักรพรรดิ ในตอนนี้ กัมพูชาเข้ามาแทรกแซงการเมืองที่แตกแยกของไทย ก็แสดงว่าไทยนั้นแตกแยกกันเหลือเกิน

ผมคิดว่าเราต้องไม่ปล่อยสถานการณ์ดำเนินไปอย่างนี้ ต้องช่วยกันกระตุก หยุดยั้ง โดยเฉพาะสื่อมวลชน ซึ่งต้องทำการบ้านให้มากทีเดียวคือการเห็นสถานการณ์แล้วก็ใช้ Common Sense (สามัญสำนึก) มาวิเคราะห์นั้นทำไม่ได้แล้ว ต้องทำการบ้านหนัก ต้องรู้ประวัติศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท