Skip to main content
sharethis
 
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องเรวัติ พุทธินันท์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการฉายภาพยนตร์จากฟิลิปปินส์เรื่อง Bagong Buwan (หรือ จันทร์ดวงใหม่) โดยหลังการฉายภาพยนตร์มีการเสวนาโดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์และนักวิชาการอิสระ
 
โดยการฉายภาพยนตร์ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของ “เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6 ตอน “แด่ ASEAN ที่รัก” เทศกาลภาพยนตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการฉลองวาระครบรอบ 10 ปี แห่งการสถาปนาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำหนดจัดทุกวันศุกร์และวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 ต.ค. ถึงวันศุกร์ที่ 4 ธ.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องเรวัติ พุทธินันท์ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มธ. ท่าพระจันทร์
 
(อ่านรายละเอียดของ Bagong Buwan และสถานการณ์ที่มินดาเนา ที่ล้อมกรอบด้านล่าง)
 
 
ความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นกับรัฐชาติ
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ กล่าวหลังจากชมภาพยนตร์ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงความขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนาเท่านั้น แต่พูดถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐประชาชาติสมัยใหม่กับคนพื้นเมือง ภาพยนตร์เรื่องนี้ผูกเรื่องความขัดแย้งของคนในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากรัฐชาติ เป็นการนำเสนอเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนฟิลิปปินส์ส่วนกลางกับคนโมโร (Bangsamoro) บนเกาะมินดาเนา ที่อยู่มานานหลายร้อยปี แต่ต่อมารัฐที่มีอำนาจมาบอกให้ยอมรับอำนาจอีกแบบหนึ่ง ภาพยนตร์จึงเป็นการพูดถึงปัญหาสากลของรัฐชาติสมัยใหม่
 
คือการสร้างชาติสมัยใหม่ เมื่อมีการอ้างว่าตนเป็นอำนาจรัฐแล้ว ก็จะทำให้คนที่อยู่ส่วนกลางคิดว่าคนที่อยู่ชายขอบยอมรับอำนาจส่วนกลาง และนำไปสู่การคิดว่าคนชายขอบต้องยอมรับอำนาจจากส่วนกลางเรื่องอื่นๆ เช่น ยอมรับภาษาของส่วนกลาง ศาสนาของส่วนกลาง วัฒนธรรมของคนส่วนกลาง ว่าต้องการจะให้เป็นแบบไหน อำนาจไปบอกให้คนเป็นแบบนั้นแบบนี้ ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์เรื่องนี้จึงนำเสนอสิ่งที่เป็นปัญหาสากลของโลก
 
ซึ่งคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือคนที่เชียงของดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วก็อาจคิดได้แบบนั้น ตัวอย่างของไทยอย่างเช่น กบฏผีบุญ กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏ 7 หัวเมืองมลายู คือเรื่องที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เป็นเรื่องที่อำนาจท้องถิ่นตอบโต้อำนาจส่วนกลาง และถูกอำนาจส่วนกลางเรียกว่ากบฏ ก่อการร้าย เพราะไปใช้ความรุนแรงเข้าต่อสู้กับกลไกรัฐที่มีความรุนแรงอยู่ในมือเช่นกัน
 
 
พลังทางการเมืองที่เรียกว่า ‘ความทรงจำ’
ปรากฏการณ์ที่เป็นเรื่องของความขัดแย้ง ความรุนแรง ถ้าเราไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ จะเข้าใจภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงประวัติศาสตร์ทั้งหมดเลย ในภาพยนตร์จะเห็นว่าเวลาที่ชาวบ้านมีปัญหา เขาจะปรึกษาผู้นำท้องถิ่นคือดาโต๊ะ อาลี ไม่ใช่เข้าไปหาทหาร ไม่ใช่เข้าศูนย์ผู้อพยพที่รัฐบาลเป็นคนตั้งให้
 
ในภาพยนตร์อะหมัด ซึ่งเป็นพระเอก บอกให้ชาวบ้านเข้าศูนย์ผู้อพยพ แต่แม่ของอะหมัดบอกให้ไปหาดาโต๊ะ ผู้นำในหมู่บ้านเพราะเชื่อใจได้มากกว่า ดาโต๊ะในภาพยนตร์จึงไม่ใช่เป็นแค่ดาโต๊ะ แต่เป็นผู้นำแบบเก่า เป็นความรุ่งเรืองในอดีต สะท้อนว่าครั้งหนึ่งคนโมโรเคยมีดินแดน มีประเทศเป็นของเขาเอง เคยมีผู้นำที่ประชาชนที่นั่นยินยอมพร้อมใจให้เป็นผู้นำ
 
และจากภาพยนตร์ฉากที่ดาโต๊ะไปรบกับรัฐบาลแล้วนิยามตัวเองว่าเหมือนบรรพบุรุษที่ปกป้องตัวเองจากกองทัพสเปนนั้น จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ตอนจบของภาพยนตร์มีฉากที่ฟาติมะ นางเอกในเรื่องพูดกับเด็กๆ ในศูนย์ผู้อพยพว่า “ให้พูดถึงประวัติศาสตร์ของพวกเราต่อไป”
 
ซึ่งรัฐบาลกลางอาจไม่ชอบความทรงจำแบบนี้ เหมือนกับที่รัฐบาลไทยไม่อยากให้พูดเรื่องสุลต่านในสามจังหวัดภาคใต้ เพราะความทรงจำแบบนี้ไม่ได้ผ่านเอกสารที่รัฐเขียน แต่มาจากการบอกเล่าของคน พ่อเล่าให้ลูก ลูกเล่าให้แม่ หรือลูกเล่าให้หลาน การบอกเล่าแบบนี้ทำให้เกิดพลังการต่อสู้ทางการเมืองได้
 
คนในขบวนการโมโร มีความทรงจำบางอย่างว่าเขามีดินแดนของเขาเอง “Moroland” เป็นคำพูดที่ได้ยินในภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง เรื่องเล่าแบบนี้เองที่กลายเป็นพลังทางการเมืองของคนชายขอบ ความทรงจำของคนทำให้เกิดพลังทางการเมือง
 
ตอนที่มีการเผยแพร่วีซีดีตากใบ หลังเหตุการณ์ตากใบในปี 2547 ซึ่งหนึ่งในผู้เผยแพร่คือวารสารฟ้าเดียวกัน สมัยนั้นทักษิณกับประชาธิปัตย์ทำเหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่งคือมีความเห็นว่าการเผยแพร่วีซีดีตากใบเป็นภัยความมั่นคง ในสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็อภิปรายในสภาว่า วีซีดีนี้เป็นการคุกคามความมั่นคงของชาติ
 
 
ขนบใหม่ของหนังสงคราม
ศิโรตม์อภิปรายต่อไปว่า ถ้าเรามองภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์สงคราม จะเห็นขนบบางอย่างของสงคราม สมัยก่อนเวลามีภาพยนตร์สงคราม ภาพยนตร์จะให้ความสนใจเรื่องการต่อสู้ ฉากบู๊ล้างผลาญ ต่อมาแนวคิดเรื่องภาพยนตร์สงครามในโลกตะวันตกเปลี่ยนช่วงสงครามเวียดนาม ภาพยนตร์จะทำให้เห็นว่ามนุษย์เป็นสัตว์สงคราม สงครามเปลี่ยนคนดีๆ ให้กลายเป็นนักฆ่าได้อย่างไร โดยภาพยนตร์สงครามสมัยก่อนจะเน้นความใหญ่โตอลังการของฉากสงคราม อย่างเช่นภาพยนตร์ที่นำเสนอสงครามโลก แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในภาพยนตร์ใหม่ เป็นการนำเสนอว่าสงครามทำให้คนดีๆ กลายเป็นนักฆ่าได้อย่างไร หรือการทำให้คนดีๆ กลายเป็นคนที่ต้องการฆ่าคนได้อย่างไร โดยภาพยนตร์เรื่อง Platoon, the Hunter, Full Metal Jacket ก็พูดเรื่องนี้
 
คือเมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว สงครามดูดทุกคนเข้าสู่วัฎจักรของสงคราม อย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ อะหมัด เริ่มฉากแรกก็เป็นหมอ แต่ต่อมากลับกลายเป็นคนถือปืนไปยิงคนอื่นแล้ว เด็กคริสเตียนในภาพยนตร์ที่ชื่อฟรานซิส ก็ชวนให้สงสัยว่าถ้าในเรื่องเขาไม่ออกมาจากป่าและยังอยู่กับพวกโมโร เมื่อโตขึ้นมาจะกลายเป็นนักฆ่าหรือเปล่า
 
ดังนั้นผลของสงคราม แม้จะไม่ฆ่าเรา แต่ก็ทำให้เรามีวิธีคิดแบบใหม่คือ 1.ถ้าไม่กลายเป็นทหารเสียเอง ก็ 2.กลายเป็นคนที่คิดแบบทหาร คิดว่าความคิดแบบทหารเป็นสิ่งชอบธรรม ตัวอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่างเช่นฉากทหารบ้านของรัฐบาลฟิลิปปินส์ไปปัสสาวะรดฐานมัสยิด ก็กลายเป็นสาเหตุการฆ่าของพวกโมโรได้
 
ศิโรตม์ ตั้งคำถามว่า แล้วในโลกนี้มีเหตุผลอะไรจริงๆ สักเรื่องหรือเปล่า ที่ดีพอที่จะทำให้คนฆ่าคนอื่นได้ มีนักวิชาการบางสำนักคิดพยายามอธิบายว่าการก่อการร้ายมีมูลเหตุมาจากอะไร แต่สำหรับคำถามเชิงศีลธรรม เชิงปรัชญาก็คือ ต่อให้มีเหตุผลที่ชอบธรรมให้ฆ่า เราควรยอมรับการฆ่านั้นได้หรือเปล่า ในเมื่อความดีเป็นเรื่องอัตวิสัย เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ดังนั้นเราจะยอมรับการฆ่าได้หรือไม่ เพราะแต่ละคนก็มีความเชื่อเรื่องความดีคนละแบบ
 
สำหรับคนที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้คงเศร้าใจว่า ตัวละครในภาพยนตร์ไม่สามารถออกจากวงจรสงครามได้ อย่างพระเอกในเรื่องที่เป็นหมอก็กลับมาเป็นนักฆ่าอีก ถ้ากองทัพฟิลิปปินส์ไม่ฆ่าขบวนการโมโร ขบวนการโมโรจะไม่ฆ่ากองทัพฟิลิปปินส์ได้หรือไม่ และขอชวนคิดคำถามที่ซับซ้อนไปอีกว่า ถ้ากรณีของไทยกองทัพรัฐบาลกลางไม่ฆ่านักรบมุสลิมได้หรือไม่ แล้วนักรบมุสลิมจะไม่ฆ่ากองทัพรัฐบาลได้หรือไม่
 
ตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อเห็นเด็กๆ ฟังประวัติศาสตร์เรื่องเล่าของฟาติมะ นางเอกของเรื่อง ก็ชวนตั้งคำถามว่า อนาคตของเด็กจะเป็นอย่างไร ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ผูกเรื่องไว้ว่ายังไม่จบ ให้คนดูไปคิดต่อเอง
 
 
สงครามกลางเมืองและการฆ่าที่มาจากหลายฝ่าย
ศิโรตม์กล่าวต่อว่า เวลาคนคิดเรื่องความขัดแย้ง เราจะคิดถึงคู่ความขัดแย้งคือกองทัพรัฐบาลกลาง กับกองกำลังโมโร แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าการฆ่าเกิดขึ้นได้จากหลายฝ่าย นอกจากกองทัพแล้ว ยังมีทหารบ้านของรัฐบาล ที่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบรัฐบาล อย่างที่เห็นในฉากแรกของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่พอเกิดระเบิดกลางเมืองก็มีคนออกมาถือปืนเต็มไปหมด ซึ่งไม่ใช่ทหารของรัฐบาลแต่เป็นทหารบ้าน (ฟิลิปปินส์เรียกว่า Illagas) โดยในโลกนี้ ความรุนแรงมักเกิดขึ้นจากฝ่ายทหารบ้าน ในฟิลิปปินส์ก็มีการจ้างชาวโมโรเป็นทหารบ้าน ใช้อาวุธ งบประมาณของรัฐบาล แต่ไม่แต่งเครื่องแบบ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกองทัพก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ทหารบ้านจึงเป็นเหมือนเครื่องจักรสงคราม ซึ่งการจ้างทหารบ้านเช่นนี้ ประเทศเจ้าอาณานิคมชอบใช้ คือให้อาวุธแก่คนพื้นเมืองที่ภักดีกับเจ้าอาณานิคมไปสู้กับคนพื้นเมืองที่เป็นฝ่ายต่อต้าน แล้วทหารบ้านนี้ก็สามารถเข้าไปในชุมชนได้มากกว่า โดยคนในเกาะมินดาเนาที่เสียชีวิต โดยมากก็เสียชีวิตเพราะทหารบ้าน ศูนย์รวมแห่งความรุนแรงจึงไม่ได้เกิดจากกองทัพแต่เกิดจากทหารบ้านที่คุมไม่ได้
 
 
ถ้าไม่ข้ามผ่านอัตลักษณ์ มนุษย์ไม่อาจอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้
ศิโรตม์กล่าวต่อไปว่า ที่เรามักบอกให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ซึ่งพูดง่าย แต่ในทางปฏิบัติความสมานฉันท์จะทำงานอย่างไร ในเมื่อคนมีความเชื่อและมีความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน
 
เราถูกตั้งโปรแกรมว่าคนต่างอัตลักษณ์กันจะต้องฆ่ากัน แต่ภาพยนตร์ทำให้เราเห็นว่า อัตลักษณ์ที่ถูกสร้างมาจากภายนอก เป็นเหตุผลที่มากำกับเราหรือเปล่า ในภาพยนตร์พอเกิดวิกฤต ในฉากตัวละครทุกอัตลักษณ์มาอยู่ร่วมกัน แล้วพบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่อัตลักษณ์ แต่เป็นความเป็นมนุษย์ที่ทำให้คนต่างอัตลักษณ์อยู่ร่วมกันได้ เราประเมินจากอัตลักษณ์แล้วเหมารวมไม่ได้ การอยู่ร่วมกับคนอื่น ทำอย่างไรที่เราจะไม่ใช้อัตลักษณ์ในการมองคน คนเราอยู่ร่วมกันไม่ได้อยู่ร่วมกันเพราะอัตลักษณ์ แต่อยู่ร่วมกันเพราะมีความสมานฉันท์ (Solidarity) มีความเป็นมนุษย์ จึงทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามนำเสนอในประเด็นนี้ ซึ่งดูเป็นแนวคิดที่โรแมนติก แต่ถ้าไม่คิดแบบนี้เราอาจไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติก็ได้ ศิโรตม์กล่าว
 
สำหรับ “เทศกาลภาพยนตร์อุษาคเนย์ครั้งที่ 6 ตอน “แด่ ASEAN ที่รัก” สุดสัปดาห์นี้ จะฉายภาพยนตร์ 2 เรื่อง โดยวันศุกร์ที่ 13 พ.ย. จะมีการฉายเรื่องเนรคุณ (Nerakhoon) จากประเทศลาว มีผู้อภิปรายหลังชมภาพยนตร์คือ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และในวันเสาร์ที่ 14 พ.ย. ฉายภาพยนตร์จากประเทศไทยเรื่อง Wonderful Town มี ศ.เบเนดิค แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) เป็นผู้อภิปราย
 
 
เกี่ยวกับ Bagong Buwan
และสถานการณ์ที่มินดาเนา
 
ใบปิดหนังภาพยนตร์ Bagong Buwan
 
ภาพยนตร์ที่โต้นโยบายแตกหักของรัฐบาลฟิลิปปินส์ช่วงเอสตราดา
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan หรือจันทร์ดวงใหม่ เป็นภาพยนตร์จากประเทศฟิลิปปินส์ที่ฉายในปี 2544 กำกับโดย Marilou Diaz-Abaya นำแสดงโดยนักแสดงที่มีชื่อเสียงของฟิลิปปินส์คือเซซาร์ มอนตาโน Cesar Montano. Amy Austria ฯลฯ ภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan นี้ พยายามบอกเล่าเรื่องราวผ่านสายตาของชาวโมโร หรือ the Bangsamoro เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกบฏมุสลิมในเกาะมินดาเนา และผลกระทบที่เกิดกับผู้คนบนเกาะ
 
ในภาพยนตร์เป็นสะท้อนการต่อสู้ระหว่างกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (the Moro Islamic Liberation Front - MILF) กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ยุคที่โจเซฟ เอสตราดา (Joseph Estrada) เป็นประธานาธิบดี ซึ่งขณะนั้นเอสตราดาประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อกวาดล้างกลุ่ม MILF นำไปสู่การสู้รบที่รุนแรงและสร้างความเดือดร้อนให้ประชากรในพื้นที่ ในภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นความไม่มั่นคงในชีวิตของชาวโมโร ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองที่นั่น ที่ต้องหนีการสู้รบตลอดเวลา
 
ตัวละครเอกในเรื่อง อะหมัด (Ahmad) แสดงโดย เซซาร์ มอนตาโน พระเอกขวัญใจชาวฟิลิปปินส์ อะหมัดเป็นแพทย์ชาวโมโรผู้มีอาชีพการงานดีในมะนิลา อะหมัดจำเป็นต้องเดินทางกลับมายังบ้านเกิดที่เกาะมินดาเนาหลังจากที่ลูกชายของเขาเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรง การกลับมาของอะหมัดเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด เขาร่วมเผชิญชะตากรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ ระหว่างการเดินทางเพื่อนำพาพี่น้องให้อยู่รอดปลอดภัยนั้น ก็เกิดคำถามมามายถึงตัวตนของตนในฐานะที่เป็นแพทย์ผู้มีหน้าที่รักษาชีวิตมนุษย์แต่จำต้องก้าวผ่านความคับแค้นในจิตใจ เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจเขาตลอดเวลา อะหมัดตัดสินใจจับปืนเพื่อสังหารทหารบ้านของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ข่มเหงมัสยิดของชาวโมโร และทารุณชาวบ้านผู้ไร้อาวุธ ในขณะเดียวกันด้วยอาชีพแพทย์ เขาตัดสินใจช่วยชีวิตนายทหารของกองทัพฟิลิปปินส์คนหนึ่ง ผู้เป็นศัตรูขั้วตรงข้ามของพี่ชายตัวเอง อะหมัดได้เรียนรู้ว่า ที่สุดแล้วในภาวะสงครามไม่มีใครเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง ทุกคนต่างสูญเสีย แต่ผู้ที่ใฝ่ฝันถึงสันติภาพเท่านั้นจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะนั้นไป
 
โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รางวัลในเทศกาลภาพยนตร์ Metro Manila Film Festival 2001 ในปี 2544 และได้รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมจากการประกวด Gawad Urian Awards 2003 ในปี 2546 ซึ่งเป็นการประกวดในฟิลิปปินส์ด้วย
 
สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ เขียนบทแนะนำภาพยนตร์ “BAGONG BUWAN: จันทร์ดวงใหม่ ในวันที่ไม่มีอคติและกระบอกปืน” ในหนังสือแนะนำโครงการ “ภาพยนตร์อุษาคเนย์: แด่ ASEAN ที่รัก” ตอนหนึ่งว่า “จะว่าไปแล้วภาพยนตร์เรื่อง Bagong Buwan เป็นภาพยนตร์ฟิลิปปินส์เพียงไม่กี่เรื่องที่กล้าหาญเพียงพอที่จะพูดถึงประเด็นความขัดแย้งบนเกาะมินดาเนาผ่านมุมมองของชาวมุสลิมโมโร ในอดีตที่ผ่านมาการเล่าเรื่องชาวมุสลิมโมโรบนแผ่นฟิล์มฟิลิปปินส์นั้น จะเป็นลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในการใช้กำลังเพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธบนเกาะมินดาเนา ซึ่งภาพลักษณ์ของชาวมุสลิมโมโรเหล่านั้นก็จะเป็นลักษณะของผู้ร้าย (สะท้อนอคติที่แอบแฝงในหมู่คนฟิลิปปินส์ส่วนกลางได้เป็นอย่างดี) โดยตัวของอดีตประธานาธิบดี Joseph Estrada เองก็เคยสวมบทนักรบกลุ่มติดอาวุธมุสลิมโมโรมาแล้ว เมื่อครั้งที่เขายังเป็นดาราภาพยนตร์ผู้โด่งดังในช่วงทศวรรษที่ 70
 
ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามที่จะเรียกร้องให้คนในชาติหันมาทบทวนมายาคติและอคติที่คนต่างชาติพันธุ์ต่างศาสนามีต่อกัน ตั้งแต่ตัวนักแสดงที่ส่วนใหญ่เป็นคริสเตียนและมาจากส่วนกลาง ไปจนถึงการใช้ละครที่เป็นเด็กและวัยรุ่นเป็นสื่อกลางของการทำความเข้าใจกันระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม”
 
 
การเรียกร้องเอกราช และการเจรจาสันติภาพที่มินดาเนา
ทั้งนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ต่อสู้กับกบฏโมโรบนเกาะมินดาเนามาตั้งแต่ปี 2521 โดยมี 2 กลุ่ม คือ แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (MNLF) และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF) โดยกลุ่ม MNLF ซึ่งเป็นกบฏกลุ่มใหญ่กว่า MNLF ลงนามข้อตกลงสันติภาพเพื่อแลกกับอำนาจปกครองตนเองในภาคใต้เมื่อปี 2539 ส่วนกลุ่ม MILF
 
ล่าสุดมีการเจรจากับรัฐบาลฟิลิปปินส์กระทั่งมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับกลุ่ม MILF แต่ต่อมาในกลางเดือนตุลาคมปี 2551 ศาลฎีกาฟิลิปปินส์ โดยคณะตุลาการของศาลฎีกา ลงคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 ประกาศให้ข้อตกลงที่รัฐบาลทำไว้กับขบวนการ MILF ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ข้อตกลงเป็นโมฆะ
 
ทั้งนี้ ศาลได้ออกคำสั่งคุ้มครองไม่ให้เจรจาข้อตกลงดังกล่าวตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งข้อตกลงนี้ระบุให้สิทธิแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโรควบคุมเมืองและหมู่บ้านราว 700 แห่งบนเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศ
 
ขณะที่ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมปีนี้ MILF กับรัฐบาลเริ่มกลับมาเจรจากันอย่างไม่เป็นทางการนาน 2 วันที่มาเลเซีย โดยทั้งรัฐบาลฟิลิปปินส์ และ MILF ออกแถลงการณ์ร่วมว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะหวนเจรจาอย่างเป็นทางการเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจกันที่จะกรุยทางไปสู่การรื้อฟื้นกระบวนการเจรจาสันติภาพที่หยุดชะงักไป
 
 
 
อ้างอิงเพิ่มเติม
สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ, “BAGONG BUWAN: จันทร์ดวงใหม่ ในวันที่ไม่มีอคติและกระบอกปืน” ในหนังสือแนะนำโครงการ “ภาพยนตร์อุษาคเนย์: แด่ ASEAN ที่รัก”
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net