เรื่องน่ารู้ (หรือเปล่า?) เกี่ยวกับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
หมายเหตุ: อันที่จริง ผู้เขียนไม่ค่อยให้ความสนใจกับรางวัลโนเบลหรือรางวัลใด ๆ ด้านวรรณกรรมมากนัก (แน่นอน รวมทั้งซีไรท์ด้วย) บางปีก็ตกข่าวด้วยซ้ำว่าใครได้ แต่เนื่องจากผู้เขียนได้รับคำชวนที่ไม่ควรปฏิเสธจาก อ.ชัชวาล ปุญปันให้ไปร่วมงานเสวนาวิชาการในดวงใจ หัวข้อ “2009 Nobel Prizes” ที่ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา บทความนี้จึงกลายเป็นผลพวงของการหาข้อมูลไปเสวนาในวันนั้น
 
 
 
การเขียนบทความในเรื่องที่ตัวเองยังไม่สนใจย่อมทำให้ผู้อ่านติเตียนผู้เขียนได้ -_-“ ซึ่งผู้เขียนก็ยินดีน้อมรับไว้ (แต่ก็ยังจะเขียนอยู่ดี) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อจะได้มีงานส่งประชาไทที่นอกเหนือจากมุกละตินอเมริกาเดิม ๆ ที่ผู้เขียนเริ่มจะหมดมุกเต็มทน หลังจากที่ผู้เขียนไม่ได้ส่งงานให้ชูวัสจนเขานึกว่าผู้เขียนลาจากประชาไทไปเสียแล้ว (ความจริงคือผู้เขียนเร่งปิดต้นฉบับหนังสือแปลเล่มใหม่ ซึ่งผู้เขียนแปลชื่อหนังสือออกมาได้อย่างภาคภูมิใจระดับมาสเตอร์พีซว่า ไม่สงบจึงประเสริฐ จากชื่อภาษาอังกฤษ Blessed Unrest ผู้เขียนมีความภาคภูมิใจในการแปลชื่อหนังสือครั้งนี้มากจนพูดอวดไปทั่ว แม้แต่ในที่นี้ด้วย ส่วนตัวหนังสือจะดีไม่ดีอย่างไรหรือจะดีแค่ชื่อ ขอฝากท่านผู้อ่านพิจารณาเมื่อมันตีพิมพ์ออกมาแล้วด้วย)
 
รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปีนี้ตกเป็นของแฮร์ทา มึลเลอร์ (Herta Müller) นักเขียนชาวเยอรมันเชื้อสายโรมาเนีย ตามข่าวกล่าวว่างานเขียนของเธอเล่าถึงชีวิตในโรมาเนียยุคอดีตประธานาธิบดีเผด็จการเชาเชสคูและวิจารณ์ระบอบสตาลิน มีหนังสือของเธอไม่กี่เล่มที่เคยแปลเป็นภาษาอังกฤษและมึลเลอร์แทบไม่เป็นที่รู้จักเลยในประเทศอื่น ๆ
 
รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปีนี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เช่นเคย ข้อวิจารณ์ในแง่ลบก็ดังที่กล่าวไปแล้วคือ หนังสือของเธอไม่ค่อยแพร่หลาย คำวิจารณ์ประการที่สองคือ ยุโรปได้รางวัลอีกแล้ว! การตั้งยุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) เป็นข้อกล่าวหาที่ยิงใส่ราชบัณฑิตยสภาสวีเดนทุกปี ไม่เพียงจากโลกที่สาม แต่รวมถึงวงการวรรณกรรมในสหรัฐอเมริกาด้วย
 
แต่รางวัลโนเบลในปีนี้ก็ได้รับคำชมเชยในแง่บวกด้วย กล่าวคือ ประการแรก มึลเลอร์เป็นผู้หญิงและประชากรผู้หญิงที่ได้รับรางวัลโนเบลก็มีสัดส่วนน้อยมาก ประการที่สองที่ไม่ค่อยมีใครทราบก็คือ ว่ากันว่ามึลเลอร์นั้นอยู่ในรายชื่อเข้าชิงมาหลายปีติดต่อกัน
 
ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นเกือบทุกปีชวนให้สงสัยว่า รางวัลโนเบลมีบรรทัดฐานในการตัดสินอย่างไร? ซึ่งอาจช่วยให้เราเข้าใจว่า ทำไมนักเขียนคนนี้จึงได้รางวัลและอีกคนไม่ได้? แต่ก่อนที่เราจะกล่าวถึงบรรทัดฐานในการตัดสิน เราลองมาดูกระบวนการตัดสินก่อน
 
กระบวนการตัดสินรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
เนื่องจากรางวัลนี้เริ่มมอบกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1901 กระบวนการย่อมเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ในที่นี้จะกล่าวถึงกระบวนการในปัจจุบัน
 
ราชบัณฑิตยสภาสวีเดน ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 18 ท่าน จะส่งจดหมายหลายพันฉบับไปตามสถาบันต่าง ๆ เพื่อขอให้ส่งรายชื่อนักเขียนกลับมาให้พิจารณา ผู้ที่สามารถเสนอชื่อเข้าไปได้ มีอาทิ สมาชิกราชบัณฑิต สมาชิกสถาบันด้านวรรณคดี ศาสตราจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณคดีและภาษา อดีตผู้ได้รับรางวัลโนเบล ประธานสมาคม/องค์กรนักเขียน ฯลฯ แต่มีกฎว่าห้ามเสนอชื่อตัวเอง
 
รายชื่อทั้งหมดจะถูกเสนอเข้าไปในภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พอเดือนเมษายนก็จะคัดเหลือ 20 รายชื่อ จากนั้นก็คัดเหลือ 5 รายชื่อ กรรมการจะใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนอ่านหนังสือของนักเขียนทั้ง 5 คน พอถึงเดือนกันยายนก็ประชุมกรรมการ จากนั้นก็ลงคะแนนในเดือนตุลาคม
 
เนื่องจากรางวัลโนเบลเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผลงานทั้งชีวิต (lifetime achievement) นักเขียนแต่ละคนก็มีผลงานหลายเล่ม อีกทั้งนักเขียนก็มาจากหลาย ๆ ประเทศหลาย ๆ ภาษา เป็นไปได้อย่างไรที่กรรมการจะสามารถอ่านงานทั้งหมด?
 
ในประเด็นนี้มีเหตุผลอธิบาย ประการแรก อย่าลืมว่ากรรมการที่เป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสภาสวีเดนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัญญาชนระดับแนวหน้า ปัญญาชนยุโรปส่วนใหญ่จะรู้หลายภาษา ดังนั้น ถ้าเป็นภาษาหลัก ๆ ในยุโรป (เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาเลียน สเปน รัสเซีย ฯลฯ) แทบไม่ค่อยเป็นปัญหา
 
ประการที่สอง ในกลุ่มกรรมการทั้ง 18 คน มีผู้รู้ภาษานอกยุโรป เช่น ภาษาอาหรับ ภาษาจีน ฯลฯ ประการที่สาม มีการใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษแปลให้ กล่าวกันว่าเคยมีการแปลงานและพิมพ์ออกมาเพียง 18 เล่มเพื่อให้กรรมการอ่าน ประการที่สี่ นักเขียนที่อยู่ในรายชื่อรอบสุดท้ายมักเคยเข้าชิงติดต่อกันอย่างน้อย 3-4 ปี ดังนั้น กรรมการจึงเคยอ่านงานของนักเขียนเหล่านี้มาในปีก่อน ๆ แล้ว อย่างมากก็อ่านเพิ่มแค่นักเขียนที่เข้ารอบมาใหม่
 
บรรทัดฐานในการตัดสิน
ในพินัยกรรมของอัลเฟรด โนเบล กล่าวถึงการให้รางวัลสาขาวรรณกรรมโดยระบุว่า นอกจากผลงานนั้นจะมีคุณค่าในเชิงวรรณศิลป์แล้ว ผลงานนั้นควรจะมีความเป็น “ideal” หรือ “idealistic” ด้วย
 
คำว่า “ideal” หรือ “idealistic” นี่แหละที่เป็นปัญหา เพราะโนเบลเขียนพินัยกรรมในภาษาสวีดิช คำที่เขาใช้สามารถแปลและตีความได้หลายอย่าง จะตีความว่าหมายถึง “อุดมคติ” หรือ “อุดมการณ์” ดีล่ะ?
 
การตีความคำ ๆ นี้ก็เลยเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หรือถ้าจะพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ เปลี่ยนไปตามประธานกรรมการนั่นแหละ ประธานและกรรมการแต่ละชุดก็ตีความต่างกันไปคนละแบบ เท่าที่ผู้เชี่ยวชาญเขาวิเคราะห์กันมา พอจะประเมินได้ว่า บรรทัดฐานการให้รางวัลโนเบลเปลี่ยนไปตามยุคสมัยดังนี้คือ
 
1. ยุค “Lofty and Sound Idealism” (1901-12) ในช่วงทศวรรษแรกของการมอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม คณะกรรมการตีความบรรทัดฐานเป็นอุดมคติแบบอนุรักษ์นิยม นั่นคือ ความมีสุนทรียะแบบจิตนิยมยุคเกอเธ่ ศาสนา รัฐและครอบครัวถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การธำรงรักษาไว้ (คล้ายประเทศไทยในปัจจุบัน) นักเขียนที่ได้รับรางวัลในยุคนี้ที่ยังมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันมีคนเดียวคือ รัดยาร์ด คิปลิง
 
แต่ถ้าเอ่ยชื่อนักเขียนที่ไม่ได้รับรางวัล ท่านผู้อ่านคงอึ้ง นักเขียนคนสำคัญของยุคนั้นที่ไม่ได้รับรางวัล มีอาทิ ลีโอ ตอลสตอย, เอมิล โซลา, เฮนรี เจมส์, เฮนริก อิบเสน, ออกุสต์ สตรินด์เบิร์ก เป็นต้น
 
ดูจากรายชื่อของนักเขียนที่ไม่ได้รับรางวัลก็คงพอเข้าใจ ตอลสตอยนั้นเขียนถึงความพินาศของครอบครัวใน อันนา คาเรนนินา เอมิล โซลามีแนวคิดสังคมนิยม เฮนรี เจมส์เขียนเกี่ยวกับการปะทะทางวัฒนธรรมระหว่างโลกเก่า (ยุโรป) กับโลกใหม่ (อเมริกา) และเสียดสีทั้งสองโลกอยู่ไม่น้อย ส่วนอิบเสนกับสตรินด์เบิร์กนั้น ถึงแม้เป็นชาวสแกนดิเนเวียน แต่ก็ไม่ได้รับรางวัล ทั้ง ๆ ที่บทละครของทั้งสองคือต้นธารของการละครสมัยใหม่ โดยเฉพาะสตรินด์เบิร์กนั้น ผู้เขียนจำได้ว่าธีมหลักธีมหนึ่งในบทละครของเขาคือ การต่อสู้ระหว่างเพศ เขานำเสนอได้หดหู่หม่นหมองในสไตล์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ นี่คงเกินกว่ากรรมการหัวโบราณในยุคนั้นจะรับได้
 
(ในสมัยผู้เขียนเรียนปริญญาตรี ผู้เขียนเรียนวิชาไมเนอร์วรรณคดีอังกฤษ ซึ่งต้องลงทะเบียนเรียน 8 วิชาด้วยกัน ทำให้ได้อ่านวรรณคดีที่ถือว่า “คลาสสิก” อยู่บ้าง ในบรรดารายชื่อนักเขียนที่ไม่ได้รับรางวัลนั้น ถ้ายกเว้นเอมิล โซลาแล้ว ผู้เขียนได้เรียนและอ่านผลงานของที่เหลือทุกคน [โซลาอาจจะมีสอนในคอร์สอื่นที่ผู้เขียนไม่ได้ลงเรียน] แสดงให้เห็นว่ากรรมการโนเบลในยุคนั้นพลาดไปขนาดไหน)
 
2. ยุค “A Policy of Neutrality” (ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) ในช่วงนี้กรรมการมักให้รางวัลแก่นักเขียนในประเทศที่เป็นกลางในสงคราม นักเขียนที่ได้รับรางวัลส่วนใหญ่เป็นชาวสแกนดิเนเวียน นักเขียนคนเดียวที่ยงมีชื่อเสียงหลงเหลือมาถึงปัจจุบันคือ คนุท แฮมซุน ซึ่งแดนอรัญ แสงทองแปลผลงานของเขาเป็นภาษาไทยในชื่อ คนโซ
 
3. ยุค “The Great Style” (ทศวรรษ 1920) คณะกรรมการมีบรรทัดฐานการให้รางวัลอยู่สองแนวทางด้วยกัน นั่นคือ ความคลาสสิกหรือ “classicism” เช่น โธมัส มันน์ (ความคลาสสิกนั้นพิสูจน์ได้ เพราะผู้เขียนเคยพยายามอ่านผลงานของเขาเรื่อง Death in Venice และอ่านไม่รู้เรื่องเลย แสดงว่าคลาสสิกจริง ๆ) กับอีกแนวทางหนึ่งคือ งานเขียนที่มีแก่นเรื่องหลักเกี่ยวกับมนุษยชาติที่เปิดใจกว้างหรือ “wide-hearted humanity” แนวทางที่สองนี้เองที่ทำให้กรรมการโนเบลดูเหมือนใจกว้างมากขึ้นตามไปด้วย นักเขียนมีชื่อในยุคนี้ที่ได้รับรางวัล อาทิ ยอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์, วิลเลียม บัทเลอร์ ยีทส์ เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าถ้าวัดกันตามบรรทัดฐานก่อนหน้านี้ นักเขียนสองท่านที่กล่าวมาไม่มีทางได้รางวัลแน่ ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า คณะกรรมการโนเบลตามไม่ทันวรรณกรรมร่วมสมัยในยุโรป
 
4. ยุค “Universal Interest” (ทศวรรษ 1930) หมายถึง งานเขียนที่พูดถึงคุณค่าที่เป็นสากล นักเขียนที่มีชื่อเสียงมาจนบัดนี้ อาทิ เพิร์ล เอส บัค, ซินแคลร์ ลูอิส, ยูจีน โอนีล (โอนีลเป็นนักเขียนบทละครที่ผู้เขียนได้อ่านตอนเรียนเช่นกัน เขาเขียนบทละครได้เจ็บปวดหัวใจที่สุดคนหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนเสียน้ำตาไปหลายขวดอยู่) แต่เพิร์ล เอส บัคถือเป็น “ความหน้าแตก” ครั้งใหญ่ของกรรมการ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปทีหลัง
 
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง ค.ศ. 1940-3 ไม่มีการให้รางวัล
 
เมื่อกรรมการกลับมาปฏิบัติหน้าที่ใหม่หลังจากสงครามโลก มีความพยายามขยายบรรทัดฐานการมอบรางวัลให้กว้างขึ้น บรรทัดฐานต่อไปนี้จะใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน นักเขียนที่ได้รางวัลบางคนได้เพราะบรรทัดฐานใดบรรทัดฐานหนึ่ง บางคนก็ควบหลายบรรทัดฐาน
 
5. “The Pioneers” (1946- ) คณะกรรมการรางวัลโนเบลชายตามองการให้รางวัลโนเบลในสายวิทยาศาสตร์ แล้วก็เกิดความคิดว่า เราควรให้รางวัลวรรณกรรมโดยเน้นไปที่การบุกเบิกและทดลองด้านทัศนคติและภาษาใหม่ ๆ บ้าง อนึ่ง ช่วงนี้คณะกรรมการมีการเปลี่ยนชุดและมีความคิดสมัยใหม่มากขึ้น แยแสรสนิยมของคนทั่วไปมากขึ้น การให้รางวัลในช่วงนี้น่าจะถือเป็นยุคที่คณะกรรมการประสบความสำเร็จมากที่สุดในแง่ของการยอมรับจากวงการวรรณกรรมตะวันตก
 
นักเขียนที่ได้รับรางวัลจากบรรทัดฐานนี้ ล้วนแล้วแต่กลายเป็น “ขาใหญ่” ในยุคปัจจุบันทั้งสิ้น อาทิเช่น แฮร์มันน์ เฮสเส ซึ่งเคยถูกปฏิเสธรางวัลมาในยุคที่ 4 เหตุเพราะกรรมการยุคนั้นมองว่างานเขียนของเขามีลักษณะ “อนาธิปไตยทางจริยธรรม” แต่เฮสเสมาได้รางวัลใน ค.ศ. 1946 ประเดิมบรรทัดฐานใหม่ นอกจากนี้ก็มี อองเดร ฌีด, ที. เอส. เอเลียต, วิลเลียม โฟล์กเนอร์, เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (ผู้เขียนเคยแปลเรื่องสั้นขนาดยาวของเขาเรื่องหนึ่งคือ ซาฮาโตโพล์ค), ฟรองซัว โมริยัค (อ.อำพรรณ โอตระกูลแปล ปมอสรพิษ), วินสตัน เชอร์ชิล, เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, อัลแบร์ กามูส์, บอริส ปาสเตอร์แนก, จอห์น สไตน์เบค, ฌอง-ปอล ซาตร์, ยาสึนาริ คาวาบาตะ, แซมวล เบคเกตต์, อเล็กซานเดอร์ ซอลส์นิทชิน, ปาโบล เนรูดา, ไฮน์ริช เบิล ฯลฯ (นักเขียนเหล่านี้หลายคนมีผลงานที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว)
 
ข้อชวนสังเกตคือ มีนักเขียนนอกยุโรป-อเมริกาสองคนที่ได้รับรางวัล นั่นคือ คาวาบาตะจากญี่ปุ่น และเนรูดาจากชิลี และถ้ากรรมการใช้บรรทัดฐานนี้เร็วสักหน่อย เจมส์ จอยซ์ก็คงได้รางวัลโนเบลในช่วงทศวรรษ 1930 ไม่พลาดให้เป็นที่ครหามาถึงปัจจุบัน
 
มีนักเขียนบางคนที่น่าจะได้รับรางวัล แต่ต้องพลาดไปเพราะเหตุผลนอกเหนือผลงาน เช่น เอซรา พาวด์ ไม่ได้รับเพราะเขาเคยสนับสนุนการกวาดล้างชาวยิว ฆอร์เก ลูอิซ บอร์เคส ที่เขียนงานได้บุกเบิกและบรรเจิดที่สุด ก็ไม่ได้รับรางวัลเพราะเขาเคยสนับสนุนเผด็จการทหารในอาร์เจนตินาและชิลี (ผลงานของบอร์เคสมีแปลเป็นไทยโดยแดนอรัญ แสงทองเจ้าเก่า อยากเชิญชวนให้ผู้สนใจวรรณกรรมอ่านงานของบอร์เคส เพราะงานของเขาสุดเขตแดนจินตนาการ ไม่อาจเล่าซ้ำได้ ต้องอ่านเอง)
 
(ส่วนเรื่องที่บอร์เคสสนับสนุนเผด็จการทหารนั้น น่าจะนำมาเป็นอุทาหรณ์ของนักเขียนไทยในปัจจุบัน บอร์เคสเกลียดประธานาธิบดีประชานิยมเปรองมากเกินไป ด้วยเหตุนี้เขาจึงสนับสนุนเมื่อกองทัพทำรัฐประหารและเปลี่ยนอาร์เจนตินาไปเป็นเผด็จการ ต่อเมื่อในภายหลังที่บอร์เคสรู้ความโหดเหี้ยมของระบอบเผด็จการ เขาเสียใจมาก เราควรคำนึงถึงข้อเท็จจริงด้วยว่า บอร์เคสนั้นตาบอด เขาย่อมมีข้อจำกัดในการรับรู้ข่าวสารอยู่มาก ผิดกับพวกคนสายตาดีแต่ดันมองไม่เห็น)
 
อาจเพราะโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ภายใต้ดวงอาทิตย์หรือเพราะอะไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า บรรทัดฐานด้านการบุกเบิกทดลองชักไม่มีความหมาย เพราะดูเหมือนไม่ค่อยมีอะไรใหม่ให้ทดลองอีก คณะกรรมการรางวัลโนเบลจึงเพิ่มอีกบรรทัดฐานเข้ามาคือ
 
6. “Attention to Unknown Masters” (1978- ) คณะกรรมการพยายามให้รางวัลแก่นักเขียนที่มีผลงานโดดเด่น แต่อาจถูกมองข้ามจากคนทั่วไป ช่วงนี้จึงมีกวีหลายคนได้รับรางวัลติดต่อกัน
 
เมื่อโลกย่างก้าวเข้าสู่โลกาภิวัตน์ คณะกรรมการก็อยากให้รางวัลมีความเป็นสากล (คือครอบคลุมทั่วทั้งโลกมากขึ้น) ความจริงแนวคิดนี้มีมาตั้งแต่สมัยอัลเฟรด โนเบลแล้ว แต่มันพูดง่ายทำยาก การที่คณะกรรมการจะเข้าถึงวรรณกรรมในส่วนอื่นของโลก โดยเฉพาะเอเชียและแอฟริกา ไม่ใช่ทำได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเพิ่มบรรทัดฐานเข้ามาอีกประการหนึ่งคือ
 
7. “The Literature of the Whole World” (1986- ) เราจึงได้เห็นรางวัลตกเป็นของโวเล่ ซอยอิงกา (ไนจีเรีย) นากิบ มาห์ฟูซ (อียิปต์ แคน สังคีตแปลเป็นไทยแล้วหลายเล่ม) นาดีน กอร์ดิเมอร์ (แอฟริกาใต้) โทนี มอร์ริสัน ถึงจะเป็นอเมริกัน แต่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนแรกที่ได้รับรางวัล เคนซาบุโร โอเอะ (ญี่ปุ่น) เกาสิงเจี้ยน (จีน มีผู้แปลแลวเรื่อง ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ)
 
นอกจากบรรทัดฐานเหล่านี้แล้ว มีเงื่อนไขเบ็ดเตล็ดเชิงปฏิบัติบางอย่าง เช่น
1. การให้รางวัลแก่วินสตัน เชอร์ชิลสำหรับงานเขียนประวัติศาสตร์ เป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์อย่างดุเดือด เนื่องจากเชอร์ชิลมีตำแหน่งใหญ่โตในรัฐบาลอังกฤษ แถมยังเป็นฝ่ายชนะสงครามด้วย ทำให้คณะกรรมการถูกกระแนะกระแหนว่าเอาใจผู้มีอำนาจ ดังนั้น นับแต่นั้นมา นักเขียนที่มีตำแหน่งในรัฐบาลมักไม่ได้รับรางวัล (เช่น อองเดร มาลโรซ์)
2. การให้รางวัลแก่เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ ซึ่งเขียนงานเชิงวรรณกรรมน้อยมากและไม่ได้มีคุณค่ามากนัก ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน ทำให้นับแต่นั้นมา คณะกรรมการจำกัดคำว่า วรรณกรรม ไว้ที่งานเขียนเชิงนวนิยาย บทละคร กวีนิพนธ์ เท่านั้น
3. การให้รางวัลแก่เพิร์ล เอส บัค ซึ่งเป็นปีที่เธอได้เข้าชิงปีแรก เป็นที่ประจักษ์ในภายหลังว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด (บ้างว่ารางวัลควรตกเป็นของเวอร์จิเนีย วูล์ฟมากกว่า) เพราะผลงานของเพิร์ล เอส บัคไม่ได้รับการยอมรับคุณค่าในวงการวรรณกรรมมากสักเท่าไร ดังนั้น นับแต่นั้นมา คณะกรรมการจะไม่ให้รางวัลแก่คนที่เข้าชิงปีแรก จะมอบให้ต่อเมื่อคน ๆ นั้นอยู่ในชอร์ตลิสต์ 3-4 ปี
4. คณะกรรมการตัดสินรางวัลมักไม่ชอบมอบรางวัลให้คนที่ดังเกินไป ป๊อบปูลาร์เกินไป คาดเดาได้ง่ายไป ด้วยเหตุนี้ ซัลแมน รัชดี, อาเธอร์ มิลเลอร์, มิลาน คุนเดอรา และคงรวมไปถึงแกรห์ม กรีน จึงมีโอกาสน้อยที่จะได้รับรางวัล
5. นักเขียนที่มีปัญหาทางการเมืองก็มักไม่ได้รับรางวัล เช่น บอร์เคสที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ นักเขียนอุษาคเนย์คนเดียวที่ว่ากันมีโอกาสได้รับรางวัลนี้มากที่สุด ก็ไม่ได้รับ ซึ่งว่ากันว่า (อีกนั่นแหละ) เป็นเพราะข้อกล่าวหาเรื่องที่ปรามูเดียเป็นคอมมิวนิสต์และสนับสนุนรัฐบาลซูการ์โนกวาดล้างนักเขียนฝ่ายตรงข้าม (แม้จะมีการพิสูจน์มาหลายครั้งแล้วก็ตามว่าไม่จริง)
6. มีผู้สันทัดกรณีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากประวัติศาสตร์ที่สวีเดนมีปัญหาบาดหมางกับรัสเซีย จึงทำให้ลีโอ ตอลสตอยและอันตัน เชคอฟไม่ได้รับรางวัล รวมทั้งการที่สวีเดนไม่ชอบระบอบสตาลินของสหภาพโซเวียต ทำให้นักเขียนรัสเซียที่ได้รับรางวัลคือนักเขียนที่วิจารณ์ระบอบสตาลิน เช่น ซอลส์นิทชิน, ปาสเตอร์แนก แม้แต่แฮร์ธา มึลเลอร์ที่ได้รับรางวัลคนล่าสุดก็วิจารณ์ระบอบสังคมนิยมในโรมาเนีย
7. แต่ในเมื่อสหภาพโซเวียตก็ล่มสลายไปแล้ว ในปัจจุบัน สวีเดนคงไม่ชอบสหรัฐอเมริกามากนัก ใน ค.ศ. 2005 คณะกรรมการก็เลยมอบรางวัลให้ฮาโรลด์ พินเทอร์ การที่พินเทอร์ได้รับรางวัลนั้นถือว่าสมควร แต่การให้ในเวลานั้นช่างมีไทม์มิ่งที่เหมาะเหม็ง เพราะพินเทอร์กำลังต่อต้านสงครามอิรักสุดตัว พินเทอร์ก็เลยอาศัยโอกาสนี้วิจารณ์รัฐบาลอเมริกันและอังกฤษไปทั่วโลกเสียเลย (ผู้เขียนเคยแปลปาฐกถาของพินเทอร์ไว้ที่ไหนสักแห่ง)
 
แม้คณะกรรมการอาจเคยทำผิดพลาดกับนักเขียนใหญ่หลายคน แต่ก็มีนักเขียนบางคนที่ไม่ได้รับรางวัล โดยที่ไม่ใช่ความผิดของคณะกรรมการ เนื่องจากรางวัลโนเบลนี้เป็นการให้นักเขียนที่ยังมีชีวิตอยู่ นักเขียนบางคนที่เสียชีวิตเร็วเกินไป หรือผลงานของเขาเผยแพร่หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว หรือผลงานของเขาเพิ่งได้รับความสำคัญในภายหลัง พวกเขาจึงไม่ได้รับรางวัลโนเบล และไม่ควรนำรายชื่อนักเขียนเหล่านี้ไปโทษว่าเป็นความผิดของคณะกรรมการ ได้แก่ ฟรานซ์ คาฟกา, มาร์เซล พรูสต์, โรเบิร์ต มูซิล (นวนิยายเรื่อง The Man Without Qualities ของเขานั้นยาวมากกก), การ์เซีย ลอร์กา, เฟร์นันดู เปสซัว (สองคนหลังนี้ รองผู้บัญชาการมาร์กอสชอบอ้างถึงบ่อย ๆ) เป็นต้น
 
สรุปข้อวิจารณ์ที่วงการวรรณกรรมมีต่อรางวัลโนเบลก็คือ
1. ไม่โปร่งใส ไม่เปิดเผยรายชื่อผู้เข้ารอบสุดท้าย (มักต้องคาดเดากันเอาเอง)
2. คณะกรรมการตามใจตัวเอง
3. ถือยุโรปเป็นศูนย์กลาง
4. ไม่สนใจวรรณกรรมเยาวชนหรือวรรณกรรมประเภทอื่น ๆ
5. มีผู้ได้รับรางวัลที่เป็นผู้หญิงและมาจากโลกที่สามน้อยไป
6. บางทีคณะกรรมการก็ให้รางวัลผิดเวลา เช่น กรณีของกึนเทอร์ กราสส์ ที่ควรได้มาตั้งนานแล้ว
7. บรรทัดฐานด้านอุดมคติแนวสิทธิมนุษยชน ทำให้ฝ่ายมาร์กซิสต์วิจารณ์ว่า คณะกรรมการใช้อุดมการณ์แบบเสรีนิยม/ปัจเจกบุคคลนิยมในการตัดสิน
 
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับคณะกรรมการและรางวัลโนเบล
ในตอนที่ซัลแมน รัชดีถูกอยาตุลเลาะห์โคไมนีประกาศประหารชีวิตหรือ fatwa นั้น มีเสียงเรียกร้องให้ราชบัณฑิตยสภาสวีเดนออกมาคัดค้านการกระทำดังกล่าว แต่ไม่เป็นผล ทำให้สมาชิกราชบัณฑิตสองคนลาออกประท้วง
 
เมื่อปีที่แล้ว (2008) ประธานกรรมการผู้ตัดสินรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม นายฮอเรซ เองดัล สร้างความฮือฮาเชิงลบอย่างมากในสหรัฐอเมริกา เมื่อเขาให้สัมภาษณ์เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมนักเขียนอเมริกันไม่ค่อยได้รับรางวัลโนเบล “สหรัฐอเมริกาตัดขาดจากโลกมากไป แยกตัวโดดเดี่ยวเกินไป แปลงานไม่มากพอและไม่ค่อยเข้าร่วมในการเสวนาด้านวรรณกรรมอย่างจริงจัง คุณจำต้องยอมรับความจริงว่า ถึงอย่างไรยุโรปก็ยังคงเป็นศูนย์กลางของโลกวรรณกรรมอยู่ดี”
 
ผู้เขียนขอปิดท้ายด้วยคำกล่าวของฌอง-ปอล ซาตร์ นักเขียนผู้ไม่ยอมไปรับรางวัลโนเบล เขากล่าวว่า “มันย่อมแตกต่างกันกับการที่ผมเซ็นชื่อว่า ฌอง-ปอล ซาตร์ หรือเซ็นชื่อว่า ฌอง-ปอล ซาตร์ นักเขียนรางวัลโนเบล นักเขียนต้องไม่ยอมให้ตัวเองกลายเป็นสถาบัน ต่อให้เป็นสถาบันที่ทรงเกียรติที่สุดก็ตาม”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท