Skip to main content
sharethis
  
20 พ.ย.52   ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดปาฐกกถาวิชาการเนื่องในโอกาส 60 ปี คณะรัฐศาสตร์ โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. เรื่อง “โลกไร้พรมแดนในประเทศที่มีพรมแดน: ความขัดแย้งระหว่างระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติกับสังคมโลกาภิวัตน์” และมีวงเสวนาต่ออีกในหัวข้อเดียวกันน
 
เสกสรรค์ กล่าวว่า ระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติกำลังถูกหักล้างกัดกร่อนอย่างรวดเร็วจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จนเกิดคำถามว่ารัฐชาติของไทยจะรักษาระเบียบอำนาจของตนไว้ได้หรือไม่ มันสายไปแล้วหรือไม่ที่จะจำกัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไว้ในกรอบคิดรัฐชาติ และอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐชาติต้องแปรรูปไปเป็นรัฐแบบอื่น เราพร้อมจะพบกับความเปลี่ยนแปลงระดับนั้นหรือสามารถควบคุมทิศทางการเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน ที่น่ากังวลคือ องค์ความรู้ที่ผ่านมายังไม่พอที่จะตอบคำถาม นี่เป็นวาระสำคัญของวงวิชาการสายสังคมศาสตร์ที่ต้องเร่งศึกษากันโดยด่วน
 
เสกสรรค์ กล่าวว่า มาถึงวันนี้ความขัดแย้งระหว่างรัฐชาติกับโลกาภิวัตน์ทำให้ไม่สามารถพูดผ่านจุดยืนของลัทธิชาตินิยมและระเบียบอำนาจรัฐชาติแบบเก่าๆ ได้แล้ว แรงกดดันของไอเอ็มเอฟเมื่อปี 2540 ดูเหมือนเป็นการละเมิดอธิปไตยไทย กฎหมาย 11 ฉบับก็เหมือนยอมจำนนเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามา แต่ผ่านมา 10 กว่าปีระเบียบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์กลายเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้กันทั้งโลก ทั้งยังมาจากกรอบคิดที่แตกต่างจากแนวคิดรัฐชาติโดยสิ้นเชิง เพราะยกเลิกพรมแดนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ไม่เฉพาะแรงกดดันภายนอก แต่เป็นแรงกดดันภายในด้วยที่สร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะการเปิดประเทศต้อนรับการค้าการลงทุนอย่างเสรีทำให้การแยกแยะผลประโยชน์ของต่างชาติหรือของคนไทยเป็นไปได้อยากขึ้น เพราะต่างเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน และการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจก็เป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
 
เขากล่าวต่อว่า ความขัดแย้งระหว่างระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติกับสังคมโลกาภิวัตน์ ไม่ได้หมายถึงการต่อสู้เชิงปฏิปักษ์ระหว่างไทยกับประเทศมหาอำนาจ หรือขัดกันโดยสิ้นเชิงของผลประโยชน์ไทยกับต่างชาติ แต่หมายถึงลักษณะที่อาจเข้ากันไม่ได้ หรือไม่ได้สอดคล้องกันระหว่างระเบียบอำนาจที่เราใช้อยู่กับสังคมที่แปรเปลี่ยนไป และทำให้รัฐไทยเผชิญปัญหาสำคัญคือ หนึ่ง การบูรณาการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์กับผลประโยชน์ของส่วนอื่นในสังคม ซึ่งประเด็นไม่ได้อยู่ที่การต่อต้านการค้าการลงทุนแบบไร้พรมแดน แต่ต้องจัดวางฐานะของมันให้เหมาะสมและบูรณาการผลประโยชน์ของทุกกลุ่มเข้าด้วยกันแทนที่จะปิดกั้นด้วยจินตนาการเรื่องชาติ และต้องบริหารความเป็นธรรมด้วย
 
สอง ปัญหาความไม่ลงตัวในการจัดสรรอำนาจทางการเมืองและพื้นที่ทางการเมืองแบบพหุลักษณะ ซึ่งเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนและข่าวสารแบบไร้พรมแดนที่กระตุ้นให้สังคมยิ่งทวีความหลากหลายและปกครองยากขึ้น อุดมการณ์ชาตินิยมครอบงำไม่ได้อีกต่อไป หากจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ โดยต้องไม่ผูกขาดนามความเป็นชาติและความเป็นไทย และเรียนรู้ที่จะแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีพื้นที่ทางการเมืองให้กับทุกฝ่าย หรือใช้การเมืองแบบมีส่วนร่วม
 
นอกจากนี้เศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนยังทำให้เกิดกลุ่มชนชั้นใหม่ๆ ที่มั่งคั่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วและมหาศาล เกิดกลุ่มทุนใหม่ที่ต้องการมีส่วนแบ่งในอำนาจเช่นกัน พวกเขาเติบโตหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ขณะที่กลุ่มทุนเก่าเสื่อมถอย และขึ้นสู่อำนาจผ่านระบบเลือกตั้ง พร้อมกับความคิดในการปรับเปลี่ยนกลไกรัฐและสังคมไทยให้เชื่อมร้อยกับโลกาภิวัตน์อย่างกระฉับกระเฉง แต่ไม่มีประสบการณ์และความรู้ที่เป็นศาสตร์ศิลป์ของการปกครอง ถูกท้าทายอย่างรุนแรงกระทั่งถูกโค่นลงด้วยรัฐประหาร 2549 และสังคมไทยก็ประสบกับความแตกแยกทางการเมืองที่หนักหน่วงร้ายแรงที่สุดนับแต่สิ้นสงครามเย็น
 
เสกสรรค์ กล่าวว่า ในความขัดแย้งหลัง 2549 ประเด็นสำคัญคืออุปสรรคของโครงสร้างที่ทำให้การแบ่งพื้นที่อำนาจระหว่างชนชั้นนำ หรือการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับมวลชนชั้นล่างเป็นไปได้ยาก เพราะรัฐไทยยังคงรวมศูนย์สู่ส่วนกลาง ทำให้การเมืองไทยมีลักษณะ Winner Takes All และส่งผลให้ความขัดแย้งของชนชั้นนำมักเดินไปสู่ความรุนแรงอยู่เป็นระยะๆ อีกทั้งยังขาดรากฐานของการปกครองตนเองระดับท้องถิ่นซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาสังคมกับรัฐ และศูนย์กลางกับท้องถิ่น เพื่อประชาสังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น และทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจจัดการตัวเอง เป็นหุ้นส่วนของโลกาภิวัตน์อย่างเสมอหน้า
 
(ติดตามอ่านฉบับเต็มได้ เร็วๆ นี้)
 
ช่วงต่อมาเป็นการเสวนาในหัวข้อเดียวกัน โดยมีรศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ ผศ.ดร.ขจิต จิตตเสวี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. ร่วมอภิปราย
 
เกษียร กล่าวถึงการสำรวจความคิดความเข้าใจเรื่องระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ และสังคมโลกาภิวัตน์ ผ่านงานชิ้นสำคัญคือ รัฐชาติเป็นเป็นรัฐตลาด ของฟิลลิป บ็อบบิตต์ (Phillip Bobbitt) ซึ่งมองว่า สนธิสัญญาปารีสในปี 1990 เป็นการจบลงของรัฐชาติและเริ่มต้นรัฐตลาด
 
อันที่จริง Bismarck ของเยอรมันกล่าวได้ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐชาติซึ่งมีเป้าหมายเป็นรัฐที่รับใช้ชาติ และเป็นรัฐที่สร้างสวัสดิการอยู่ดีมีสุขให้สมาชิกรัฐชาติได้คลี่คลายผ่านสงครามอันยาวนานนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และสงครามเย็น ซึ่งทำให้ตัวแบบของรัฐชาติที่สู้กันทั้งแบบฟาสซิสม์ คอมมิวนิสต์ และเสรีประชาธิปไตย เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียวคือเสรีประชาธิปไตย แต่หลังสงครามเย็นรัฐชาติแบบเสรีประชาธิปไตยก็เริ่มกลายพันธุ์ โดยเลิกจัดหาสวัสดิการให้สมาชิก เปลี่ยนไปสถาปนาความชอบธรรมบนฐานใหม่ คือ เพิ่มโอกาสสูงสุดให้พลเมืองของตนในการดิ้นรนหากำไรในตลาด และ เสนอให้ความมั่นคง ปลอดภัยขั้นพื้นฐานแก่พลเมืองในอันที่จะใช้ระบบตลาดนั้น ทำให้ขอบข่ายกิจกรรมของรัฐชาติแคบลงมาก
 
เกษียร กล่าวอีกว่า เราสามารถแบ่งลักษณะของรัฐตลาดได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐตาดแบบพาณิชย์นิยมของโตเกียว, รัฐตลาดแบบผู้จัดการของเบอร์ลิน, รัฐตลาดแบบบรรเทาทุกข์ของวอชิงตัน รวมไปถึงรูปแบบใหม่คือรัฐตลาดแบบอำนาจนิยมองปักกิ่ง
 
อย่างไรก็ตามหลังวิกฤต subprime รัฐชาติเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้งในการกอบกู้ อุดหนุนกระตุ้นตลาด ซึ่งโดยหลักรัฐตลาดแล้วไม่ควรทำ นอกจากนี้ยังถูกประชาชนบีบให้เข้าแทรกแซงควบคุมตลาดการเงินมากขึ้น และเดินนโยบายคุ้มครองการค้าแบบปกป้อง (protectionism) ให้มีการอุ้มตลาด การจ้างงาน และขยายสวัสดิการมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าในระบบเสรีนิยมใหม่ทั่วโลบก รัฐชาติก็ยังถูกผลักดันให้ทำสิ่งท่เคยทำ แต่แม้มีการผลิกกลับของบทบาทรัฐชาติเช่นนี้ แต่เสรีนิยมใหม่ก็ไม่ได้จบลง
 
เกษียร กล่าวถึงโลกาภิวัตน์ –เสรีนิยมใหม่ว่า นักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษคนหนึ่งเสนอว่ายุคนี้โลกไม่ได้หดลง หากแต่ถูกขยำให้ยับยู่ยี่ การเปลี่ยนแปลงในมิติระยะทาง สถานที่ ไม่ใช่เพราะเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องตรรกะของตลาด และฐานะอำนาจที่เหลื่อมล้ำของตลาด ดังนั้นโลกจึงไม่ได้หดลงทุกที่ บางพื้นที่ก็หด บางพื้นที่ไม่หด บางพื้นที่ถูกทอดทิ้ง ฯลฯ เขายังเสนออีกว่า หลังจากมีการยกเลิกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กีดกันการค้า (deregulation) แล้ว ก็จะมี re-regulation มาด้วยเสมอ ในบางมุมเราก็มีกฎเกณฑ์มากขึ้นจากแรงกดดันของโลกาภิวัตน์ เช่น การไล่จับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และมันยังทำให้เกิดการยกเลิกกฎหมายระดับชาติ แล้วแทนที่ด้วยกฎเกณฑ์ระดับสากล สร้างตลาดที่มีแบบแผนเดียวกันทั้งโลก
 
เกษียร ตอบคำถามว่าแล้วโลกาภิวัตน์นั้นดีหรือเลว โดยยกคำกล่าวของ โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) ว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐชาติว่าจะจัดการโอกาสและความเสี่ยงในแง่การเข้าถึง ใช้ และครอบครองทรัพยากรที่มากับโลกาภิวัตน์ได้แค่ไหน นอกจากนี้อำนาจขอโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ภายในพรมแดนนแต่ละประเทศก็ไม่ได้แสดงออกผ่านรัฐเท่านั้น หากแต่ผ่านภาคนอกรัฐ ไม่ว่าเอกชน ภาคประชาชน ปัจเจกชน ในลักษณะตำรวจตรวจจับตัวเอง สร้างระบบให้ปัจเจกคนขูดรีดตัวเองได้ และมีลักษณะตัวใครตัวมัน ไม่มีสำนึกรวมหมู่อีกต่อไป ซึ่งอาจเรียกได้ว่าคือ รัฐวิสัย หรือการควบคุมตัวเองจากการบริหารจัดการทรัพยากรแบบโลกาภิวัตน์
 
สำหรับแนวโน้มข้างหน้า เกษียรหยิบยกการวิเคราะห์ของวอลเดน เบลโล (Walden Bello) ว่า ถึงที่สุดเสรีนิยมใหม่ก็จะรอดจากวิกฤตนี้ เพราะสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าการคนมักตกอยู่ในลัทธิ corruption เชื่อว่ายิ่งรัฐมีอำนาจมากจะยิ่งคอรัปชั่นมาก และเสรีนิยมใหม่จึงเหมาะสมเพราะทำให้รัฐมีอำนาจน้อยลง, การที่คนส่วนใหญ่ยังตั้งคำถามว่า ถ้าไม่เอาเสรีนิยมใหม่แล้วจะเอาอะไร และสุดท้ายคือความหลงใหลว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ เมื่อเสรีนิยมใหม่ยังอยู่รอดเราอาจจะเจอภาวะ “รัฐล้างชาติ” หรือรัฐที่ถูกแปรรูป (privatize) โดยบรรษัทข้ามชาติให้เลิกรัใช้เป้าหมายของชาติ แต่รับใช้เป้าหมายของโลก เน้นอำนาจฝ่ายบริหารเท่านั้น และมีลักษณะเผด็จการมากขึ้น
 
จุลชีพมองว่า ปัจจุบันนี้คือ สภาวะที่เรียกว่าการปะทะกันทางอารยธรรม clash of civilization และนับตั้งแต่ปี 1989 ถึงปัจจุบันก็คือรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้เกิดความเปลี่ยนแปลงย่อยมหาศาล ไม่ว่าจะในเชิงปริมาณ เช่น การทำลายกำแพงเบอร์ลิน การล่มสลายของสหภาพโซเวียต หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น การเมืองที่เหลือขั้วเดียวคือ อเมริกา เศรษฐกิจที่เปลี่ยนเป็นหลายขั้วไม่ว่าอเมริกา สหภาพยุโรป เอเชีย ซึ่งปัจจุบันมีลักษณะคล้ายยุคสงคราม 30 ปี (1618-1648) ที่ชุมชนการเมืองมีหลายกหลายจนกระทั่งเหลือเพียงรูปแบบของรัฐชาติ และปัจจุบันรัฐชาติก็ถูกท้ายทายโดยโลกาภิวัตน์ หลังจากตลาดได้สร้งกฎเกณฑ์ระดับโลกทำให้ เงิน ข้อมูลข่าวสาร และค่านิยมบางอย่าง สามารถกระจายไปทั่วโลก ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ที่จะปฏิสัมพันธ์กับมันอย่างไร
 
อย่างไรก็ตาม มันก็มีแรงต้านของโลกาภิวัตน์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การตื่นตัวระดับภูมิภาค (regionalization) และเป็นปฏิกิริยาที่ท้องถิ่นพยายามจะพิทักษ์เอกลัษณ์ของตนเอง (Localism) พลังต่างๆ เหล่านี้ต่างกระทำกับรัฐชาติ ส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลง และสร้างความขัดแย้งของรัฐชาติในประเด็นของเขตแดนเกิดขึ้นทั่วสำหรับรัฐชาติที่ยังมี mind set แบบเดิม ขณะเดียวกันก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของการรวมกันเป็นประชาคม ซึ่งการเป็นประชาคมจะเป็นทางเลือกใหม่ของการลดความขัดแย้ง เขตแดนจะลดน้อยลง หรือหากมีก็จะแปรเป็นเขตแดนแห่งความร่วมมือมากขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่ที่มุมมองของรัฐบาลแต่ละประเทศว่าจะเข้าใจระบบโลกได้มากแค่ไหน และคำถามสำคัญคือ จะคุมระบบตลาด ระบบโลกได้อย่างไรด้วย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net