นิธิ เอียวศรีวงศ์: กับดักแห่งความเปลี่ยนแปลง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

มีปัจจัยสำคัญอยู่สองอย่างที่จะทำให้ประชาธิปไตยในสังคมใดก้าวหน้าได้

หนึ่ง คือชนชั้นนำซึ่งถือครองอำนาจและผลประโยชน์ ไม่สามารถขัดขวางความเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยได้ ผมใช้คำว่า"ไม่สามารถ" เพื่อจะบอกว่า ไม่มีชนชั้นนำในสังคมใดหรอกครับ ที่จะปล่อยวางอำนาจและผลประโยชน์ที่มีอยู่โดยไม่ถูกสถานการณ์บีบบังคับ ในขณะเดียวกันก็เป็นไปได้ด้วยว่า ในบางสังคม เมื่อชนชั้นนำมีลักษณะที่หลากหลายมากขึ้น การแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์อาจไม่ลงตัว และมีทีท่าว่าจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน อันจะเป็นผลเสียแก่อำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำเอง พวกเขาอาจยินยอมพร้อมใจใช้บางส่วนของระบอบประชาธิปไตย เช่นการเลือกตั้ง เพื่อจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์กันให้เป็นไปได้โดยสงบ... นี่ก็ถือว่าถูกสถานการณ์บีบบังคับเช่นกัน

สอง ชนชั้นนำถูกสถานการณ์บีบบังคับอย่างเดียวยังไม่พอ ประชาชนในสังคมนั้นๆ ต้องหลุดออกจากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องเลิกเชื่ออัศวินม้าขาว ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาไม่อาจแก้ได้ด้วยอำนาจภายนอก แต่แก้ได้ด้วยอำนาจของตัวเขาเอง ดังนั้นเขาจึงต้องเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการ จัดการทรัพยากรสาธารณะ นอกจากผ่านการเลือกตั้งแล้ว ยังผ่านกระบวนการอื่นๆ อันเป็นกระบวนการปกติธรรมดาของระบอบประชาธิปไตยทั่วไป ตราบเท่าที่ประชาชนยังเชื่อว่าอำนาจจากภายนอกเท่านั้น ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ ตราบนั้นก็ไม่มีทางเกิดประชาธิปไตยในสังคมได้

ลำพัง แต่ชนชั้นนำถูกบีบบังคับด้วยสถานการณ์อย่างเดียวจึงไม่พอ ในทางตรงกันข้าม ชนชั้นนำอาจใช้หน้ากากประชาธิปไตย เพื่อผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์ไว้ในกลุ่มของตนต่อไปไม่สิ้นสุด อย่างที่เกิดในเมืองไทยนั่นแหละ

แม้ว่าความเคลื่อนไหวของประชาชนใน รอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา จะใช้ชื่อ "ประชาธิปไตย" ทั้งสองสี แต่ก็ไม่ได้มุ่งที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแท้จริงขึ้นในประเทศไทยทั้งสองสีเหมือนกัน

ทั้งสองสีต่างเป็นนอมินีของกลุ่มชนชั้นนำซึ่งแตกแยกและแก่งแย่งอำนาจ-ผลประโยชน์กันเอง สีแดงนั้นทำให้เห็นชัดเจนว่าเขาต่อสู้เพื่อทักษิณและบริษัทบริวาร ซึ่งเพิ่งโผล่เข้าไปในกลุ่มชนชั้นนำไม่นานมานี้ สีเหลืองไม่ได้อ้างว่าต่อสู้ให้แก่ชนชั้นนำกลุ่มใด แต่แผนการทางการเมืองและการดำเนินการเคลื่อนไหวชี้ให้เห็นว่า พวกเขาคือนอมินีของกลุ่มชนชั้นนำเดิมซึ่งผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์ของประเทศ ไว้สูงสุดมาหลายสิบปี

ทั้งสองฝ่ายต่างถือว่า ชนชั้นนำกลุ่มของตนเป็นอัศวินม้าขาว ถ้าทักษิณกลับเข้ามาปัญหาของทุกฝ่ายก็จะได้รับการแก้ไข หรือในทางตรงกันข้าม กลับไปอยู่ภายใต้การนำอย่างเด็ดขาดของกลุ่มชนชั้นนำเดิม ปัญหาของทุกฝ่ายก็จะได้รับการแก้ไขเช่นกัน และจะทำได้ดีกว่าด้วยเพราะคนเหล่านั้นไม่โกงหรือโกงน้อยกว่า (???)

ไม่มีฝ่ายใดที่พยายามบอกประชาชนว่า หมดเวลาของอัศวินม้าขาวแล้ว และปัญหาต่างๆ นั้นประชาชนต้องมีอำนาจในการแก้ไขให้แก่ตนเอง "การเมืองใหม่" และการเมืองแบบทักษิณ คือการเมืองของระบบอุปถัมภ์ไม่ต่างอะไรกัน

ผมยอมรับว่า ทั้งสองสีต่างมีผู้เข้าร่วม (ไม่ใช่ระดับแกนนำ) ที่มองประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายจริงๆ คนเหล่านี้เข้าร่วมไม่ใช่ด้วยความศรัทธาต่อแกนนำหรือต่ออุดมการณ์เผด็จการ ที่แกนนำเสนอ แต่คิดว่าเพราะเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ จึงร่วมขบวนเพื่อประโยชน์ของอุดมการณ์ประชาธิปไตยของตน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนเหล่านี้หวังว่าจะใช้สีเหลืองและสีแดงเป็นเพียงเครื่องมือ

อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไปร่วม 4 ปีแล้ว กลุ่มประชาธิปไตยเหล่านี้ยังไม่สามารถแทรกแนวคิดของตนลงไปในความเคลื่อนไหว ได้สักกระผีกริ้นเดียว

(ข้อเสนอของผมต่อคนเหล่านี้ก็คือ หยุดเข้าไปร่วมได้แล้ว และหาทางเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยตนเองในวิถีทางอื่น เพราะหนทางของสองสีเป็นทางตันที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยแท้จริง)

ผมคิดว่า จะมองเห็นความไม่ประชาธิปไตยในการเคลื่อนไหวของสองสีนี้ได้ชัด หากนำไปเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน, ชาวบ้านต่อต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด หรือสระบุรีและที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง, ชาวบ้านสะเอียบที่ต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น, ชาวสลัมสี่ภาค,ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ฯลฯ

การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ไม่สนใจจะยกอำนาจให้แก่อัศวินม้าขาวคนใด และไม่ได้สอดคล้องกับอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำกลุ่มใด แม้ว่าในระยะเริ่มต้นอาจเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะตน แต่หลังจากเริ่มเคลื่อนไหวแล้ว ก็ดึงประชาชนหลากหลายกลุ่มเข้าร่วมสนับสนุน จึงทำให้ประเด็นขยายกว้างขึ้นสู่นโยบายสาธารณะระดับประเทศ เช่นนำไปสู่การทบทวนนโยบายพลังงานซึ่งเป็นที่เกาะกินของชนชั้นนำกลุ่มเดิมมา ตั้ง พ.ศ.2500 เช่นเดียวกับนโยบายการจัดการน้ำด้วยเขื่อน, นโยบายที่อยู่อาศัยและโครงสร้างการถือครองที่ดิน, สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพโดยเท่าเทียมกัน ฯลฯ และเช่นเดียวกับนโยบายพลังงาน นโยบายเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่หาประโยชน์อย่างมูมมามของชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

นี่คือสำนึกประชาธิปไตยที่แท้จริง คือวางการแก้ปัญหาไว้ที่อำนาจของตนเองในฐานะพลเมืองของระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งไม่ยินยอมเป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นนำกลุ่มใด แม้แต่ต้องเผชิญกับอำนาจของชนชั้นนำซึ่งกุมอำนาจรัฐไว้ก็ไม่สะทกสะท้าน (โดยไม่ต้องยึดทำเนียบ, สนามบิน หรือก่อจลาจลทั้งเมือง)

ในทางตรงกันข้าม การเคลื่อนไหวของสีเหลืองและสีแดง ไม่ได้ให้ความสนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับประชาชนเลย เช่นไม่มีใครพูดถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และแผนพลังงานซึ่งส่อให้เห็นว่า ชนชั้นนำกลุ่มเดิมกำลังคืบคลานมาสวาปามพื้นที่พลังงานอย่างเต็มที่เหมือนเดิม ไม่มีฝ่ายใดพูดถึงการรื้อฟื้นการสร้างเขื่อนที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลกลับคืนมาในนโยบายไทยเข้มแข็ง ฯลฯ และอื่นอีกมาก ทั้งนี้เพราะปัญหาจากนโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องลุกขึ้นมา จัดการเอง หวังพึ่งอัศวินม้าขาวไม่ได้ เพราะอัศวินเองนั่นแหละที่ได้ผลประโยชน์และอำนาจจากโครงการเหล่านี้

แม้กระนั้นผมก็เชื่อว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว แม้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนจะซบเซาลงในสื่อช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ที่จริงแล้ว ก็ยังคงมีความเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวของสองสีไม่ใช่คำตอบสำหรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยแน่ แต่เป็นการเปิดสนามรบใหม่ของกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น

ตรงกันข้ามกับที่บางคนพูดว่าการเคลื่อนไหวของสองสีในช่วงนี้เป็นคุณูปการต่อประชาธิปไตยไทย ผมกลับเห็นแต่ภยันตรายที่น่าวิตก เป็นครั้งแรกที่กลุ่มชนชั้นนำไทยเลือกใช้ท้องถนนเป็นสนามรบ ผสมกันไปกับการทำรัฐประหาร(โดยเปิดเผยหรือบนโต๊ะเจรจา) สนามรบนี้เข้ามาแทนที่การลากรถถังและปืนใหญ่ออกมาข่มขู่กันอย่างที่เคยใช้มาก่อน และลงเอยที่การยอมแพ้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้รักษาผลประโยชน์เดิมที่มีอยู่เอาไว้ แม้ริบเอาอำนาจที่เคยมีมาไปโดยสิ้นเชิง ดูภายนอกเหมือนรุนแรง แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับสงบราบคาบในเวลาอันรวดเร็ว

การต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเองได้เปลี่ยนไปนับตั้งแต่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรขึ้นสู่อำนาจ เพราะกลายเป็นการต่อสู้ในเกมที่ใครได้จะได้หมดและใครเสียจะเสียหมด จึงทำให้การต่อสู้พร้อมจะรุนแรงและยืดเยื้อได้ เพราะไม่มีฝ่ายใดจะยอมเสียหมดอย่างแน่นอน

ประเทศไทยจึงเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสองอย่าง หนึ่งการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเองเปลี่ยนไปเสียแล้ว ในขณะที่สังคมไทยโดยรวมก็เปลี่ยนไปด้วยซึ่งช่วยทำให้การต่อสู้ของชนชั้นนำมีลักษณะรุนแรงมากขึ้น

การต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำบนท้องถนนจะดำเนินต่อ ไปอีกนาน (ไม่ว่าจะสวมเสื้อสีอะไร) แต่ไม่ว่าฝ่ายใดชนะ ก็ไม่ทำให้ประชาชนมีอำนาจในตัวเองมากขึ้น รู้ว่าใครชนะก็จะได้ฝากตัวให้ถูกสายเท่านั้น ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ไม่อาจตอบปัญหาของประชาชนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เสียแล้ว ฉะนั้นฝ่ายประชาชนเองก็คงต้องต่อสู้บนท้องถนนเพื่อประชาธิปไตยต่อไปอีกนาน (ไม่ว่าจะสวมเสื้อสีอะไร)

ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่อย่าโหยหาอดีต เพราะอดีตไม่มีวันหวนคืน เราต้องช่วยกันคิดว่าจะหลุดไปจากกับดักแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร โดยสูญเสียน้อยที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท