Skip to main content
sharethis

ลูกหลานชาวชายแดนใต้ที่อาศัยในยุโรป คิดตั้งสมาคม พร้อมยกพลเยี่ยมถิ่นบรรพบุรษ ติดต่อขอเข้าประเทศผ่านองค์กรถูกกฎหมายในไทย เกรงถูกมองเอี่ยวป่วนใต้ ลุยค้นหาความจริงเองเหตุการณ์กรือเซะ ตาใบ ไอร์ปาแย ชี้เหตุรัฐไทยไม่มีคำตอบให้

 

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มนักศึกษา เยาวชนและคนหนุ่มสาวในยุโรป ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวมลายูมุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาศัยอยู่ในหลายประเทศในยุโรปซึ่งมีอยู่หลายพันคน แต่มีสัญญาชาติเป็นชาวยุโรป เช่นในเยอรมนี สวีเดน และประเทศอื่นๆ กำลังรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งสมาคมขึ้น โดยได้ติดต่อมายังตนเพื่อขอให้ติดต่อหน่วยงานในประเทศไทยที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้รับรองกรณีที่พวกเขาจะรวมกลุ่มกันเดินทางมาเยี่ยมบ้านเกิดของบรรพบุรุษที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เร็วนี้
 
พล.ต.ต.จำรูญ เปิดเผยต่อว่า เหตุที่พวกเขาต้องการให้หาหน่วยงานที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยรับรองพวกเขา เนื่องจากไม่ต้องการให้ถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ โดยตนได้เสนอชื่อสำนักสันติวิธีและธรรมมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าให้เป็นหน่วยงานที่รับรองพวกเขา ซึ่งทางสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลเห็นชอบที่จะให้เสนอเป็นหน่วยงานนี้แล้ว
 
พล.ต.ต.จำรูญด้วยว่า สำหรับเหตุที่พวกเขาต้องการเดินทางมาเยี่ยมบ้านเกิดของบรรพบุรุษครั้งนี้ เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรุนแรงขึ้นมา โดยจากการติดตามการนำเสนอของสื่อต่างๆ ทำให้พวกเขามองว่า ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกรังแก ไม่ว่าจากกรณีเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และล่าสุดคือกรณีการสังหารหมู่ชาวมุสลิมที่บ้านไอร์ปาแย จังหวัดนราธิวาส แม้ยังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั้งชาวไทยพุทธ มุสลิม ข้าราชการและชาวบ้านทุกวันก็ตาม
 
“ทั้ง 3 เหตุการณ์รัฐบาลไทยไม่มีคำตอบให้พวกเขา ทั้งจากการติดตามจากสื่อมวลชน และจากการกระบวนการยุติธรรม จึงทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเดินทางมารับรู้ข้อเท็จจริงจากพื้นที่ เป็นการหาคำตอบด้วยตัวเอง จากนั้นพวกเขาก็จะกลับไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ยุโรป เพื่อให้คำตอบว่าสิ่งที่พวกเขาเดินทางมาได้เจออะไรบ้าง ตรงกับข่าวที่อออกไปหรือไม่” พล.ต.ต.จำรูญ กล่าว
 
พล.ต.ต.จำรูญ เปิดเผยต่อว่า กรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีกลุ่มนี้เท่านั้นที่ให้ความสนใจ แม้แต่รัฐบาลในประเทศของพวกเขา รวมทั้งสหภาพยุโรป หรือ อียู (EU) ก็ให้ความสนใจมากด้วย ซึ่งความสนใจตรงนี้มีส่วนทำให้พวกเขาต้องการเดินทางมาลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยตัวเองด้วย นอกเหนือจากที่ตัวแทนอียูหลายประเทศได้เดินทางมาแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net