ใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงคุมกทม.28พ.ย.ถึง14ธ.ค.ครม.วอน"มาร์ค"ถนอมตัวอย่าไปเชียงใหม่

ครม.ประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงฯ ทั่วกทม.พ่วงใช้กฎหมายอีก 14 ฉบับรวม "พรบ.คอมพิวเตอร์" มาร์ค ยันใช้แล้วผู้ประกอบการมีความมั่นใจ ไม่กระทบการท่องเที่ยว เผยสุเทพขอใช้แค่ดุสิต พระนคร ป้อมปราบฯ แต่ ‘มาร์ค’ เป็นต้นคิดประกาศใช้ทั้ง กทม. สุเทพบอกใช้ พรบ.ความมั่นคงเพราะเสื้อแดงมุ่งล้มล้างรัฐบาล จาบจ้วงเบื้องสูง

 
 
อภิสิทธิ์แจงประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงทั่ว กทม. 28 พ.ย. – 14 ธ.ค.
สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรีรายงานว่า วานนี้ (24 พ.ย.) เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงสาเหตุที่ ครม.ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน -14 ธันวาคม 2552 ว่า เนื่องจากเห็นว่าในช่วงนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังเตรียมงานทั้งในเรื่องของการจัดพระราชพิธี รัฐพิธี และงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 5 ธันวาคม 2552 ซึ่งในการจัดงานดังกล่าวจะใช้พื้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงต้นเดือนธันวาคม โดยในส่วนของทหารก็จะมีการซ้อมและการรวมพลสำหรับงานสวนสนามด้วย รวมไปถึงเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในเรื่องของการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้ที่ยังยืนยันจะมาชุมนุม จึงต้องใช้กฎหมายความมั่นคงเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการให้สถานการณ์ต่าง ๆ อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกับที่ได้เคยประกาศมาแล้วในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ หลายครั้ง ดังนั้นครม.จึงได้มีมติให้ประกาศพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน -14 ธันวาคม 2552 เป็นพื้นที่ความมั่นคง โดยจะมีการดำเนินการตามกฎหมายในการออกประกาศต่าง ๆ ต่อไป
 
ส่วนที่มีการขยายพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จากเขตดุสิตและสองแขวงเป็นเต็มพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากตามแผนของผู้ชุมนุมซึ่งได้รับรายงานนั้น มีแนวคิดที่จะกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องการที่จะดูแลให้ทุกอย่างอยู่ในความสงบเรียบร้อย และพยายามที่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งหากจะไปรอว่ามีการกระจายผู้ชุมนุมไปตามพื้นที่ต่าง ๆ แล้วไปประกาศตามนั้นก็จะไม่ทัน เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นลักษณะของกฎหมายในเชิงป้องกัน ไม่ใช่ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เป็นกฎหมายที่ทำไว้เพื่อป้องกัน และทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกี่ยวกับการจัดการในเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยวันนี้ก็จะมีการออกข้อกำหนดและรายละเอียดต่าง ๆ ต่อไป
 
 
ยังไม่ประกาศ พรบ.ความมั่นคงที่เชียงใหม่ ขอหารือคนจัดงาน
ต่อข้อถามว่า ทำไมไม่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ยังอยู่ในช่วงที่ทางฝ่ายความมั่นคงกำลังหารือเรื่องรายละเอียดกับผู้จัดงาน เพราะฉะนั้นจะทราบข้อมูลต่าง ๆ ชัดเจนคาดว่าประมาณปลายสัปดาห์ ซึ่งถ้าช่วงปลายสัปดาห์หากมีความจำเป็นจริง ๆ ก็จะมีการประชุม ครม.เพื่อที่จะประกาศ แต่ในชั้นนี้ก็ให้เป็นเรื่องของคนที่ทำงานได้มีการหารือกับทางฝ่ายผู้จัดงานก่อน
 
ต่อข้อถามว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะมาชุมนุมนั้นทางฝ่ายการข่าวหรือฝ่ายความมั่นคงได้มีการประเมินสถานการณ์ไว้อย่างไรบ้าง และจำนวนคนที่จะเข้ามามีนับล้านคนอย่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้พูดไว้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความเคลื่อนไหวในภูมิภาคต่าง ๆ ที่จะระดมพลเข้ามา แต่จะเข้ามาจำนวนเท่าไรนั้น คงตอบยาก แต่ตัวเลขหนึ่งล้านเป็นตัวเลขที่สูงมาก
 
ต่อข้อถามว่า กรณีของคนต่างด้าวที่จะนำมาร่วมชุมนุมด้วยนั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในบางพื้นที่ก็มีข่าวความเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวอยู่ ซึ่งทางกระทรวงแรงงานก็ได้มีการเข้มงวดกวดขันอยู่ในขณะนี้
 
ต่อข้อถามว่า รัฐบาลแตกตื่นเกินไปหรือไม่ที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทุกพื้นที่ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีเดินทางไปไหนก็ต้องประกาศทุกพื้นที่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้ประกาศเลยครับ ประกาศเฉพาะพื้นที่ที่กรุงเทพฯ
 
 
มั่นใจไม่กระทบการท่องเที่ยว
ต่อข้อถามว่า การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะกระทบต่อการท่องเที่ยวหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มั่นใจไม่กระทบ โดยมีเหตุผลคือ 1. เราเคยได้ใช้กฎหมายดังกล่าวมาแล้ว และขณะนี้ก็เป็นที่เข้าใจค่อนข้างดีว่าเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อป้องกันเหตุการณ์ต่าง ๆ 2.ตนเพิ่งได้พบปะกับผู้ประกอบการทางด้านธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเขาได้ให้ความเห็นว่าอยากให้ประกาศกฎหมายความมั่นคง ให้เขามีความมั่นใจว่ารัฐบาลมีเครื่องมือในการที่จะบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดีกว่า ทั้งนี้ในทางตรงกันข้ามหากบริหารสถานการณ์ไม่ได้ผลเสียจะมีมากกว่า
 
 
บางม็อบไม่ประกาศ พรบ.ความมั่นคง เพราะวัตถุประสงค์การชุมนุมต่างกัน
ต่อข้อถามว่า นายกรัฐมนตรีจะมีคำอธิบายอย่างไรกับคำที่ถูกข้อครหาว่ามีสองมาตรฐานคือเหลือมาไม่ประกาศกฎหมายความมั่นคงแต่แดงมาประกาศ ซึ่งตรงนี้จะทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของชุมนุมและข่าวความเคลื่อนไหวต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน โดยหากกลุ่มอื่น ๆ ที่มาเคลื่อนไหวนั้น มีข่าวหรือมีการประกาศ หรือมีการพูดกันเป็นการภายในว่าจะทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ก็คงจะต้องประกาศเหมือนกันไม่มีความแตกต่าง และไม่ได้ดูว่าเป็นกลุ่มใด แต่ดูว่าข่าวรายงานมีความเคลื่อนไหวจะทำอะไร ซึ่งความจริงในกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ก็มีการทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจนอยู่แล้วในขณะนี้ คือไปชักชวนหรือไปปลุกระดมกันให้มีการใช้ความรุนแรง
 
ต่อข้อถามว่า หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลควรทำอะไรที่รอบคอบมากกว่านี้ ไม่ใช่เป็นการท้าทายนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ท้าทาย รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงมาทุกครั้งไม่ได้ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลใดเลย แต่สามารถบริหารจัดการให้สถานการณ์ของการชุมนุมนั้นผ่านพ้นมาได้ด้วยดี 3-4 ครั้ง ตรงนี้คือความรอบคอบและก็ไม่ได้เป็นเรื่องของความท้าทายแต่อย่างใด เพียงแต่ให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการที่จะบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดีกว่า
 
ต่อข้อถามว่า จากการที่ได้มีการประกาศกฎหมายความมั่นคงมาหลายครั้งได้มีการประเมินและวิเคราะห์หรือไม่ว่าผลเป็นอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีการวิเคราะห์และได้ส่งรายงานไปให้ทางสภาฯ ด้วย ส่วนมีการใช้งบประมาณในการประกาศกฎหมายความมั่นคงหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การระดมกำลังเจ้าหน้าที่มาก็ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็ต้องถือว่าคุ้มหากสามารถที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ เพราะถ้าไม่สงบเรียบร้อยอะไรจะเกิดขึ้น เวลาที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นแต่ละครั้งเราต้องเผชิญรุนแรงมาก ซึ่งมากกว่าค่าใช้จ่ายหลายเท่าตัว ทั้งนี้หากถามว่ารัฐบาลอยากใช้เงิน เพื่อที่ลักษณะนี้หรือไม่ ก็ต้องบอกไม่ได้อยากใช้ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ เป็นหน้าที่ก็ต้องทำ
 
ต่อข้อถามว่า การประกาศกฎหมายความมั่นคงทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนเท่าไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กำลังเจ้าหน้าที่คงไม่ได้เพิ่มเติมมาก เพียงแต่เป็นความคล่องตัวในเวลาที่จำเป็นต้องใช้มาตรการเพิ่มขึ้นในการตรวจสอบในเรื่องความเคลื่อนไหว
 
 
เผยมาร์คเสนอเองประกาศครอบคลุม กทม. กษิตห่วงสถานการณ์มาก
มติชนออนไลน์ อ้างว่า รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม ครม. นายสุเทพเป็นผู้เสนอประกาศ พ.ร.บ. มั่นคง ใน 3 พื้นที่ คือ เขตดุสิต และ 2 แขวง คือ แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร และแขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่นายกฯ ได้เสนอควรประกาศให้คลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด โดยมีรัฐมนตรีหลายคนสนับสนุน
 
ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วิเคราะห์ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงตั้งเป้าล้มรัฐบาลให้ได้ หากประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงเพียงบางส่วน แล้วค่อยนัดประชุม ครม. เพื่อประกาศพื้นที่เพิ่มเติมภายหลังอาจไม่ทันกาล รัฐบาลจะปล่อยให้เกิดเรื่องเหมือนในอดีตไม่ได้อีกแล้ว รู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์ในการชุมนุมครั้งนี้มาก เพราะ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทยกับพวกไปอยู่ตรงนั้นแล้ว ต่างจากเมื่อเดือนเมษายนที่ยังไม่มี พล.อ.ชวลิต
 
ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ากลุ่มคนเสื้อแดงต้องการรบขั้นแตกหัก เชื่อว่าอาจมีแผนเคลื่อนไปปิดสนามบินสุวรรณภูมิด้วย ด้านนายอิสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คาดว่าจะมีคนมาร่วมชุมนุมเป็นล้านคน
 
 
ปณิธานหวั่นซ้ำรอยเมษายน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงประเมินสถานการณ์ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงตั้งใจจะระดมคนให้ได้มาก หวังสร้างเงื่อนไขหลังวันที่ 30 พฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยจะกระจายกำลังคนไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีทั้งแรงงานต่างด้าว คนที่ผ่านการฝึกอบรม แกนนำรุ่นใหม่ที่เป็นพวกหัวรุนแรง ดังนั้นถ้ามีการดาวกระจายแล้วภาครัฐจัดระบบไม่ดี อาจเกิดการปะทะกัน และทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาได้ เพราะวัตถุประสงค์ของกลุ่มคนเสื้อแดงคือทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่อยู่ในสถานะ ที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะการไม่สามารถดูแลการจัดพระราชพิธีสำคัญให้ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบ ร้อยได้ ยอมรับว่าการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงครั้งนี้มีแนวโน้มเหมือนเหตุการณ์ชุมนุม เดือนเมษายนที่ผ่านมา
 
นายปณิธานกล่าวว่า หลังประกาศ พ.ร.บ.มั่นคง จะกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานีขนส่ง จุดเข้า-ออก กทม. บ้านพักบุคคลสำคัญ สถานที่ราชการ
 
 
"สุเทพ"แจงป้องกันคนร่วมงานฉลอง
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯด้านความมั่นคง กล่าวก่อนประชุม ครม.ว่า ที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคง เพราะต้องการปกป้องประชาชนที่ออกมาเฉลิมฉลองร่วมใจกันจัดงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากไม่ป้องกันเอาไว้ก็เป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่มางาน เมื่อถามว่า จะขีดวงให้กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมเฉพาะบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะคนมางานเป็นแสนหากเจอคนที่มาชุมนุมก็จะทำให้คนที่มางานลำบากใจ
 
นายสุเทพกล่าวว่า ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยนายกฯ หากจะเดินทางไป จ.เชียงใหม่นั้น จากการเดินทางไปดูพื้นที่ จ.เชียงใหม่ คิดว่าวิธีการที่จะทำให้ทุกอย่างสงบเรียบร้อยได้ก็ต้องใช้การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งสามารถประกาศห้ามชุมนุมบางถนน บางท้องที่ได้ ใครมาชุมนุมก็จะถูกจับกุมดำเนินคดี
 
เมื่อถามว่า กลัวอะไรถึงประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง นายสุเทพกล่าวว่า 1.จำนวนคน เพราะทราบว่าเขาพยายามให้ ส.ส.ขนคนมา ภาคเหนือตอนบนเขามี ส.ส.ตั้ง 34 คน 2.เหตุการณ์ที่ จ.เชียงใหม่ เคยมีความรุนแรงถึงขนาดฆ่าคนตายบนถนน 3.ปลุกระดมทางวิทยุชุมชนทุกวัน ส่วนกรณีที่มีการประโคมข่าวลอบสังหารนายกฯนั้นประเมินไม่ได้ แต่เมื่อมีข่าวก็ไม่ประมาท
 
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคว่า นายสุเทพชี้แจงว่าเป็นเพียงการชุมนุมช่วงแรกเท่านั้น แต่หลังจากงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาแล้ว คาดว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะชุมนุมระลอกสอง โดยเป้าหมายเพื่อเร่งเร้าให้รัฐบาลยุบสภา
 
 
ครม.ขอร้อง"มาร์ค"งดไปเชียงใหม่ บุญจง-ชุมพลเลี่ยงใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน
แหล่งข่าว มติชนออนไลน์ ยังกล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม ครม. รัฐมนตรีส่วนใหญ่ อาทิ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการมหาดไทย นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ เสนอให้นายกฯยกเลิกเดินทางไป จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน โดยนายบุญจงระบุว่า จ.เชียงใหม่ เป็นรังเสื้อแดง อยากให้นายกฯถนอมเนื้อถนอมตัวเอาไว้ เป็นห่วงกันว่ากลุ่มคนเสื้อแดงอาจใช้เหตุการณ์วันที่ 29 พฤศจิกายน เป็นตัวจุดชนวนแล้วลามมาก่อความวุ่นวายในกรุงเทพฯ แม้แต่นายสุเทพให้ความเห็นว่า "ถ้าถามในความเห็นของผม ผมก็เห็นว่าท่านไม่ควรไป แม้จะมั่นใจในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่ก็ไม่อยากให้เกิดการปะทะและสูญเสีย"
 
ท้ายที่สุดนายกฯจึงสรุปว่า ครม.จะยังไม่ประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงใน จ.เชียงใหม่ เว้นแต่ตนจะเดินทางไป จ.เชียงใหม่ ก็ค่อยมาพิจารณาเรื่องนี้ ส่วนจะไปหรือไม่ ขอรอดูสถานการณ์อีกครั้งก่อน
 
ที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ ถือเป็นพื้นที่ล่อแหลม ซึ่งนายชวรัตน์ก็ได้รับเชิญไปเช่นกัน แต่จะใช้วิธีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน
 
ที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ชทพ. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงที่ จ.เชียงใหม่ และใจของตนก็ไม่อยากให้นายกฯไปร่วมประชุม น่าจะใช้วิธีประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน
 
 
สุเทพบอกใช้ พรบ.ความมั่นคงเพราะเสื้อแดงมุ่งล้มล้างรัฐบาล จาบจ้วงเบื้องสูง
ขณะเดียวกัน ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ในการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ วันเดียวกันนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรค ทำหน้าที่แทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคที่เดินทางไปปฏิบัติราชการที่ประเทศกาตาร์ โดยนายสุเทพ กล่าวชี้แจงที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ควบคุมสถานการณ์ที่กรุงเทพฯและจังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างที่มีการนัดชุมนุมของคนเสื้อแดงว่า รู้อยู่แล้วว่าวัตถุประสงค์ของการนัดชุมนุมมุ่งหวังอะไร และครั้งนี้ก็เช่นกัน ชัดเจนมุ่งจะล้มล้างรัฐบาลและจาบจ้วงถึงสถาบันเบื้องสูง ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการรองรับ สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ จะให้ซ้ำรอยไม่ได้เด็ดขาด
 
สำหรับการที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปร่วมประชุมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่นั้น ส่วนตัวแม้ไม่เห็นด้วย เพราะมีการประกาศผ่านวิทยุชุมชนปลุกระดมให้เกิดความจงเกลียดจงชังรัฐบาลและ ตัวนายกรัฐมนตรี ตลอดจนรัฐมนตรีอย่างชัดเจนว่า เป้าประสงค์หมายปองถึงขั้นเอาชีวิต แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเองได้ประกาศไว้แล้วว่าจะไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างใน อดีตที่ผ่านมา ทุกคนจะได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน และนายกรัฐมนตรีไม่มีสิทธิที่จะกลัว ถือเป็นการไปทำหน้าที่
 
 
 
ใช้ พรบ.ความมั่นคง พ่วงกฎหมาย 14 ฉบับคุม กทม.
ที่มา: มติชนออนไลน์, 24 พ.ย. 52
 
หมายเหตุ: กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เสนอเหตุผลประกอบการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่ กทม. ดังนี้
 
 
ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายนเป็นต้นไป มีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากการที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน ในการปลุกระดมและนัดชุมนุมให้เข้าร่วมในการเรียกร้องความต้องการตามแนวทาง และผลประโยชน์ของกลุ่ม มุ่งหวังเพื่อกดดันให้นายกฯยุบสภาหรือลาออก โดยกำหนดให้มีการชุมนุมและเคลื่อนไหวตามถนนและสถานที่สำคัญในเขต กทม.
 
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตโดยปกติของ ประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ประกอบกับการชุมนุมดังกล่าวมีเจตนาดำเนินการในลักษณะยืดเยื้อ และอยู่ในห้วงการจัดงานพระราชพิธี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งอาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มก่อเหตุระหว่างการชุมนุม และขยายลุกลามจนเกิดสถานการณ์ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
 
จึงเสนอประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราช อาณาจักร ในพื้นที่ กทม. ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน-14 ธันวาคม 2552 โดยให้ กอ.รมน.เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจัดทำแผนการดำเนินการในการบูรณาการ กำกับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานเพื่อปฏิบัติภารกิจนี้เป็นการเฉพาะ
 
ทั้งนี้ มอบให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อดำเนินการต่อไป
 
ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 พ.ร.บ.ความมั่นคง
เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผอ.รมน. โดยความเห็นชอบของ ครม. ออกข้อกำหนด ดังนี้
 
1.ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่ง อย่างใด เพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.ตามแผนการ เพื่อดำเนินการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง แก้ไขบรรเทาเหตุการณ์
 
2.ห้ามบุคคลใดเข้าออก หรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน.
 
3.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
 
4.ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
 
5.ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ ตามชนิด ประเภท ลักษณะการใช้ หรือภายในบริเวณพื้นที่ที่ ผอ.รมน.ประกาศกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน
 
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายจำนวน 14 ฉบับ โดยการใช้กฎหมายให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ อาทิ
 
พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551
พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522
พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530
พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2493
พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490
ประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจสืบสวนสอบสวน และการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท