Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศลงพื้นที่พบผู้เดือดร้อน ชาวบ้านได้รับความเสียหายรวมร่วม 600 ล้านบาท ระบุแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องให้รัฐและเครือข่ายทำหน้าที่จัดส่ง โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรและผลประโยชน์จากคนงาน

 
 
 
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 2 -12 พ.ย. 52 ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ ได้ลงพื้นที่ 8 จังหวัด เพชรบูรณ์, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, อุดรธานี, นครพนม, อุบลราชธานี, ศรีษะเกษ, บุรีรัมย์และนครราชสีมา เพื่อติดตามปัญหาของคนงานที่ได้รับผลกระทบจากการไปสวีเดน, รับฟังปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านอีสานจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ และเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินเรื่องฟ้องร้องทางกฎหมายกับบริษัท และการติดตามข้อเรียกร้องกับรัฐบาล
 
จากการจัดทำรายงานของ จรรยา ยิ้มประเสริฐ ประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ พบว่าการไปทำงานที่ต่างประเทศในปัจจุบันมีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหากรณีเกษตรกรไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน ตามที่มีการร้องเรียนของแรงงานตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนครั้งแรกพบว่าเริ่มจากหมู่บ้าน บ้านลาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งทั้งครอบครัว (บิดา มารดา ลูกชาย 3 คน และลูกสะใภ้ ร่วมทั้งญาติ) ได้เริ่มเดินทางไปสวีเดนตั้งแต่ประมาณปี 2538 และได้เดินทางไปต่อเนื่องเกือบทุกปีจนถึงปัจจุบันในปี 2552 นี้มีครอบครัวที่เสียหายเยอะที่สุดถึงร่วมห้าแสนบาทโดยเดินทางไปด้วยกัน 5 คน (พ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสะใภ้ และพี่ชายลูกสะใภ้)
 
ทั้งนี้ในการไปสวีเดนในปี 2552 นี้มีจำนวนคนไปทั้งสิ้น 5,911 คน มีจำนวนมากที่มีคนในครอบครัวเดินทางไป 2 คน (พ่อกับลูกชาย และสามีและภรรยา) จากการพูดคุยกับคนงานในทุกจังหวัดที่เดินทางไป ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเท่าที่ได้พูดคุยกับเพื่อนๆ มีเพียงไม่ถึง 20% ของคนที่ไปเก็บผลไม้ประจำปีนี้ที่มีรายได้มากพอที่จะจ่ายค่านายหน้า ตัวเลขสูงสุดของผู้ได้รับเงินกลับมาคือ 60,000 บาท แต่ตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงสุดต่อครอบครัวครั้งนี้คือร่วม 500,000 บาท
 
โดยปัญหาที่พบคือ ผู้เสียหายที่จ่ายเงินกับสายแล้วไม่ได้ไปและไม่ได้รับเงินคืน ผู้เสียหายที่จ่ายค่านายหน้าเกิน กลุ่มที่เดินทางกลับมาก่อนและทำเรื่องร้องเรียน และกำลังถูกเร่งรัดเรื่องหนี้สิน มีหลายคนแยกทางกับสามีหรือภรรยาเพราะความกดดันเรื่องหนี้สิน ทั้งเจ้าหน้ากระทรวงแรงงาน และบริษัทได้พยายามติดต่อคนงานกลุ่มที่ร้องเรียน เพื่อให้มาเจรจาเรื่องหนี้ มีการปล่อยข่าวลือว่า คนที่เรียกร้องสิทธิในปีนี้จะถูกตัดสิทธิการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในปีหน้า กลุ่มแรงงานที่อยู่ครบสัญญาจำนวนมากกลับมาโดยได้รายได้เพียงเล็กน้อย และไม่ได้จ่ายเงินกู้ เราพบคนเพียงจำนวนไม่มาก (ยกเว้นที่บ้านผือ และแก่งค้อ ที่เป็นกลุ่มคนงานที่ไปที่สวีเดนมากว่าสิบปี) ที่ได้เงินเหลือมาใช้หนี้ ทุกคนพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า ประมาณการณ์ว่าคนที่ได้เงินเหลือมาและพอจ่ายหนี้สิน มีไม่เกิน 20%
 
ทั้งนี้จากการคำนวณตัวเลขรายได้และค่าใช้จ่าย โดยประมาณการจากข้อมูลที่ได้รับจากหลายหน่วยงานและจากตัวผู้เสียหาย เรื่องราวความสูญเสียและล่มสลายของความหวังถึงรายได้จำนวนมหาศาลในช่วงระยะเวลาเพียง สองเดือนครึ่ง ประมาณการณ์แล้วกว่า 600 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ผลประโยชน์สำหรับเกษตรกรไทยที่ต้องการไปหางานที่ต่างประเทศในช่วงว่างของฤดูกาลผลิต และรอการเก็บเกี่ยวเพียงแค่สองเดือนครึ่ง ต้องถูกใช้ไปในค่าดำเนินการที่สูงเกินจริง ให้กับหลายกลุ่มผลประโยชน์ และมีการเอารัดเอาเปรียบกันจนไม่เหลือผลกำไรให้กับตัวคนงานและครอบครัว และสร้างภาระหนี้สิน และความตึงเครียดต่างๆ ในหลายร้อยครอบครัว ในหลายสิบจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสาน นับเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของคนจนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ แก้งค้อ บ้านไผ่ บ้านฝาง บ้านผือ บุญฑริก พิมาย และเทพารักษ์ เป็นต้น ที่คนในหมู่บ้านกว่า กว่า 10 – 70 คน ต้องกลายเป็นคนมีหนี้เพิ่มขึ้นมาโดยเฉลี่ย (คำนวณจากฐานคนงานที่ร้องเรียน) ถึง 78,000 บาท ยกตัวอย่างเช่น ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ ในหมู่บ้านที่ขึ้นป้ายว่า “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” และมีกองทุนเงินล้าน ประชาชน 18 ครอบครัว มีหนี้เพิ่มขึ้นมาในหมู่บ้านอีก 1.5 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน เมื่อเทียบกับกองทุนหมู่บ้านละล้านที่ทั้งชีวิตของพวกเขาเพิ่งได้รับเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศรวบรวมได้จากพื้นที่ คือ
 
ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้นอกระบบและในระบบ และต้องการโฉนดที่ดินคืนจากนายหน้าเงินกู้
 
ยุติการอนุญาตให้บริษัทจัดส่งแรงงานไปเมืองนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีงานสั้นเช่นที่สวีเดน และให้รัฐและเครือข่ายทำหน้าที่จัดส่ง โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรและผลประโยชน์จากคนงาน ทั้งนี้
 
- จะต้องมีการวางมาตรการเพื่อป้องกันการเสียหายในปีหน้า เช่นการประมาณการผลเบอร์รี่
- ระบบการจัดการที่สวีเดนควรมีการพิจารณา เพราะค่าใช้จ่ายที่เป็นอยู่สูงกว่าในช่วงที่คนงานจัดการเองหรือมีญาติจัดการให้กว่าเท่าตัว 
- การกำหนดโควตาจำนวนคนที่ไม่มากเกินกว่าจะได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม
- การให้แต่ละครอบครัวไปได้เพียงคนเดียว เพื่อป้องกันความเสี่ยง
 
ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการไปเมืองนอก ในการลงทุนสร้างกลุ่มอาชีพเสริม หรือการเกษตรอินทรีย์ และอาหารปลอดสารพิษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net