Skip to main content
sharethis

การเลือกตั้งฮอนดูรัส โลโบ จากพรรคชาตินิยมคว้าชัย สหรัฐฯ กับโคลัมเบีย ยอมรับ แต่บราซิลและประเทศ “ฝ่ายซ้าย” ชี้รัฐประหารยังไม่ถูกลงโทษ ผู้สนับสนุนเซลายาบอกยังคงสู้ต่อ ขณะที่เซลายาวิจารณ์ การเลือกตั้งแค่เปลี่ยนประธานาธิบดี ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างที่เอื้อให้เกิดการรัฐประหาร

 
 
พอฟิริโอ "เปเป้" โลโบ จากพรรคชาตินิยม ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนล่าสุดของฮอนดูรัส
(Reuters Pictures/Daylife)
 
 
โลโบ จากพรรคชาตินิยมชนะเลือกตั้ง ปธน. แต่สถิติเรื่องผู้มาใช้สิทธิ์ยังไม่นิ่ง
จากผลการเลือกตั้งวันที่ 29 พ.ย. ของฮอนดูรัส พบว่า พอฟิริโอ โลโบ ผู้สมัครจากพรรคชาตินิยมได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนถัดไปของฮอนดูรัส
 
คณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดเผยในวันจันทร์ (30 พ.ย.) ว่า เจ้าของฟาร์มหัวอนุรักษ์นิยมเอาชนะคะแนนเสียงคู่แข่งของเขาอย่างเอลวิน ซานโตส จากพรรคเสรีนิยมไปได้ นอกจากนี้ยังระบุอีกว่ามีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนมากกว่า 60 เปอร์เซนต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
 
ทางด้านตัวเลขของผู้มาใช้สิทธินั้น มานูเอล เซลายา ประธานาธิบดีสมัยก่อนหน้าที่ถูกทำรัฐประหารเถียงว่า ตัวเลขอย่างเป็นทางการที่เขาได้มาจากหน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ พบว่ามีประชาชนถึงสองในสาม ที่ไม่มาใช้สิทธิในครั้งนี้
 
ขณะที่กลุ่มประชาชนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในฮอนดูรัส ทำการเก็บสถิติพบว่ามีประชาชนมาใช้สิทธิเพียง 47.6 เปอร์เซนต์ น้อยกว่าในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว 7 เปอร์เซนต์ โดย วอชิงตัน โพสท์ ระบุว่ากลุ่มที่ทำการสำรวจดังกล่าวได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ และมีการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคจากสถาบันระชาธิปไตยแห่งชาติ (NDI) ที่มีความเกี่ยวโยงกับพรรคเดโมแครทอย่างหลวม ๆ
 
ในหน้าแรกของเว็บไซต์ข่าว La Prensa ของฮอนดูรัส (วันที่ 1 ธ.ค.) มีการแสดงแผนภาพผลการเลือกตั้ง 29 พ.ย. เป็นแผนที่ประเทศฮอนดูรัสที่ถูกแบ่งออกเป็นเขตต่าง ๆ โดยมีรายละเอียดยังไม่ครบถ้วยทุกพื้นที่ แต่ก้แสดงผลว่า พอฟิริโอ โลโบ ได้รับคะแนนเสียง 57 เปอร์เซนต์ ขณะที่เอลวิน ซานโตส ได้รับคะแนนเสียง 33 เปอร์เซนต์ พรรคอื่น ๆ ที่เหลือได้คะแนนเสียงไม่เกิน 4 เปอร์เซนต์
 
 
สหรัฐฯ ชื่นชมการเลือกตั้ง ส่วนประเทศ "ฝ่ายซ้าย" ชี้รัฐประหารยังไม่ถูกลงโทษ
สหรัฐฯ ชื่นชมการเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่ก็ยังคงบอกว่าควรมีการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมจนกว่าโลโบจะขึ้นดำรงตำแหน่งในวันที่ 27 ม.ค.
 
"นี้คือโอกาสที่พวกเขาได้แสดงความรู้สึกออกมา ชาวฮอนดูรัสมองเห็นการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขวิกฤติของประเทศ" เอียน เคลลี่ โฆษกการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าว "แม้จะยังมีสิ่งสำคัญที่ต้องทำเพื่อคืนความเป็นประชาธิปไตยและระเบียบรัฐธรรมนูญในฮอนดูรัส แต่ในวันนี้ชาวฮอนดูรัสได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของก้าวย่างที่สำคัญแล้ว"
 
ในกรณีที่จะมีการประชุมสภาวันที่ 2 ธ.ค. เพื่อลงมติเรื่องการคืนตำแหน่งแก่เซลายาให้เขาดำรงตำแหน่งจนครบวาระในเดือน ม.ค. ข่าวจาก วอชิงตัน โพสท์ ก็กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าชาวฮอนดูรัสและทางการสหรัฐฯ มองว่าสภาฮอนดูรัสส่วนใหญ่คงโหวตลงมติไม่ให้เซลายากลับสู่ตำแหน่งอีก
 
ทางด้านโคลัมเบีย ประธานาธิบดีสายอนุรักษ์นิยม อัลวาโร อูริบ ก็ร่วมแสดงจุดยืนเป็นหนึ่งในประเทศที่ยอมรับรัฐบาลชุดใหม่ของฮอนดูรัสที่มาจากการเลือกตั้ง 29 พ.ย. และบอกว่ามีผู้มาเข้าร่วมลงคะแนนเป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่มีการโกงการเลือกตั้งเลย
 
ขณะที่ประธานาธิบดีบราซิล ลุลา ดา ซิลวา ยังคงยืนยันว่าประเทศเขาไม่ยอมรับการเลือกตั้งในฮอนดูรัสเนื่องจากอาจกลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดการรัฐประหารในประเทศอื่นอีก นอกจากนี้อาร์เจนติน่า, เวเนซุเอลลา และประเทศฝ่ายซ้ายอื่น ๆ ที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในฮอนดูรัสเช่นกัน ทั้งยังเตือนว่าการรัฐประหารที่มีประชาชนต่อต้านอย่างมากยังไม่ถูกลงโทษ
 
 
ว่าที่ ปธน. กล่าว การเลือกตั้งครั้งนี้โปร่งใสที่สุด
โลโบ ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีบอกว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์โปร่งใสที่สุด ขณะที่เอลวิน ซานโตส จากพรรคเสรีนิยมผู้ที่พ่ายคะแนนไปยอมรับความพ่ายแพ้โดยบอกว่า นี่เป็นเวลาของความสมานฉันท์ เป็นหนทางเดียวที่วางอนาคตที่ชาวฮอนดูรัสทุกคนมีชัยชนะร่วมกัน โลโบยังกล่าวในการให้สัมภาษณ์อีกว่า ประชาชนออกมาเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก
 
ในกรณีบรรยากาศของการเลือกตั้ง สถาบันสาธารณรัฐสากล (IRI) ที่มีความเกี่ยวโยงกับพรรคริพับลิกันของสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งและบอกว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่มีเหตุรุนแรงหรือการยั่วยุใด ๆ เกิดขึ้น
 
 
 
 
กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายา ประท้วงด้วยการชูนิ้ว
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการไม่ไปลงคะแนนในการเลือกตั้ง 29 พ.ย.
(Reuters Pictures/Daylife)
 
 
กลุ่มต้านรัฐประหารย้ำยังไม่เลิกสู้ - ชูนิ้วเป็นสัญลักษณ์คว่ำบาตรการเลือกตั้ง
ด้านผู้สนับสนุนเซลายาที่ประท้วงต่อต้านรัฐประหารมาโดยตลอด ก็ยังคงชุมนุมประท้วงใกล้กับสถานฑูตบราซิลในกรุงเตกูซิกัลปา โดยหลายคนยังคงชูนิ้วก้อยที่เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ฮวน บาราโฮนา ผู้นำกลุ่มต่อต้านรัฐประหารในฮอนดูรัสบอกว่า "พวกเราจะยังไม่ละทิ้งการต่อสู้ เพราะในอีกสี่ปีข้างหน้าหรือไม่เกินนั้น รุ่งอรุณใหม่จะฉายแสง"
 
ด้าน โฮเซ มิกุเอล วิวานโค จากฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า รัฐบาลรักษาการจากการรัฐประหารได้จับกุม สังหาร และปิดกั้นสื่อของฝ่ายสนับสนุนเซลายา โดยที่การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่สามารถลบล้างภาพเดิมออกไปได้ จาเวียร์ ซูนิกา จากองค์รนิรโทษกรรมสากลก็มองว่า การที่คณะรัฐประหารไม่ถูกตัดสินโทษกลายเป็นตราประทับของรัฐบาลไปแล้ว
 
ขณะที่ เจนนิเฟอร์ แมคคอย จากศูนย์ทวีปอเมริกาในแอตแลนต้าให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องเผชิญกับความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการระบบที่ให้ส่วนร่วมในการตัดสินใจมากกว่าเดิม จากก่อนหน้านี้ที่เศรษฐกิจและการเมืองของฮอนดูรัสตกอยู่ในมือชนชั้นนำกลุ่มเล็ก ๆ และพวกเขาคงแสดงความต้องการออกมามากกว่าในสมัยรัฐบาลของเซลายาเสียอีก
 
 
เซลายาวิจารณ์ การเลือกตั้งแค่เปลี่ยน ปธน. ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างที่เอื้อให้เกิดรัฐประหาร
ส่วนอดีตประธานาธิบดีผู้ที่ถูกทำรัฐประหารและยังคงอาศัยอยู่ในสถานฑูตบราซิลกล่าวให้ความเห็นในกรณีที่สหรัฐฯ ยอมรับการเลือกตั้งของฮอนดูรัสว่า สหรัฐฯ ได้ทำสิ่งที่ผิดพลาด และรัฐบาลโอบาม่าจะต้องเสียใจที่แสดงจุดยืนเช่นนี้ "ถ้าพวกเขามีความเป็นประชาธิปไตยในประเทศเขา เขาก็ควรเป็นประชาธิปไตยในละตินอเมริกาด้วย"
 
ในสมัยที่เซลายาเป็นประธานาธิบดี เขาเป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากเหล่าคนจนในฮอนดูรัส และหมายมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเมืองของฮอนดูรัสที่ถูกครอบโดยสองพรรคใหญ่ที่ได้รับอิทธิพลจากครอบครัวร่ำรวยไม่กี่ครอบครัว และมีอุดมการณ์ไม่ต่างกันนัก
 
อย่างไรก็ตามสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองหลังการรัฐประหารก็ทำให้ประชาชนต้องการให้วิกฤติการเมืองจบลงโดยเร็ว
 
โลโบ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ให้ความหวังกับประชาชนว่า จะสนับสนุนการลงทุนในภาคเอกชนเพื่อให้คนมีงานทำ และสร้างผลกำไรสู่สังคม
 
ขณะเดียวกันเขาก็กล่าวในเรื่องของเซลายาว่า ในฐานะประธานาธิบดีเขาจะลองพูดคุยกับเซลายาและอาจอนุญาตให้เขาออกจากสถานฑูตบราซิลโดยไม่ถูกจับกุม ขณะที่นิวยอร์ก ไทม์ รายงานว่าเมื่อถามเขาถึงเรื่องเซลายา โลโบทำท่าถูมือไปมาแล้วตอบว่าให้สภาเป็นผู้ตัดสินใจ
 
โดยเซลายายังได้กล่าวให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ นิวยอร์ก ไทม์ ว่าถ้าสภาโหวตให้เขาคืนสู่ตำแหน่งเพียงแต่ในนาม เขาก็จะไม่รับตำแหน่งคืน ทั้งยังกล่าวอีกว่า "การเลือกตั้งเป้นแค่การเปลี่ยนประธานาธิบดีเท่านั้น มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิม ๆ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการรัฐประหารเลย"
 
 
เรื่องราวความขัดแย้งก่อนหน้าการเลือกตั้ง 29 พ.ย. สามารถติดตามรายงานย้อนหลังได้ที่
 
 
 
ที่มา แปลและเรียบเรียงจาก
 
Fate of Ousted Leader Clouds Election Result in Honduras, Elisabeth Malkin, The New York Times, 30-11-2009
U.S. and some allies at odds over Honduras Presidential election, Mary Beth Sheridan, Washington Post, 01-12-2009
Honduras hopes to move past coup with election, ALEXANDRA OLSON, AP, 01-12-2009
 
La Prensa/El Heraldo : Electoral Map (เข้าดูล่าสุดเมื่อ 1 ธ.ค. 2009)
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net