Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ภาคประชาชนไทยทำจดหมายถึงคณะกรรมการบริหารของโครงการอำนวยความสะดวกจัดซื้อยาระหว่างประเทศ (UNITAID) แสดงความกังวลใจต่อระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร หรือ Patent Pool ที่จะมีการเสนอให้คณะกรรมการฯ ตัดสินใจในที่ประชุมในวันที่ 14-15 ธ.ค.นี้ ว่าระบบนี้จะถูกใช้โดยอุตสาหกรรมยาข้ามชาติเพื่อคัดค้านประเทศกำลังพัฒนาใช้มาตรการยืดหยุ่นต่างๆในการแก้ปัญหาสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น การประกาศบังคับใช้สิทธิ การคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร และการฟ้องร้องเพิกถอนสิทธิบัตร

 
000
 
 
เรียน คณะกรรมการบริหาร UNITAID
 
พวกเรา ประกอบด้วยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ และภาคประชาสังคมที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการเข้าถึงยาถ้วนหน้าในประเทศไทย ขอแสดงความกังวลใจอย่างยิ่งต่อแผนการดำเนินการของระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร (Patent Pool) ที่จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของ UNITAID ในวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้
 
การประชุมที่จะมีขึ้นนี้ พวกท่านจะตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะเดินหน้าจัดตั้งระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร (Patent Pool) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนยาจำเป็นราคาถูกสำหรับผู้ป่วยยากจนนับล้านคนในประเทศกำลังพัฒนา วัตถุประสงค์ระดับโลกนี้ ไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ หาก UNITAID ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร (Patent Pool) ที่กำลังจะก่อตั้งขึ้นนั้นเป็นกลไกที่ประกันการเข้าถึงยาถ้วนหน้าของทุกประเทศกำลังพัฒนาที่มีความจำเป็นต้องใช้ยา
 
เราชื่นชมอย่างจริงใจต่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของ UNITAID ที่มุ่งมั่นจะสร้างกลไกใหม่เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนา ท่ามกลางแรงกดดันมหาศาลและการจ้องล้างผลาญจากอุตสาหกรรมยาข้ามชาติและรัฐบาลประเทศร่ำรวย หลายประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย ต้องใช้สิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายเพื่อประกันสิทธิต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศ ระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร (Patent Pool) ของ UNITAID สามารถเป็นกลไกเสริมในการแก้ปัญหาและช่วยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาต้านไวรัสใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่สำคัญในการแก้ปัญหาสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนาจะสูญหายไปทันที หาก UNITAID ยอมอ่อนข้อตามความต้องการของบริษัทผู้ทรงสิทธิที่จะกีดกันประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับกลางและระดับต่ำบางประเทศออกจากการร่วมใช้สิทธิในระบบนี้
 
ในความเป็นจริง บริษัทผู้ทรงสิทธิจำนวนมากแสดงเจตนาที่จะกีดกันประเทศกำลังพัฒนา อย่าง ประเทศไทย อินเดีย บราซิล จีน และแอฟริกาใต้ ไม่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ระบบฯพึงจะมี อุตสาหกรรมยาข้ามชาติมองว่าประเทศเหล่านี้เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่พวกเขาจะสามารถกอบโกยกำไรมหาศาลแทนที่ตลาดในประเทศพัฒนาแล้วที่หยุดการขยายตัวไป
 
ถ้า UNITAID ยอมก้มหัวน้อมรับคำสั่งของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่จะตัดสินว่าประเทศไหนจะได้ใช้ประโยชน์จากระบบ นั่นก็เท่ากับว่า UNITAID กำลังหันหลังให้กับผู้ป่วยนับล้านๆคนที่ต้องการยาซึ่งจะมาอยู่ในระบบฯ ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำของ UNITAID จะเท่ากับปิดโอกาสของอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญซึ่งเป็นที่ช่วยชีวิตของผู้คนหลายล้านคนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ให้เข้าร่วมในระบบ เราจึงขอเรียกร้องให้ท่านคณะกรรมการบริหารอย่าสร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ แต่จงยึดมั่นในหลักการที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกประเทศที่มีความจำเป็นเข้าใช้ประโยชน์ในระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร (Patent Pool) ได้
 
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญในประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนายาสูตรตำรับรวมเม็ด และยาสูตรเด็ก ถ้าหากเจ้าของสิทธิบัตรมีความจริงใจในการแบ่งปันการใช้สิทธิบัตรโดยไม่มีเงื่อนไขมาเลือกปฏิบัติกีดกัน UNITAID ต้องสร้างความมั่นใจว่า จะเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาใหม่ๆที่เกิดจากระบบฯ ไม่ว่ายานั้นจะผลิตที่ไหนก็ตาม
 
พวกเรายังวิตกอย่างยิ่งว่า ระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร (Patent Pool) จะถูกใช้โดยอุตสาหกรรมยาข้ามชาติเพื่อคัดค้านการที่ประเทศกำลังพัฒนาจะใช้มาตรการยืดหยุ่นต่างๆในการแก้ปัญหาสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น การประกาศบังคับใช้สิทธิ การคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร และการฟ้องร้องเพิกถอนสิทธิบัตร
 
ถ้าระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร (Patent Pool) ที่ท่านกำลังจะตัดสินใจเอียงไปเอาใจอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ โดยที่กีดกันประเทศกำลังพัฒนาให้ร่วมใช้ประโยชน์ในระบบฯ ประเทศเหล่านี้จะเหลือทางเลือกในการแก้ปัญหาน้อยมาก นอกจากจะกลับไปใช้การประกาศบังคับใช้สิทธิ (CL) และการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร (Pre-grant opposition) เท่าที่จะเป็นไปได้
 
แม้จะมีคนกล่าวอ้างถึง การให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจ (voluntary licensing) แต่ก็พบว่า ให้ประโยชน์กับกลุ่มคนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ผู้คนจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนาถูกละทิ้ง สำหรับประเทศไทย องค์การเภสัชกรรมก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตแม้จะมีศักยภาพก็ตาม ดังนั้น เงินทุนหลายล้านดอลลาร์ที่พวกท่านกำลังจะลงทุนในการจัดตั้งระบบจะไร้ค่าทันที หากมันไม่สามารถแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง การไม่มีระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร (Patent Pool) ซะเลยน่าจะดีเสียกว่า
 
พวกเรา ภาคประชาสังคมไทย ตามรายนามข้างล่าง ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการบริหารของ UNITAID ตัดสินใจจัดตั้งระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร (Patent Pool) ด้วยจิตวิญญาณของการพัฒนาการเข้าถึงสิทธิบัตรเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและผลิตยาช่วยชีวิตในราคาที่เป็นธรรม และมียาที่เหมาะสมเพียงพออย่างยั่งยืน
 
ขอแสดงความนับถือ
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
ชมรมเพื่อนโรคไต
เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
มูลนิธิเภสัชชนบท
มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
กลุ่มศึกษาปัญหายา
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net