สัมภาษณ์ ชาตรี ประกิตนนทการ: แบบรัฐสภาใหม่ ความหมายเดิมๆ

ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์สถาปัตย์ ศิลปากร วิจารณ์แบบรัฐสภาใหม่ ระบุองค์ประกอบไม่เอื้อให้เป็นพื้นที่ของประชาชนแท้จริง เน้นแนวคิดศีลธรรมแทนแนวคิดสิทธิหรือประชาธิปไตย แสดงความศักดิ์สิทธิ์เหนือประชาชน และเน้นแนวพุทธจนไม่คำนึงปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาในสังคม

จากที่ผลการตัดสินการประกวดออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผลงานที่ชื่อ "สัปปายะสภาสถาน" ได้รับเลือกให้เป็นผลงานชนะเลิศ และจะใช้เป็นต้นแบบของรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งจะมีการจัดแสดงแบบจำลองช่วงปลายเดือน ม.ค. ปีหน้า (2553)

หนึ่งในคณะกรรมการกล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินผลงาน "สัปปายะสภาสถาน" ให้เป็นผลชนะเลิศว่า เนื่องจากออกแบบได้สอดคล้องกับแนวคิดของวัฒนธรรมไทย มีความสง่า และจัดวางอาคารโดยให้ความสำคัญกับพระราชพิธี มีระบบการสัญจรดี และตอบสนองต่อการเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม
ในขณะที่กลุ่มสถาปนิกมักจะเล่าถึงแรงบันดาลใจและแนวคิดในเชิงศาสนา ศีลธรรม การสะท้อนวัฒนธรรมไทย เช่นการที่บอกว่าการออกแบบต้องการแสดงให้เห็นถึงการเอาธรรมะเข้ามาช่วยแก้วิกฤติทางการเมืองเนื่องจากความเสื่อมทางศีลธรรม
ขณะเดียวกัน ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ด้านศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้มีผลงานการศึกษาด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎร ก็ได้ให้ความเห็นต่องานออกแบบที่ชนะเลิศในครั้งนี้ในอีกมุมมองหนึ่ง ทั้งในแง่ของแนวคิดเชิงสถาปัตยกรรม บริบทแวดล้อมของสังคม รวมถึงสุนทรียศาสตร์
 
000
"ก็เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องศีลธรรมที่นำมาพูดกันก็มักจะเป็นเรื่องที่จอมปลอม
จนทำให้งานสถาปัตยกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
ของกลุ่มผลประโยชน์ ของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในสังคม
ที่ชอบอ้างศีลธรรมแบบมือถือสากปากถือศีล"
 
"รัฐสมัยใหม่มันได้แยกตัวออกจากศาสนาและนำพาตัวเองมาสู่พระเจ้าแบบอื่น
เช่น ทุนนิยม, บริโภคนิยม, โลกาภิวัฒน์ ซึ่งแน่นอนไม่มีใครปฏิเสธว่าตรงนี้มันมีด้านเลวร้ายมากมาย
แต่เราไม่ควรเดินหนีความเลวร้ายนี้ด้วยการย้อนกลับไปหาความเลวร้ายแบบโบราณ ดั้งเดิม"
 
"รูปสัญลักษณ์ของอาคารที่มีความศักดิสิทธิ์สูงส่งเหนือกว่าประชาชน 
องค์ประกอบเหล่านี้มันไม่ได้เอื้อให้กับประชาชนได้กล้าเข้าไปใช้"
 
"เขาจัดวางพื้นที่ของประชาชนไว้เป็นเรื่องสาธารณ์ซึ่งมีโลกุตระที่ศักดิ์สิทธิ์
มีความพิเศษ คอยอยู่เหนือ คอยข่มคุณอยู่
แบบนี้มันไม่เห็นเอื้ออะไรกับเรื่องสิทธิพลเมือง
อำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบที่พูดไว้เลย"
 
"คุณคิดว่ามันตลกไหมที่เอาเรื่องความเป็นไทยถึงร้อยละ 40
และเอาเรื่องประโยชน์ใช้สอยแค่ร้อยละ 25
อันนี้มันสถาปัตยกรรมอะไรของโลกเนี่ย"
 
"...แบบที่ขอให้ได้เห็นเจดีย์ ขอให้ได้เห็นจั่ว ขอให้ได้เห็นองค์ประกอบลายไทยสักหน่อย
แล้วก็ร่วมกันหลอกตัวเอง ภูมิใจว่า เอ้อ นี่เราได้เห็นความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรมแล้ว"
 
"เห็นได้ชัดว่าการออกแบบนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นความสำคัญใด ๆ เลยกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
เขาให้ความสำคัญกับตัวแทนรูปลักษณ์ทางศาสนามากกว่า
ให้ความสำคัญกับโถงราชพิธีในนามของสถาบันกษัตริย์มากกว่า
ซึ่งผมคิดว่าผิด ผิดหลักการประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง
สิ่งที่ควรจะเป็นความสำคัญ กลับเป็นแค่องค์ประกอบเล็ก ๆ"
 
"คุณลองไปดูรัฐสภาเยอรมัน ที่เขาออกแบบใหม่เมื่อปี 1999
เขาออกแบบขึ้นมาเป็นโดมแก้วกระจกขนาดใหญ่ มีห้องประชุมรัฐสภาอยู่ชั้นล่าง
แต่โดมข้างบนเป็นที่ที่ประชาชนทุกเพศทุกวัยยกเว้นนักโทษ สามารถเข้าไปเดินได้
อยู่ด้านบนเหนือรัฐสภา มองลงไปเห็นสภาผู้แทนประชุมกันอยู่
มันเป็นรูปธรรม เป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงอำนาจของประชาชนอย่างชัดเจน"
 
 
ถาม: อาจารย์ มีความเห็นต่อแบบที่ได้รับคัดเลือกในการประกวดครั้งนี้อย่างไรบ้าง ชอบหรือไม่ชอบ
ชาตรี: พอเห็นแบบที่ส่งประกวด ก็รู้สึกไม่ชอบ แต่ก็ไม่ได้แปลกใจเพราะการประกวดแบบนี้ ในสภาพปัจจุบันแนวคิดสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทย มันก็ต้องออกมาหน้าตาแบบนี้ ไม่แปลกใจ แต่ก็ผิดหวัง
มีสองประเด็นที่ผมผิดหวัง หนึ่งคือ ในแง่ของการออกแบบเอง สถาปัตยกรรมในสังคมไทยก็ยังหมกมุ่นอยู่กับ ประเด็นเรื่องความเป็นไทยที่ค่อนข้างจะล้าหลัง ติดอยู่กับรูปแบบบางอย่าง ซึ่งย้อนกลับไปขุดไปใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบประเพณีมาเพื่อเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบัน โดยส่วนตัวผมผิดหวังว่าวงการสถาปัตยกรรมของเราไม่ได้ไปไหนเลย
และที่น่าผิดหวังยิ่งขึ้นคือตัวทีมผู้ออกแบบ ซึ่งที่ผ่านมาผมค่อนข้างให้เครดิตพอสมควร ว่าเป็นกลุ่มสถาปนิกที่มีแนวคิดค่อนข้างก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แต่พอผลการออกแบบออกมา และหลังจากฟังคอนเซปต์ที่พวกเขาอธิบายตามหน้าสื่อแล้วค่อนข้างผิดหวัง
ผิดหวังในประเด็นที่สองคือ ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่เลย แล้วก็ไม่ได้ใส่ใจกับแนวคิดเรื่องความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ หรืออะไรอื่น ๆ ที่มันควรจะมีพูดถึงเกี่ยวกับรัฐสภา หนึ่งในอาคารที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอธิปไตยที่สำคัญ ปรากฏว่าไปพูดเรื่องอื่น เรื่องศาสนา เรื่องศีลธรรม เรื่องไตรภูมิ ที่ค่อนข้างขัดแย้งกับประชาธิปไตย
 
ในเรื่องที่บอกว่าเราต้องสร้างรัฐสภาให้มีความเป็นพุทธ มีเรื่องศีลธรรม เพราะการเมืองไทยอยู่ในวิกฤติ เนื่องจากนักการเมืองขาดศีลธรรม อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
ผมคิดว่านี่แหละคือสุดยอดความผิดหวังของผมเลย คือผมคิดว่าอาคารรัฐสภา ที่เป็นตัวแทนของหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ของระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรต้องทำหน้าที่รับใช้จุดประสงค์ทางศีลธรรม ไม่ใช่ว่าศีลธรรมไม่ดี ไม่ใช่ว่าศีลธรรมไม่จำเป็น แต่การใช้ศีลธรรมทางศาสนาแบบทื่อ ๆ ที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ มันไม่ได้แก้ปัญหาสังคมได้ มิฉะนั้นทำไมเราไม่เชิญพระมาบริหารประเทศ ไม่เชิญพระมาเป็น ส.ส. ไม่ให้มหาเถรสมาคมเป็นคนกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศ
ที่เราไม่ทำอย่างนั้นก็เพราะเราคิดว่าในระบบสังคมสมัยใหม่เราควรจะต้องแยกรัฐจากเรื่องของศาสนา ที่มันไม่ควรเรื่องศีลธรรมมาเป็นตัวกำหนด ก็เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องศีลธรรมที่นำมาพูดกันก็มักจะเป็นเรื่องที่จอมปลอม จนทำให้งานสถาปัตยกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ ของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในสังคมที่ชอบอ้างศีลธรรมแบบมือถือสากปากถือศีล ประเด็นก็คือใครล่ะที่มีสิทธิชี้ขาดในเรื่องศีลธรรม
พอใช้เรื่องศีลธรรมเป็นตัวกำหนด มันทำให้ไอเดีย แก่นแกนความคิดเรื่องประชาธิปไตย อำนาจของประชาชน ในแง่ของรัฐสภามันหายไป
คือเราก็มีประสบการณ์มาเยอะในสังคมโลก ว่ามนุษย์ที่อาศัยศีลธรรมเป็นฉากบังหน้าในการได้มาซึ่งอำนาจ แล้วก็ปิดกั้นความคิดเสรีภาพ กดขี่ในนามของพระเจ้า การฆ่าคนที่มีความเห็นแตกต่าง การเผาคนที่ถูกใส่ร้ายว่าเป็นแม่มดในยุโรปยุคกลาง การกดคนลงเป็นไพร่ทาส ทั้งหมดนี้ล้วนอาศัยมายาคติเกี่ยวกับบุญญาบารมีแล้วก็อ้างศีลธรรมที่สูงส่งกว่าทั้งสิ้น ซึ่งมันมีประจักษ์พยานมากมายในหน้าประวัติศาสตร์ เป็นมุมมืด เป็นสิ่งที่อัปลักษณ์อีกด้านของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม
แล้วเรายังไม่เข็ดกันอีกหรือที่อยากจะย้อนกลับไปใช้คอนเซปต์แบบนั้น
แน่นอนว่ารัฐสมัยใหม่มันได้แยกตัวออกจากศาสนาและนำพาตัวเองมาสู่พระเจ้าแบบอื่นเช่น ทุนนิยม, บริโภคนิยม, โลกาภิวัฒน์ ซึ่งแน่นอนไม่มีใครปฏิเสธว่าตรงนี้มันมีด้านเลวร้ายมากมาย แต่เราไม่ควรเดินหนีความเลวร้ายนี้ด้วยการย้อนกลับไปหาความเลวร้ายแบบโบราณ ดั้งเดิม
 
จากที่กลุ่มผู้ออกแบบได้ให้ความหมายของรัฐสภาแห่งใหม่นี้ มีอยู่ข้อหนึ่งที่พวกเขากล่าวถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เกิดความใกล้ชิด และไม่ทำให้ประชาชนแปลกแยกจากรัฐ อาจารย์คิดอย่างไรกับการให้ความหมายนี้
ผมคิดว่า คำพูดในประเด็นนี้ค่อนข้างจะเลื่อนลอย เป็นคำพูดที่จะต้องมี แต่เมื่อดูจากแบบงานสถาปัตยกรรมแล้ว ไม่เห็นมีความชัดเจนนัก ซึ่งผมเองก็ตามอ่านคำสัมภาษณ์ของเขา เขาก็อธิบายเช่น เขาจะเปิดพื้นที่สวนทางด้านหน้ารัฐสภา ซึ่งมีประมาณ 50-60 เปอร์เซนต์ ให้เป็นสนามหลวงแห่งใหม่ ให้ประชาชนเข้ามาใช้ ส่วนสิทธิพลเมืองที่บอกก็จะเป็นเรื่องพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ประชาธิปไตย
แต่ที่ผิดคือว่ามันเป็นคำพูดที่เลื่อนลอยและไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อดูจากการออกแบบวางผังแล้ว มันไม่เอื้อให้กับประชาชนเข้าไปใช้ แล้วก็ไม่แสดงถึงอำนาจของประชาชนที่แท้จริง
ก็เพราะว่า ถ้าคุณดูคอนเซปต์ที่เขาออกแบบเรื่องเขาพระสุเมรุ แล้วเขาบอกว่าต้องการสร้างสภาศักดิ์สิทธิ์ มีมิติศักดิ์สิทธิ์ ที่สัมพันธ์กับเรื่องศาสนา ผมว่าว่ารูปสัญลักษณ์แบบนี้ ที่มีการออกแบบแนวแกนที่ค่อนข้างจะเคร่ง symmetry (ความสมมาตร) รูปสัญลักษณ์ของอาคารที่มีความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งเหนือกว่าประชาชน องค์ประกอบเหล่านี้มันไม่ได้เอื้อให้กับประชาชนได้กล้าเข้าไปใช้
ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเปรยที่อาจจะไม่ตรงนัก เช่น สมมติผมบอกว่าผมจะออกแบบลานกิจกรรมให้คนมาใช้ แต่ปูพรมแดง คือพูดว่าจะให้ใช้แต่องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม มันไม่เอื้อจะให้ใช้เลย มันทั้งกดข่ม ดูยิ่งใหญ่
ยิ่งถ้าคุณดูในแบบ เขาจะแบ่งคอนเซปต์พื้นที่เลยว่า ที่ซึ่งจะให้ประชาชนมาใช้เป็นโลกียะ (เรื่องทางโลก) แล้วก็จะมีพื้นที่ส่วนที่เป็นโลกุตระ (เรื่องทางธรรม) อะไรที่มันเหนือกว่าเรื่องทางโลก หยาบ ๆ สามานย์ สาธารณ์ คุณดูสิ เขาจัดวางพื้นที่ของประชาชนไว้เป็นเรื่องสาธารณ์ซึ่งมีโลกุตระที่ศักดิ์สิทธิ์ มีความพิเศษ คอยอยู่เหนือ คอยข่มคุณอยู่ แบบนี้มันไม่เห็นเอื้ออะไรกับเรื่องสิทธิพลเมือง อำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบที่พูดไว้เลย
 
เรื่องที่รัฐสภาฯ พยายามนำเสนอตนเองในรูปแบบที่มี 'ความเป็นไทย' อาจารย์มองว่า มันมีความเป็นไทยจริงหรือไม่ แล้วความเป็นไทยมีความจำเป็นต่อรัฐสภาอย่างไร?
โดยส่วนตัวผมคิดว่าไอเดียเรื่องความเป็นไทยในสถาปัตยกรรมรัฐสภานั้นไม่จำเป็น สิ่งที่จำเป็น ควรจะต้องตระหนักถึงมากกว่าคือการสร้างสถาปัตยกรรมที่สะท้อนอุดมการณ์ประชาธิปไตย สะท้อนอำนาจของประชาชน สะท้อนสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค หรืองานออกแบบสถาปัตยกรรมใด ๆ ก็ตามที่แสดงให้เห็นว่าอำนาจเป็นของประชาชน เป็นสิ่งที่ต้องมี ต้องมาก่อน
ประเด็นถัดมาที่ควรจะคิดก็คือ งานสถาปัตย์กรรมชิ้นนี้ตั้งอยู่ในสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ แบบไทย มันจึงต้องตอบรับกับดินฟ้าอากาศ สภาพแวดล้อม แดด-ลม-ฝน รวมถึงการประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องพื้น ๆ ที่สถาปนิกควรต้องรู้อยู่แล้ว 
อีกประเด็นคือเมื่อเป็นรัฐสภาไทยมันจะต้องแสดงเอกลักษณ์บางอย่าง ว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญ ซึ่งเอกลักษณ์นี้ควรได้รับการตีความ มาจากเรื่องความเป็นประชาธิปไตย บริบทสังคมไทย สภาพแวดล้อมแบบไทย ฯลฯ
ถ้าหากทำตามทั้งหมดที่ว่ามานี้ อาคารรัฐสภาหลังนี้ก็จะมี 'ความเป็นไทย' เอง
ซึ่งความเป็นไทยในความหมายของผมไม่ได้ผูกยึดติด กับการเห็นองค์ประกอบลายไทย จั่วไทย เจดีย์ไทย แบบอาคารราชการเมื่อ 50 ปีที่แล้ว และก็ยังเป็นแบบนี้
แต่ตรงนี้ผมขอพูดให้ความเป็นธรรมกับสถาปนิกผู้ออกแบบว่า รูปแบบมันถูกกำหนดมาโดย TOR (Term of Reference หรือ ร่างขอบเขตของงาน) แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าสถาปนิกอยากชนะมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้
 
 
 
 
ส่วนหนึ่งของเอกสาร เรื่อง การจ้างการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ในส่วนของหลักเกณฑ์การให้คะแนน การตัดสินการประกวดขั้นที่สอง ซึ่ง อ.ชาตรี ชี้ให้เห็นว่ามีการเน้นเรื่องเอกลักษณ์ถึงร้อยละ 40
ขณะที่เน้นด้านประโยชน์ใช้สอยเพียงร้อยละ 25
สามารถเข้าชมหรือดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ ที่นี่
 
(ในตอนนี้ อ.ชาตรี นำเอกสารเกี่ยวกับการจ้างออกแบบรัฐสภาออกมาให้ดู) นี่คือหลักเกณฑ์การประกวดขั้นตอนที่สอง หรือขั้นตอนสุดท้าย คุณจะเห็นว่าจาก 100 คะแนน การให้คะแนนแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ 40 คะแนน แม้ในนี้เขาไม่ได้บอกไว้ว่าเอกลักษณ์เป็นแบบไทย แต่ว่าเมื่อผมไปตามเอกสารดู ซึ่งเป็นเอกสารจากการตอบข้อซักถามของสถาปนิก ในเรื่องเอกลักษณ์ก็มีการพูดถึงเรื่องความเป็นไทยชัดเจน
จากการกำหนดคะแนนที่เน้นเอกลักษณ์ถึงร้อยละ 40 นี้ สำหรับผมถือว่าน่าตกใจ และเมื่อมาเทียบกับในส่วนของการตอบสนองความต้องการ ประโยชน์ใช้สอยฯ มีแค่ร้อยละ 25 คุณคิดว่ามันตลกไหมที่เอาเรื่องความเป็นไทยถึงร้อยละ 40 และเอาเรื่องประโยชน์ใช้สอยแค่ร้อยละ 25 อันนี้มันสถาปัตยกรรมอะไรของโลกเนี่ย
จากการที่ TOR กำหนดมาแบบนี้ทำให้ทุกทีมสถาปนิกถ้าอยากชนะ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขายความเป็นไทย ประเด็นถัดมาคือ เอกลักษณ์ไทยคืออะไร
ผมจึงขอชี้ให้ดูว่าในเอกสารที่มีการตอบข้อซักถามในการประกวดแบบรัฐสภา ประเด็นนี้ก็มีคนถามกรรมการเหมือนกันว่า อยากทราบเรื่องทัศนคติต่อเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมของกรรมการ ปรากฏว่า กรรมการซึ่งเป็นวุฒิสภาท่านหนึ่งตอบว่า "สถาปนิกจะต้องรู้เองว่าอะไรคือไทย..." "...ท่านควรจะออกแบบสถาปัตยกรรมของไทยที่คนเข้าใจได้ มองเห็น และภูมิใจ"
สิ่งที่ผมอยากขยายความคือ ไปถามทุกคนเถอะ ว่าความเป็นไทยของสถาปัตยกรรมคืออะไรทุกคน ตอบไม่ได้ เพราะมันไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องที่สังคมแต่ละยุคแต่ละสมัยสมมติร่วมกันขึ้นมา มันไม่มีความเป็นไทยที่เป็นสัจจะ ความจริง เป็นธรรมชาติ เป็น DNA ของคนไทยมาอย่างยาวนาน มันไม่มี มันเป็นเรื่องสมมติทั้งหมด แต่สังคมไทยในปัจจุบันไปหลงกับมายาคติอันนี้ แล้วก็ไปบังคับว่าภาษาต้อง 'ไทย' การแต่งการก็ต้อง 'ไทย' อาหารก็ต้อง 'ไทย' กินอยู่ก็ต้อง 'ไทย' สถาปัตยกรรมก็ต้อง 'ไทย' แต่พอมีคนถามว่าไทยคืออะไร ตอบไม่ได้สักคน ทุกคนตอบอ้อมหมด
และนี่คือปัญหาว่าสุดท้ายแล้ว มันก็เลยไม่มีทางออก และมันทำให้กลุ่มสถาปนิกทุกกลุ่มที่เข้ารอบ จากแบบที่ผมเห็นก็ย้อนไปในสถาปัตยกรรมแบบโบราณ ไปขุดเอารูปทรงบางอย่าง องค์ประกอบบางอย่าง มาแปะ มาใช้ ประดับเพื่อกรรมการที่มีแนวคิดมายาคติเรื่องความเป็นไทย แบบที่ขอให้ได้เห็นเจดีย์ ขอให้ได้เห็นจั่ว ขอให้ได้เห็นองค์ประกอบลายไทยสักหน่อย แล้วก็ร่วมกันหลอกตัวเอง ภูมิใจว่า เอ้อ นี่เราได้เห็นความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรมแล้ว
 
หากให้พูดถึงแบบอาคารรัฐสภาที่ชนะเลิศในแง่มุมของสุนทรียศาสตร์เพียงอย่างเดียว อาจารย์เห็นอะไรบ้าง
ผมต้องออกตัวว่ายังตอบในเรื่องสุนทรียศาสตร์ได้ลำบาก เนื่องจากตอนนี้ แบบที่เขาทำมายังไม่ได้แบบขั้นสุดท้ายที่จะนำไปสร้าง แต่เท่าที่เห็นก็พอจะพูดได้ในระดับหนึ่งว่า
เมื่อดูจากงานภาพ Perspective (ภาพสัดส่วน) ที่เขาทำมา ผมคิดว่ามันเป็นอาคารที่มีรูปทรงทั้งหมด ค่อนข้างใหญ่โตมากเกินไป เมื่อเทียบกับความสูงของมนุษย์ ผมคิดว่ามันกดข่มและใหญ่เกินไป คือสัดส่วนของสถาปัตยกรรมและสัดส่วนของมนุษย์นี้หลุดกันเกินไป นี่ประเด็นที่หนึ่ง
ประเด็นที่สองคือ แบบอาคารที่ชนะเลิศ มีการจับเอาองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี กับ งานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เข้ามาแปะกันไว้แบบไม่ได้ประสานอะไรกันเลย คือมีการเอามาวางใกล้ ๆ กัน ไม่ได้มีการดีไซน์ที่จะเชื่อมประสานทั้งสองสิ่งนี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสักเท่าไหร่ เหมือนกับว่า ถูกบังคับว่าต้องมีรูปลักษณ์ไทยบางอย่างก็จับมาแปะ มาประดับ เอามาตั้งไว้บนยอด สัดส่วน (Proportion) ความสัมพันธ์กันทั้งหมดผมคิดว่า มันก็ยังไม่ดีมากนัก ถ้าหากมองในแง่การออกแบบล้วน ๆ
 
ถ้าสมมติว่าอาจารย์ได้ออกแบบอาคารรัฐสภา อาจารย์คิดว่าจะออกแบบอย่างไร
ผมก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะออกแบบอย่างไร แต่ผมว่าผมมีหลักเกณฑ์อยู่ 3 ข้ออย่างที่ผมได้พูดไปแล้ว คือ
1.) จะต้องอธิบายประชาธิปไตย จะต้องแสดงหรือสะท้อนถึงอำนาจของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งต้องถูกปรับใช้กับการออกแบบทั้งหมด
2.) จะต้องคำนึง สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ บริบทที่ตั้ง การคำนึงถึงเรื่องการประหยัดพลังงาน
3.) เรื่องเอกลักษณ์ของตัวอาคารรัฐสภา ขอย้ำว่ามันไม่จำเป็นต้องดูเป็นไทย แต่อาคารรัฐสภาซึ่งเป็นหนึ่งในอาคารที่สำคัญที่สุดของชาติ ของรัฐสมัยใหม่ มันควรจะมีรูปลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นพอสมควร
 
แต่เนื่องจากไม่เคยคิดออกแบบอาคารรัฐสภามาก่อน ผมถึงไม่ค่อยมีรายละเอียดเท่าไหร่
 
มีข้อวิจารณ์หรือความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวอาคารรัฐสภาอีกไหม
แบบที่เขาใช้คติเรื่องเขาพระสุเมรุ จากที่ผู้ออกแบบให้สัมภาษณ์บอกว่าพวกเขาต้องการฟื้นวิกฤตทางศีลธรรม เขาพระสุเมรุทำให้คนระลึกถึงบาปบุญคุณโทษ แล้วงานออกแบบก็จะมีแกนที่สำคัญคือแกนตรงกลาง ซึ่งเป็นมณฑปขนาดใหญ่ไว้ให้พระสยามเทวาธิราชย์ มีโถงราชพิธีซึ่งแสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ บนยอดเป็นศาสนา ด้านล่างเป็นพิพิธภัณฑ์ เขาให้ความสำคัญกับแกนกลางอันนี้ เป็นแกนประธาน ผมอยากให้สังเกตว่าส่วนที่เป็นห้องประชุมรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ผู้ออกแบบจัดแยกไปอยู่เป็นแกนรอง สองด้าน 
 
 
 
แผนภาพจากเอกสารรายละเอียดของผู้ชนะการประกวด ซึ่งเป็นแผนภาพในมุมมองจากด้านหน้า แสดงความหมายและพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ โดยมีแกนกลางแสดงความหมายของชาติ ศาสน์ กษัตริย์
และมีห้องประชุม ส.ส.
, ส.ว. อยู่สองข้าง
สามารถดูรายละเอียดหรือดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ ที่นี่
 
(ยกแผนภาพมานำเสนอ) นี่คือแกนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของเขา เป็นตัวหลักประธาน แล้วคุณดูรัฐสภา (ชี้ที่แผนภาพ) แล้วคุณดูรัฐสภา กับห้องประชุมวุฒิสภา กลายเป็นแกนรอง ทั้ง ๆ ที่รัฐสภาภายในโลกนี้ส่วนใหญ่ ส่วนที่เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดคือ ห้องประชุมรัฐสภา นี้เป็นสถานที่เป็นพื้นที่ที่เป็นตัวแทนของอำนาจประชาชน อำนาจที่ส่งผ่านผู้แทนตัวเองเข้าไปกำหนดกฏหมายนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ส่วนนี้ควรจะเป็นส่วนที่เป็นแกนประธาน แต่ว่าเขากลับออกแบบมาเป็นองค์ประกอบรอง
แล้วถ้ากลับมาดูแนวคิด ส่วนที่เป็นเขาพระสุเมรุ ที่เป็นตัวแทนของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พื้นที่ที่เป็นห้องประชุมสภาทั้งสองสภา ทำหน้าที่ตามคอนเซปต์เขาพระสุเมรุคือเป็นพระอาทิตย์กับพระจันทร์ ตรงตัวเขาใช้คำว่าห้องสุริยันต์-จันทรา คือเป็นห้องพระอาทิตย์-พระจันทร์ ที่โคจรรอบเขาพระสุเมรุ มันเป็นองค์ประกอบย่อยเล็ก ๆ เห็นได้ชัดว่าการออกแบบนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นความสำคัญใด ๆ เลยกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เขาให้ความสำคัญกับตัวแทนรูปลักษณ์ทางศาสนามากกว่า ให้ความสำคัญกับโถงราชพิธีในนามของสถาบันกษัตริย์ มากกว่า ซึ่งผมคิดว่าผิด ผิดหลักการประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง สิ่งที่ควรจะเป็นความสำคัญ กลับเป็นแค่องค์ประกอบเล็ก ๆ
น่าผิดหวังอีกคือการใช้หลักศาสนาพุทธ อย่างพระสยามเทวาธิราช มาเป็นแกนหลักในการออกแบบ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าทำไมวงการสถาปัตยกรรมถึงก้าวตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่รู้หรือไงว่าประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางศาสนา วัฒนธรรมในสังคมไทยปัจจุบัน นับวันมันก็ยิ่งแหลมคม ๆ ขึ้น ทำไมสถาปนิกไทยไม่ตระหนักถึงปัญหาที่ซับซ้อนและแหลมคมอันนี้ กลับใช้วิธีคิดแบบโบราณ 30-40 ปีที่แล้ว ที่อะไรก็พุทธศาสนาเข้ามาเป็นตัวหลัก
ที่น่าตกใจคือในคำสัมภาษณ์ที่เนชั่นแชนแนล พิธีกรได้ถามสถาปนิกผู้ออกแบบเหมือนกันเรื่องศาสนา ปรากฏว่าผู้ออกแบบตอบทำผมผิดหวังกำลังสอง คือตอบว่า "พุทธเป็นกัลยาณมิตรกับทุกศาสนา" และบอกว่าสิ่งที่เขาออกแบบเป็น "สภาแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์เป็นความรู้สึกสากลซึ่งทุกศาสนาได้มีประสบการณ์ร่วมกัน ยอมรับได้ มีความเป็นกลาง ไม่เป็นปัญหา" คือพวกเขายังมองเป็นด้านบวกอีกต่างหาก
ซึ่งผมคิดว่าการตอบเช่นนี้ค่อนข้างขาดความรับผิดชอบ และไม่ได้คำนึงถึงบริบทของสังคมไทย ว่ามีความเปลี่ยนแปลง ขัดแย้งซับซ้อน ซึ่งไม่ควรจะใช้อะไรง่าย ๆ ตื้น ๆ แบบนี้มาใช้ แล้วการเอาพุทธศาสนามาใช้เป็นแกนหลักในการออกแบบ นานไปมันมีแต่จะสร้างปัญหาความขัดแย้งแหลมคมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ประการสุดท้ายที่อยากจะเน้นย้ำคือ ตาเราประเมินสถาปัตยกรรม เราก็ควรวิเคราะห์ประเมินจากภาษาของสถาปัตยกรรม การออกแบบ ว่าเขาใช้องค์ประกอบการจัดวางอย่างไร ซึ่งเมื่อกลับไปดูคำอธิบายของทีมออกแบบแล้วมาดูตัวแบบเปรียบเทียบ เราจะพบความขัดแย้งกัน ยกตัวอย่างไปเช่นที่พูดถึงสิทธิพลเมือง การเข้าถึงประชาชน ประชาชนสามารถเดินเข้ามาใช้ได้ทุกส่วน มันเป็นภาษาพูดที่สวยหรู แต่พอมามองการออกแบบ การออกแบบที่เน้นแนวแกน เคร่งเครียด ซีเรียส แล้วก็มีเหมือนศาสนสถานขนาดใหญ่กดข่มหัวเราอยู่ มีการแบ่งระดับชั้น ใช้คติไตรภูมิฯ ซึ่งเป็นคติที่แบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน
ผมอยากจะเปรียบเทียบให้ดูว่า คุณลองไปดูรัฐสภาเยอรมัน ที่เขาออกแบบใหม่เมื่อปี 1999 เขาออกแบบขึ้นมาเป็นโดมแก้วกระจกขนาดใหญ่ มีห้องประชุมรัฐสภาอยู่ชั้นล่าง แต่โดมข้างบนเป็นที่ที่ประชาชนทุกเพศทุกวัยยกเว้นนักโทษ สามารถเข้าไปเดินได้ อยู่ด้านบนเหนือรัฐสภา มองลงไปเห็นสภาผู้แทนประชุมกันอยู่ มันเป็นรูปธรรม เป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงอำนาจของประชาชนอย่างชัดเจน มีอำนาจในทางนิติบัญญัติเหนือ ส.ส. ที่ตัวเองได้เลือกเข้ามา
แต่ว่าแบบของไทยพูดว่าแสดงถึงอำนาจของประชาชน แต่ตัวรัฐสภากลับกดข่มประชาชนให้เหลือตัวนิดเดียว แล้วพื้นที่ที่ให้อยู่ก็เป็นพื้นที่โลกียะอีก นี่มันเป็นไพร่ ทาส ข้าราษฎร ในยุคโบราณมาก ๆ
สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากให้คำนึงถึงคือเวลาที่เราฟังเรื่องแบบสถาปัตยกรรม ว่าภาษาพูดกับภาษาของสถาปัตยกรรมมันไม่ตรงกัน มันขัดแย้งกันเอง

 

 
ข้อมูล เอกสาร และภาพประกอบจาก

แบบผู้ชนะการประกวดการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ขั้นตอนที่ 2 จำนวน 5 ราย, เว็บไซต์สมาคมสถาปนิกสยามฯ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท