Skip to main content
sharethis

วานนี้ (14 ธ.ค.52) คณะทำงานศึกษามาตรการทางกระบวนการยุติธรรมเพื่อรองรับนโยบายสิทธิชุมชนและโฉนดชุมชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จัดสัมนาเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมกับคดีความสิทธิชุมชน” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อประมวลข้อเสนอและนำรายงานต่อคณะอนุกรรมการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคดีความของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน และรัฐบาลต่อไป

ในช่วงเช้า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ได้นำเสนอภาพรวมคดีที่ดินชุมชนทั่วประเทศทั้งหมด 84 คดี :ซึ่งมีชาวบ้านถูกดำเนินคดีทั้งหมด 409 ราย ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านผู้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ได้นำเสนอกรณีศึกษาคดีละเมิดสิทธิชุมชนในแต่ละภูมิภาค

 

สุดยอดคดีเด็ด การละเมิดสิทธิชุมชน

นางกำจาย ชัยทอง เครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านคอกเสือ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ซึ่งถูกอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ฟ้องร้องคดีแพ่งข้อหาบุกรุกป่าและทำให้โลกร้อน เรียกค่าเสียหายถึง 1,672,740 บาท เล่าว่า ที่ดินที่เธออยู่เป็นที่ดินซึ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่ก็กลับถูกฟ้องร้องในข้อหาบุกรุกป่า เพื่อจะรักษาที่ดินผืนสุดท้ายของตัวเองไว้ เธอจึงเข้าร่วมกับเครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิของชุมชน ให้ได้มีที่ดินทำกินต่อไป

“ฉันทำสวนปลูกยางตัดยาง ปลูกผลไม้ ปลูกสตอ ลูกเหนียง ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในนั้นเพื่อกิน เพื่อใช้เลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัว เมื่อจะถูกยึดไปก็ไม่รู้จะไปไหน จึงมาเรียกร้องอยากให้ช่วยเหลือ ให้มีที่ดินให้ได้ทำกิน” นางกำจายกล่าวและว่า ตั้งแต่ถูกยึดที่ก็ไม่ได้ตัดยาง ไม่ได้ทำกินอีก ลูกของเธอก็ต้องออกจากโรงเรียนไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่เพราะเธอไม่มีรายได้ ครอบครัวต้องลำบาก ทั้งสูญเสียอีกมากมาย จึงอยากให้รัฐบาลเห็นใจคนจนไม่ได้รับความเป็นธรรม

นายบุณยฤทธิ์ ภิรมย์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ผู้เดือดร้อนในกรณีนายทุนฟ้องชาวบ้านหมู่ 6 ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ว่าบุกรุกที่ดินกว่า 1,400 ไร่ ในคดีอาญาและเรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาท เล่าว่า เมื่อปี 2550 กลุ่มสันติพัฒนาได้ร้องให้ตรวจสอบการถือครองของบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งผลปรากฎว่าที่ดินของบริษัทที่ถือครองทับซ้อนกับเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวรและพื้นที่ สปก.แต่บริษัทก็ยังอ้างถือครองสิทธิ ต่อมาชาวบ้านเห็นว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังไม่ดำเนินการใดๆ จึงเข้าไปใช้พื้นที่ เพื่อให้มีการดำเนินการโดยเร็ว ทั้งนี้ จากการประชุมกับคณะทำงานระดับอำเภอ 3 ครั้งได้ข้อสรุปว่า บริษัทไม่มีเอกสารสิทธิในพื้นที่เขตป่าไม้ถาวร ทั้งยังไม่มีเอกสารสิทธิไปยื่นด้วย

เขาเล่าว่า ต่อมาเมื่อ ธ.ค.51 บริษัทอ้างว่ามี น.ส.3 ก. และได้ฟ้องต่อศาลให้ชาวบ้านออกจากที่ดิน ซึ่งมีผลทำให้มีการบังคับคดี โดยที่กรมบังคับคดีไม่รับฟังข้อโต้แย้งของชาวบ้านว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ในที่ดินดังกล่าว ทั้งยังพยายามใช้กำลังทั้งในและนอกระบบผลักดันให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่

เขากล่าวต่อว่า ล่าสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้ลงพื้นที่พบว่า เอกสาร น.ส.3ก.ที่บริษัทอ้าง ออกโดยไม่ชอบ เนื่องจากได้ตรวจสอบแผนที่ทางอากาศในปี 2518 ปรากฎว่า ขณะนั้นพื้นที่ดังกล่าวที่บริษัทใช้อ้างใน น.ส.3ก.ยังเป็นพื้นที่สมบูรณ์ ขณะที่บริษัทอ้างว่า เข้าไปทำกินมาก่อนปี 2497 ซึ่งเป็นปีก่อนที่กฎหมายที่ดินจะออกมา ซึ่งดีเอสไอบอกว่าเป็นเท็จแน่นอน อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ พวกเขาจะขึ้นศาลในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ ก็ยังกังวล ไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวถึงอุปสรรคในการต่อสู้คดีว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่จริงใจในการบริการประชาชน เพราะกรมบังคับคดีให้ชุมชนต้องย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว ทั้งที่ศาลยังไม่ยกเลิกคำสั่งเดิม นอกจากนี้ เนื่องจากมีผู้ต้องหาจำนวนมาก จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี-จ้างทนายจำนวนมากตามไปด้วย

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการยุติธรรมเคยลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎ์ธานีและรับปากว่า จะดำเนินการ 2 เรื่องคือ หนึ่ง แก้กฎระเบียบว่าด้วยการเบิกจ่ายงบประมาณที่จะนำมาช่วยเหลือพี่น้องที่โดนดำเนินคดี และ สอง จะผลักดันให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการช่วยเหลือคดีให้เร็วขึ้น โดยจะให้ประชุมได้ภายในเดือนพฤศจิกายน แต่จนถึงปัจจุบัน ทั้งสองเรื่องก็ยังไม่มีการดำเนินการ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเสียผลประโยชน์

“ถ้าไม่แน่ใจว่าจะทำได้ ไปรับปากกับพี่น้อง ไปให้ความหวังลมๆ แล้งๆ กับเขาได้อย่างไร” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

ด้านนางจุติอร รัตนอมรเวช ตัวแทนชุมชนหลัง สน.ทองหล่อและเครือข่ายสลัมสี่ภาค ให้ข้อมูลว่า ชุมชนแห่งนี้ มี 44 หลังคาเรือน 65 ครอบครัว ประชากร 272 คน อยู่มาเกือบ 50 ปี ก่อนที่จะมีคอนโดรวมถึงสถานีตำรวจเสียอีก คนที่ซื้อคอนโดก็ต้องรู้อยู่แล้วว่า ตรงนี้เป็นสลัม อย่างไรก็ตาม หลังจากคนในชุมชน 3 หลังคาเรือนได้ต่อเติมบ้านจากชั้นเดียวเป็นสองชั้น เนื่องจากสมาชิกเพิ่มขึ้น ต่อมา เจ้าบ้าน 3 หลังและประธานชุมชนได้รับหมายไล่ทางจดหมายลงทะเบียนแจ้งว่า ทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร มาตรา 40(1) คือให้ระงับการก่อสร้าง มาตรา 40(2) ห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าว และมาตรา 42 ห้ามก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาของเขต ได้แจ้งว่า ถ้าอยากระงับเรื่อง ไม่อยากถูกร้องเรียนต้องไปคุยกับคนที่มาร้องเรียน ซึ่งคือนิติบุคคลของคอนโดสร้างใหม่ใกล้ๆ กันที่บอกว่าชาวบ้านปลูกบ้านขึ้นมาทำให้ทัศนียภาพไม่สวยงาม โดยทางคอนโดเรียกร้องให้ชุมชนรื้อบ้านสองชั้นในชุมชนทั้งหมด 19 หลังลงเหลือชั้นเดียว จากนั้น ชุมชนได้สอบถามทางเขตว่า นิติบุคคลมีอำนาจสั่งการด้วยหรือ เจ้าหน้าที่ก็ตอบไม่ได้ ถือเป็นการเลือกปฎิบัติกับคนจนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ หากใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารกับคนจน ที่มีที่อยู่แค่นิดเดียว ให้เว้นหน้าเว้นหลัง ก็คงเหลือที่ไม่ต่างจากศาลพระภูมิ แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร

นางจุติอร กล่าวด้วยว่า เมื่อเห็นรัฐบาลมีนโยบายโฉนดชุมชน ก็ดีใจที่ออกมาเพื่อแก้ที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้าน ให้อยู่อย่างถูกกฎหมาย แต่ในทางปฎิบัติกลับต่างกัน เพราะทางเขตกลับส่งหมายมาไล่พวกเขา ดังนั้น ในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ จึงจะนัดชุมนุมกันหน้า กทม.เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่า กทม.มาแก้ไขปัญหา โดยหวังว่าจะมีตัวแทนชาวบ้านเข้าเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้วย 

ขณะที่ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวถึงกรณีการปลูกสวนป่าคอนสารทับที่ดินทำกินชาวบ้าน ต.ทุ่งพระ จ.ชัยภูมิ ซึ่งชาวบ้านได้ต่อสู้มานานนับ 30 ปี แต่ล่าสุดขณะนี้กลับถูกดำเนินคดีฟ้องขับไล่ชาวบ้านจำนวน 31 รายว่า กระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านยังมีอุปสรรค เพราะเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมยังไม่จริงใจการช่วยเหลือประชาชน

 

ทนายความฉะรัฐใช้กฎหมายรุกรานประชาชน

นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน แสดงความเห็นว่า เรื่องทั้งหมดเกิดจากปัญหาเดียว คือ การที่รัฐของไทยคิดว่าตัวเองมีอำนาจจัดการทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องปัญหาที่ดิน ซึ่งไม่ใช่แค่ทรัพย์สิน แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญของวิถีชีวิตเกษตรของชาวบ้าน ดังนั้น เมื่อเกี่ยวข้องกับความจำเป็นของชีวิตแล้ว ไม่ว่าจะออกกฎหมายใด ไม่ว่าองค์ประกอบของกฎหมายจะชอบธรรมหรือไม่ กฎหมายก็จะถูกละเมิดอยู่ตลอดเวลา และไม่อาจใช้บังคับได้

นายแสงชัย กล่าวต่อว่า รัฐรวมอำนาจในการกำหนดแผนที่ ซึ่งเป็นต้นตอปัญหาของชาวบ้านในขณะนี้ โดยเมื่อมีกฎหมายเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองป่า รัฐก็ใช้วิธีที่ง่ายที่สุด คือดูแผนที่ทางอากาศว่าตรงไหนควรสงวน ก็ขีดเส้นแล้วประกาศ แต่ไม่เคยมานั่งดูของจริง ว่าชาวบ้านเคยทำกิน ตั้งชุมชน มีรกรากกันอยู่ตรงที่ขีดหรือไม่ ไม่มี ทำให้เป็นเรื่องพื้นที่อย่างเดียว แต่ไม่เคยคิดถึงคน ทำให้ความจำเป็นของชีวิตกับกฎหมายเป็นปฎิปักษ์กันทันที เพราะรัฐก็ถือว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องไม่ให้คนเข้าไปทำกินในเนื้อที่ตามแผนที่

เขากล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิด ถ้ากระบวนการไม่ได้ผูกขาดโดยรัฐแต่ผู้เดียว หากดูว่าชาวบ้านใช้ประโยชน์อย่างไร แล้วค่อยกำหนดเขต และเงื่อนไขวิธีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่เราไม่มีกฎหมายนี้ จึงเกิดคดีความต่างๆ ขึ้นจำนวนมาก

ทนายความอิสระผู้นี้บอกด้วยว่า นอกจากนี้ เมื่อที่ดินกลายเป็นสินค้าและเครื่องมือในการสะสมทุน ทำให้มีการส่งที่ดินเข้าสู่ตลาดที่ดิน การมีโฉนดที่ดินจึงเป็นเรื่องสำคัญ มีการเปลี่ยนเจ้าของที่ดินง่ายขึ้น โดยไม่สนใจว่าจะมีการทำประโยชน์ในที่ดินหรือไม่ กฎหมายที่จะระบุว่าหากไม่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินใน 10 ปีจะตกเป็นของรัฐ ก็ไม่เคยถูกนำมาใช้

ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยความสมัครใจหรือด้วยกลไกตลาด ปัจจัยทั้งหมดทำให้ชาวบ้านขายที่ดิน จนสุดท้าย ที่ดินกลายเป็นศูนย์รวมทุน โดยที่ไม่ได้ทำประโยชน์ คนยากจนที่อยากมีชีวิตกับวิถีการเกษตร เมื่อที่ดินไม่พอทำกินจึงต้องดิ้นรนไปอยู่ในเขตที่ถูกขีดโดยรัฐว่าเป็นที่ป่า และถูกฟ้องร้องดำเนินคดี อาทิ ข้อหาทำให้โลกร้อน อย่างไรก็ตาม ข้อหาประเภทนี้ถูกนำไปใช้แต่กับชาวบ้าน แต่ถามว่า คนที่ไปโค่นป่าต้นน้ำนับหมื่นไร่เพื่อทำสวนป่านั้น เคยนำไปคำนวณหรือไม่ ว่าเสียหายปีละเท่าไหร่

นายแสงชัย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาเฉพาะส่วนเฉพาะตัว หากแก้ไขให้กฎหมายไม่รุกรานชีวิตผู้คนไม่ได้ ปัญหาจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐจะไม่อาจจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ เสนอว่า คงต้องใช้คดีของชาวบ้านขณะนี้ เป็นเครื่องมือให้คนของรัฐได้คิด ว่ากำลังใช้กฎหมายรุกรานความจำเป็นของสังคม และกฎหมายนั้นควรจะถูกแก้ เพราะทำให้สังคมไม่สงบสุข

เขาวิจารณ์ด้วยว่า ความจำเป็นของชีวิตนี้รับรองโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกเปลี่ยนบ่อยเกินไป หน่วยงานรัฐจึงไม่ให้ความสนใจ โดยยกตัวอย่างคดีที่เกาะยาว ซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การอะไรเพิ่ม นอกจากส่งเอกสารประกอบ 1 ฉบับคือ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66-67 แต่พนักงานสอบสวนพิจารณาแล้ว ระบุว่าไม่ใช่สาระสำคัญในการดำเนินคดี จึงไม่จำเป็นต้องสอบสวนต่อซึ่งสะท้อนถึงทัศนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและอำนาจรัฐไทยไปพร้อมๆ กัน

 

นักวิชาการแจกแจงรัฐธรรมนูญยัน “กฎหมายป่าไม้” ละเมิด “สิทธิชุมชน”

นายสมศักดิ์ ทองเอี่ยม อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับป่าไม้-ที่ดินว่า ที่ดินในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 2 จำพวก คือ ที่ดินเอกชน กับที่ดินรัฐ โดยที่ดินเอกชน เริ่มต้นที่การครอบครองที่ดินโดยพละการก่อนมีประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับในวันที่ 1 ธ.ค.2497 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวระบุให้ผู้ที่ครอบครองก่อนหน้าสามารถไปยื่นขอเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดินได้ ในส่วนที่ดินรัฐคือที่ดินที่นอกจากที่ดินเอกชน และถูกนำไปใช้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ ในกรณีที่ราษฎรอยู่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินปี 2497 บางส่วนไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์ ได้ถูกกรมป่าไม้สันนิษฐานว่าไม่ใช่ที่ดินเอกชนและให้ตกเป็นของรัฐ ดังตัวอย่างกรณีสวนป่าคอนสาร ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิขึ้น

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อมาถึงเรื่องสิทธิชุมชนว่า มาตรา 66 และ 67 ของรัฐธรรมนูญ 50 เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ ส่วนกฎหมายที่ให้รัฐบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติแต่เพียงผู้เดียว อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวกับป่าไม้ทั้งหมด ถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ นำมาบังคับใช้ไม่ได้ และต้องมีการแก้ไข โดยเขาอ้างถึง มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” อีกทั้งมาตราที่ 28 วรรค 2 และ 3 ที่ระบุว่า บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองสามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาล หรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ และสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายลูก หรือการแก้ไขกฎหมายก็สามารถบังคับใช้ได้

เขากล่าวด้วยว่า สิทธิชุมชนก่อให้เกิดสิทธิของราษฎร ใน 3 เรื่อง คือ 1.มีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสาร แสดงความเห็นต่อรัฐในการบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพได้ 2.ชุมชนมีสิทธิ์ดูแล บริหาร จัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ 3.สิทธิของชุมชนที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อฟ้องร้องรัฐที่ละเมิดสิทธิของชุมชนและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ในส่วนข้อเสนอ นายสมศักดิ์ กล่าวถึงช่องทางการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 พูดถึงการถอดถอนออกจากตำแหน่ง สำหรับผู้พิพากษา ตุลาการ พนักงานอัยการ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ที่มีพฤติการส่อว่าจงใจใช้ทำหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยการเข้าชื่อ 20,000 รายชื่อ และหากเจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 30 และทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ให้ฟ้องดำเนินคดีอาญา นอกจากนี้ยังเสนอให้ชาวบ้านที่อยู่ในป่าทำหนังสือยื่นขอใช้สิทธิชุมชนเพื่อดูแลรักษาและใช้ทรัพยากร หากไม่สำเร็จสามารถยื่นอุธรณ์คำสั่งทางปกครอง และฟ้องศาลปกครองต่อไปได้

 

อดีตอนุกรรมการสิทธิฯ ชี้ “แก้ปัญหาที่ดิน” ต้องดูต้นเหตุที่ทิศทาง “การพัฒนาประเทศ”

ส่วนนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ อดีตอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สัดส่วนคดีละเมิดสิทธิชุมชนที่ร้องเรียนเข้ามาในคณะกรรมการสิทธิฯ คดีเกี่ยวกับป่าไม้ที่ดินมีมากที่สุด และจากการติดตามตรวจสอบพบว่าที่ดินของรัฐทุกประเภทกำลังอยู่ในภาวะของการถูกละเมิดสิทธิ พร้อมๆ กับมีแนวโน้มการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น

ส่วนสาเหตุของปัญหาการละเมิดสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า เกิดจากความไม่เข้าใจปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับมิติทางสิทธิมนุษยชน ยึดเฉพาะข้อกฎหมาย กระบวนการแก้ปัญหาของรัฐไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และนโยบายของรัฐในการพัฒนาประเทศส่งผลกระทบต่อสิทธิในที่ดินของประชาชน โดยไม่มีการวางแผนการใช้ที่ดินและไม่มีการสำรวจการถือครองที่ดินอย่างแท้จริง ส่งผลให้คนหลั่งไหลสู่ภาคเมือง กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยกฎหมายที่มีในปัจจุบัน

“ปัญหาที่ดินมันไม่ได้แก้ที่ปลายเหตุว่า ชาวบ้านจะมีความขัดแย้ง ถูกรุกไล่ที่ดิน แต่ปัญหาคือว่าประเทศไทยจะพัฒนาไปในทิศทางไหน ถ้าเราพัฒนาอุตสาหกรรมแน่นอนว่าพื้นที่เกษตรกรรมต้องลดลง นี่คือทางออกของการแก้ปัญหาที่ดิน เพราะเป็นต้นเหตุ” อดีตอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่ากล่าว

นางสาวศยามล กล่าวต่อมาว่า มาตราการทางกฎหมายที่รวมศูนย์อำนาจ ไม่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม มีการออกกฎหมายตามอำนาจของแต่ละหน่วยงานทำให้เกิดการซ้ำช้อนของกฎหมายในแต่ละพื้นที่ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหา ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากหากประเทศไทยไม่ปฏิรูปกฎหมายทั้งหมด ส่วนทางออกคือการให้ชุมชนจัดการพื้นที่ของตนเอง ให้บูรณาการให้ได้ แล้วค่อยผลักดันต่อไปยังรัฐบาล และการปรับทัศนะคติของทุกฝ่ายเข้าหากันเพื่อร่วมหาทางออก โดยใช้หลักความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

นางสาวศยามล กล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่ใช้กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ และกลไกของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ในกรณีที่ผ่านมามีปัญหามาก และไม่ได้ช่วยเหลือประชาชน กรรมการสิทธิฯ ได้เสนอให้ยกเลิกกระบวนการนี้ แล้วทำการสำรวจการถือครองที่ดินทุกประเภททั่วประเทศโดยเร็ว โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ในกรณีพื้นที่ทับซ้อนให้รีบดำเนินการตัดสิน หากเป็นที่ราชพัสดุเสนอให้มีการให้สัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี ส่วนที่สาธารณะประโยชน์เสนอให้จัดสรรให้ประชาชนไร้ที่ดินทำกินเช่าใช้ประโยชน์

สำหรับพื้นที่สวนป่าของรัฐ กรรมการสิทธิฯ เสนอให้ยุบองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เพราะ ออป.ไม่ได้ทำตามหลักการเดิมที่ว่าหลังจากทำสวนป่าต้องฟื้นป่าธรรมชาติ และเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลในเรื่องการรักษาพื้นที่ป่าและการจัดการที่ดินให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกัน อีกทั้งเสนอให้มีการตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายทางแพ่งในกรณีผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ และยกเลิกองค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพราะกระบวนการจัดการเน้นการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้ปฎิรูปกฎหมาย วางแผนการใช้ที่ดิน ออกกฏหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าด้วย

 

แนะ “สิทธิชุมชน” เป็นเรื่องใหม่ ต้องให้ข้อมูลสร้างความเข้าใจ
 
ด้าน นางสาวสุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับที่ดิน ป่า และสิทธิชุมชนว่า คดีที่ดินและป่าไม้ มีจำนวนมากและมีความซับซ้อน อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโลกาภิวัฒน์ ในเรื่องการลงทุนข้ามชาติ ซึ่งต้องมองภาพรวมของโลก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการดำเนินการทางคดีต้องใช้เวลานานมาก ซึ่งก็มีความพยายามทำให้มีกระบวนการที่รวดเร็ว และเป็นธรรมมากขึ้น

ในส่วนคดีปกครองเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดิน ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คือการออกกฎที่ไม่ชอบโดยเฉพาะเรื่องการกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์ทับเขตพื้นที่ชาวบ้าน ซึ่งหากเป็นการกำหนดเขตในอดีตก็เป็นเรื่องย้อนหลังไปพิสูจน์ หรือมีนโยบายในการแก้ไข แต่ปัญหาใหม่ในหลายพื้นที่ควรต้องรีบโต้แย้ง โดยการฟ้องคดีเพื่อพิสูจน์กัน นอกจากนี้การโต้แย้งคำสั่งทางปกครองต่างๆ คาดว่าในอนาคต คดีหลักที่ศาลปกครองจะต้องทำคือการที่ชาวบ้านจะไปขอใช้สิทธิชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้ง คดีเกี่ยวกับเรื่องสัญญาทางปกครองที่รัฐให้สิทธิกับภาคอุตสาหกรรมที่อาจกระทบกับสิทธิของประชาชน ดังตัวอย่าง กรณีมาบตาพุด ซึ่งคงจะต้องมีการฟ้องร้องกันมากขึ้นในอนาคต แต่โดยส่วนตัวคิดว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังคงมีความไม่ชัดเจนอยู่มากซึ่งในส่วนของนักกฎหมายควรร่วมกันพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“ความยากของเรื่องการตรวจสอบสิทธิในคดีทางปกครอง เราจะได้เห็นว่าในที่สุดหลักการอาจไม่ได้ยากเท่าการปฏิบัติ ในข้อเท็จจริง ที่สุดแล้วชุมชนหน้าตาเป็นอย่างไร ชุมชนคือชุมชนของแท้ หรือเป็นชุมชนที่ถูกจ้างมาหรือถูกหลอกมาหรือเปล่า แล้วชุมชนจะมาใช้สิทธิอย่างไร จะมีประเด็นในรายละเอียดอีกมากที่ต้องมาดูกัน” นางสาวสุนทรียากล่าว

เธอกล่าวต่อมาถึงมาตราการทางอาญาว่า จะช่วยรักษาที่ดินของรัฐไว้ได้ในกรณีที่มีการบุกรุก แต่ปัญหาคือความไม่ชัดเจนในการแบ่งแยกที่ดินของรัฐและที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งในส่วนนี้คิดว่าคนที่รับผิดชอบทางคดีอาญาต้องมีระบบการตรวจสอบที่ทำงานอย่างจริงจัง และรู้ว่าในที่สุดจะต้องดำเนินการอย่างไร ส่วนคดีป่าไม้และที่ดินซึ่งเป็นคดีแพ่ง ดังกรณีคดีโลกร้อนที่ชาวบ้านถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่โดยหลักของกฎหมายทรัพยากรเป็นสมบัติของส่วนรวม หากทำให้เสียหายต้องชดใช้และฟื้นฟู ตัวกฎหมายไม่ได้เสียหาย แต่การดำเนินการอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในชุมชน ดังนั้นต้องมีการพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและหลักกฏหมาย ต้องมองแบบองค์รวม

ส่วนเรื่องสิทธิชุมชน นางสาวสุนทรียากล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ขณะที่กฎหมายมีกรอบในการใช้ดุลพินิจในการตัดสินที่แบนมาก ขึ้นอยู่กับว่าจะนำมาใช้ให้อย่างชีวิตได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคนในกระบวนการยุติธรรมหากได้รับฟังข้อมูลจากประชาชนมากๆ จะมีแนวทางและการดำเนินการที่ชัดเจนในอนาคต ทั้งนี้ ในส่วนวิธีพิจารณาคดี ขณะนี้ศาลยุติธรรมกำลังร่างกฎหมายร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมอยู่ ซึ่งหลักการกรรมการบริหารศาลได้อนุมัติไปแล้ว อยู่ในระหว่างจัดทำรายละเอียด โดยจะมีการพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชนให้ชัดขึ้นเพื่อให้ศาลมีแนวทางในการดำเนินงาน เชื่อว่าจะมีความก้าวหน้าและรวดเร็วในการตัดสินมากขึ้น

สำหรับข้อเสนอ นางสาวสุนทรียาแสดงความเห็นว่าในขณะนี้ควรต้องปฏิรูปงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย เช่น อัยการ แทนที่จะทำการฟ้องร้องเป็นรายคดีทั่วไป แต่ในคดีใหญ่ๆ ควรเข้าไปมีบทบาทอย่างเป็นระบบเพื่อปกป้องทรัพยากรของรัฐไว้ให้ได้ ขณะเดียวกันในกรณีที่รัฐไปละเมิด ก็ต้องใช้ดุลยพินิจอย่างจริงจังที่จะบอกว่านั่นเป็นที่ของชาวบ้าน ไม่สั่งฟ้องมั่ว นอกจากนี้ในส่วนของกรรมการสิทธิฯ เองซึ่งปัจจุบันมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นก็จะมาช่วยเหลือตรงนี้ได้ ทั้งนี้ มองว่าเรื่องทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญ และควรมีการปฏิรูปดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการใช้อำนาจในการดำเนินคดี การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ อย่างจริงจัง


สมาชิก สป. ย้ำกฎหมายป่าไม่ไม่ได้ช่วยรักษาป่า ชี้ต้องมีการปฏิรูป

นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงแนวทางปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ว่า ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญให้สามารถปฏิบัติจริงได้ โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ว่าที่ดินและป่าไม่เป็นทรัพยากรที่มนุษย์ทุกคนต้องเข้าถึง เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพอย่างเหมาะสม โดยนำเสนอแนวทางการปฏิรูปกฎหมาย 6 ข้อ คือ 1.ปรับกระบวนการทางความคิดของนักการเมืองและผู้บริหารที่กำกับดูแลบริหารงานป่าไม้ ให้มีความรู้ความเข้าใจกลไกการดุแลทรัพยากรของชุมชน 2.ปรับปรุงกระบวนการพัฒนานโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ ให้เป็นกระบวนการสาธารณะที่มีส่วนร่วมจากชุมชน รัฐ และภาคประชาสังคม

3.ยกเลิกกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เช่น การประกาศเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ในอดีต 4.เชื่อมโยงบทเรียนประสบการณ์การทำงานภาคสนามที่ดีๆ เข้ากับกระบวนการพัฒนานโยบาย 5.ยกระดับการพัฒนาฐานข้อมูลการถือครองที่ดินของประชาชนและการถือครองที่ดินในเขตป่าไม้ให้เป็นฐานข้อมูลสาธารณะที่รับรู้ในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่การทบทวนปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายหรือภาษีที่เหมาะสม และคิดว่าข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้พิพากษาได้ตัดสินบนฐานข้อเท็จจริงที่เป็นจริง ช่วยให้กระบวนการยุติธรรมให้ความเป็นธรรมกับประชาชนจริงๆ 6.มีมาตราการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาการบังคับใช้นโยบายหรือกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ผลของเนื้อหากฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายที่ส่วนใหญ่มีทัศนคติด้านลบกับชุมชนในเขตป่า ไม่เข้าใจบริบททางสังคม  ทำให้ประชาชนจำนวนมากกลายเป็นผู้อยู่อาศัยทำกินโดยผิดกฎหมายป่าไม้ ซึ่งตัวเลขในปี 2544 มีประชากรประมาณ 4.6 แสนครัวเรือน หรือ 1 ใน 5 ของประชากรไทยต้องอยู่อาศัยทำกินโดยผิดกฎหมายป่าไม้

ทั้งนี้ สิ่งที่ชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องปฎิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ คือ การสูญเสียป่าสมบูรณ์ถึง 80 ล้านไร่ในระยะเวลาราว 50 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันก็ยังไม่มีแนวโน้มจะยุติลงได้ กระบวนการฟอกบริสุทธิ์ของทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับป่า ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น การฟอกไม้ของกลาง นอกจากนี้ที่ดินของรัฐที่จัดสรรเพื่อช่วยเหลือคนจนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ถูกเปลี่ยนมือมาเป็นของนายทุน ทำให้เกษตรกรต้องไปถางป่าใหม่ อีกทั้งมีการกว้านซื้อที่ดินโดยนายทุนทั้งในชาติและข้ามชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เห็นได้ว่ากฎหมายที่มีรักษาทรัพยากรของชาติไว้ไม่ได้ และทรัพยากรที่มีอยู่มีการเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net