บวชภิกษุณี: คณะสงฆ์ไทยไม่พร้อมเผชิญปัญหาท้าทาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวสำคัญเกี่ยวกับวงการพุทธศาสนาว่า คณะสงฆ์วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี มีมติให้ถอดวัดโพธิญาณ เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ออกจากการเป็นสาขาของวัดหนองป่าพง เนื่องจากคณะสงฆ์วัดโพธิญาณทำการอุปสมบทสตรีให้เป็นภิกษุณี ซึ่งจะมีผลให้วัดโพธิญาณไม่มีต้นสังกัดในวัดไทย และไม่ได้รับการดูแลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและมหาเถรสมคม

เหตุผลเพราะว่า การบวชภิกษุณีดังกล่าวนั้นขัดต่อระเบียบของคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาท เนื่องจากมีพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พ.ศ.2471 ห้ามภิกษุสงฆ์ในประเทศไทยทำการอุปสมบทให้แก่สตรี และคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมในการประชุมครั้งที่ 28/2527 และครั้งที่ 18/2530 ห้ามภิกษุสงฆ์ทำพิธีอุปสมบทให้สตรีเป็นภิกษุณี

ผู้เขียนไม่แปลกใจที่คณะสงฆ์ไทยลงโทษวัดโพธิญาณด้วยการถอดออกจากต้นสังกัดในไทย และก็ไม่แปลกใจเช่นกันที่คณะสงฆ์วัดโพธิญาณจะตัดสินใจทำการอุปสมบทสตรีให้เป็นภิกษุณี แม้ว่าจะได้รับทราบข้อห้าม (และบทลงโทษ?) ตามระเบียบคณะสงฆ์ไทยก่อนแล้วก็ตาม

ที่ไม่แปลกใจในประการแรก เพราะวิธีการ “ทำให้เป็นอื่น” คือวิธีการลงโทษพวกเดียวกันที่มีความเห็นต่างอันเป็นวิธีถนัดของคณะสงฆ์ไทย เช่น ที่เคยทำมาแล้วในกรณีสันติอโศก และเคยพยายามทำในกรณีธรรมกาย (แต่ไม่สำเร็จ) และที่ไม่แปลกใจในประการหลัง เพราะเป็นเรื่องที่สามารถคาดเดาได้อยู่แล้วว่า เกี่ยวกับข้อขัดแย้งเรื่องการบวชภิกษุณีนั้น คณะสงฆ์วัดโพธิญาณในออสเตรเลีย (ซึ่งอยู่ในบริบทสังคมวัฒนธรรมที่เคารพสิทธิเท่าเทียมทางเพศมากกว่า) น่าจะอ้างอิงเหตุผลของพระพุทธเจ้ากับเหตุผลเรื่องสิทธิสตรีหรือความเสมอภาคทางเพศในสังคมสมัยใหม่มากกว่า

เมื่ออ้างอิงเหตุผลของพระพุทธเจ้า และเหตุผลเรื่องสิทธิสตรีหรือความเสมอภาคทางเพศในสังคมสมัยใหม่อย่างมีวิจารณญาณ ย่อมเป็นเรื่องที่ดูไร้เหตุผลที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบอันแข็งทื่อของคณะสงฆ์ไทย

ผู้ที่พอมีความรู้ทางพุทธศาสนาคงจะทราบว่า เดิมทีนั้นพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้บวชภิกษุณี แม้จะได้รับการร้องขอจากพระนางมหาปชาบดี โคตมี ซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยงก็ตาม แต่เมื่อพระอานนท์มาทูลถามว่า “สตรีมีความสามารถบรรลุธรรมได้เหมือนบุรุษหรือไม่” พระพุทธองค์ตอบว่า “ได้” และในที่สุดก็ยอมอนุญาตให้สตรีบวชด้วยเหตุผลที่ว่า“สตรีมีความสามารถบรรลุธรรมได้เหมือนบุรุษ”

เราอาจเรียกเหตุผลนี้ว่าเป็นเหตุผลเรื่อง “ความจริงตามธรรมชาติของมนุษย์” นั่นคือความจริงที่ว่า มนุษย์ไม่ว่าจะเพศใดๆก็มีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้เสมอเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกคนก็ควรมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการศึกษาและปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม

แต่อย่างไรก็ตาม สถานะของ “นักบวช” ในพุทธศาสนานั้น นอกจากเป็นสถานะที่ให้โอกาสแก่ปัจเจกบุคคลได้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมมากเป็นพิเศษแล้ว ยังเป็น “สถานะทางสังคม” อย่างหนึ่งที่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมด้วย ดังนั้น เมื่อพระพุทธองค์อนุญาตให้สตรีบวชก็อนุญาตอย่างมีเงื่อนไขหนาแน่น ที่เรียกว่า “ครุธรรม 8” เช่น เงื่อนไข (1 ใน 8 ข้อ) ที่ว่า “ภิกษุณีแม้บวชนานแล้วถึง 100 พรรษา จะต้องทำความเคารพกราบไหว้พระภิกษุที่เพิ่งบวชแม้วันเดียว”

จะเห็นได้ว่าเงื่อนเช่นนี้เป็นเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรม เนื่องจากสังคมอินเดียในเวลานั้นยังไม่ยอมรับความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เช่น ในวัฒนธรรมศาสนาพราหมณ์อย่าว่าแต่ผู้หญิงจะเป็นนักบวชได้เลย แม้แต่จะศึกษาคัมภีร์พระเวทก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ในขณะที่วัฒนธรรมพุทธเปิดโอกาสให้สตรีได้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมได้ในสถานะของ “อุบาสิกา” มาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่พระพุทธองค์ออกเผยแผ่พุทธธรรมแล้ว

ดังนั้น เมื่อพระพุทธองค์จะอนุญาตให้สตรีบวชภิกษุณี แม้จะยอมรับความเสมอภาคระหว่างสตรีบุรุษในเรื่องศักยภาพบรรลุธรรมดังกล่าว แต่ก็ดูเหมือนจะมี “ข้อจำกัด” ต้องยอมรับเงื่อนไขทางสังคมในเวลานั้นด้วยที่ถือว่า สถานะแห่งสตรีบุรุษไม่เท่าเทียมกัน

แต่ในปัจจุบันนี้พุทธศาสนาอยู่ในโลกสมัยใหม่ที่ยอมรับและเรียกร้องสิทธิเสมอภาคระหว่างสตรีบุรุษมากขึ้น ถ้าเรายอมรับเหตุผลความเสมอภาคในเรื่องศักยภาพการบรรลุธรรม หรือเหตุผล “ความเท่าเทียมในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์” การยอมรับให้สตรีบวชภิกษุณีในบริบทของสังคมทุกวันนี้ น่าจะเป็นเรื่องง่ายกว่าสมัยพุทธกาลอย่างเทียบกันไม่ได้

ทว่าปฏิกิริยาของคณะสงฆ์ไทยต่อคณะสงฆ์วัดโพธิญาณ (และต่อภิกษุณีธัมมนันทาเมื่อหลายปีก่อน) สะท้อนให้เห็นว่า คณะสงฆ์ไทยไม่พร้อมสำหรับการเผชิญกับปัญหาท้าทายใดๆอีกแล้ว อย่าว่าแต่ปัญหาท้าทายใหม่ๆที่มาพร้อมกับโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเลย แม้แต่ปัญหาเก่าๆ เช่น ปัญหาการบวชภิกษุณี คณะสงฆ์ไทยก็ทำได้เพียง “ผลักไส” พระสงฆ์หรือชาวพุทธหัวก้าวหน้าพวกเดียวกันเองให้กลายเป็นพวกอื่นเท่านั้น ซึ่งเป็นการปัดปัญหามากกว่าแก้ปัญหา

นับแต่นี้ไปเกรงว่า พระสงฆ์หรือชาวพุทธที่เหลืออยู่ในอ้อมอกอันอบอุ่นของคณะสงฆ์ไทย (และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) จะมีเพียงบรรดาพระเกจิที่เชียวชาญการปลุกเสกวัตถุมงคล วัดหรือสำนักที่เก่งด้านพุทธพาณิชย์ หรือการประกอบพิธีกรรมหาเงินเท่านั้น

ซึ่งพวกเหล่านี้ โดยเนื้อแท้แล้วมีลักษณะ “เป็นอื่น” จากพุทธศาสนาที่แท้ แต่กลับ “เป็นหนึ่งเดียว” กับคณะสงฆ์ไทย ในขณะที่พวกที่เป็นหนึ่งเดียวกับพุทธศาสนาที่แท้กำลังจะกลายเป็นอื่นจากคณะสงฆ์ไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

อันที่จริง กรณีคณะสงฆ์วัดโพธิญาณทำการบวชภิกษุณีแล้วถูกขับออกจากสังกัดในคณะสงฆ์ไทย หากมองลึกๆแล้วไม่ใช่ปัญหาของคณะสงฆ์วัดโพธิญาณ แต่เป็นปัญหาของคณะสงฆ์ไทยเอง เป็นปัญหาของการปกป้อง “เหตุผลอันแท้จริง” ของการบวชภิกษุณีที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับ และเป็นปัญหาของการปรับทรรศนะในการอยู่ร่วมกับสังคมสมัยใหม่

หรือพูดให้ตรงคือ เป็นปัญหาของการโดดเดี่ยวตนเองจากโลกของเหตุผลและความเป็นจริงในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งในที่สุดแล้วเป็นปัญหาของการตกขบวนรถที่พยายามนำพุทธธรรมประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับโลกสมัยใหม่อย่างที่ ท่านทไล ลามะ ท่านติช นัท ฮันห์ หรือชาวพุทธฝ่ายก้าวหน้าอื่นๆทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่า “โลกนี้ยังมีพุทธศาสนาที่ดับทุกข์ในสังคมร่วมสมัยได้จริง”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท