Skip to main content
sharethis

 


ฝ่ายคัดค้านประตูระบายน้ำแม่สอยให้ข้อมูลคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระหว่างการลงพื้นที่เมื่อ 18 ธ.ค.


ฝ่ายคัดค้านประตูระบายน้ำแม่สอยแสดงโมเดลจำลอง อธิบายให้กับตัวแทนคณะกรรมการสิทธิฯ ถึงผลกระทบหากเกิดโครงการประตูระบายน้ำแม่สอย เมื่อ 18 ธ.ค.


ชาวบ้านหลายพื้นที่ใน ต.แม่สอย ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนโครงการประตูระบายน้ำแม่สอย รวมตัวชุมนุมถือป้ายผ้าสนับสนุนโครงการ ระหว่างที่คณะกรรมการสิทธิฯ จัดเวทีรับฟังข้อมูลความคิดเห็นจากชาวบ้านกรณีโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ที่เวทีศาลาประชาคมบ้านแม่สอย เมื่อ 18 ธ.ค.

จากกรณีที่ “กลุ่มลูกน้ำปิง” ทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามคำร้องที่ 182/2552 ขอให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงมาตรวจสอบโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ หลังจากสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ได้ดำเนินการผ่านงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็ง จากรัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ตัวแทนชาวบ้าน อ้างว่าจากกระบวนการที่ผ่านมายังขาดการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบหลังจากการก่อสร้างและไม่ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆโดยมีเพียงการชี้แจงข้อมูลโครงการเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิของประชาชนและชุมชน ซึ่งอาจก่อให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับชาวบ้าน และอาจจะส่งผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของประชาชนในอนาคต

 

กรรมการสิทธิลงพื้นที่รับฟังข้อมูลโครงการประตูระบายน้ำแม่สอย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ได้ลงพื้นที่บ้านแม่สอย อ.จอมทอง จ. เชียงใหม่ เพื่อรับฟังข้อมูลถึงโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในพื้นที่ดังกล่าว

นายอเนก เคร่งครัด ตัวแทนจากกลุ่มลูกน้ำปิง ได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบจากโครงการที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน อย่างเช่นการหาปลาก็จะไม่สามารถทำได้อย่างเดิม เนื่องจากประตูระบายน้ำที่จะสร้างนั้นจะขวางทางไม่ให้ปลาจากท้ายน้ำมาวางไข่ ซึ่งจะทำให้จำนวนปลาลดลงเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ทางกลุ่มลูกน้ำปิงได้ยืนยันว่าในพื้นที่ไม่ได้ประสบสภาพขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรอย่างที่สำนักชลประทานที่1 เชียงใหม่ เจ้าของโครงการระบุ เนื่องจากสถานีสูบน้ำที่มีนั้นสามารถสูบน้ำไปใช้ในพื้นที่ทำเกษตรได้เพียงพอกับความต้องการของคนในพื้นที่

“ถ้าสร้างประตูระบายน้ำ นอกจากเรื่องความเป็นอยู่แล้วยังกระทบกับวัฒนธรรมประเพณีด้วย อย่างการขนทรายเข้าวัดก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีตลิ่งมีแต่พนังกั้นน้ำ รัฐบาลสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวกลับมาทำงานที่หมู่บ้าน แต่รัฐกลับมาสร้างโครงการ ถ้าอย่างนี้กลับมาก็ทำงานไม่ได้ แล้วจะบอกให้กลับมาทำไม”

สำหรับวัตถุประสงค์ในการป้องกันน้ำท่วมนั้น ทางกลุ่มลูกน้ำปิงได้ให้ข้อมูลว่ากรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดกับบ้านเรือนไม่ใช่พื้นที่ทำการเกษตรและเกิดเฉพาะบางปีที่น้ำหลากอย่างหนักเท่านั้น แล้วในทางหนึ่งเมื่อเกิดน้ำท่วมก็จะทำให้สามารถจับปลาได้มากขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่สามารถรับได้

 

กลุ่มหนุนโครงการชุมนุม ชี้ประตูระบายน้ำจำเป็น เพราะฤดูแล้งขาดน้ำ

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวทำให้เกิดความขึ้นแย้งขึ้นในพื้นที่ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนโครงการกับฝ่ายที่คัดค้านโครงการ โดยในช่วงบ่ายของวัน ทาง กสม. ได้จัดเวทีรับฟังข้อมูลความคิดเห็นจากชาวบ้านฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน ทั้งจากสำนักชลประทานที่ 1 นายก อบต.แม่สอย นายก อบต.บ้านแปะ นายก อบต.สบเตี๊ยะ และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยจัดรับฟังความคิดเห็นที่ศาลาประชาคมบ้านแม่สอย

ทางฝ่ายผู้สนับสนุนโครงการได้รวมตัวกันเพื่อมาร่วมเวทีดังกล่าว พร้อมถือป้ายผ้าเขียนข้อความสนับสนุนการสร้างประตูระบายน้ำ ทางฝ่ายผู้สนับสนุนโครงการให้เหตุผลว่าที่ผ่านมาลำน้ำปิงในช่วงหน้าแล้งนั้นแห้งและมีปริมาณน้ำไม่พอสำหรับทำการเกษตรจึงควรที่จะมีการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ซึ่งทาง กสม. จะต้องตรวจสอบข้อมูลจากทางสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ถึงข้อเท็จจริงเรื่องปริมาณน้ำที่ขัดแย้งกันของทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ทางฝั่งผู้สนับสนุนโครงการโจมตีว่า กสม. เป็นกลุ่มองค์กรพัฒนาภาคเอกชนและเป็นพวกเดียวกับกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ ดังนั้นเมื่อทาง กสม. ได้ตั้งคำถามในเวทีโดยซักถามถึงความจำเป็นของโครงการหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงถูกฝ่ายสนับสนุนโครงการส่งเสียงโห่ตลอด

สำหรับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่สอย เป็นหนึ่งในโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” ดำเนินการโดยสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ โดยมีแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ท้ายน้ำของลำน้ำแม่ปิงตอนบน

สำหรับประตูระบายน้ำดังกล่าว มีลักษณะอาคารเป็นประตูบานเหล็กโค้ง ขนาดของบานประตูกว้าง 12.50 เมตร สูง 8.00 เมตร จำนวน 10 บาน ตั้งอยู่บนสันฝายคอนกรีตที่มีความยาวรวม 125 เมตร สามารถระบายน้ำหลากผ่านอาคาร 1,820 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยเอกสารประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่สอยได้ให้ข้อมูลว่าคาดการณ์ว่า จะต้องใช้งบประมาณก่อสร้างและดำเนินการทั้งสิ้น 965.974 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าชดเชยที่ดิน และทรัพย์สิน 48.484 ล้านบาท ค่าก่อสร้างประตูระบายน้ำ แนวคันกั้นน้ำ รวมถึงอาคาร 850.240ล้านบาท และค่าดำเนินการเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีก 67.250 ล้านบาท

ทั้งนี้ นสพ.พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 16 ธ.ค. ตีพิมพ์ความเห็นของนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่กล่าวถึงกรณีก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่สอยว่า เมื่อมีการพัฒนาแหล่งน้ำที่ใดก็ตามจะต้องมีประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ไม่สามารถสั่งระงับโครงการดังกล่าวได้เนื่องจากมีทั้งชาวบ้านเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงอยากให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากหลายๆ ฝ่ายขึ้นมาศึกษาผลกระทบจากการสร้างโครงการประตูระบายน้ำแม่สอย ภายใน 30 วัน ถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีการประกวดราคาหาผู้รับเหมามาดำเนินการโครงการนี้ก็ตามและมีการเคาะราคากันไปแล้ว ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่าภายใน 30 วันจะไม่มีการว่าจ้างอย่างเด็ดขาด จนกว่าจะได้ข้อสรุป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net