“เด็กประถม”นักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น หวั่นปี 53 คนไทยติดเหล้างอม ภาคประชาชนจี้เพิ่มโทษเมาแล้วขับ ปรับ-กักขัง

“ภาคประชาชน” หนุน เพิ่มโทษเมาแล้วขับให้หนักขึ้น ทั้งปรับ-กักขัง โดยเฉพาะผู้กระทำผิดซ้ำ หลังรายงานจากต่างประเทศพบ ทำแล้วได้ผล  ลดการตายจากอุบัติเหตุลงเกินครึ่ง เผยธุรกิจน้ำเมาดูดเงินจากกระเป๋าคนไทยปีละ 4 แสนล้านแต่ผู้ประกอบการยังขาดความรับชอบต่อสังคม ชี้เด็กประถมก็เริ่มหัดดื่มเหล้าแล้ว หวั่นปี 53 คนไทยติดเหล้างอม ผลจากเปิดการค้าเสรี ทำให้ราคาถูก เบียร์จีน แค่ 6 ขวดร้อย

นพ.ธนะพงศ์  จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)กล่าวในการประชุมวิชาการเรื่อง “ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับให้มีประสิทธิภาพ”  ที่จังหวัดชลบุรี เมื่อเร็ว ๆนี้ จัดโดย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิเมาไม่ขับ เครือข่ายลดอุบัติเหตุและสำนักงานองค์กรงดเหล้า สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายเมาแล้วขับ โดยมีโทษทั้งจับและปรับ เพิกถอนหรือระงับใบอนุญาตขับขี่ รวมทั้งนำมาตรการคุมประพฤติมาใช้ แต่ยังไม่สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้  โดยคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละ 12,000 คน หรือวันละ 33  คน และเพิ่มเป็น 2 เท่าในช่วงเทศกาล สาเหตุหลักมาจากเมาแล้วขับ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คะแนนมาตรการแก้ปัญหาเมาแล้วขับของไทย เพียง 5 เต็ม 10 คะแนนซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ  เป็นผลจากการดำเนินการตรวจจับและการลงโทษที่ยังขาดประสิทธิภาพ

นพ.ธนะพงศ์  กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ดำเนินการแก้ปัญหาเมาแล้วขับอย่างได้ผล เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น  พบว่า ประเทศเหล่านี้มีมาตรการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ได้อย่างครอบคลุม รวมทั้งมีบทลงโทษผู้กระทำผิดในสัดส่วนที่สูงทั้งโทษจำและโทษปรับ เช่น รัฐวิกตอเรีย ใน ออสเตรเลีย มีประชากร 4.8 ล้านคน แต่มีมาตรการด้านวิศวกรรมจราจรและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด จนสามารถลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจากประมาณ 1,000 รายเหลือเพียง 300 รายในปี 2551 โดยสามารถตรวจระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่รถได้ถึง 3.5 ล้านครั้ง แม้จะมีตำรวจจราจรเพียง 3 พันคน แต่ประเทศไทยกลับพบว่าการบังคับใช้กฎหมายยังขาดประสิทธิภาพ  อุปกรณ์ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ยังมีจำกัด ไม่เพียงพอครอบคลุม รวมถึงบทลงโทษผู้กระทำความผิดยังไม่สามารถลดพฤติกรรมเมาแล้วขับได้

“จากผลการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเพิ่มโทษค่าปรับให้สูงขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่กระทำผิดซ้ำและเพิ่มโทษกักขังแทนการลงอาญา โดยในต่างประเทศ พบว่า 1 ใน 3 ของคนที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เมาแล้วขับ เป็นการทำผิดซ้ำ ในหลายประเทศจึงกำหนดมาตรการลงโทษเฉพาะสำหรับผู้กระทำผิดซ้ำ เช่น โทษจำคุก ปรับและยึดใบขับขี่ ยึดทะเบียนรถหรือยึดรถ และให้เข้ารับการบำบัดการติดเหล้า” ผู้จัดการศวปถ.กล่าว

นายสุรสิทธิ์   ศิลปงาม  ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทยแต่การบังคับใช้กฎหมายผู้กระทำผิดเมาแล้วขับยังไม่ต่อเนื่อง คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนัก  คิดว่าเมาแล้วขับไม่ใช่เรื่องอันตราย สามารถขับขี่ได้ ขณะที่บทลงโทษยังไม่รุนแรง นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ไทยจะเริ่มการเปิดเสรีการค้า จะทำให้สินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศเพื่อนบ้าน หลั่งไหลสู่ประเทศไทย และมีราคาถูกลง ไม่ว่าจะเป็นวิสกี้ ที่มีฐานการผลิตในฟิลิปปินส์ และเบียร์จากจีน ในราคา 3 ขวด 50 บาท อาจส่งผลให้คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น

นายสงกรานต์  ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ประเทศไทยเก็บภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ปีละประมาณ 9 หมื่นล้านบาท แต่จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้ให้กับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตกประมาณปีละ 4 แสนล้านบาท โดย 2 แสนล้านบาทได้จากผู้ที่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ส่วนอีก 2 แสนล้านบาท ได้จากภาษีของประชาชนที่รัฐบาลนำไปใช้เยียวยาความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วง พบว่า อายุเฉลี่ยของนักดื่มหน้าใหม่เริ่มลดลงจากเดิมที่เป็นนักเรียน นักศึกษาระดับมัธยมศึกษา แต่ปัจจุบันพบว่านักเรียนในระดับประถมศึกษาก็เริ่มมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นแล้ว

ด้านนายสมเกียรติ เจริญสวรรค์ อธิบดีผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ภาค 2 กล่าวว่า เพื่อให้การแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นที่ทุกหน่วยงาน ต้องร่วมมือกันดำเนินการเพื่อให้ ได้ผลและมีประสิทธิภาพ ตำรวจจะต้องจริงจังในการตรวจจับ ควรตั้งด่านจุดตรวจให้ใกล้สถานบันเทิงมากที่สุดเพื่อป้องกันความสูญเสียจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ส่วนการเพิ่มโทษเช่น การกักขัง ศาลจะต้องพิจารณาเป็นกรณีตามความเหมาะสม

ขณะที่พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ เจริญจิตร รองผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจภูธร  ภาค 2 กล่าวว่า กล่าวว่า สถานบันเทิง ร้านอาหาร ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเปิด ปิด ตามเวลากำหนด ทั้งนี้ที่ญี่ปุ่นหากลูกค้ามีอาการมึนเมามาก ขาดสติ ผู้ประกอบการจะจัดสถานที่ให้พักฟื้นก่อนจะไปขับขี่  แต่บ้านเรายังไม่มีผู้ประกอบการยังขาดความรับผิดต่อลูกค้า  ผู้ที่ต้องดูแลรับผิดชอบจึงต้องเป็นตำรวจ

พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการแก้ปัญหาเมาแล้วขับ ตำรวจจะต้องเพิ่มการตั้งด่านจุดตรวจบริเวณที่ใกล้สถานบันเทิงมากขึ้น  ประชาชนก็ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ อย่ามองว่าตำรวจเลวร้าย แต่ให้มองว่าตำรวจกำลังช่วยปกป้องชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตามในส่วนของการเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดซ้ำ จะต้องเพิ่มให้หนักขึ้น ควบคู่กับการปรับปรุงพัฒนาระบบการสืบค้นข้อมูลย้อนหลังให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน

ด้านนายภัทรพันธุ์ กฤษณา  ตัวแทนจากเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กล่าวว่า การที่ถูกตำรวจเรียกตรวจและลงโทษปรับ กักขัง ควรจะดีใจ และถือว่าโชคดีที่ถูกเรียก ก่อนที่จะไปเกิดอุบัติเหตุ หรือพิการ ซึ่งเป็นความสูญเสียอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นผลที่ทุกคนไม่อยากจะประสบ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท