Skip to main content
sharethis

 

วานนี้ (26 ธ.ค.52) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. อดีตคนงานไทรอัมพ์ฯ และสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จัดกิจกรรมปีใหม่ ภายใต้ชื่องานว่า “สวัสดีปีใหม่ไทรอัมพ์: ต้อนรับการกลับมาของตัวแทนและย่างก้าวต่อไปของขบวนการผู้ใช้แรงงาน” ในที่ชุมนุมบริเวณใต้ถุนอาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อแสวงหาทิศทางของขบวนการผู้ใช้แรงงานในปีต่อๆ ไป และให้กำลังใจในการต่อสู้ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ โดยผู้เข้าร่วมมีทั้งคนงานที่ถูกเลิกจ้าง คนงานที่ยังทำงานอยู่ กลุ่มนักศึกษา ตัวแทนองค์กรด้านสิทธิแรงงาน และนักวิชาการเข้าร่วมกว่า 300 คน
 

2 ตัวแทนเล่าประสบการณ์จากยุโรป สู่ก้าวย่างต่อไปของแรงงาน

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยพิธีต้อนรับการกลับมาของ 2 ตัวแทนจากยุโรป และต้อนรับผู้ร่วมงาน ต่อด้วยการเล่าประสบการณ์การไปรณรงค์ที่ยุโรป ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-24 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และธัญยธรณ์ คีรีถาวรพัฒน์ รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ

ธัญยธรณ์ เล่าว่า เธอและจิตรา เดินทางไปยัง 7 ประเทศในทวีปยุโรป (สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ออสเตรีย) โดยได้พบกับสหภาพแรงงาน สื่อ องค์กรแรงงาน นักการเมือง นักสิทธิมนุษยชน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการถูกเลิกจ้าง โดยมีโครงการรณรงค์เพื่อเสื้อผ้าสะอาด (Clean Clothes Campaign) เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ส่วนเป้าหมายในการไปพบกับผู้บริหารของไทรอัมพ์ที่สำนักงานใหญ่ในสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อหาข้อยุติปัญหา ธัญยธรณ์เล่าว่า ก่อนหน้านี้ได้ส่งแฟกซ์ไปเพื่อขอเข้าเจรจากับผู้มีอำนาจของบริษัท แต่ทางนั้นบอกว่า ส่งหนังสือไปช้า และให้กลับมาเจรจาที่เมืองไทย ทั้งที่ตอนอยู่เมืองไทย บริษัทก็ไม่เคยเจรจา แต่พอไปยุโรป เขาบอกให้กลับมาเจรจาที่เมืองไทย

อย่างไรก็ตาม สุดท้าย พวกเธอก็ได้นำหนังสือไปยื่นให้บริษัทแม่ แต่ทางบริษัทส่งผู้ที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจมารับหนังสือ ส่วนที่เมืองไทยในระหว่างที่พวกเธอเดินทางไปยุโรป เพื่อนคนงานได้เข้าไปยื่นหนังสือที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทเพื่อขอให้เปิดการเจรจา แต่บริษัทก็บอกว่าให้ไปยื่นหนังสือที่ยุโรป

ธัญยธรณ์ ยังเล่าถึงกิจกรรมการรณรงค์ในระหว่างการไปยุโรปว่า ได้ไปทำการประท้วงบริษัทไทรอัมพ์หน้าร้านค้าในประเทศต่างๆ แม้จะเดินทางไปกัน 2 คน แต่มีอาสาสมัครมาร่วมประท้วงด้วย เช่นที่หน้าสำนักงานใหญ่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไปกัน 8 คน ซึ่งถือเป็นการประท้วงใหญ่ของที่นั่น พร้อมกับแจกแถลงการณ์ไปด้วย มีป้ายบอกว่า เป็นตัวแทนของคนงานที่ถูกเลิกจ้าง ถูกกระทำอย่างไรบ้าง หรือบางประเทศต้องเข้าไปประท้วงในห้าง มียาม ตำรวจมาห้าม แต่ตอนนั้น เธอก็คิดเพียงว่าได้รับหน้าที่เป็นตัวแทนคนงานเป็นพันคนไปที่นั่นแล้ว ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ไทรอัมพ์ฯ รู้สึกว่าต้องมาแก้ปัญหาของคนงานให้ได้

ธัญยธรณ์ บอกด้วยว่า การไปครั้งนี้อาจไม่ได้ประสบความสำเร็จทันใจ แต่ก็ได้บอกเล่าเรื่องราวการเลิกจ้างของพวกเธอให้สื่อที่นั่นทราบข้อมูลอีกด้าน นอกจากนี้ องค์กรแรงงานที่ทราบเรื่องก็พร้อมสนับสนุนการต่อสู้ต่อไปด้วย โดยพวกเธอได้ร่วมพูดคุยกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่เยอรมนี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย ซึ่งจะมีการประสานงานเพื่อทำงานรณรงค์ร่วมกันในอนาคต

“เขาบอกว่าเราอาจจะไม่สามารถหยุดยั้งการเลิกจ้างได้ แต่การเลิกจ้างนั้นต้องเป็นธรรม ... เขาก็จะสนับสนุนในเรื่องพวกนี้ให้เรา” ธัญยธรณ์กล่าว

ด้านจิตรากล่าวว่า ที่ผ่านมาคนงานไทรอัมพ์ได้พยายามใช้กระบวนการภายในประเทศทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิฯ สถานทูต นายก หรือรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานใด อีกทั้งสิ่งที่แรงงานได้รับคือการทดลองใช้เครื่อง LRAD ซึ่งเป็นอาวุธที่ใช้ในการสงคราม มาสลายการชุมนุม ดังนั้นจึงไดหันไปหากระบวนการในต่างประเทศ

จิตรากล่าวด้วยว่าการเดินทางครั้งนี้ทำให้มองเห็นปรากฏการณ์ในยุโรป ที่เป็นบทเรียนว่า สหภาพแรงงานต้องเข้มแข็ง มีพรรคการเมืองของคนงานที่เข้มแข็งและเข้าไปสู่อำนาจรัฐจึงจะต่อสู่ได้ เพราะปัจจุบันในต่างประเทศสหภาพแรงงานแทบทุกที่ได้เข้าสู่อำนาจรัฐ

“หากสหภาพแรงงานเข้มแข็ง การรวมตัวเข้มแข็ง เข้าสู่อำนาจรัฐ คนงานเป็นรัฐมนตรี เป็นนายกได้เอง คงไม่ต้องเจอปัญหาแบบนี้” จิตราแสดงความเห็น 

ขบวนการแรงงานกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อการก้าวต่อ

จากนั้น มีการเสวนาเรื่อง “ขบวนการผู้ใช้แรงงานกับความจำเป็นในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” ดำเนินรายการโดยจอมขวัญ หลาวเพ็ชร สื่อมวลชน ซึ่งได้มีการบันทึกเทปรายการของช่องเนชั่นแชนแนลด้วย

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เล่าว่า ตั้งแต่คนงานไทรอัมพ์ฯ ย้ายมาชุมนุมที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 13 ต.ค.จนถึงวันนี้ ได้พบรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน 2 ครั้ง รวมถึงได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่กระทรวงหลายครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ได้ปฎิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายหมดแล้ว ทั้งนี้ เธอระบุว่า นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จริง แต่ยังไม่ได้ปฎิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ในเรื่องข้อตกลงสภาพการจ้าง

โดยข้อตกลงสภาพการจ้างที่ทำร่วมกัน เขียนไว้ว่า กรณีที่จะเลิกจ้างคนงานต้องปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 60 วัน และจ่ายเงินค่าชดเชยมากกว่ากฎหมายขั้นต่ำ อายุงาน 6 ปีขึ้นไปให้จ่ายปีละ 20 วัน แต่ปรากฎว่า สิ่งเหล่านี้นายจ้างไม่ทำ ตอนเลิกจ้างไม่มีการปรึกษา ไม่แจ้งล่วงหน้าแต่ใช้วิธีจ่ายเงินให้แทน ทั้งยังให้ไปฟ้องศาลเรียกร้องเอา ทั้งที่ตอนทำข้อตกลงสภาพการจ้าง ทั้งนายจ้างและคนงานก็เห็นชอบกันทั้งคู่ เมื่อถึงเวลาจริงกลับไม่ตาม

อย่างไรก็ตาม จิตรา ระบุว่า ข้อเรียกร้องของคนงานยังเหมือนเดิมคือ เรียกร้องให้มีการเจรจา โดยขอให้นายจ้างชี้แจงสาเหตุที่แท้จริงของการเลิกจ้าง และปฎิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้างที่เคยลงนามร่วมกัน นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานเองควรเข้ามามีบทบาททำหน้าที่ไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ด้วย ส่วนรัฐบาลหากตั้งใจจริง ต้องไม่ส่งเสริมการลงทุน BOI ที่นครสวรรค์ ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานที่ใหม่ และเลิกจ้างที่เก่า

ส่วนเก่งกิจ กิตติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่บ่งชี้ว่า ประชาธิปไตยไทยถูกนิยามอย่างแคบ เพราะหากถามว่า การแก้ปัญหาของคนงานเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยหรือไม่ รัฐก็จะบอกว่าเป็นเรื่องของนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องประชาธิปไตย

ขณะที่เขามองว่า การที่ระบบสถาบันทางการเมืองที่เราเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย ไม่เคยแก้ปัญหาความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหัวใจของหลักประชาธิปไตยได้ เราคงต้องตั้งคำถามว่า สถาบันการเมืองในสังคมไทย ระบอบการเมืองที่ดำรงอยู่ มีความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน ทำไมไม่เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมของคนในสังคม ดังนั้น กรณีไทรอัมพ์บ่งชี้ได้ว่า ทำไมประชาธิปไตยของไทยจึงล้มเหลวอย่างมาก

ทั้งนี้ ทางแก้คงต้องกลับไปที่สาเหตุคือหัวใจของระบอบการเมืองและวัฒนธรรม โครงสร้างการเมือง ที่ไม่ยกย่องคุณค่าของคนที่ทำงาน ถ้าสังคมใดยกย่องคุณค่าของคนที่ทำงาน สังคมจะให้คุณค่า เงินเดือน สวัสดิการ ดูแลคนเหล่านั้นอย่างดี

เก่งกิจวิจารณ์กรณีที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการว่า เป็นเรื่องที่น่าขายหน้า เพราะหลักการที่สำคัญที่สุดของรัฐสวัสดิการ คือ การที่คนทุกคนมีงานทำ แต่รัฐบาลยังแก้ปัญหาคนตกงานที่นั่งอยู่ใต้ถุนกระทรวงมาร่วม 3 เดือนไม่ได้

เก่งกิจ กล่าวเสริมว่า ถ้ารัฐบาลจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาก็ง่ายมากที่จะกดดัน เพราะมีข้อตกลงสภาพการจ้าง ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วม ที่กระทรวงแรงงานเป็นตัวกลางอยู่แล้ว หากแต่รัฐบาลก็ไม่เคยทำ ซึ่งเขามองว่า เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีองค์ความรู้ที่จะแก้ปัญหาวิกฤตในปัจจุบัน รวมถึงไม่สนใจปัญหาของคนจน

เก่งกิจ เสนอด้วยว่า ให้กลับมาตั้งคำถามว่าสังคมไทยนั้นมีปัญหาอะไร ถึงมีคนออกมาเรียกร้อง แสดงความไม่พอใจ ออกมานั่งกลางแดดอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่พวกเขามีต้นทุนที่ต้องจ่าย นั่นคืออาจไม่ได้อยู่กับลูก หรือไม่ได้ทำงาน เขาเตือนด้วยว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ คนมีสตางค์ทั้งหลายจะต้องพึงสังวรณ์ว่า ถ้าไม่ยอมเฉือนเนื้อ จ่ายภาษีที่แพงกว่า ให้คนจนมีชีวิตที่ดีขึ้น ก็จะตกอยู่ในการประท้วงตลอดเวลา

นอกจากนี้ เก่งกิจได้เสนอให้ยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 หรือให้แก้ไขทั้งฉบับ โดยเสนอให้แก้มาตรา 1-3 ของรัฐธรรมนูญให้ระบุว่า คนทั้งประเทศต้องมีงานทำ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสวัสดิการ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่อิงกับชีวิตจริงของคนทำงาน

ส่วนจรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวถึงปัญหาการเลิกจ้างคนงานว่า ที่ผ่านมายังเป็นปัญหาแบบเดียวกันคือ เลิกจ้างคนงานแขตที่ค่าแรงขั้นต่ำสูง แล้วไปจ้างงานในเขตที่ค่าแรงต่ำแทน อย่างไรก็ตาม กรณีของไทรอัมพ์น่าสนใจเพราะไทรอัมพ์เป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้ารายสุดท้ายที่ยังมีโรงงานเป็นของตัวเอง ขณะที่ก่อนหน้านั้น ในช่วงปี 2545-46 บริษัทอย่างไนกี้และอาดิดาส ปิดโรงงานของตัวเอง แล้วใช้ระบบจ้างเหมาช่วงแทนแล้ว นอกจากนี้ ไทรอัมพ์ยังมีสหภาพแรงงานที่มีความเข้มแข็งด้วย หากแก้ปัญหาให้กรณีไทรอัมพ์ไม่ได้ ก็เท่ากับแก้ปัญหาแรงงานหญิงที่ไหนไม่ได้อีกเลยเช่นกัน

ทั้งนี้ เธอเสนอด้วยว่า รัฐบาลต้องเข้ามาส่งเสริมกิจการของ Try Arm ตั้งโรงงานเพื่อสนับสนุนคนงานให้เข้าสู่กระบวนการผลิต แล้วใช้ Try Arm เพื่อแข่งขันกับแบรนด์ระดับโลกด้วย

จรรยา กล่าวถึงกลไกสหภาพแรงงานด้วยว่า เป็นกลไกประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน เพราะมาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่เสียหาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง หากรัฐยังไม่เข้าใจกลไกสหภาพแรงงาน รัฐจะประสบปัญหาอย่างมาก

เธอเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างล่ารายชื่อเพื่อยื่นต่อนายกฯ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบนายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.กระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน และกรมคุ้มครองแรงงานที่เลือกปฎิบัติ และทำให้การทำงานต่างๆ ส่งผลที่เป็นโทษกับแรงงาน

ด้านอนุธีร์ เดชเทวพร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)  มองว่าการต่อสู้ของคนงานไทรอัมพ์ไม่ใช่เพื่อการกลับเข้าทำงานของคนงานจำนวนหนึ่ง แต่เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับระบบการจ้างงาน ระบบสวัสดิการของไทย ทั้งนี้ ถ้ามีการเมืองที่บอกว่าให้โอกาสกับทุกคน แต่ในความเป็นจริง มีคนที่ต้องอยู่บนความเสี่ยงทางเศรษฐกิจตลอดเวลา ต้องกังวลว่าจะตกงานเมื่อไหร่ ได้รับการคุ้มครองหรือไม่ ก็คงเป็นปัญหา

อนุธีร์บอกว่า สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำคือ ให้การคุ้มครองคนงานตั้งแต่ต้น ให้ไม่ถูกเลิกจ้าง ไม่ใช่วัวหายแล้วจึงล้อมคอก ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำได้โดยควบคุมดูแลระบบทุน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อให้คนงานหรือประชาชนมั่นใจได้ว่าจะมีงานและมีสวัสดิการ นอกจากนี้ ในทางการเมือง เขาเสนอให้รัฐบาลยุบสภา และมีการแก้รัฐธรรมนูญ-กฎหมาย เพื่อไม่ให้ชนชั้นนำที่ไม่ได้รับมอบหมายให้เกี่ยวข้องกับการเมือง เข้ามาได้
 
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการอ่านบทกวีว่าด้วยการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน โดยอานนท์ นำภา เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน หลังทานอาหารเย็น ร่วมชมวิดีทัศน์เกี่ยวกับการต่อสู้ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และกิจกรรมในช่วงปีที่ผ่านมา ต่อด้วยการแสดงควงธงประกอบเพลงโดยตัวแทนแรงงาน การแลกของขวัญ สันทนาการ และปิดท้ายกิจกรรมของวันด้วยการร่วมกันร้องเพลง
 

 

 
บทกวีว่าด้วยการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน
โดยอานนท์ นำภา
 
แรงงานจะปฏิวัติ
ประเทศนี้เป็นของใคร
ตึกสูง บ้านใหญ่ ใครสร้างสรรค์
เสื้อสวย ที่คุณใส่ ของใครกัน
มือนี้ มือนั้น หรือมือใคร
คนสร้าง ไม่มีสิทธิ์ จะใส่ชื่อ
คนซื้อ ไม่ได้สร้าง ก็อยู่ได้
เสื้อสวย ไม่ได้เย็บ ก็ซื้อไป
คนเย็บ ไม่ได้ใส่ ซักกะนิด
คนจ้าง ก็จ้อง จะเลิกจ้าง
คนสั่ง ก็ดั่งศาล คอยตัดสิทธิ์
คนจน ก็ยังจน ชั่วชีวิต
คนผิด สวมเพชรพลอย ยังลอยนวล ฯลฯ
 
คนมีสี ก็ถือหาง คนมีสี
คนมีศักดิ์ ก็มั่งมี ทั้งนาสวน
คนมียศ ลูกน้องตาม เป็นขบวน
จัดส่วน จัดสรร ปันกันกิน
.....แต่เธอเป็นผู้ใช้แรงงาน
ไม่มีบ้าน ไม่มีรถ หมดสิ้น
มีเพียงนายจ้าง จอมเล่นลิ้น
ปล้อนปลิ้น สับปลับ รับตังค์
ขูดรีด แรงงาน แรงโง่
พุงยุ้ย คุยโว โอหัง
ไล่ออก ออกไป รุงรัง
ตบหัว แทงหลัง ลึกลึก
 
เธอเป็นคนบนดินใช่กินแกลบ
มันรู้เจ็บรู้แสบมันรู้สึก
ยามที่เธอหิวข้าวมันร้าวลึก
ดื่นดึกนอนกลางดินกินกลางทราย
 
เพียงเธอตระหนักสักนิด
ทวงสิทธิ์เสรีที่ขาดหาย
ธงรบจะชักชูขึ้นเรียงราย
ฟ้าสีทองจะส่องฉายเมื่อรุ่งเช้า
 
เธอคือความหวังของสังคม
เธอคือผ้าห่มกันลมหนาว
เธอคือ แสงไฟ ในแสงดาว
ส่องสกาวเรืองรองท้องฟ้านั้น
 
สองมือ ของเธอต้องเปลี่ยนโลก
ใช่คอยโชค ชั้นฟ้า ชาวสวรรค์
สองตีน เธอต้องเดิน ไปด้วยกัน
เหยียบชนชั้น โสมมจม ธรนินทร์
 
เถิดกรรมมาชีพ, แรงงาน-หาญกล้า
จงปากอ้าท้าอธรรมชั่วโฉดสิ้น
โคนล้มทุนนิยมห่าทมิฬ
สู่แผ่นดินแห่งสังคมอุดมการณ์
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net