Skip to main content
sharethis

เปิด EIA ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เตรียมใช้ที่ดินละงู 1.5 แสนไร่ ตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลังท่า มีทั้งเขตอุตสาหกรรมหนัก เขตอุตสาหกรรมเบา ผุดโรงไฟฟ้า โรงเหล็ก–เหล็กกล้า โรงผลิตพลาสติก สร้างระบบขนส่งทางท่อ ส่งน้ำมัน ก๊าซ สารเคมี 

แผนที่ จ.สตูล และท่าเรือน้ำลึกปากบารา บริเวณที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมละงู จ.สตูล ขนาด 150,000 ไร่ คือบริเวณที่เป็นสีชมพู

รายงานข่าวจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแจ้งว่า รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ระบุถึงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูลว่า การพัฒนาท่าน้ำลึกปากบาราให้ประสบความสำเร็จ รัฐบาลจำเป็นจะต้องดำเนินการแบบบูรณาการและมียุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย
 
ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ที่มีวัตถุประสงค์ต้องการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิตและส่งเสริมการส่งออก ประกอบด้วย
 
ท่าเรือน้ำลึกสำหรับการส่งสินค้าออกและนำเข้าในพื้นที่เหมาะสม ซึ่งในที่นี้ได้แก่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งควรพัฒนาเป็นท่าเรือเอนกประสงค์ (Multi – purpose Port) กล่าวคือ เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าแบบใส่ตู้สินค้า แบบเทกอง และสินค้าเหลวทางท่อ ได้แก่ น้ำมัน แก๊ส สารเคมี
 
นิคมอุตสาหกรรม ที่ต้องพัฒนาควบคู่กับท่าเรือน้ำลึก ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมอยู่ประมาณ 150,000 ไร่ ในบริเวณอำเภอละงู จังหวัดสตูล (ดูในรูป) นิคมอุตสาหกรรมในที่นี้แบ่งเป็น 3 เขต คือ
 
1.เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export Processing Zone) เป็นเขตอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกทั้งหมด โดยไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากร ทั้งในกรณีนำวัตถุดิบเข้า และเมื่อส่งออกสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งจะช่วยให้รวดเร็วและลดต้นทุนการผลิตกับต้นทุนโลจิสติกส์
 
เขตอุตสาหกรรมหนัก ที่ใช้เทคโนโลยีสะอาดปราศจากมลพิษ อุตสาหกรรมหนัก หมายถึง อุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงไปข้างหน้า (Backward Linkage) สูง เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น
 
เขตอุตสาหกรรมเบา เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงไปข้างหน้าและข้างหลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น
 
เขตอุตสาหกรรมสนับสนุนและต่อเนื่องกับท่าเรือ ได้แก่ อู่ซ่อมหรือต่อเรือ และ อุตสาหกรรมซ่อม และล้างตู้ขนสินค้า เขตนี้อยู่ติดหรือใกล้กับท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
บ่อบำบัดน้ำเสียและโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมร่วมของโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม
 
2. คลังสินค้าทัณฑ์บนของกรมศุลกากร ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและบริหารคลังสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรม ที่นำวัตถุดิบเข้าจากต่างประเทศ
 
3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมได้แก่ สร้างสถานีย่อยไฟฟ้า   น้ำประปา/น้ำสำหรับอุตสาหกรรม และโทรคมนาคม นอกจากนี้รัฐบาลต้องสร้างโครงข่ายถนนและทางรถไฟจากนิคมอุตสาหกรรมเชื่อมตลาดภายนอกนิคมอุตสาหกรรม
 
ยุทธศาสตร์พัฒนาสะพานเศรษฐกิจสายสตูล – สงขลา หรือ แลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล การสร้างท่าเรือปากบาราเป็นการเปิดประตูการค้าสู่ทะเลด้านตะวันตกของไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดรัฐบาลจะต้องสร้างสะพานเศรษฐกิจเชื่อมระหว่างท่าเรือปากบาราและท่าเรือสงขลา โดยการสร้างขยายหรือปรับปรุงโครงข่ายการคมนาคม ในเรื่องต่างๆ ดังนี้
 
1.การขนส่งด้านถนน รัฐบาลควรพัฒนาโครงข่ายถนนทั้งโครงข่าย ถนนรอบท่าเรือปากบาราและโครงข่ายถนนที่เชื่อมสตูลไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะการขยายและปรับปรุงเส้นทางเชื่อมระหว่างสามแยกคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และทางหลวงหมายเลข 408 เพื่อช่วยให้การขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือ หรือสร้างถนนสายในจากอำเภอละงู จังหวัดสตูล ไปท่าเรือสงขลา ด้วยการเจาะอุโมงค์ สร้างถนนและรางรถไฟรางคู่ไปพร้อมกัน
 
2. การขนส่งทางรถไฟ การขนส่งทางรถไฟควรใช้เป็นวิธีการขนส่งหลัก (Transportation Mode) ในการขนส่งสินค้าจากท่าเรือทั้งสอง โดยสร้างทางรถไฟระบบรางคู่ เพื่อให้ได้การขนส่งที่รวดเร็ว ในปัจจุบันยังไม่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อมาถึงจังหวัดสตูล ทางรถไฟที่อยู่ใกล้ท่าเรือปากบารา คือ เส้นทางที่ไปทางอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของจังหวัดสตูล โดยมีสถานีอยู่ที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา เป็นสถานีที่ใกล้ที่สุด (ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร)
 
3. การขนส่งทางท่อ รัฐบาลควรสร้างการขนส่งทางท่อไปตามทางรถไฟ เพื่อขนส่งสินค้าเหลว ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซ และสารเคมี เพื่อลดต้นทุนและความรวดเร็วในการขนส่งสินค้าเหลว
 
4. สร้างสถานีรวบรวมตู้สินค้า (Inland Container Depot : ICD) และรวบรวมสินค้าเหลว สถานีสินค้าดังกล่าว อาจจะใช้บริเวณสถานีหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และบริเวณห่างออกไปอีก 10 กิโลเมตร ทางใต้ของสถานีสงขลา ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ และสร้างสถานีรวบรวมสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมสตูล
 
ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปากบารา โดยเลือกอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ ในที่นี้แบ่งออกเป็นประเภทอุตสาหกรรม ดังนี้
 
1.อุตสาหกรรมเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่วัตถุดิบจากภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำทะเล อุตสาหกรรมแปรรูปปศุสัตว์ โดยการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์มาตรฐาน เพื่อส่งออกทั้งที่เป็นแปรรูปอาหารกระป๋อง เยือกแข็ง และปรุงรสสำเร็จรูป ตามความต้องการของตลาด อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล นอกจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารแล้ว อุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญยังประกอบด้วย อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมน้ำมันพืช และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ ยางพารา และไม้ชนิดอื่น
 
2. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาเข้ารูปเลื่อมที่สวยงาม 3. อุตสาหกรรมเวชกรรมและเภสัชกรรม ซึ่งสามารถซื้อสารเคมีจากอินเดียและยุโรป 4. อุตสาหกรรมต่อเรือ ซ่อมเรือ ล้างและซ่อมตู้สินค้า ควรอยู่ติดหรือใกล้ท่าเรือมากที่สุด 5. โรงงานเหล็กและเหล็กกล้า
 
6. โรงผลิตไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีสะอาด 7. โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก และ8. สถานีรวบรวมและขนส่งสินค้าทั่วไป ควบคู่กับการขนส่งสินค้าเหลว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net