Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
  
เรียน ทพญ.นิธิมา เสริมสุธีอนุวัฒน์
 
ผมเป็นสมาชิกนิตยสาร “ฉลาดซื้อ” ได้รับนิตยสารฉบับเดือนธันวาคม 2552 และได้อ่านบทความ “โรคข้อขากรรไกอักเสบ...เจ็บนี้อีกนาน” ซึ่งคุณหมอได้ยกกรณีจำเลยที่ถูกศาลสั่งลงโทษฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเฉพาะกรณีที่จำเลยท่านนั้นได้ขออนุญาตให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อรักษาอาการโรคข้อขากรรไกอักเสบ และคุณหมอเห็นว่าการที่ศาลไม่อนุญาตนั้น “ก็เป็นเรื่องที่ฟังได้ เพราะแม้ปล่อยตัวออกมารักษาอย่างไรก็ไม่หาย” คุณหมอระบุต่อไปว่า ทั้งนี้เพราะ “เธอทำกรรมหนักด้วยกาย วาจา ใจ หลายครั้ง จะหนีอย่างไร ก็หนีกฎแห่งกรรมไปไม่พ้นค่ะ”
 
ความเห็นของคุณหมอที่เห็นด้วยกับศาลที่ไม่ให้ปล่อยตัวจำเลยออกมาเพื่อรับการรักษา ทั้งที่จำเลยมีอาการตามที่คุณหมออธิบายว่า “ทั้งยามหลับยามตื่นทำให้อ้าปากไม่ได้ กินไม่ได้ พูดจาไม่ได้ เจ็บปวดแสนสาหัส ดุจดั่งตกนรกทั้งเป็น” ผมเห็นว่าคุณหมอขาดความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะตามกฎบัตรสากล อย่างเช่นกฎบัตรฉบับต่างๆ ที่ผ่านการรับรองของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ ต่างก็รับรองสิทธิด้านสุขภาพของนักโทษในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไว้ต่างกรรมต่างวาระกัน ยกตัวอย่างเช่น หลักการว่าด้วยจรรยาบรรณของแพทย์และที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์ ในการคุ้มครองนักโทษและผู้ต้องขังให้ปลอดพ้นจากการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ผิดมนุษยธรรมและดูหมิ่นศักดิ์ศรี ซึ่งมีการรับรองตามมติที่ 37/194 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2525 ในหลักการที่ 1 ระบุไว้ว่า
 
“เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่ให้การดูแลรักษาแก่นักโทษและผู้ต้องขัง มีหน้าที่จะต้องให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพและการรักษาทางกายและใจต่อโรคต่าง ๆ ด้วยคุณภาพเช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ถูกคุมขังหรือต้องโทษได้รับ”
 
นี้ยังไม่นับสิทธิอื่นๆ อย่างเช่นในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับรองสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างบุคคล อย่างเช่น ข้อ 25(1) ที่บอกว่า “ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตน และของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น”
 
การที่คุณหมอจะมีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง และใช้ความเชื่อของตนไปตัดสินความผิดถูกของผู้อื่น ย่อมเป็นสิทธิส่วนตัวของคุณหมอที่ไม่อาจมีใครละเมิดได้ แต่ในเมื่อคุณหมอมีสิทธิของตน คุณดารณีซึ่งถึงแม้จะเป็นผู้ต้องขังหรือในขณะที่เป็นจำเลย ก็ย่อมมีสิทธิของตนเองด้วยที่จะได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพอย่างเช่น การได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมในยามที่เจ็บป่วย (ไม่สำคัญว่าจะหายหรือไม่ และจะหายตามวิธีการที่คุณหมอเชื่อว่า “ต้องแก้กรรมด้วยการรักษากาย วาจา ใจให้สะอาดบริสุทธิ์”) การที่คุณหมอบอกว่า “แม้ปล่อยตัวออกมารักษาอย่างไรก็ไม่หาย” เป็นความคิดที่สะท้อนความคับแคบในเรื่องสิทธิของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง
 
ในฐานะเป็นสมาชิกและผู้สนับสนุนนิตยสาร “ฉลาดซื้อ” ผมรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่สิ่งพิมพ์ที่ผมให้ความสนับสนุนอาจมีความเห็นคล้อยตามทัศนะด้านสิทธิมนุษยชนที่คับแคบเช่นนี้ และหากไม่ได้รับคำอธิบายที่เหมาะสมจากทางกองบรรณาธิการ ผมย่อมมีสิทธิส่วนบุคคลที่จะบอกเลิกรับนิตยสารนี้
 
            ขอแสดงความนับถือ
 
            พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
 
 
ปล.
1. จดหมายนี้ส่งถึงกองบรรณาธิการประชาไท และสำเนาจดหมายให้กองบรรณาธิการฉลาดซื้อ และพระไพศาล วิสาโล (ในฐานะคณะที่ปรึกษา)
 
2. เพื่อความเข้าใจที่กว้างขวางยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประชาคมโลกรับรอง ผมได้คัดเนื้อหาปฏิญญาและหลักการที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นวิทยาทานแก่คุณหมอ หวังว่าคงมีเวลาอ่าน
 
Basic Principles for the Treatment of Prisoners
9. Prisoners shall have access to the health services available in the country without discrimination on the grounds of their legal situation.
 
Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners
Medical services
 
22. (2) Sick prisoners who require specialist treatment shall be transferred to specialized institutions or to civil hospitals. Where hospital facilities are provided in an institution, their equipment, furnishings and pharmaceutical supplies shall be proper for the medical care and treatment of sick prisoners, and there shall be a staff of suitable trained officers.
 
Principles of Medical Ethics relevant to the Role of Health Personnel, particularly Physicians, in the Protection of Prisoners and Detainees against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment

Adopted by General Assembly resolution 37/194 of 18 December 1982
Principle 1
Health personnel, particularly physicians, charged with the medical care of prisoners and detainees have a duty to provide them with protection of their physical and mental health and treatment of disease of the same quality and standard as is afforded to those who are not imprisoned or detained.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net