วิพากษ์ความดีจอมปลอม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
 การทำดีที่ดูเหมือนดีนั้น บางครั้งอาจไม่ใช่ แต่เป็นการกลับหน้ามือเป็นหลังมือ และนี่กระมังที่ทำไมเราส่งเสริมการทำดีมากมาย แต่กลับไม่เป็นผล ไม่ได้ประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติ ได้ดี ได้หน้าเฉพาะคนทำดี เราจึงควรมาทบทวนกันใหม่ เผื่อจะช่วยกันหาทางทำดีในหลักการ เนื้อหาและรูปแบบที่แตกต่างไป และเป็นการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง เรามาลองทบทวนกัน:
           
1. แจกผ้าห่มให้ชาวเขา เราเห็นภาพคนใหญ่คนโต สมาคม มูลนิธิ ผู้ใจบุญมากมายช่วยเยียวยาภัยหนาว ภัยแล้ง วาตภัย อุทกภัย ฯลฯ ในแง่หนึ่งก็เป็นการแสดงความใจบุญที่น่ายกย่อง จากการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ คนเราชอบทำบุญเพราะทำแล้วสบายใจดี ก็เลยมีคนอยากทำกันบ่อย ๆ แต่เราจะหวังพึ่งการบริจาคก็คงไม่ได้ ที่ผ่านมามีข่าวหน้า 1 ไทยรัฐว่า “เศรษฐกิจแย่คนใจบุญหาย-สถานสงเคราะห์-ขาดเงิน เลี้ยงเด็ก-คนพิการ-คนแก่”
 
อย่างไรก็ตามความซ้ำซากในการแจกเช่นนี้ แสดงว่ารัฐบาลเจียดจัดงบประมาณไม่เพียงพอต่อการจัดสวัสดิการสังคมหรือไม่ เราเอาเงินไปโกงกินกันหรือไปซื้ออาวุธกันมากกว่าหรืออย่างไร เราขาดการวางแผนสวัสดิการสังคมเพื่อประชาชนหรือไม่ เป็นความบกพร่องในการปฏิบัติราชการหรือไม่ ในความเป็นจริง คนที่ควรไปถึง ไปแจกเป็นคนแรก ควรเป็นหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนมากกว่าใคร
 
2. แก้ปัญหาด้วยการรณรงค์ เรามีการรณรงค์ปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบกันอย่างขนานใหญ่ มีการประกวดคำขวัญ มีการจัดสัมมนา มีค่ายเยาวชน แต่เราแทบไม่เคยได้ข่าวการลงโทษผู้บริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นอย่างจริงจังให้เข็ดหลาบ ปัญหาป่าถูกทำลายก็ได้รับการแก้ไขด้วยการรณรงค์ให้ปลูกป่าแทนที่จะเน้นการปราบปราม จนทำให้เกิดคำถามว่าคุณสืบ นาคะเสถียร ตายฟรีหรือไม่
 
การรณรงค์นั้นเป็นการสร้างภาพและเหวี่ยงแห ซึ่งไม่น่าจะมีประสิทธิผลเท่าที่ควร แต่การตีฆ้องร้องป่าวนี้ยังอาจเป็นการปิดบังคนผิด คนโกงกิน หรือคนตัดไม้ทำลายป่าให้พ้นจากสายตามหาชน โดยเบื่อเมาให้ชาวบ้านหลงคิดว่า การรณรงค์เช่นนี้จะได้ผล เลยไม่พุ่งเป้าไปที่คนผิด หรือมัวแต่ปลูกป่าซึ่งส่วนมากคงตายไปกว่าครึ่ง จนในอีก 30 ปีข้างหน้า ป่าหมดประเทศโดยไม่มีใครปราบปรามเท่าที่ควร
 
3. ข้าราชการนักเขียนยอดนิยม ข้าราชการบางคนเขียนหนังสือออกมามากมาย และเป็นที่ยกย่องในสังคมว่าเขียนได้ดี แต่ที่สหรัฐอเมริกา ในเมืองโอลิมเปียซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐวอชิงตัน เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า ข้าราชการคนหนึ่งมีพฤติกรรมคล้ายเช่นนี้ เขียนหนังสือยอดนิยมออกมาเพียงเล่มเดียว แต่ภายหลังถูกทางราชการไล่ออก เพราะถูกจับได้ว่า เอาเวลาและทรัพยากรของทางราชการไปใช้เพื่อเขียนหนังสือหาชื่อเสียงส่วนตัว
 
เราจึงควรทบทวนความดีแบบไทย ๆ เสียใหม่ การเอาทรัพยากรของทางราชการมาใช้ในฐานะที่เป็นผู้บริหารหรือผู้มีชื่อเสียงนั้นเป็นสิ่งที่พึงละอาย หาไม่แล้วข้าราชการไทยที่แทนจะทำงานรับใช้ประชาชน แต่กลับทำงานราชการเป็นงานอดิเรก ทำตัวเป็นกาฝาก อยู่ไปเพื่อแสวงหาโอกาสอื่น หรือเพียรไต่เต้าด้วยด้วยลิ้น ด้วยการเช้าถึงเย็นถึง สอพลอเจ้านาย แทนที่จะได้ดีด้วยผลงาน ความเพียรและความซื่อสัตย์
 
4. ขี่จักรยานลดโลกร้อน ฉากการขี่จักรยานเพื่อลดโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วไปเป็นระยะ ๆ ในประเทศไทยนั้น ถือเป็นการทำดีแบบฉาบฉวย และอาจส่งผลร้าย กล่าวคือ กว่าจะจัดฉากดังกล่าวได้ ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ต่างออกมาจากบ้านด้วยรถราคาแพงเป็นขบวนใหญ่ เหล่าลูกหาบก็ต้องตามแห่อีกเป็นขบวน สร้างมลพิษโดยไม่จำเป็นขึ้นอีกมากมาย อย่างไรก็ตามบางท่านอาจแย้งว่า การทำดีแบบนี้ถือเป็นการรณรงค์ ที่สามารถส่งกระแสในวงกว้าง แต่จะได้ผลหรือไม่ก็ไม่รู้ ไม่มีอะไรวัด
 
5. คหบดีใจกว้าง มีที่ดินแปลงหนึ่ง สมมติให้มีขนาด 5 ไร่ใจกลางเมือง เจ้าของยังไม่ได้ใช้ทำอะไร ก็เลยให้หน่วยราชการเช่าใช้ในราคาถูกเพื่อทำเป็นสนามเด็กเล่น ดูแล้วเจ้าของที่ดินรายนี้ช่างเป็นคหบดีใจกว้างจริง ๆ แต่ความจริงท่านควรจะเสียมากกว่านี้ ในประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว ที่ดินเปล่าที่ยังไม่ยอมทำอะไร จะต้องเสียภาษีเพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่น อย่างในร่างกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของไทยก็กำหนดไว้ปีละประมาณ 0.5% หากที่ดินแปลงนี้มีมูลค่า 200 ล้านบาท ก็แสดงว่าต้องเสียภาษีประมาณ 1 ล้านบาท กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า นอกจากเจ้าของที่ดินจะไม่ต้องเสียภาษีแล้ว ยังได้ภาพพจน์ที่ดีอีกต่างหาก
 
การเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นถือเป็นหน้าที่พลเมือง คล้ายกับเรามีห้องชุดอยู่ในอาคารชุดหรือมีบ้านในโครงการบ้านจัดสรร เราก็ต้องเสียค่าบำรุงรักษา แม้เราจะไม่ได้อยู่อาศัย เราก็มีหน้าที่รักษาสภาพแวดล้อมให้ดีเพื่อไม่ให้ชุมชนที่เราอยู่เสื่อมลงแต่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ดังนั้นหากเรามีที่ดินในใจกลางเมืองที่มีสาธารณูปโภค แต่ไม่พัฒนาอะไรเลย ปล่อยทิ้งรอให้ราคาขึ้นสถานเดียว ก็นับเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ยอมขาย ก็ทำให้อุปทานที่ดินมีจำกัด การพัฒนาก็ต้องขยายตัวออกไปนอกเมือง สาธารณูปโภคก็ยิ่งต้องตามออกไปมากขึ้น เสียทรัพยากรของส่วนรวม อย่างนี้แล้ว เราจึงจะปล่อยให้มีที่ดินเปล่าใจกลางเมืองไว้โดยไม่เสียภาษีไม่ได้
 
 
โดยสรุปแล้ว การทำดีแต่เปลือกข้างต้น คนได้ดีก็คือคนทำดี ได้หน้า ได้เสริมบารมี ได้ทำบุญไว้ชาติหน้า ได้ผูกสัมพันธ์กับคนใหญ่คนโต ฯลฯ แต่ทำแล้วสังคมได้ดีหรือไม่ ปราบปรามการโกงกินได้หรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ นอกจากนี้ยังได้สร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันและกันเผื่อในยามที่ประกอบอาชญากรรมทำผิด ก็อาจสามารถช่วยเหลือกันได้ กลายเป็นวงจรอุบาทว์เกิดขึ้นเสียอีก
 
เราจึงควรส่งเสริมการทำดีที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่แท้จริง ไม่เช่นนั้นการทำดีก็เป็นแค่กิจกรรมคุณหญิงคุณนายในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแม้ทำมา 60-70 ปี ก็ไม่ได้เอื้อประโยชน์อย่างจริงจังต่อสังคม เว้นแต่คนที่มาปรากฏตัวทำดีฉาบฉวยเท่านั้น
 
 
 
อ้างอิง:
            โปรดอ่านเพิ่มเติมที่ “รายงานสุขภาพเรื่องสมอง และระบบประสาท กับหลักการพื้นฐานด้านชีววิทยา” ของสถานีวิทยุ Voice of America: http://www.voanews.com/thai/2009-04-01-voa1.cfm
            ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.thairath.co.th/today/view/56346
            อ่านบทความ “อย่าปล่อยให้ "สืบ นาคะเสถียร" ตายฟรี” http://www.komol.com/newwebboard/main.php?board=000539&topboard=2
            ดูรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ในบทความ “ภาษีทรัพย์สิน มีแต่ดี ดีต่อทุกฝ่าย” ที่ http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market257.htm
 
 
หมายเหตุ:
            สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ดร.โสภณ พรโชคชัย ติดต่อได้ที่ Email: sopon@thaiappraisal.org หรือที่ http://www.facebook.com/sopon.pornchokchai

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท