"เขายายเที่ยง" การต่อสู้ของคนเสื้อแดง กับ "เทือกเขาบูโด" การต่อสู้ของชาวบ้าน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

ปัญหา ‘เขายายเที่ยง’ ซึ่งฝ่ายเสื้อแดงนำมาเป็นประเด็นการเมืองปัจจุบันนี้ นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ ต่างๆนานา แต่ในแง่มุมหนึ่งในวงวิชาการคือความไม่เหมาะสมของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงความไม่ในการครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (แม้อัยการสั่งไม่ฟ้อง) ขณะที่ประชาชนผู้ยากไร้บริเวณเดียวกันหรืออีกหลายพื้นที่ในประเทศไทยกลับถูกจับกุมคุมขังในการเข้าใช้พื้นที่

เปลว สีเงิน กล่าวว่า “กรณีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ใช่ 1 ใน 100 แต่เป็น 1,000,000 ใน 100,000,000 ที่มีอยู่ทั่วประเทศขณะนี้ นี่...ผมไม่ได้ยกมาพูดในความหมายว่า "ใครๆ ก็บุกรุกป่าสงวน ฉะนั้น ไม่เห็นเป็นไรเลย" แต่ผมยกมาชี้ให้เห็นในประเด็นว่า สมมุติเจ้าของบ้านเขายายเที่ยงไม่ได้ชื่อ "พลเอกสุรยุทธ์" หรือถึงชื่อพลเอกสุรยุทธ์ แต่ไม่ได้มาเป็นนายกฯ คมช. อันเป็นปฏิปักษ์กับทักษิณ แล้วพวกเสื้อแดงจะยกกำลังมาเย้วๆ อย่างวันนี้มั้ย? นั่นคือ พวกเสื้อแดงเขาใช้กรณีบ้านเขายายเที่ยงเป็นเหตุแสดงบทผู้พิทักษ์ป่าสงวน เพียงเพื่อโจมตี-ล้างแค้นเอากับพลเอกสุรยุทธ์เท่านั้น ใช่ว่าทำเพื่อป่าสงวนอันเป็นส่วนรวมก็หาไม่ และด้วยความแค้นหวังเข่นฆ่าพลเอกสุรยุทธ์เป็นหลัก ทำให้พวกเขาลืมไปว่า การยกเรื่องถือครองป่าสงวนในลักษณะนี้มาเป็นเหตุ” [เปลว สีเงิน, "เขายายเที่ยง" เงาสะท้อนป่าสงวน, ไทยโพสต์, 12 ม.ค. 53]

“รสนา โตสิตระกูล” สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า “กรณีเขายายเที่ยง การที่ทางอัยการสูงสุดมีการตีความว่าการถือครองโดยไม่ทราบหรือไม่ได้ถือครองตั้งแต่ต้นถือว่าไม่ผิดนั้น เห็นได้ชัดว่ามีการตีความจริยธรรมทางกฎหมายในระดับไหน” [“รสนา” จี้สอบพวกครองที่สาธารณะ ซัดอัยการไม่ฟ้องเขายายเที่ยง, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 12 ม.ค. 53]

ในขณะที่สื่ออย่างผู้จัดการของคนเสื้อเหลือง ก็ไม่พลาดที่จะวิจารณ์ความไม่เหมาะของท่านสุรยุทธ และรู้สึกผิดหวังในตัวท่าน เช่น

“พล.อ.สุรยุทธ์ไม่รู้เลยหรือว่า เจตนาที่คนเสื้อแดงขนม็อบไปสำแดงพลังที่หน้าบ้านเขายายเที่ยงของตนเองนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไรแน่นอน ย่อมไม่ได้หมายถึงตัวพล.อ.สุรยุทธ์โดยตรง หากแต่หมายเลยให้สูงขึ้นไปกว่านั้น ถ้า พล.อ.สุรยุทธ์ตัดสินใจคืนที่ดินเขายายเที่ยงไปในทันที ข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดงที่คุณทักษิณ ชินวัตรบงการอยู่เบื้องหลังก็จะตกไปในทันที ขณะที่สังคมก็จะยอมรับในความมีสปิริตของท่านด้วยความชื่นชม เช่นเดียวกับที่ “น้องตั๋น-จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี” แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากข้าราชการการเมืองเมื่อเกิดความผิดพลาดในการนำปฏิทินลีโอไปแจกในทำเนียบรัฐบาลแต่ พล.อ.สุรยุทธ์กลับไม่เลือกหนทางนั้นและความจริงถ้าจะว่าไปแล้ว การแค่คืนที่ดินเขายายเที่ยงอาจไม่เพียงพอเสียด้วยซ้ำไปกับการรับผิดชอบและแสดงสปิริตในฐานะชาติชายทหาร เพราะต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบัน พล.อ.สุรยุทธ์เป็นองคมนตรี” [สุรยุทธ์ ณ เขายายเที่ยง ไม่คืน ไม่ออก ไม่จบ, ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์, 16 มกราคม 2553]

ไม่ว่าเปลว สีเงินหรือใครก็แล้วแต่จะวิพากษ์อย่างไรแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงครั้งนี้ได้ฉายภาพ ถึงปัญหาการถือครองที่ดินของสังคมไทยและเป็น รากเหง้าความขัดแย้งในการจัดการป่า ที่มีสาเหตุเชิงโครงสร้าง นับตั้งแต่ก่อตั้งกรมป่าไม้ในปี 2439 คือ ระบบการรวมศูนย์อำนาจของรัฐต่อการจัดการป่า โดยผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ 5 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติป่าไม้ 2484, พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ 2504, พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ 2507, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535, พระราชบัญญัติสวนป่า 2535 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ประการแรก การนิยามว่า ‘ป่า’ คือ พื้นที่ดินว่างเปล่าที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นป่าตามความหมายเชิงนิเวศ หรือเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่อาศัยโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ตาม ก็ถูกเหมารวมว่า เป็นป่าของรัฐ ที่รัฐสามารถใช้อำนาจเข้ามาจัดการได้เต็มที่ ซึ่งมีประชาชนนับล้านครอบครัวที่อาศัยทำกินมาก่อนการประกาศพื้นที่ของรัฐ และรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายจับกุมคุมขังชาวบ้านโดยอ้างว่าผิดกฎหมาย ผ่านกระบวนการหลักเกณฑ์พิสูจน์สิทธิ์ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใดประการที่สอง การกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าอนุรักษ์ โดยใช้อำนาจของรัฐตามลำพัง ตามพื้นที่ที่ถูกนิยามว่าเป็นป่าตามกฎหมาย ซึ่งรัฐกำหนดเขตต่างๆ เหล่านี้ เพื่อควบคุม จัดระเบียบในพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จตามวัตถุประสงค์ของรัฐ

ประการที่สาม การใช้ระบบสิทธิต่อการจัดการป่าเชิงเดี่ยวและเบ็ดเสร็จอยู่ที่ภาครัฐ และเปิดช่องให้รัฐใช้ดุลพินิจให้นายทุนเอกชนในการแสวงประโยชน์จากป่า เช่น การให้สัมปทานป่า หรือรับรองสิทธิการใช้พื้นที่ป่าและทรัพยากรอื่นๆ ในป่าของนายทุนภาคเอกชน แต่ปฏิเสธสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการจัดการป่าตามวัฒนธรรม ประเพณี จึงมีการใช้พื้นที่ป่าของนายทุนเอกชน ทำรีสอร์ท สนามกอฟล์ บ้านพักตากอากาศ และอื่นๆ ในพื้นที่ป่าจำนวนมากมายที่สำคัญ ประการที่สี่ การให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่กรมป่าไม้ในการควบคุมจัดการในพื้นที่ที่เป็นป่าตามกฎหมาย โดยไม่เปิดช่องให้เกิดการมีส่วนร่วมจากท้องถิ่น ส่วนราชการอื่นๆ และภาคประชาสังคมในวงกว้าง และมักเปิดช่องทางให้กลุ่มอภิสิทธิ์ชน กลุ่มนายทุนนักการเมืองอิทธิพลต่างๆ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน เช่น การเช่าพื้นที่ทำสวนป่าระยะยาว สัมปทานโรงโม่หิน ฯลฯ [โปรดดู ประชา ธรรมดา, เขายายเที่ยง’ กับปัญหารากเหง้า, ประชาไท, 12 ม.ค. 53]

เมื่อคืนวันที่ 11 มกราคม 2553 ผู้เขียนดีใจมากเมื่อได้เห็นปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่งมีนามว่าเปาะจิ นายดือราแม ดาราแม ปราชญ์ชาวบ้านแห่งตำบลปาลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส (ซึ่งหลายครั้งได้เข้าร่วมประชุมสัมมนากับท่านในเวทีที่จัดโยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)) ออกรายการโทรทัศน์ทีวีเนชั่น ถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ดินบริเวณเทือกเขาบูโด อันเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการแก้ปัญหาที่ดินให้กับชุมชน

เทือกเขาบูโดนั้นครอบคลุมเนื้อที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอจะแนะ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารมีพันธุ์ไม้ที่มีค่านานาชนิด โดยเฉพาะปาล์มบังสูรย์และใบไม้สีทอง มีจุดเด่นทางธรรมชาติหลายแห่ง เช่น น้ำตกต่างๆ ตลอดจนตีนเขาบูโดเป็นแหล่งชุมชนเก่าแก่ มีชาวบ้านหลายชั่วอายุคนทำมาหากินพึ่งพิงอยู่ในพื้นที่ป่าเขา ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชน

ในปี 2508 บริเวณพื้นที่เทือกเขาบูโดได้ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาในปี 2542 เทือกเขาแห่งนี้ ตลอดไปจนถึงเทือกเขาสุไหงปาดีซึ่งทอดตัวอยู่ทางทิศใต้ ได้รับการจัดตั้งให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ครอบคลุมพื้น 293.7 ตารางกิโลเมตรหรือ 183,562.5 ไร่ ใน 3 จังหวัด 9 อำเภอ 24 ตำบล

การประกาศเขตอุทยานได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่รายล้อมป่าเขา เนื่องจากไม่มีกระบวนการจัดการและวางแผนที่ดี ทำให้ที่ดินทำกินจำนวนมากไม่ได้รับการกันแนวเขตออกก่อน และเมื่อนำกฎระเบียบของทางการเข้ามาบังคับใช้โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นศูนย์กลาง จึงเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกับชาวบ้านมาโดยตลอดเพราะในอดีตจนถึงปัจจุบันในพื้นที่เหล่านี้ชาวบ้านได้ไปใช้ทำกินเรียกว่า สวนดุซ’งหรือดุซน (แปลว่าสวน)

สวนดุซง ของชาวบ้านที่เป็นแหล่งทำมาหากินมาช้านาน ถูกตั้งเงื่อนไขให้อยู่ในกรอบที่ทางการกำหนด เช่น ห้ามตัดต้นยางพาราในสวนของตัวเอง จนชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

การแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่นในลักษณะนี้เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่บ่มเพาะความไม่พอใจของชุมชนมุสลิมที่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เปาะจิที่เกิด เติบโต และใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ตีนเขาบูโด แกมีสวนดุซงที่ผสมผสานพันธุ์ไม้ไว้หลากหลายสำหรับหล่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้เล่าให้ฟังถึงวิธีการแก้ปัญหาซึ่งจะสรุปได้ว่า

"ทัศนคติของผู้บริหารและทางการ สวนทางกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ชุมชนอยู่กันอย่างสันโดษมาช้านาน ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชุมชนไม่ต้องกระตือรือร้นอะไรมาก หารายได้แค่พออยู่พอกิน ใขณะที่รัฐต้องเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ รัฐต้องการการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จึงพยายามทำให้เกิดการแข่งขัน แต่ในชุมชนไม่รู้ว่าจะทำเช่นนั้นไปทำไม และทำไมเขาต้องทำงานหนัก ชุมชนได้รับความสุขสงบ อยู่ดี กินดี เพราะอยู่ใต้ร่มเงาของบูโด ผู้เฒ่าผู้แก่สอนไว้ว่า หากขึ้นไปทำสวนบนเขา ให้ช่วยกันรักษาต้นไม้ไว้ แม้แต่ไม้เนื้ออ่อนก็เถอะ เพราะมันช่วยอุ้มน้ำ ยิ่งไม้ใหญ่ยิ่งห้ามตัด คนที่นี่เลยติดเป็นนิสัย คำว่า ‘อนุรักษ์' ที่ทางการนำมาใช้ในบูโด ด้วยการประกาศกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย เป็นคนละความหมายของการอนุรักษ์ในวิถีชาวบ้านที่นี่ ซึ่งเปาะจิเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเอากฏหมายที่บังคับใช้ที่อื่นเข้ามา เพราะรอบบูโดมีวิธีการดูแลและจัดการกันเองโดยวิถีประชา หากใครทำผิดจะมีเสียงร่ำลือและเสียงแซวในร้านน้ำชา แค่นี้ก็ทำให้เกิดความละอาย จนคนที่ละเมิดข้อห้ามชุมชน ไม่กล้าทำผิดอีก ถ้ารัฐจริงใจที่จะช่วยประชาชนก็ต้องกู้ศรัทธาคืนมาให้ได้ ต้องเอาความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน 10 ปีกว่าปี ที่เปาะจิพยายามกระตุ้นเตือนสติให้คนภาครัฐเข้าใจวิถีของชุมชนมุสลิมรอบเขาบูโด แต่สิ่งที่ผู้อาวุโสเรียกร้องกลับไม่เคยเป็นผล จนกระทั่งปรมาณปี 2548 อำเภอบาเจาะได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการประกาศเขตอุทยานบูโด-สุไหงปาดี

ภายหลังเกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันทน์ (กอส.) ขึ้น ได้มีการนำประเด็นความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานบูโด-สุไหงปาดีเข้าไปหารือ

กอส.มีข้อสรุปคือ 1.อนุญาตให้ชาวบ้านสามารถโค่นต้นยางพาราที่หมดอายุในที่ดินทำกินของตัวเองในเขตอุทยานได้ และ 2.ให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ช่วยเหลือเกษตรกรในการปลูกยางทดแทน

คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ในศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ.ได้ดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้ โดยเลือกเอาอำเภอบาเจาะ ซึ่งมี 5 ตำบล 15 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบ เป็นพื้นที่นำร่อง

ชาวบ้านและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันเก็บข้อมูลและทำประชาคมอยู่หลายครั้ง พร้อมกับทำการสำรวจ จนกระทั่งแยกกลุ่มปัญหาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1.) ที่ดินอยู่นอกเขตอุทยานฯ และป่าสงวน แต่ไม่มีแนวเขตที่ชัดเจน ทำให้ไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน โดยมีชาวบ้านได้รับผลกระทบ 745 ราย จำนวนที่ดิน 4,116 ไร่ (2.) ที่ดินอยู่ในเขตอุทยานฯ แต่อยู่นอกเขตป่าสงวน มี 795 ราย จำนวน 4,942 ไร่ และ (3.) ที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนมี 264 รายจำนวน 2,439 ไร่

ฝ่ายข้าราชการนำโดยนายอำเภอบาเจาะ ซึ่งเป็นแกนกลางที่เข้าไปร่วมแก้ปัญหาได้ให้ ชาวบ้านอยู่นอกเขตป่าสงวนและนอกเขตอุทยานฯ ได้มีการสำรวจร่วมกันแล้ว เพื่อพิสูจน์การถือครองที่ดินและการเข้าไปทำประโยชน์ ซึ่งหลังจากนั้นกรมที่ดินจะมารังวัดเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ต่อไป ในขณะที่อุทยานฯ ประกาศทับที่ดินนั้น ได้สำรวจจุดชัดเจนเพื่อเสนอออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่ออกมาได้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการแก้ไขปัญหาโดยเอาที่ดินของชาวบ้านคืนจากอุทยานฯ

ในขณะที่การแก้ปัญหาระยะสั้น เดิมทีชาวบ้านไม่สามารถตัดต้นยางที่หมดอายุได้ ก็จะอนุญาตให้มีการตัด เพียงแต่อย่าตัดพร้อมๆ กัน ทีละมากๆ ซึ่งทางอุทยานฯ กลัวว่าจะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนจึงหาทางออกร่วมกันว่า ทยอยตัดได้ปีละ 5% ของพื้นที่ปลูกยางในเขตนั้นๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ให้ชาวบ้านไปตกลงกันเอง

โครงการนำร่องแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานฯ ของชาวบ้านอำเภอบาเจาะ จำนวน กว่า 1,800 ครอบครัวกำลังไปได้สวย โดยมีภาคประชาสังคมร่วมกันดำเนินการผ่านปราชญ์ชุมชนอย่างเปาะจิเป็นแนวทางแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีสมควรนำเป็นแบบอย่างและขอฝากให้รัฐบาลนี้ดำเนินต่อ

การร่วมการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีของชาวบ้านที่ไม่ได้สร้างปัญหาเหมือนนายทุน นักการเมือง ผู้มีอำนาจ และผู้มีอันจะกินไม่ว่าฝ่ายใดสมควรที่สื่อส่วนกลางนำมาเผยแผ่ถึงความดีงามในจังหวัดชายแดนภาคใต้และอย่าปล่อยให้การต่อสู้ของชาวบ้านต้องสูญเปล่า

ขอเป็นกำลังใจเปาะจิและทีมงานไม่ว่าภาครัฐและเอกชน สำหรับการจัดการที่ดินบนเทือกเขาบูโด น่าจะเป็นแบบอย่างให้กับ คนที่กำลังดำเนินการแก้ ปัญหา’เขายายเที่ยง’

หรือ ตราบใดที่ปล่อยให้รัฐผูกขาดอำนาจในการจัดการป่าเพียงฝ่ายเดียว ย่อมนำมาสู่การเบียดขับคนจน และปล่อยให้มีการฉ้อฉลของกลุ่มนายทุนอิทธิพล กลุ่มอภิสิทธิ์ชนต่างๆ ได้ประโยชน์ เหมือนเช่น กรณีเขายายเที่ยงนี้

 

หมายเหตุ: เรียบเรียงจาก

1. การประชุมสัมมนาร่วมกับเปาะจิ

2. ภาสกร จำลองราช. ลดเงื่อนไข ‘บูโด’ คืนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ชุมชน.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, 19 เม.ย. 51 http://www.deepsouthwatch.org/node/232

3. รู้จักชีวิตเปาะจิ นายดือราแม ดาราแม (เปาะจิ) : http://sathai.org/story_thai/localwisdom_paoji.htm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท