Skip to main content
sharethis
 
 
จากเส้นทางที่ลุ่มๆ ดอนๆ มากว่า 12 ปี ของ “วิทยุชุมชนไทย” หากนับจากการมีรัฐธรรมนูญปี 40 และต่อมาต้องตกอยู่ในฐานะ “วิทยุเถื่อน” วันนี้เหมือนแสงสว่างปลายอุโมค์เริ่มมีให้เห็นชัดเจนขึ้น เพราะการจัดทำร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และก่อนหน้านี้ก็ได้มีเริ่มต้นในการออกใบอนุญาตชั่วคราวสำหรับวิทยุชุมชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 อย่างไรก็ตาม ในแง่หนึ่งแม้กฎหมายเหล่านี้มีขึ้นเพื่อรับรองการมีอยู่ของวิทยุชุมชน แต่หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่จะตามมาก็เป็นอีกความก้าวหน้าที่คนทำวิทยุชุมชนต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างเท่าทันด้วยเช่นกัน
 
เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2553 เว็บไซต์ประชาไทร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ จัดเวทีสาธารณะ “วิทยุชุมชน: ประสบการณ์วิทยุชุมชนไทย-อเมริกา” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการส่งเสริมวิทยุชุมชนในประเทศไทย และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงวิทยุชุมชน พร้อมสร้างความเข้าใจและค้นหาแนวทางเผยแพร่เกี่ยวกับวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยมีผู้ประกอบการวิทยุชุมชน กลุ่มรณรงค์สื่อ และองค์กรที่สนใจจัดตั้งวิทยุชุมชน เข้าร่วมกว่า 30 คน
 
วิชาญ อุ่นอก กองเลขาฯ สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ รายงานสถานการณ์วิทยุชุมชนในประเทศไทยว่า ล่าสุดมีสถานีวิทยุชุมชนกว่า 6,521 สถานี ไปขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตทำวิทยุชุมชน แต่ข้อมูลจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) มีสถานีวิทยุชุมชนจากทั่วประเทศที่ขอใขอนุญาตเข้าเกณฑ์ที่ว่า วิทยุชุมชนต้องไม่มีโฆษณา ต้องไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพียง 130 สถานี
 
สำหรับปัญหาของการขับเคลื่อนวิทยุชุมชนในวันนี้ คือ 1.เรื่องสถานภาพทางกฎหมายที่ยังไม่มีการยอมรับว่าวิทยุชุมชนถูกต้องตามกฎหมาย 2.ปัญหาด้านเทคนิค เรื่องเครื่องส่ง และคลื่น เพราะคนทำวิทยุชุมชนในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ ต้องอาศัยช่างเทคนิคเข้ามาช่วย 3.การหนุนเสริมจากภาครัฐไม่เกิดขึ้นเหตุเพราะยังไม่มีสถานภาพทางกฎหมาย หากใครจะทำวิทยุชุมชนต้องระดมทุนกันเอง 4.ปัญหาการเชื่อมร้อยเครือข่ายของคนทำวิทยุชุมชน ส่วนใหญ่ยังต่างคนต่างทำ
 
 
นิยามความหมาย ประสบการณ์บทแรกจากวิทยุชุมชนอเมริกา
 
Danielle Chynoweth และ Pete Tridish สมาชิก 2 คน จากกลุ่ม Prometheus Radio ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับวิทยุชุมชนและสนับสนุนการทำงานวิทยุของประชาชน ที่ไม่ได้ทำงานเฉพาะในอเมริกา แต่ยังได้เข้าไปส่งเสริมในหลายประเทศ อาทิ แอฟริกา ในอเมริกาใต้เพื่อช่วยให้พื้นที่ต่างเหล่านั้นสามารถมีวิทยุชุมชนที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารของชุมชน นอกจากนี้ ปัจจุบันทั้งคู่ยังมีบทบาทในการทำงานต่อสู้ผลักดันเกี่ยวกับกฎหมาย ใบอนุญาตวิทยุชุมชนในอเมริกา ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวความคิดในการทำงาน
 
Pete Tridish เล่าว่า กว่า 13 ปีที่ผ่านมา เขาทำงานกับนักกิจกรรมหลายแห่ง ทั้งในเรื่องสิทธิในการมีที่อยู่อาศัย สิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี เรื่องสันติภาพและต่อต้านสงคราม และต่อต้านบรรษัทที่พยายามครอบงำกิจการของภาคสังคม เขาเคยตั้งวิทยุชุมชนที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ทำโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ 2 ปี เจ้าหน้าที่ก็ได้มายึดอุปกรณ์ไป แต่ไม่เพียงสถานีของเขา สถานนีวิทยุชุมชนอื่นๆ ก็โดนด้วยเช่นกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อรณรงค์ให้มีการออกกฎหมายรับรองการทำงานของวิทยุชุมชน ตรงนี้เป็นที่มาของกลุ่ม Prometheus Radio ซึ่ง Prometheus ตามตำนานกรีกคือเทพที่ไปขโมยไฟจากซีอุส ปัจจุบัน Pete ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ Electromagnetism ของ Prometheus Radio
 
Pete ให้ข้อมูลต่อมาถึงประเภทของวิทยุชุมชนในอเมริกาและประเทศต่างๆ ในโลก โดยให้เหตุผลว่าการกำจัดการไร้สถานภาพทางกฎหมายตามที่วิทยุชุมชนไทยพยายามผลักดันนั้น เกี่ยวของกับเรื่องนิยามว่าเป็นวิทยุประเภทไหน ซึ่งในอเมริกาก็มีวิทยุที่มีโฆษณา (Commercial) เป็นของภาคธุรกิจ ในส่วนวิทยุเชิงพาณิชย์นั้นมีมานานแล้ว และปัจจุบันวิทยุประเภทนี้ไม่นำเสนอประเด็นทางสังคมมากนัก เพราะเห็นว่าไม่ได้เพิ่มกลุ่มลูกค้า ส่วนมากจึงเป็นวิทยุที่เปิดเพลง สำหรับวิทยุเรื่องการเมืองก็จะเป็นการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์
 
ในอเมริการัฐบาลและทหารไม่ได้เป็นเจ้าของสถานีวิทยุ แต่จะมีวิทยุที่เป็นสาธารณะ (Public Radio) ที่รับเงินจากรัฐแต่เป็นอิสระจากรัฐ เป็นวิทยุที่มีการกระจายเสียงระดับประเทศ โดยไม่เชื่อมโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม พยายามทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมืออาชีพ แต่ก็มีการเปิดเพลงด้วย
 
ปัญหาของวิทยุสาธารณะคือ แม้จะมีการกระจายเสียงทั่วประเทศ แต่คนที่ทำเนื้อหารายการก็เป็นคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และการทำงานยึดอยู่กับจรรยาบรรณของสื่อตามตำราที่ว่าต้องเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เปิดพื้นที่ให้เท่าเทียมกัน แต่ความเป็นจริงในความขัดแย้งอาจไม่ได้มีแค่เพียง 2 ฝ่าย อีกทั้งยังเน้นเสนอข้อมูลจากภาครัฐมากกว่าภาคส่วนอื่น นอกจากนั้น แม้ว่าวิทยุสาธารณะจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐแต่ก็ไม่พอสำหรับการดำเนินการ ดังนั้นจึงต้องมีการขอทุนจากบริษัทการค้าต่างๆ ซึ่งก็ทำให้ผลกระทบต่อการดำเนินการ ดังนั้นวิทยุสาธารณะแม้ว่าจะทำงานได้ดีพอสมควรแต่ก็ยังมีข้อบกพร่องจากสิ่งที่ควรจะเป็น
 
ในส่วนของวิทยุที่มีโฆษณาแต่ไม่ใช่วิทยุเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งคือวิทยุศาสนา มีเครือข่ายใหญ่กระจายไปทั่วประเทศ แต่วิทยุกลุ่มนี้ไม่ค่อยสนใจเรื่องข่าวสารบ้านเมือง เน้นการเผยแพร่แนวคิดศาสนาและจารีตตามความเชื่อ
 
สำหรับวิทยุชุมชนในรูปแบบที่ทำกันอยู่ในประเทศไทย ดำเนินการโดยอาสาสมัคร แต่ละสถานีอาจมีเจ้าหน้าที่ประจำที่รับค่าตอบแทนแค่ 1-2 คน แต่คนที่ดำเนินรายการออกอากาศจะเป็นอาสาสมัคร วิทยุชุมชนรูปแบบนี้จะมีความเชื่อมโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในท้องถิ่น ในอเมริกาวิทยุชุมชนมีทั้งในเขตเมืองและชุมชน
 
ในแง่กฎหมาย ในอเมริกามีแนวโน้มจะเขียนแบบกว้างๆ เพื่อให้มีความยืดหยุ่น ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อเสียสำคัญคือการเปิดช่องให้วิทยุเชิงพาณิชย์หรือศาสนาเข้ามามีอิทธิพลได้ จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดในอเมริกาเมื่อ 70 ปีก่อน สถานีวิทยุจะเป็นของหน่วยงานรัฐ สมาคมในท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ไม่มีวิทยุในเชิงพาณิชย์ แต่เพราะไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในตอนนั้น ทำให้มีคนหัวใสทำวิทยุแบบมีโฆษณาขึ้นซึ่งทำให้คนเหล่านี้รวยขึ้น จึงไปซื้อสถานีของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสถานีวิทยุของรัฐด้วย และได้บังคับให้รัฐแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อให้กับการนำวิทยุมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิย์
 
“มันก็เป็นเรื่องขัดแย้งกัน คือในแง่หนึ่งเราก็ไม่อยากให้ภาครัฐเข้ามาคุม แต่ถ้าไม่มีการคุมเลยมันก็จะมีปัญหาในแง่ที่ว่าวิทยุเชิงพาณิชย์หรือวิทยุธุรกิจจะรุกเข้ามา” Pete กล่าว
 
 
เมื่อข้ออ้างเรื่องเสรีภาพ ถูกใช้เพื่อการซื้อสื่อ
 
รัฐธรรมนูญสหรัฐเป็นหมุดหมายอันแข็งแรงของหลักการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สำหรับ Pete เขาคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ดี และทำให้การเซ็นเซอร์โดยรัฐทำไม่ได้ แม้จะมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคล้ายกับคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ของไทย แต่สามารถทำได้เพียงแจ้งเตือน ไม่สามารถเซ็นเซอร์หรือปิดสถานีได้
 
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมายแต่อยู่ที่วิธีใช้ เช่น การที่กลุ่มธุรกิจพูดถึงสิทธิเสรีภาพในการซื้อสื่อ ในขณะที่ภาคประชาชนก็อ้างว่าควรมีการจำกัดสิทธิการครอบครองสื่อ ต่างฝ่ายต่างอ้างเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมารัฐบาลอเมริกันก็ทำหน้าที่ในการออกกฎหมายควบคุมไม่ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นเจ้าของสื่อในสัดส่วนที่มากเกินไป
 
Pete ให้ข้อมูลต่อมาว่า เมื่อปี 2545 กลุ่มธุรกิจที่เป็นเจ้าของสื่อรายใหญ่ได้รวมตัวกันกดดัน คณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติ (Federal Communications Commission: FCC) ของสหรัฐอเมริกา3 ล้านคน รวมตัวกันและทำหนังสือถึง FCC เพื่อไม่ให้มีการแก้กฎหมาย โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจอย่างมากคือการที่เจ้าของสื่อเหล่านั้นมีบริษัทที่เป็นเจ้าของธุรกิจผลิตอาวุธสงครามรวมอยู่ด้วย เช่น บริษัทเจนเนอรัล อิเล็กทริก ซึ่งเป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์รายใหญ่และทำธุรกิจผลิตอาวุธ ทำให้มีผลต่อจุดยืนในการทำข่าวที่สนับสนุนการทำสงครามให้มีการแก้ไขเกณฑ์ต่างๆ ที่จำกัดการถือครองสื่อ ทำให้ประชาชนกว่า
 
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ นี่เป็นครั้งแรกๆ ที่ฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายเห็นร่วมกันและมีปฏิบัติการร่วมกันในการไม่ให้แก้กฎหมาย โดยฝ่ายขวาหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมเห็นด้วยกับการจำกัดการถือครองสื่อ เพราะกลัวว่าฮอลลีวู้ดจะซื้อสื่อแล้วเผยแพร่ข้อมูลที่มอมเมาเยาวชน แต่ในส่วนของ FCC กลับเห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มธุรกิจ ดังนั้นจึงมีการรวมตัวกันฟ้องร้องดำเนินคดีกับ FCC และธุรกิจสื่อขนาดใหญ่ของอเมริกา ซึ่งผลที่สุดฝ่ายประชาชนชนะคดีและทำให้กลุ่มธุรกิจต้องเสียประโยชน์ไปหลายพันล้าน จากนั้นประชาชนหลายๆ กลุ่มได้มีการรวมตัวกัน และ FCC ต้องยอมรับฟังและให้พื้นที่พวกเขามากขึ้นหลังเหตุการณ์ดังกล่าว
 
Pete บอกด้วยว่าปัญหาอีกอันหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ คือ คนทั่วไปมักมองว่าสื่อเป็นเรื่องของตลาด เป็นเรื่องการค้า ที่ทำง่ายและหาเงินได้ง่าย ด้วยการผลิตรายการเดียวแล้วส่งไปที่สถานีเครือข่ายได้เป็นพันสถานี ก็จะได้เงินเป็นพันเท่า ตรงนี้เป็นสาเหตุเบื้องหลังความคิดการครอบครองสื่อให้มากที่สุด เพื่อให้ต้นทุนต่ำสุดสามารถทำกำไรได้สูงสุด ซึ่งทางเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นความล้มเหลว และเป็นปัญหาระหว่างคนในท้องถิ่นและกิจการภายในระดับชาติ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือการที่สื่อเสนอข่าวสงครามอิรักทุกวัน แต่ไม่มีข่าวในท้องถิ่นของตัวเอง เพราะข่าวของท้องถิ่นขายได้น้อยเฉพาะในพื้นที่นั้นๆ แต่ข่าวอิรักขายได้ทั่วโลก
 
ตรงนี้ส่งผลให้คนไม่รู้ข้อมูลข่าวสารในท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศที่มีการแบ่งแยกทางการเมืองค่อนข้างสูง ภาคประชาสังคมในอเมริกาจึงพยายามผลักดันให้มีจุดร่วมกันระหว่างท้องถิ่น นั่นคือการสนับสนุนสิทธิของคนในท้องถิ่น เช่นหากรัฐจะให้สัมปทานวิทยุ ควรให้สิทธิคนในท้องถิ่นก่อนและมากกว่าคนภายนอก แต่ในส่วนภาคธุรกิจก็จะอ้างว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นปัญหาอยู่เช่นกัน
 
“ในอเมริกา ทุกอย่างถูกมองว่าเป็นเรื่องการตลาด บางประเด็นที่ขายคนได้มากกว่าก็ทำให้สื่อไปสนใจตรงนั้น โดยเฉพาะยิ่งเมื่อไม่มีขอบเขตชัดเจนว่าการโฆษณาจำกัดอยู่แค่ไหน อย่างไร ทำให้คนไม่รู้ว่าสิ่งไหนคือโฆษณา จึงถูกชักจูงให้เชื่อตาม” Pete กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
 
 
อเมริกาเมืองแห่งเสรีภาพที่ไม่มีพื้นที่ให้วิทยุชุมชนใหม่
 
Pete ให้ข้อมูลต่อมาว่า ปัญหาของวิทยุชุมชนในอเมริกาขณะนี้คือการที่ภาคธุรกิจอ้างว่าไม่มีพื้นที่ให้สถานีวิทยุใหม่ๆ แล้ว แต่ในความเป็นจริงเขาพบว่ามีช่องโหว่อยู่นั่นคือมีพื้นที่ว่างเหลือสำหรับคลื่นวิทยุที่มีกำลังส่งไม่สูงมากอยู่ โดยเขายกตัวอย่างตะกร้าที่ใส่ลูกบอลจนดูเหมือนว่าเต็ม แต่ยังสามารถใส่ลูกปิงปองลงไปได้อีก ส่วนในเรื่องใบอนุญาตถือเป็นปัญหาใหญ่ของอเมริกา เพราะรัฐบาลอเมริกาไม่เคยเพิกถอนใบอนุญาตเลย ถ้าได้แล้วก็ได้ไปตลอดจะถอนก็ต่อเมื่อจับได้ว่ามีการโกหก เช่น ใช้กำลังส่งออกอากาศสูงกว่าเกินที่แจ้งไว้ หรือการไม่ทำตามกฎ
 
นอกจากนั้น ในอเมริกาใบอนุญาตวิทยุเชิงพาณิชย์สามารถซื้อขายได้ แต่ถ้าไม่ใช่เชิงพาณิชย์จะมีกฎเกณฑ์แยกต่างหาก
 
Pete กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์ของอเมริกาที่จะกำหนดให้สถานีวิทยุมีที่ตั้งห่างกันในระยะที่จะไม่ก่อให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกันโดยจัดทำเป็นแผนที่ ซึ่งปัญหาคลื่นรบกวนกันนั้นเป็นปัญหาใหญ่อันหนึ่งของวิทยุชุมชนไทย  Pete เห็นว่ามีแนวโน้มที่เป็นไปได้ว่า หากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ของไทยตั้งขึ้นสำเร็จ ก็จะกำหนดแผนที่คล้ายกับของอเมริกา ซึ่งพบว่าในแง่วิศวกรรม มีความเป็นไปได้ที่จะปรับสายอากาศเพื่อให้ส่งสัญญาณไปในทิศทางที่ต้องการได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวเลขกำหนดระยะห่างตายตัวแบบเดียวกันกับอเมริกา และสามารถแบ่งแยกสถานีย่อยลงไปได้อีก ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ที่ยังไม่มีการใช้งานเพื่อตั้งสถานีอื่นได้
 
การใช้หลักเกณฑ์ของอเมริกาที่ผ่านมากลายเป็นข้อจำกัดให้ไม่สามารถมีสถานีเพิ่มได้ ทั้งที่ในทางวิศวกรรมสามารถทำได้ เรียกว่าเป็นวิธีแบบ Contour มีลักษณะที่ภาครัฐเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ทางวิศวกรรมบางส่วน สิ่งที่เขาอยากเสนอหากมี กสทช.เกิดขึ้น คือ ควรมีการเปิดช่องให้ภาคเอกชนมีการเสนอข้อมูลทางวิศวกรรมของตัวเอง โดยหากพิสูจน์ได้ว่าพื้นที่นั้นไม่มีการใช้ และการใช้ประโยชน์ที่จะมีนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดการรบกวน ให้สามารถขอใบอนุญาตดำเนินการวิทยุชุมชนได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาเฉพาะข้อมูลทางวิศวกรรมของภาครัฐอย่างเดียว
 
 
บทเรียน “สถานีวิทยุเถื่อน” การต่อสู้ของวิทยุชุมชนอเมริกา
 
Pete เล่าถึงเหตุการณ์ซึ่งเป็นบทเรียนการทำงานของเขาในการเรียกร้องใบอนุญาตว่า เมื่อปี ค.ศ.1990 มีคนคนหนึ่งถูกดำเนินคดี เนื่องจากออกอากาศต่อต้านสงครามโดยไม่มีใบอนุญาต ในการต่อสู้ดคีในชั้นศาล ทนายของเขาสู้คดีโดยการอ้างว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมช่องทางการสื่อสาร แต่ตามรัฐธรรมนูญการควบคุมนี้ต้องเป็นไปในลักษณะที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม การที่รัฐบาลอนุญาตให้บริษัทเป็นเจ้าของสถานีได้เป็นร้อยสถานี แต่ผู้ชายคนนี้ซึ่งต่อต้านสงครามไม่มีแม้แต่สถานีเดียวจะมีความเป็นธรรมได้อย่างไร
 
ผู้พิพากษาไม่สามารถพิจารณาคดีได้ตั้งแต่ปี 2536-2540 เมื่อยังไม่มีการตัดสิน ส่งผลให้ FCC ไม่สามารถปิดสถานีวิทยุในคดีอื่นๆ ที่ไม่มีใบอนุญาตได้ ทำให้เกิดสถานีวิทยุเถื่อนในลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมาย ในที่สุดผู้พิพากษาก็ได้มีตัดสินเข้าข้าง FCC แต่ใน 4 ปีนี้ ได้เกิดสถานีวิทยุใหม่ๆ นับพันสถานี ทำให้ FCC ต้องออกกฎหมายใหม่มารองรับแทน กลุ่ม Prometheus Radio ของเขาจึงถูกตั้งขึ้นมา เพื่อติดตามว่ากฎหมายที่ตั้งขึ้นมาเป็นไปเพื่อประโยชน์ของวิทยุชุมชนอย่างแท้จริง
 
แต่สำหรับ Pete เขาสารภาพว่า เขารู้สึกว่าตอนเป็นสถานีวิทยุเถื่อนสนุกกว่าตอนเป็นวิทยุที่ถูกต้อง แม้จะไม่อันตรายมากแต่บางทีก็ถูกปรับ ถูกจับขังคุก เป็นเหตุให้หลายคนไม่กล้าเข้าร่วม แต่พอเป็นวิทยุถูกกฎหมายก็มีคนเข้าร่วมได้มากขึ้น มีความหลากหลาย และส่งผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มของเขาตัดสินใจร่วมมือกับ FCC เพราะไม่ว่าเสนออะไร ก็ต้องออกกฎหมายเพื่อรับรองสถานภาพ และเจตนาในการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการก็เพื่อถ่วงเวลาให้กฎหมายออกช้าที่สุด เพื่อให้มีเวลาในการปรับตัว แต่พอกฎออกมาก็ต้องปฏิบัติตามไปหลายสิบปีจนกว่าจะมีการแก้ไขใหม่ ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ออกมาก็ไม่ได้ดั่งใจไปเสียทุกอย่าง แต่อย่างน้อยก็ได้ทำให้มีการให้ใบอนุญาตกับวิทยุใหม่ๆ หลายร้อยสถานี และในปีหน้าก็น่าจะมีอีกหลายร้อยสถานีเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ในอเมริกาสถานภาพทางการเมืองค่อนข้างมั่นคง และคนไม่ทำผิดกฎ ซึ่งต่างจากประเทศไทย
 
 
ข้อควรตระหนักเมื่อวิทยุชุมชนต้องเข้าไปอยู่ในกรอบกฎหมาย
 
Pete ย้ำถึงรายละเอียดที่วิทยุชุมชนควรใส่ใจเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในกรอบกฎหมายว่า 1.เรื่องคำนิยาม ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าวิทยุชุมชนจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับการจัดประเภท และการแข่งขันที่จะมีตามมา 2.ควรมีหรือไม่มีโฆษณา ซึ่งหากอนุญาตให้สถานีหนึ่งมีโฆษณา อีกไม่นาน ทุกสถานีก็จะมีโฆษณา ซึ่งเป็นธรรมดาของแรงผลักดันด้านเศรษฐกิจ วิทยุที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ สามารถมีโฆษณาในรูปแบบที่บอกได้แค่ว่ารับการสนับสนุนจากใครเท่านั้น คือ แค่กล่าวขอบคุณเจ้าของธุรกิจที่สนับสนุน แต่ไม่สามารถบอกราคา บอกที่ตั้ง ร้องเพลง เชิญชวนให้ซื้อหรือบริโภคสินค้าได้
 
3.การให้ใบอนุญาต ในเมืองใหญ่ที่มีการแข่งขันกันสูง แทนที่จะให้กลุ่มเดียวทั้งเมืองใหญ่ อาจให้เป็นรายย่อยหลายๆ รายโดยพื้นที่ออกอากาศกระจายทั่วเมืองแทน 4.หากได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์ควรสร้างกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการเข้าถึงของภาคประชาชน เช่น การกำหนดว่าถ้ากลุ่มใดผลิตรายการของตนเองได้ 8 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป ให้กลุ่มนั้นได้สิทธิพิเศษ ซึ่งตรงนี้จะเอื้อต่อคนในท้องถิ่นจะมีโอกาสมากกว่าเพราะสามารถจัดรายการได้เอง ตรงนี้จะไม่เอื้อต่อกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะเอื้อกับกลุ่มที่สามารถจัดตั้งคนในชุมชนได้มากกว่า และเรื่องการกำหนดเงื่อนไขการแข่งขันก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องช่วยกันติดตาม
 
5.ค่าธรรมเนียมในการสมัครใบอนุญาต ในอเมริกาการต่อสัญญาของวิทยุเชิงพาณิชย์ใช้เงินครั้งละ 4,000 เหรียญ แต่ถ้าไม่ใช่สถานีเชิงพาณิชย์ไม่ต้องเสียเงิน ซึ่งในหลายประเทศที่กำหนดให้ทั้งวิทยุเชิงพาณิชย์และไม่ใช่เชิงพาณิชย์ต้องจ่ายเท่ากัน ทำให้คนที่ไม่แสวงหากำไรเสียเปรียบ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องดูให้ดีว่ามีระบุไว้ในกฎหมายหรือไม่
6.การบันทึกการจัดทำรายการซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นในการให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับรัฐบาลเพื่อให้เกิดการกำกับดูแลตามกฎหมาย รัฐบาลในบางประเทศกำหนดเวลาการบันทึกรายการค่อนข้างนาน แม้เป็นเรื่องจำเป็นแต่เราคงไม่ต้องการบันทึกข้อมูลจนละเอียดยิบ หรือต้องตรวจข้อมูลย้อนหลังนานๆ ซึ่งจะเป็นภาระในการทำงานและเพิ่มค่าใช้จ่าย
 
7.ระยะเวลาใบอนุญาต ซึ่งอเมริกาให้ 8 ปี แต่ในบางประเทศกำหนดให้ 2 ปี ต่อครั้ง ระยะเวลาที่นานหลายคนอาจเห็นว่าดีเพราะมีความมั่นคง แต่ส่วนตัว Pete เห็นว่าควรจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ และให้มีการเพิกถอนได้ เพื่อเปิดโอกาศให้มีประกอบการรายใหม่ ซึ่งต้องมีไปดูกฎเกณที่ถูกร่างขึ้นว่าได้เปิดโอกาสให้คณะกรรมการที่จะเข้ามาดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่ทำการยกเลิกหรือ เพิกถอนใบอนุญาติวิทยุเชิงพาณิชย์เพื่อให้วิทยุชุมชน หรือในทางกลับกันให้ยกเลิกหรือเพิกถอนใบอนุญาตวิทยุชุมชนเพื่อให้วิทยุเชิงพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ควรมีการศึกษาผลได้ผลเสียต่อการเปิดช่องดังกล่าวด้วย
 
8.องค์ประกอบและกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ ในอเมริกาถือว่าเลวร้ายมาก แต่องค์ประกอบในประเทศอื่นๆ จะมีความหลากหลายกว่า เช่น ภาครัฐ 1 ถึง 2 คน ที่เหลือมาจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ซึ่งทำให้กรรมการมีอิสระมากขึ้นและสามารถตัดสินใจโดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคม 9.ควรหรือไม่ควรที่รัฐจะให้งบประมาณ เพราะอำนาจในการควบคุมอาจผ่านการให้เงิน หรือการให้เงินซึ่งตอนแรกๆ อาจไม่มีปัญหา แต่พอรับไปเรื่อยๆ ก็ก่อให้เกิดภาวะพึงพา เกิดความเคยชิน ตัวอย่าง ประเทศเวเนซูเอลา ตามกฎหมายใหม่จะหัก 5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ส่วนผู้ได้รับอนุญาตเชิงพาณิชย์มาเข้ากองทุน เพื่อใช้สนับสนุนวิทยุหรือโทรทัศน์ที่เป็นของสาธารณะ ในแคนาดาก็ทำแบบเดียวกัน คือ หัก 5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ส่วนผู้ได้รับอนุญาตเชิงพาณิชย์ แต่นำมาช่วยเหลือนักดนตรี
 
 
การออกใบอนุญาตและการสร้างกติกา ประสบการณ์จากประเทศต่างๆ
 
นักกิจกรรมจากอเมริกากล่าวต่อมาว่า ในอเมริกาไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญบ่อย การพิจารณาให้ใบอนุญาตวิทยุชุมชนจึงใช้เหตุผลทางเทคนิคเป็นหลักในการให้หรือไม่ให้ใบอนุญาตเพิ่มเติม ซึ่งก็มีผลดีในแง่ที่ว่าไม่ได้มีการกำหนดว่าใครจะเป็นคนได้ใช้ ทุกคนมีโอกาสได้เท่าเทียมกันหมดหากเข้าเกณฑ์ ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไรก็ตาม
 
ส่วนในอังกฤษจะมีคณะกรรมการอิสระที่ไม่มีคนของรัฐเลย ในการจัดสรรคลื่นความถี่เหมือนกัน แต่ต้องส่งแผนการที่ละเอียดมาก เพื่อที่จะบอกว่าต่างจากคนอื่นอย่างไร ควรที่จะได้เพราะอะไร ก็ถือเป็นการแข่งขันทางเนื้อหา จากนั้นคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะได้ใบอนุญาต โดยใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี ในการต่อใบอนุญาตก็ต้องบอกรายละเอียด และพิสูจน์ให้เห็นว่าดีกว่ารายอื่นอย่างไร ซึ่งมีข้อเสียคือ คนที่เขียนโครงการเก่งอาจจะเป็นคนที่ได้รับสิทธิไป นอกจากนี้ระบบในอังกฤษคณะกรรมการจะพิจารณาประโยชน์ในด้านการศึกษา สันติภาพ การสร้างโอกาสให้เยาวชน ซึ่งก็ดีสำหรับอังกฤษ แต่ถ้านำมาใช้ที่อเมริกา เขาไม่เชื่อมั่นว่า FCC จะตัดสินใจได้เที่ยงธรรม
 
ที่อังกฤษมีระบบต้องส่งรายงานทุกปี ถ้าผลการประกอบการไม่ดีก็อาจเปลี่ยนไปให้กลุ่มอื่นทำแทน ซึ่งข้อเสียคือเปิดโอกาสให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงผ่านการรายงานการประเมินผลนี้ได้
 
Pete แสดงความเห็นว่า วิทยุชุมชนเป็นพลังทางสังคมที่มีความเข้มแข็ง เชื่อว่ารัฐก็ต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อเข้ามาควบคุมและตรวจทาน แต่หากเราเปิดให้รัฐเขามาควบคุม เข้ามาประเมินคุณภาพอาจทำให้เกิดปัญหา
 
เขายกตัวอย่างประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีวิทยุชุมชนที่ไม่มีใบอนุญาตประมาณ 900 สถานี ที่มีความเห็นต่างกัน คือ ฝ่ายหนึ่งอยากได้ใบอนุญาต แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการเพราะไม่อยากให้รัฐเข้ามาควบคุม แม้ว่าจะมีเจตนาที่ดีก็ตาม และอีกอย่างวิทยุแบบนี้ก็อยู่มาได้เป็นสิบปี รัฐก็ไม่เคยเข้ามาแทรกแซงหรือควบคุม งั้นก็อยู่ต่อไปแบบนี้ดีกว่า นอกจากนี้เขามองว่าการได้ใบอนุญาตอาจยิ่งยุ่งเพราะเจ้าหน้าที่อาจเข้ามาสุ่มตรวจเพราะรู้ว่าสถานีวิทยุอยู่ที่ไหน
 
กรณีที่น่าสนใจจากเม็กซิโก คือ วิทยุเถื่อนที่มีความสัมพันธ์อันดีของรัฐบาลท้องถิ่น สามารถดำเนินการได้ปกติไม่ถูกรบกวน แต่วิทยุที่ได้รับใบอนุญาตที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีนักกับรัฐบาลท้องถิ่น กลับดำเนินการได้อย่างยากลำบาก ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในกรณีนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่มีหรือไม่มีใบอนุญาต แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถานีกับรัฐบาลท้องถิ่นต่างหาก
 
 
ประวัติศาตร์การก่อตั้งวิทยุชุมชนในอเมริกา
 
ส่วน Danielle Chynoweth ซึ่งเรียกตัวเองว่านักเปลี่ยนแปลงสังคมที่พยายามลดช่องว่างของอำนาจและความแตกต่างทางสังคม เพื่อให้คนมีสิทธิในการแสดงออก เธอเคยร่วมกันกลุ่มอนาธิปัตย์ (Anarchism) และเคยลงสมัครเล่นการเมืองท้องถิ่นในสภาเมืองอยู่ 7 ปี เคยอยู่ในตำแหน่งรองประธานสภา ก่อนออกมาทำงานเป็นนักกิจกรรม อีกทั้งเคยอยู่ในคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบรนด์ ได้เล่าถึงพัฒนาการ 3 ยุค ของวิทยุชุมชนในอเมริกาว่า
 
วิทยุชุมชนแห่งแรกในอเมริกาตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่ต่อต้านสงคราม โดยปฏิเสธการเข้ารับราชการทหารในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองจึงถูกจับขังคุก สถานีนี้มีชื่อว่า “แปซิฟิกา” ซึ่งตามความหมายของคำศัพท์ แปซิฟิก (Pacific) อาจหมายความได้ถึง สันติภาพ
 
ต่อมายุคที่ 2 เริ่มต้นประมาณ ค.ศ.1970-1980 (ราว 20-30 ปีมาแล้ว) เธอเล่าว่ามีสถานีวิทยุชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้เมืองของเธอ ดำเนินงานมา 35 ปี ยังคงออกอากาศอยู่และครอบคลุมหลายเมือง ในช่วงระหว่างยุคที่ 2 ถึง 3ได้เกิดปัญหาที่วิทยุภาคธุรกิจที่ทำกำไรได้มากได้ไปซื้อสถานีเล็กๆ เพื่อผูกขาดสื่อ เช่น สถานีของคนผิวดำ ผู้หญิง คนกลุ่มน้อย ส่งผลให้เหลือเพียงไม่กี่กลุ่มที่ยังดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน ในส่วนของภาคประชาชนก็ได้พยายามต่อสู้โดยการตั้งสถานีวิทยุกำลังส่งต่ำที่ใครๆ ก็ทำได้เพื่อต่อสู้ กระแสนี้มีขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ.2000 โดยเน้นการกระจายเสียงในพื้นที่ไม่กว้างนัก แต่ทำในหลายๆ ย่าน ในหลายๆ ชุมชน
 
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นอินเทอร์เน็ตก็กำลังได้รับความนิยม และราคาอุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ ก็ถูกลงมาก ทำให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ จึงได้มีการรวมตัวเป็นศูนย์สื่อชุมชน หรือศูนย์สื่อทางเลือก (Independent Media Center: IMC) คือมีสื่อหลากหลายประเภทและวิทยุชุมชนเป็นหนึ่งในสื่อที่ทำ ศูนย์สื่อชุมชนในแต่ละเมืองทำในเรื่องต่างๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ เว็บสตรีมมิ่ง (การถ่ายทอดทางอินเทอร์เน็ต) ทีวี รวมถึงสื่อศิลปะวัฒนธรรม เช่น ละคร ภาพวาด ดนตรี ปัจจุบันศูนย์สื่อชุมชนนี้ มีเครือข่ายมากกว่า 200 แห่งทั่วโลก
 
Danielle เล่าด้วยว่าเธอได้ร่วมก่อตั้งศูนย์สื่อชุมชนในเมืองแชมเปญ เออบานา (Urbana Champaign) เมื่อปี 2543 มีสมาชิกเริ่มต้นเพียง 12 คน โดยมีการระดมทุนกันซื้ออาคารไปรษณีเพื่อเป็นสถานที่ดำเนินการ มีห้องส่งออกอากาศ ห้องอัดเสียง ห้องบันทึกรายการ พื้นที่แสดงศิลปะ และห้องสมุดอยู่ภายในอาคาร แล้วเปิดให้กับประชาชนทั่วไป ทั้งเด็ก คนงานย้ายถิ่น และคนทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมเข้ามาใช้พื้นที่ได้ ปัจจุบันศูนย์นี้มีสมาชิกกว่า 2,000 คน
 
ในส่วนการทำงาน ศูนย์ฯ จะผลิตเนื้อหาเองเพื่อส่งสื่อท้องถิ่นรวมทั้งสือในระดับชาติด้วย โดยเสียงจะมีการรายงานผ่านวิทยุ ส่วนภาพและเสียงจะมีการผลิตเพื่อเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์ที่สาธารณะเข้าถึง (Public access TV) ซึ่งเป็นโทรทัศที่ชาวบ้านสามารถนำเทปมาออกอากาศได้โดยตรง ตรงนี้เป็นช่องทางหนึ่งของการเผยแพร่ข่าวสารตามที่รัฐธรรมนูญสหรัฐระบุไว้ในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่เหมือนทีวีสาธารณะในเมืองไทย
 
ในส่วนของงบประมาณ นโยบายของศูนย์นี้ตั้งแต่เริ่มตั้งคือ ไม่รับการสนับสนุนจากรัฐเพราะไม่อยากถูกรัฐควบคุม และไม่รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิที่ตั้งโดยบริษัทธรุกิจ เงินในการดำเนินการมาจากการระดมทุนจากประชาชนทั่วไป ซึ่งค่อนข้างโชคดีที่คนในชุมชนถือเป็นคนชั้นกลางรุ่นใหม่มีความเขาใจและให้การสนับสนุน ส่วนคนทำงานตั้งแต่เริ่มต้นส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบอาสาสมัคร
 
Danielle กล่าวด้วยว่าเพียงแค่การทำงานด้านสื่อ เปิดพื้นที่สื่อ ได้ทำให้เกิดผลกระทบหลายอย่างขึ้นในชุมชน เช่น กรณีการรณรงค์เรื่องการปฎิบัติเกินหน้าที่ของตำรวจ เพียงมีการเปิดพื้นที่ให้คนมาใช้ อบรมให้คนใช้สื่อเป็น สามารถอัดวีดิโอเทปได้ เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ที่ตำรวจตีชาวบ้านแล้วนำมาเผยแพร่ เพียงเท่านั้นก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง จากเดิมที่ตำรวจสามารถพกปืนที่มีไฟฟ้าเพื่อเอาไว้ช็อตคนที่ดูไม่น่าไว้ใจได้แต่ตอนนี้กฎหมายไม่อนุญาตให้พกปืนดังกล่าว หรือในกรณีที่ผู้ต้องสงสัยถูกจับแล้วถูกซ้อมทรมานตอนนี้ก็ห้าม เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายหลายอย่าง
 
 
การต่อสู้ 36 ปี ประวัติศาสตร์การปฎิรูปสื่อไทย
 
ด้าน รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน คปส.กล่าวความเป็นมาของการปฏิรูปสื่อในประเทศไทยว่า กว่าจะมีสถานีเล็กๆ ของประชาชนไม่ใช่ระยะเวลาแค่ 12 ปี แต่เป็น 36 ปี โดยนับตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งถือว่าเป็นอิฐก้อนแรกๆ ในการปฎิรูปสื่อที่ออกมาในรูปการเคลื่อนไหวของปัญญาชน สื่อที่ใช้ในช่วงนั้นส่วนใหญ่เป็นตัวอักษร ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วรรณกรรม กวีนิพนธ์ และดนตรี เคลื่อนไหวอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่อย่างโคราช เชียงใหม่
 
การเคลื่อนไหวระลอกสองในปี 2535 อุตสาหกรรมสื่อขยายตัวเจริญเติบโต คนที่คว้าสิทธิเสรีภาพเอาไว้ได้คือ ภาคอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ และที่ภาครัฐมอบให้มาคือสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถือว่าชนชั้นกลางเป็นผู้ได้ประโยชน์ในช่วงเวลานี้ ทั้ง โทรทัศน์ช่องใหม่ สื่อหนังสือพิมพ์ที่เป็นหัวธุรกิจและเคเบิลทีวีมีการเติบโต แต่คนข้างล่างยังคงถามหาสิทธิเสรีภาพ
 
จนกระทั่งมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เกิดความคาดหวังในเรื่องสื่อของประชาชน ตรงนี้สามารถเทียบเคียงกับการอ้างอิงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในบทแก้ไขบทที่ 1 ของธรรมนูญสหรัฐอเมริกา กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 (ก่อนปี 2549) แม้จะมีข้อจำกัดมากกว่าเพราะของไทยอ้างสิทธิได้เพียงการจัดสรรคลื่นความถี่ ตามมาตรา 40 แต่ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่ประชาชนรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญจับต้องได้ เกิดแรงบันดาลใจที่ว่ารัฐธรรมนูญเป็นของเรา สิทธิเป็นของเรา และทำให้เกิดกระแสการเปิดวิทยุชุมชนโดยไม่รอกฎหมายขึ้นมาได้
 
รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวต่อมาว่า ในการทำวิทยุชุมชนนั้น การมีกฎหมายมารองรับทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความชอบธรรม มีกระแสสำนึก แต่ก็ได้เริ่มมีการตีความ “ความชอบธรรม” และ “ความถูกต้องตามกฎหมาย” มากขึ้น ที่ผ่านมากว่าสิบปี คำว่า “วิทยุเถื่อน” ได้ค่อยๆ เลือนหายไป จากที่เคยรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นสิ่งที่ผิด อาจกลายเป็นความภาคภูมิใจกับคำว่า “เถื่อน” ที่บอกว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะ เหมือนเป็นโรบินฮูดที่ปล้นคนรวยมาช่วยคนจน ตรงนี้เป็นการสร้างบทอ้างอิงเพื่อให้รู้สึกว่ามีความชอบธรรม ซึ่งรัฐเองก็สร้างบทอ้างอิงที่ว่าผิดกฎหมายคือไม่ชอบธรรมเช่นกัน
 
ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ที่มีมาอย่างต่อเนื่องของวิทยุชุมชน คือ การขาดความรู้ความชำนาญด้านเทคโนโลยี เทคนิคในการดำเนินการวิทยุชุมชน เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่ม ต้องหาบุคคลากรที่มีความรู้มาร่วมกันทำงานเพิ่มขึ้น ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเข้ามาร่วมแข่งขันเพื่อใช้สิทธิในพื้นที่สื่อท้องถิ่นจากรัฐและทุน ทั้งในเรื่อง ค่านิยม ความคิด ความมั่นคง ชาตินิยม และเรื่องศาสนา หลังจากที่ประชาชนถูกปิดกั้นในเรื่องการสื่อสารมานาน เมื่อช่องทางเปิดขึ้น ทำให้ทุกคนต่างต้องการพื้นที่ ดังนั้น การจัดการเพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่และสิทธิได้รับการคุ้มครองเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของการพยายามครอบงำโดยหน่วยงานทางทหารที่วิทยุชุมชนหลายแห่งประสบอยู่
 
รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวด้วยว่าบนการแข่งขัน คนทำวิทยุชุมชนต้องการความรู้ ต้องการแรงสนับสนุนจากชุมชน จากสังคมใหญ่ เพื่อเป็นต้นทุนในการต่อสู้ในสงครามการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ และผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการเพื่อที่กลุ่มต่างๆ จะได้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องของตนเอง
 
“อย่างน้อยสิบปีที่ผ่านมาเรามีความได้เปรียบตรงที่ว่า คำว่าวิทยุชุมชนเป็นที่รู้จัก มีคุณูประการกับชุมชนต่างๆ ในหลายๆ ที่ เพียงพอที่จะได้รับการยอมรับและได้รับการปกป้อง ในขณะเดียวกันวิทยุเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ วิทยุที่เป็นของทหารที่มาเปิดใหม่ก็จะต้องออกมาบอกได้ว่าตัวเองมีความชอบธรรมอย่างไร” รศ.ดร.อุบลรัตน์กล่าว
 
ในส่วนของ Next Generation (คนรุ่นต่อไป) แม้ขณะนี้อาจไม่ได้อยู่กับวิทยุชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม แต่มีและอยู่ในลักษณะที่กระจายตัว เพราะในภาพใหญ่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ขณะนี้มีทางเลือกในการรับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ทั้งดาวเทียม เคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ต และวิทยุชุมชน อีกทั้งยังเริ่มรู้และตื่นตัวแล้วว่าจะได้รับประโยชน์จากสื่อที่หลากหลายเหล่านี้อย่างไร โดยสื่อแต่ละประเภทก็จะมีแนวโน้มเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป ในส่วนเคเบิลทีวี ขณะนี้ก็มีการเตรียมเรื่อง Public access channel (ช่องที่สาธารณะเข้าถึง) เหมือนกัน ซึ่งสังคมอาจต้องช่วยกันเรียกร้องว่าต้องมี รวมถึงต้องช่วยกันทำเนื้อหาส่งเข้าไปร่วมด้วย
 
“การเปลี่ยนแปลง 36 ปีที่ผ่านมาได้ขยับไปเยอะ และเราก็ได้ก่ออิฐขึ้นมา ต่อขึ้นมาอีกเรื่อยๆ และจะมีอิฐก้อนใหม่ๆ อีกใน 5 ถึง 10 ปีข้างหน้าแน่นอน พวกเรามีโอกาสช่วยกัน” รศ.ดร.อุบลรัตน์กล่าว

 
กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ อีกหลักประกันหนึ่งของวิทยุชุมชนไทย
 
ส่วน สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ ในฐานะกรรมาธิการแปรญัตติ ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่าขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญอย่างเป็นทางการแล้ว หลังประชุมมา 11 เดือน โดยยังยืนยันรองรับพื้นที่ของคลื่นความถี่ที่จะต้องจัดสรรให้ภาคประชาชน อย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ ของคลื่นความถี่ ของพื้นที่ที่มีการอนุญาตให้ประกอบกิจการ
 
อีกทั้งมีกองทุนในการพัฒนากิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเปิดโอกาสให้สื่อชุมชนขอการสนับสนุนจากกองทุน และกรรมการบริหารกองทุนที่เป็นอิสระ นอกจากนี้ คำนิยามของภาคประชาชน หรือชุมชนได้มีการระบุไปถึงกลุ่มคนที่มีความสนใจรวม เช่น เด็กและเยาวชน คนพิการ ผู้ติดเชื้อ HIV และแรงงาน นอกเหนือไปจากในเรื่องพื้นที่
 
ในส่วนอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีจำนวน 11 คน ก็มีการเพิ่มเข้าไปว่าต้องมีการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารและความเสมอภาคในการเข้าถึงและใช้สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และกิจการโทรคมนาคม
 
จากนี้ไป นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จะเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านวาระ 2-3 หลังจากสภาเปิดประชุมในวันที่ 21 มกราคมนี้ หากกระบวนการดำเนินไปได้กฎหมายนี้ก็จะผ่าน และจะมีองค์กรอิสระ ซึ่งทุกอย่างคงจะเริ่มนับ 1 ได้ในขบวนการปฎิรูปสื่ออีกครังหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรื่องวิทยุชุมชน แต่สัมปทานต่างๆ ที่มีอยู่ก็จะต้องหมดวาระลงด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net