ครบรอบวันเกิด 201 ปี ‘อัลเลน โป’ บิดานิยายนักสืบ กับผู้มาเยือนหลุมศพลึกลับ

 
เอ็ดการ์ อัลเลน โป บิดาแห่งวรรณกรรมรหัสคดี
(Wikipedia)


เอ็ดการ์ อัลเลน โป เป็นนักเขียนสหรัฐฯ ผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นบิดาแห่งวรรณกรรมรหัสคดี* (Mystery) จากเรื่องสั้น "คดีฆาตกรรมที่ถนนมอร์ก" (The Murders in the Rue Morgue) ซึ่งเป็นเรื่องราวของ ออกุสต์ ดูแปง ต้องเข้าไปสืบคดีฆาตกรรมในห้องปิดตายบนอาคารแห่งหนึ่ง จนกระทั่งดูแปงกลายเป็นตัวละครต้นแบบของนักสืบรายอื่นๆ ในยุคต่อมาอย่างเชอร์ล็อก โฮมส์ ของ โคนัน ดอยล์ และ ปัวโรต์ ของ อกาธา คริสตี

โป เกิดวันที่ 19 ม.ค. 1809 และเสียชีวิตในเดือน ต.ค. ปี 1849 โดยที่แม้แต่ความตายของเขาเองก็ยังเป็นปริศนา

หนังสือพิมพ์หลายฉบับในสมัยนั้นรายงานว่าเขาเสียชีวิตจากอาการ "ติดเชื้อในสมอง" ซึ่งน่าจะมาจากการติดสุรา แต่บันทึกทางการแพทย์และใบมรณบัตรของเขาก็หายสาปสูญ ทั้งนี้ก่อนหน้าการเสียชีวิต โป มีอาการเพ้อ ไม่สามารถควบคุมตนเองให้อธิบายอาการป่วยได้ เสื้อที่เขาใส่ก็ไม่ใช่ของตัวเขาเอง และคืนก่อนเสียชีวิตเขายังเพ้อถึงชื่อ "เรย์โนลด์" ซ้ำ ๆ

ความลึกลับของโปยังคงถ่ายทอดผ่านข้ามศตวรรษแม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่นิยายแนวโกธิคและเรื่องแนวรหัสคดีของเขาเท่านั้น แต่ 100 ปี หลังจากการเสียชีวิตของโป ก็เริ่มมีคนลึกลับสวมชุดดำ ปกปิดใบหน้าด้วยผ้าคลุม เดินเข้าไปที่ป้ายหลุมศพของ โป ในบัลติมอร์ ในทุก ๆ วันครบรอบวันเกิดของเขา และจะดื่มคอนยัคเพื่อคารวะก่อนจะวางขวดคอนยัคที่เหลือเครื่องดื่มไว้ครึ่งขวด พร้อมดอกกุหลาบแดง 3 ดอก ไว้หน้าป้ายหลุมศพ โดยบางครั้งก็มีการทิ้งโน้ตเอาไว้ด้วย

บุคคลปริศนาผู้นี้ถูกเรียกว่า 'ผู้ดื่มคารวะแก่โป' (Poe Toaster) เขาไปที่หลุมศพของโปเพื่อทำแบบเดียวกันทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี 1949 จนกระทั่งถึงถึงปี 1993 ผู้ดื่มคารวะแก่โป ก็ทิ้งโน้ตเอาไว้ว่า "คบเพลิงจะถูกส่งต่อ" ทำให้เชื่อว่าผู้ดื่มคารวะแก่โปกำลังจะเสียชีวิต จนในปี 1999 ก็มีโน้ตวางไว้ยืนยันว่าผู้ดื่มคารวะโปคนเก่าเสียชีวิตแล้ว และมีผู้ดื่มคารวะโปคนต่อไปมาสืบทอด

ปริศนากลับมาอีกครั้งในวันครบรอบวันเกิดของโปปีนี้ (19 ม.ค. 2010) เมื่อไม่พบบุคคลนิรนามมาวางคอนยัคและกุหลาบ 3 ดอกเช่นทุกปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนสงสัยว่าผู้ดื่มคารวะโปรุ่นต่อมาหายไปไหน หรือเขาจะเสียชีวิตแล้ว


เจฟ เจอโรม กับหลุมศพของโป
(AP)


 เจฟ เจอโรม ภัณฑรักษ์ของ 'บ้านและพิพิธภัณฑ์เอ็ดการ์ อัลเลน โป' คือคนที่พบเห็นผู้ดื่มคารวะแก่โปมาตั้งแต่ปี 1976 เขาบอกว่าเขารู้สึกสับสน และไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้มาเยือนลึกลับ

เจอโรมและกลุ่มเพื่อนของเขาที่ชื่นชอบเอ็ดการ์ อัลเลน โป พากันไปที่สุสานเวสมินสเตอร์ที่ซึ่งมีหลุมศพของบิดาวรรณกรรมรหัสตดีอยู่ เพื่อจะได้เฝ้ามองบุคคลลึกลับมาทำการดื่มคารวะโปทุก ๆ ปี

เจฟฟรีย์ ซาวอย เปิดเผยว่าปกติแล้วผู้ดื่มคารวะแก่โปจะมาในช่วงเที่ยงคืนถึงตี 5 ของวันที่ 19 "แต่ในเช้าวันนี้เขาไม่มา" ซาวอยกล่าว

การหายไปของผู้ดื่มคารวะโป ทำให้ผู้มาเฝ้ารอ 50 คนในปีนี้ผิดหวัง ขณะเดียวกันก็ยิ่งทำให้ปริศนาของคน ๆ นี้ดูลึกลับขึ้นไปอีก

เมื่อปี 2007 มีผู้ออกมากล่าวอ้างว่าตนคือผู้ดื่มคารวะแก่โป เขาคือแซม พอร์โพร่า เขาอ้างว่าเขาคิดไอเดียนี้ขึ้นมาในช่วงปลายทศวรรษ 1960 เพื่อทำให้ผู้คนแปลกใจ แต่เจอโรมในฐานะผู้เฝ้าดูเหตุการณ์นี้ปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่ใช่ฝีมือของพอร์โพร่าแน่

แซม พอร์โพร่า เป็นนักประวัติศาสตร์ในโบสถ์เวสต์มินสเตอร์ เขาอ้างว่าเรื่องที่มีการดื่มคารวะโปหน้าหลุมศพโดยเริ่มต้นในปี 1949 นั้นเป็นเรื่องที่เขากุขึ้นมาหลอกสื่อเพื่อสร้างชื่อเสียงหาเงินฟื้นฟูโบสถ์ แต่เจอโรมบอกว่ามีหลักฐานจากหนังสือพิมพ์ที่ระบุผู้ดื่มคารวะโปมาตั้งแต่ปี 1950 โดยหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ตีพิมพ์เรื่องนี้คือ อีเวนนิงซัน ของบัลติมอร์

แต่สิ่งที่พอร์โพร่าเล่าก็มีอะไรหลายอย่างไม่ตรงกับความจริง "เรื่องของแซมมีช่องโหว่ใหญ่มาก ใหญ่มากพอที่จะขับรถบรรทุกผ่านเข้าไปได้" เจอโรมกล่าว หลังจากที่เขาสำรวจเรื่องนี้

นอกจากพอร์โพร่าแล้ว ไม่มีใครอื่นอีกเลยที่ประกาศตนว่าเป็นผู้ดื่มคารวะโป แต่ล่าสุดมีคนสงสัยว่าผู้ดื่มคารวะโปจะเป็นกวีชาวบัลติมอร์ผู้มีนิสัยช่างหยอกเย้าที่ชื่อ เดวิด แฟรงค์ ซึ่งเขาเพิ่งจะเสียชีวิตลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราฟาเอล อัลวาเรซ เพื่อนของเดวิด แฟรงค์ และเป็นประธานสมาคมเอ็ดการ์ อัลเลน โป ในบัลติมอร์เปิดเผยว่า แฟรงค์เป็นผู้ที่คลั่งไคล้ในตัวอัลเลน โป มาก เขายังเป็นคนที่มีความขี้เล่นขนาดว่าเคยนำ 'ส่วนลับ' ในร่างกายเขาเข้าเครื่องถ่ายเอกสารของสำนักงานกองทุนประกันสังคม แล้วนำภาพที่ได้มาแสดง อีกหลายปีต่อมาเขาแกล้งทำตัวเป็นกวีพิการที่นั่งล้อเข็นแล้วขอรับบริจาคจากคนที่มุงดู ก่อนที่จะบอกขอบคุณแล้วลุกขึ้นเดินหนีไป

แต่ทั้งอัลวาเรซและเจอโรมก็ยังคงสงสัยในเรื่องนี้ และคิดว่าไม่น่าจะเป็นเดวิด แฟรงค์ โดยเจอโรมบอกว่าเขาเคยเห็นภาพของแฟรงค์และเขามีลักษณะไม่เหมือนกับคนที่มาเยี่ยมหลุมศพโปสักเท่าไหร่ ขณะที่อัลวาเรซบอกว่า แฟรงค์ไม่ใช่แฟนกีฬา และมีท่าทีทางการเมืองเอียงไปในทางฝรั่งเศสมากกว่าสหรัฐฯ

เรื่องที่อัลวาเรซพูดถึง หมายถึงโน้ตที่ผู้ดื่มคารวะโปทิ้งไว้ทุกปี ซึ่งบางปีก็เกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไปในโลก เช่นในปี 2001 โน้ตของผู้ดื่นคารวะโปเขียนถึงการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลซูเปอร์โบวล์ที่ทีมบัลติมอร์ราเวน (ชื่อทีมได้แรงบันดาลใจจากบทกวี 'เดอะ ราเวน' ของโป) จะลงแข่งปะทะกับนิวยอร์คไจแอนท์ ขณะที่ในปี 2004 ก็มีโน้ตที่พูดถึงคอนยัคฝรั่งเศส โดยหลายคนเชื่อว่าโน้ตในปีนี้เป็นการด่าว่าฝรั่งเศสกรณีที่ฝรั่งเศสมีจุดยืนต่อต้านสงครามอิรัก**


ในปีนี้ไม่มีบุคคลลึกลับมาวางคอนยัคและดอกกุหลาบ
แต่ก็มีคนที่ชื่อซินเธีย เปลาโย มาปฏิบัติหน้าที่นี้แทน
(AP)
 

ในปี 2006 มีผู้ที่สนใจเรื่องนี้พยายามเข้ามาสืบว่าตัวจริงของผู้ดื่มคารวะโปคือใคร จนเจอโรมบอกว่าเขารู้สึกไม่ดีที่มีคนมาทำลายความสงบ ในปี 2007 ก็มีคนมาที่หลุมศพโป 60 คน รวมถึงคนที่มาจากญี่ปุ่น โดยคราวนี้เจอโรมบอกว่าผู้เข้าเยี่ยมปฏิบัติตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และในปี 2008 ก็เพิ่มขึ้นถึง 150 คน

แต่ความสงสัยก็มีอยู่ในตัวทุกคนไม่จำเพาะต้องเป็นนักสืบ บางคนสงสัยว่าเจอโรมเองน่าจะรู้ตัวจริงของผู้ดื่มคารวะโปมานานแล้ว หรือไม่เช่นนั้นตัวเขาเองนั่นแหละที่เป็นที่เป็นผู้ดื่มคารวะโป

เจอโรมปฏิเสธบอกว่าถ้าเขาทำเช่นนั้นจริงเขาคงตกงานแน่ ๆ สิ่งที่เขารู้และอยากเก็บไว้เป็นความลับมีแค่ลักษณะท่าทางของผู้มาเยือนหลุมศพเท่านั้น

มีหลายคนถามเจอโรมว่าเหตุใดผู้ดื่มคารวะโปถึงไม่มาในปีนี้ (2010) เจอโรมบอกว่ามันมีความเป็นไปได้หลายอย่าง เขาอาจป่วย เจออุบัติเหตุ หรือรู้สึกว่ามีคนมามากเกินไป เจอโรมตั้งขอสันนิษฐานไว้อย่างหนึ่งเช่นกันว่า อาจเป็นเพราะปีที่แล้ว (2009) ครบรอบวันเกิด 200 ปี ของโปพอดี ตัวผู้ดื่มคารวะจึงเห็นว่า ถึงเวลาสมควรแล้วที่จะหยุด

"เขาหยุดแล้วจริงหรือ พวกเราไม่รู้ว่าเขาหยุดจริงหรือเปล่าเขาอาจจะแค่ไม่มาในปีนี้เท่านั้นก็ได้" เจอโรมกล่าว

 
 
ที่มาแปลและเรียบเรียงจาก
Mystery visitor to Poe's grave is a no-show, BEN NUCKOLS and JOSEPH WHITE, AP, 19-01-2010
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://poestories.com/biography.php (เข้าดูเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Edgar_allen_poe (เข้าดูเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Poe_Toaster (เข้าดูเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2010)
 
 
*เรืองเดช จันทรคีรี บรรณาธิการสำนักพิมพ์รหัสคดี ได้นิยามวรรณกรรมแนวนี้ไว้ว่าเป็นเรื่องเล่าที่เน้นการคลี่คลายปัญหาซ่อนเงื่อนของเหตุการณ์ชุดหนึ่ง โดยมุ่งเน้นการใช้ตรรกะ เหตุผล ที่เน้นความเป็นวิทยาศาสตร์ บางครั้งก็ใช้เรียกสลับกับเรื่องนักสืบ (detective story) และเรื่องอาชญนิยาย (crime story)
 
**ในปีก่อนหน้านี้ก็มีการต่อต้านฝรั่งเศสในสหรัฐฯ แบบแปลก ๆ โดยการพยายามยกเลิกชื่อมันฝรั่งทอดเดิมที่เรียกว่า "เฟรนซ์ฟราย" และเปลี่ยนชื่อเป็น "ฟรีดอมฟราย" (Freedon Fries) แทน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท