Skip to main content
sharethis
 
 
“ด้วยมรดกจากยุคสมัยอาณานิคม ทำให้เราไม่สนใจเพื่อนบ้าน อันเนื่องมาจากเดิมที เวลามีเรื่องเกี่ยวกับกัมพูชา เราติดต่อกับฝรั่งเศสโดยตรง ไม่ต้องติดต่อกับกัมพูชาในกรุงพนมเปญ เช่นเดียวกับเวลามีเรื่องว่าด้วยพม่า เราติดต่อกับอังกฤษแทนที่จะติดต่อกับพม่าที่ย่างกุ้ง ฉะนั้น นี่คือสิ่งตกค้างจากสมัยอาณานิคม ซึ่งชนชั้นนำไทยก็ยังตกอยู่ในบรรยากาศนี้ ยังคงติดต่อกับประเทศตะวันตก โดยไม่สนใจเพื่อนบ้าน ดังนั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน เพราะเขาอยู่ติดกับเรา”
 
                                                             ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
                                    ผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
 
 
“องค์ความรู้เรื่องเพื่อนบ้านนั้นเรามีมากมาย แต่ไม่ใช่การรับรู้เข้าใจคนอื่นด้วยความเท่าเทียมกันหรือพยายามเข้าใจวัฒนธรรมอื่น เราพัฒนาความรู้แบบถือตัวเองเป็นใหญ่ หลงตัวเอง ลงท้ายกลายเป็นการหลอกตัวเอง หลอกกันเองไปๆ มาๆ ก็มาก เพราะอยู่กับกรอบความรู้แคบๆ ที่ไม่รู้จักคนอื่นเท่าไร จึงไม่ค่อยมองอะไรอย่างมี perspective (มองในภาพกว้าง) เมื่อเทียบเคียงกับที่อื่นๆ ตอแหลกันไปเรื่อยว่าตัวเองวิเศษที่สุดในโลก หรือวิกฤตที่สุดในโลก”
 
                                                             ดร. ธงชัย วินิจจะกูล
                                                ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน
                                                                 สหรัฐอเมริกา
 
 
 
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองอันวุ่นวายของสยามประเทศ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังจะมีอายุครบ 10 ปี
 
หากเปรียบว่าเป็นคนๆหนึ่ง โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาก็เสมือนเป็นเด็กที่กำลังเติบโตและกำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นที่เปี่ยมไปด้วยพละกำลังวังชา ช่างบังเอิญ ที่บ้านเมืองกำลังเข้าสู่จุดวิกฤติ นอกจากศึกในแล้ว ไทยยังมีศึกนอกคือปัญหากับเพื่อนบ้านโดยรอบทิศ
 
10 ปีที่ผ่านมาของโครงการฯและ 4 ทศวรรษที่ผ่านมาของประชาคมอาเซียน วาระว่าด้วยการทำความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านยังไม่สิ้นสุด (หรือบางทีอาจเพิ่งเริ่มต้น) ยังมีเส้นทางอีกยาวไกลรออยู่ข้างหน้า
 
มีประโยคสำคัญประโยคหนึ่งที่กล่าวกันมานานแล้วว่า “เมื่อมองกระจก เราจะเห็นตัวเองอยู่ในนั้น แต่เพราะมองกระจก เราจึงได้เห็นด้านขวาที่อยู่ฝั่งซ้ายและด้านซ้ายที่อยู่ฝั่งขวา”
 
เพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ เรา แม้จะอยู่ใกล้กันแค่เอื้อม แต่เราอาจไม่เคยเห็นเขาในมุมใกล้ๆ ที่ว่านั้นเลย
 
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ “ความรู้แบบถือตัวเองเป็นใหญ่” “หลงตัวเอง” “หลอกตัวเอง” “สิ่งตกค้างจากสมัยอาณานิคม” และ “มุมอับในกระจก” ที่รังแต่จะผลิตซ้ำ “กรอบความรู้แคบๆ ที่ไม่รู้จักคนอื่น”
 
คณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงร่วมกันวางหมุดและหลักหมายของก้าวที่ 10 ( 1 ทศวรรษอุษาคเนย์ศึกษาในเมืองไทย) ด้วยการจัดทำหนังสือ “อุษาคเนย์ที่รัก” (My Dear Southeast Asia) ขึ้น
 
ภายในหนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยด้วยปาฐกถา บทสัมภาษณ์ บทความวิชาการ/สารคดีจากเลขาธิการอาเซียน นักวิชาการ นักศึกษา นักคิด นักเขียน มิตรน้ำหมึกในวงการ “อุษาคเนย์ศึกษา” ที่จะมาร่วมสร้างความรู้และความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านผ่านตัวอักษร
        
งานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "อุษาคเนย์ที่รัก" (My Dear Southeast Asia) จะจัดขึ้น ณ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า (ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่เวลา 16.00 – 19.30 น. ในวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 นี้
 
ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียน/ช่างภาพสารคดีอิสระ อภินันท์ บัวหภักดี บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อสท. จะร่วมกันนำเสนอภาพถ่ายชุด "ข้างหลังภาพ อุษาคเนย์" พร้อมการบรรยายประกอบ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดมาจากการเดินทางเขียนเรื่องและถ่ายภาพในภูมิภาคอุษาคเนย์มานานหลายสิบปี โดยมีวัตถุประสงค์ “ฉายฉากหลัง” ของอุษาคเนย์ที่คนทั่วไปอาจมองข้ามและนึกไม่ถึง
               
จากนั้น ผศ.ดร. ผศ. ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ มหาวิทยาลัยรังสิต จะเปิดตัวหนังสือ “อุษาคเนย์ที่รัก” (My Dear Southeast Asia) ก่อนจะเข้าสู่วงเสวนาหัวข้อ "มิตรภาพ ศัตรู คู่แข่ง ไทยกับเพื่อนบ้านอุษาคเนย์" โดยมี พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการ พร้อมวิทยากรคือ อ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อุษาคเนย์และผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักรัฐศาสตร์ผู้สนใจศึกษาการเมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้าน แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวายอิ, อรอนงค์ ทิพย์พิมล จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยภาษาท้องถิ่นของประเทศเพื่อนบ้าน และกอปร์ธรรม นีละไพจิตร นักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชน อิสลามและการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน
 
นอกจากนี้กลุ่มกวีรุ่นใหม่จาก Thai Poet Society จะมาร่วมขับกล่อมบทกวีในหัวข้อ “เพื่อนบ้านของเรา” เพื่อความเข้าใจเพื่อนบ้านตลอดงาน
 
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
 
 
 
งานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "อุษาคเนย์ที่รัก" (My Dear Southeast Asia)
เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 ณ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า (ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ถนนราชดำเนินกลาง
วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553
 
16.00 น. :   บทกวีจากกลุ่มกวี Thai poet society 
 
16.15 น. :    บรรยายประกอบภาพถ่าย "ข้างหลังภาพ อุษาคเนย์"
                   โดย ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียน/ช่างภาพสารคดีอิสระ
                   อภินันท์ บัวหภักดี      บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อสท.
 
16.45 น. :    บทกวีจากลุ่มกวี Thai poet society
 
17.00 น. :    เปิดตัวหนังสือ "อุษาคเนย์ที่รัก" โดย ผศ. ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
 
17.30 น. :   วงเสวนา "มิตรภาพ ศัตรู คู่แข่ง ไทยกับเพื่อนบ้านอุษาคเนย์"  
                   วิทยากร :   อ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ.
                                    ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวายอิ
                                    อรอนงค์ ทิพย์พิมล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ.
                                    กอปร์ธรรม นีละไพจิตร นักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ.
 
                ดำเนินรายการโดย     พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
19.00 น. : บทกวีจากลุ่มกวี thai poet society
 
พิธีกรตลอดงาน โดย นูรียะ ยูโซะ, ธีราภรณ์ ยุคุณธร นักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net