Skip to main content
sharethis

 

 

“กิ่งก้านใบ ชะชะใบก้านกิ่ง กิ่งก้านใบ ชะชะใบก้านกิ่ง ฝนตกลงมาจริงๆ ฝนตกลงมาจริงๆ ชะชะกิ่งก้านใบ” แว่วเสียงเพลง ผสมผสานไปด้วยเสียบปรบมือและเสียงกลองในจังหวะ 3 ช่า ดังกึกก้องภายในฝ่ายการศึกษา และนั่นเป็นสัญญานบอกถึงการเริ่มต้นของการอบรมโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังในเรือนจำอีกครั้ง...ครั้งนี้มีผู้ต้องขังเข้าอบรมจำนวน 35 คน

ผมมองลอดหน้าต่างออกไปภายนอกห้องกิจกรรม คลื่นชีวิตผู้ต้องขังเกือบสองพันคนที่ถูกกระจุกให้อยู่ภายในแอ่งแห่งความจำยอม มองดูสับสนวุ่นวาย ไม่หยุดนิ่ง ราวกับยืนมองจากเวิ้งทะเลกว้างที่มีหมู่คลื่นเคลื่อนถะถั่งขึ้นลงมิรู้จบ อา- -ทะเลคนนั้นแสนจะกว้างไกล ลึกสุดคณา หากทว่าชีวิตพวกเขาเหล่านี้ กลับคล้ายกับหนูกำลังก้มหน้าก้มตาถีบจักรไปวันๆ ไปเรื่อยๆ อย่างนั้นโดยอัตโนมัติ แต่กลับไม่รู้ว่าถีบไปทำไม ถีบไปเพื่ออะไร เมื่อไรจะได้หยุดซะที

ท่ามกลางเสียงร้องบรรเลงดังสะท้อนก้องอยู่ภายในห้องกิจกรรม อาณาบริเวณของแดน 1 ถือได้ว่าเป็นแดนแห่งการศึกษาและพัฒนาจิตใจนั้นปรากฏภาพของนักโทษเด็ดขาด 4 คน กำลังยืนกระโดดโลดเต้นแสดงท่าทางประกอบเพลงที่เพื่อนๆ ร่วมกันร้องอย่างตั้งใจ คละเคล้าด้วยเสียงหัวเราะชอบใจสลับกันไปมา

เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เพื่อละลายพฤติกรรมซึ่งเน้นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ก่อนเข้ารับการอบรมเสริมสร้างความรู้ ทักษะชีวิต จากวิทยากรตามหลักสูตรที่วางไว้

บางครั้งผมพบว่า ในเสียงหัวเราะ มีรอยยิ้ม ในรอยยิ้ม มีประกายความสุขเล็กๆ เกิดขึ้นท่ามกลางความขมขื่นข้างในหัวใจพวกเขา

ใช่ อย่างน้อยๆ ทำให้เราสัมผัสรับรู้ได้ว่า ชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะลำบากแค่ไหน ย่อมยังมีสิ่งที่สวยงามเกิดขึ้นได้เสมอ พวกเขาทำให้ผมรู้สึกแบบนั้น เราจะไม่เห็นสิ่งใดในบางสิ่ง ถ้าเพียงหัวใจของเรามืดบอดใช่หรือไม่!?

1

“คุณคิดว่าคุณจะทำให้เขาเป็นคนดีได้หรือ...ขนาดพ่อแม่มันๆ ยังไม่ฟังเลย” ผู้คุมคนหนึ่งเคยทักถามผม เมื่อตอนที่ผมเริ่มต้นทำงานในเรือนจำแห่งนี้ได้ไม่นาน

“ไอ้พวกนี้อย่าไปเสียเวลาพูดคุยหรือแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู อะไรมันหรอก เสียเวลาเปล่า เชื่อพี่เถอะพี่ทำงานมานาน เห็นมานักต่อนัก” ผมยิ้มเล็กๆที่มุมปากแทนคำตอบ

เข้าสู่ปีที่ห้าของการทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ในเรือนจำ

“นั่นไง...ไอ้คนนั้นที่มันเคยเข้าอบรมโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู ผู้ค้ารายย่อยที่พี่ทำ มันกลับเข้ามาอีกแล้ว ผมว่านะการแก้ไขฟื้นฟูคนพวกนี้นะ ไม่ได้ผลหรอก ไม่รู้ว่าเราจะทำไปทำไม...” เจ้าพนักงานราชทัณฑ์รุ่นน้อง ชี้ให้ผมดู ผู้ต้องขังที่เดินเข้าคุกมาซึ่งเคยต้องโทษและพ้นโทษออกไปจากสถานที่แห่งนี้ 

“นั่นสิ...เราทำไปทำไม...” ผมเอ่ยออกไปเบาๆ อย่างเลื่อนลอย

น.ช.โต้ง (นามสมมุติ) เด็กหนุ่มวัยรุ่น คนนั้นกำลังยืนรอทำการตรวจค้นร่างกาย ระหว่างนั้น ผมเดินเข้าไปเอ่ยถามเขา 

“เป็นไงมาไงถึงได้กลับมาอีกล่ะ...”

“เหมือนเดิมครับ ขอโทษหัวหน้าด้วย ที่ผมไม่สามารถทำอย่างที่รับปากไว้ได้”

“อืมม์..เห็นทีเข้ามาคราวนี้ท่าจะเรียนจนจบปริญญาตรีแล้วล่ะ” ผมพยายามเปลี่ยนบรรยากาศในการสนทนา  

น.ช.โต้ง จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเรือนจำโดยเรียนจากหลักสูตรของการศึกษานอกโรงเรียน โดยมีอาจารย์จาก กศน.เข้ามาสอนเหล่านักโทษในเรือนจำ

ผมยังจำภาพเก่าๆ นั้นได้ดี..ว่าครั้งหนึ่งผมเคยนั่งสัมภาษณ์พูดคุยกับ น.ช.โต้ง เขาบอกเล่าให้ฟังว่า เขาไม่สามารถเรียนจนจบได้ ถ้าไม่ได้มาอยู่ในเรือนจำ เพราะชีวิตการเรียนข้างนอก ตัวเขาเองมักจะตามเพื่อนๆ ไปเสพยาบ้าหรือไม่ก็เที่ยวเตร่ ตามผับและสถานที่เที่ยวกลางคืน ผ่านพ้นไปเป็นวันๆ โดยไม่ค่อยได้สนใจที่จะศึกษาเล่าเรียนเท่าใด ในจำนวนผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยออกไป 35 คน

โต้งคือ ผู้ต้องขังคนแรกที่กลับเข้ามาเพราะกระทำผิดซ้ำ!  

ครอบครัวโต้ง มีแม่เป็นหัวหน้าครอบครัว เนื่องจากว่าพ่อได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่โต้งยังเด็ก และจากการเข้าสู่เรือนจำในครั้งแรก แม่คาดหวังให้เรือนจำเป็นสถานที่ดัดสันดานลูกชายคนเดียว แต่แล้วก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อเขาหวนกลับมากระทำผิดซ้ำ ผู้คนในชุมชนต่างสะใจที่เห็นตำรวจจับโต้งได้ บ้างยิ้มเยาะเย้ย บ้างถากถางด้วยคำพูด ท่ามกลางความโล่งใจของคนในสังคมซึ่งเขาและเธอก็คงคาดหวังเช่นเดียวกันกับมารดาของโต้ง

เด็กหนุ่มจ่อมจมอยู่กับความคิดที่หนักอึ้ง และดวงตาที่เหม่อลอย และนี่คืออาการของผู้ต้องขังส่วนใหญ่เมื่อต้องเข้าสู่เรือนจำในวันแรกๆ

ในความหม่นมัว ในความหลากหลายอารมณ์ร่วมของคนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ฟังจากคำบอกเล่าของ น.ช.โต้งมีความจริงบางอย่างตกตะกอนนิ่งอยู่ข้างในอย่างเงียบงัน

ผมเคยครุ่นคิดไปต่างๆ นานา...จะมีคนสักกี่คนหนอ...ที่จะมองเห็นและยอมรับว่า แท้จริงแล้ว น.ช.โต้ง หรือผู้ต้องขังคนอื่นๆ นั้นคือผลิตผลทางสังคมส่วนหนึ่งที่สังคมสร้างขึ้น ซึ่งเราต้องร่วมกันรับผิดชอบและช่วยกันไม่ให้เขากลับไปกระทำผิดซ้ำเมื่อพ้นโทษ  

2

ในเช้าวันหมอกเริ่มจางหาย แต่อากาศยังคงหนาวเย็น ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะเคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้า  ระหว่างที่นั่งทานข้าวอยู่ร้านสวัสดิการหน้าเรือนจำ ผมเผลอมองไปยังประตูคุก ภาพหนึ่งในความทรงจำสีซีดจางของผมได้ลอยเข้ามาให้คิดทบทวนถึงอีกครั้ง 

ใครคนหนึ่งร้องเรียกชื่อผม ขณะกำลังจะเดินเข้าไปทำงานข้างในเรือนจำ ผมหันไปมองยังที่มาของเสียง นั่น,นายถนอม ซึ่งพ้นโทษในวันนี้ ยืนยิ้มอยู่ในศาลาแปดเหลี่ยมหน้าเรือนจำ พร้อมกระเป๋าสัมภาระใบเขื่องข้างกาย 

“อ้าว...ถนอม ดีใจด้วยนะได้กลับบ้านซะที แล้วยังไม่กลับเหรอ ไม่มีคนมารับหรือว่าไม่มีตังค์ค่ารถกลับล่ะ” ผมเอ่ยถาม

“ไม่ใช่ครับ ผมแค่รอพบหัวหน้าอยู่ครับ”

คำตอบทำให้ผมยืนทำท่าทางงงๆ

“แล้วรอพบผมทำไมเหรอ...”

ถนอมนิ่งเงียบชั่วขณะ...ก่อนจะสบตาผมอีกครั้ง...

“คือผมแค่อยากจะขอบคุณหัวหน้า ที่ให้โอกาสผมเข้าร่วมโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูฯ กิจกรรมหนึ่งในนั้นมันทำให้ผมคิดได้ และจะจำมันไปจนวันตาย ผมจะไม่กลับมาติดคุกซ้ำอีกแล้วล่ะ...”

ความทรงจำอาจจะสีจางๆไปแล้ว เพราะมันผ่านมานานมากในวันนั้น แต่คำพูดของถนอมยังสะท้อนก้องอยู่ในความคิดของผมชัดเจนตราบจนทุกวันนี้...

เรื่องราวในอดีต มักส่งผลมาเป็นเราในปัจจุบัน

เช่นกัน พวกเขาเหล่านี้ นักโทษหลายคน พวกเขาเข้าใจดีว่าตัวเองได้กระทำในสิ่งที่ผิด จนต้องพาตัวเองมาอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ แต่จะมีสักกี่คนเล่าที่จะสามารถเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต และสามารถเริ่มต้นใหม่ โดยไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

“ทำไปทำไม ทำไปแล้วจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน...” บ่อยครั้ง ผมเคยถามตัวเองด้วยคำถามนี้ซ้ำไปซ้ำมา

ใช่ จวบจนวันนี้ ตัวผมเองยังไม่สามารถหาคำตอบในสิ่งที่สงสัยนั้นได้อย่างแท้จริง แต่ผมสามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ นั่นคือการเชื่อว่าพวกเขาเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เชื่อในศักยภาพศักดิ์ศรีของชีวิตมนุษย์ หลังจากนั้น สิ่งที่จะตามมาก็คือการคิดหาวิธีที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาเหล่านั้น

ว่ากันว่า สำนึกนั้นเป็นเรื่องของแต่ละคน อยู่ข้างใน การเปลี่ยนแปลงจึงต้องมาจากข้างใน ไม่มีใครไปบังคับได้ แต่เราช่วยกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ดีได้ ถ้าหากเราโฟกัสเรื่องความคิด เน้นการแก้ที่ระบบการคิด ส่งเสริมการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตนในอดีตมากกว่าการโฟกัสอยู่ที่การกระทำหรือพฤติกรรมที่เคยผิดพลาด ซึ่งไม่สามารถที่จะย้อนคืนวันกลับไปแก้ไขได้

เรื่องราวในอดีต จึงมักส่งผลมาเป็นเราในปัจจุบัน

ใช่...ปัจจุบันผมจึงเลือกที่จะเรียนรู้พวกเขาเพื่อเข้าใจพวกเขา และนับวันมันทำให้ผมเห็นช่องว่างของปัญหาในหลายๆ ความคิดของเขาและเธอ ที่ยังรอการเติมเต็มเพื่อที่จะทำให้เขาแปรเปลี่ยนความคิดเหล่านั้นในเชิงบวก นำทางไปสู่อนาคต หรือชะตาชีวิตที่ดีกว่าเดิม  แน่ละ...ทำไมผมถึงไม่สามารถจะตอบคำถามเหล่านั้นได้ 

“เพราะคำตอบนั้นอยู่ที่ตัวพวกเขาเหล่านั้น นั่นเอง”

 

……………………………………….
*หมายเหตุ คำว่า “หัวหน้า” ของผู้ต้องขังนั้น หมายถึงการเรียกชื่อเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานในเรือนจำฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net